Future is in Our Hand จาก Climate Change สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  

Future is in Our Hand จาก Climate Change สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  

จาก Climate Change สู่ Net Zero  

เหตุการณ์สำคัญของโลกครั้งหนึ่ง เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือการประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 21 หรือ COP21 ในปี 2015 ที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งนั้นทำให้เกิด ‘ข้อตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ลงนามโดยผู้นำโลกใน 197 ประเทศ เป็นสัญญาณเริ่มความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือ จำกัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยพยายามจำกัดให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่ 2 องศาเซลเซียสนั้น อุณหภูมิที่ต่ำกว่าย่อมมีความปลอดภัยกว่ามาก

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ได้ประเมินหากโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แนวปะการังฟอกสี เกิดการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุรุนแรง และมีโอกาสทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)

ตัวการสำคัญได้แก่ Green House Gas (GHG) หรือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นคำที่ผู้คนบนโลกรับรู้มากว่า 3 ทศวรรษ โดยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขนานใหญ่ และจะยิ่งแย่มากขึ้น หากอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะมีมาตรการแก้ไขออกมาแล้วก็ตาม

Net Zero เป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก

ล่าสุดจากการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ทิศทางการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนโลกในปัจจุบัน ยังเป็นตัวเลขในระดับ “บันทึกประวัติศาสตร์” แสดงให้เห็นว่ามาตรการความร่วมมือที่ผ่านมา อาจยังไม่ดีพอ ทำให้ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงมาตรการจากการมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากมาตรการแก้ปัญหา Climate Change สู่ทิศทาง “Net Zero” เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ในการดูแลสภาพภูมิอากาศให้ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ เพราะมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน ออกมาแสดงความคิดเห็นใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นทิศทางน่าตกใจว่า ตอนนี้โลกกำลังดำเนินไปสู่จุด “Point of No Return – จุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกต่อไป”

แต่แน่นอนว่า การป้องกันปัญหาย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่ามูลค่าที่ต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสที่โลกจะเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หันมาใช้พลังงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้น ความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน

กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคนี้ เพื่อทำให้การปล่อยคาร์บอนจากองค์กร หรือ ผลิตภัณฑ์นับได้เท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)

ซึ่งความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutral และ “Net Zero” emission คืออะไร ?

สองคำนี้คล้ายคลึงกัน เพราะเป็นการมุ่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นกัน แต่ Carbon Neutral ดูที่ “ผลลัพธ์” ในการเฉลี่ยการปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่า หรือวิธีการอื่น ขณะที่ Net Zero Emission หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  มองสิ่งที่กว้างไปกว่านั้น คือมองในภาพรวมของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดูที่กระบวนการ และการกระทำ การบาลานซ์ระหว่างปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับปริมาณการถูกกำจัดออกไปจากบรรยากาศโลก เน้นการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำปลายน้ำ จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งในสภาวะนี้ก็จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้

ซึ่งหลังเวทีประชุม COP26 จบลง แต่ละประเทศได้มีการประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ได้ในปี 2065 โดยแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเร่งผลักดันการใช้พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีหมุดหมายสำคัญที่ได้ตั้งเอาไว้แล้ว แต่ส่วนสำคัญคือการลงมือทำของทุกภาคส่วนทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เข้มงวด ความร่วมมือจากเอกชน และการตระหนักรู้ของประชาชนที่จะช่วยกันผลักดันเป้าหมายนี้

คนในสังคมสามารถตระหนักถึงปัญหา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคม Net Zero ได้อย่างไร

การดำเนินชีวิตของผู้คนบนโลกที่พึ่งพาปัจจัย 4 ล้วนเกี่ยงโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งผลต่อภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง อาคาร บ้านเรือน ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของโลกมาทุกยุค โดยเฉพาะโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีการขยายของเมืองและมีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างมาก

GDP มีส่วนสร้าง GHG

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ก๊าซเรือนกระจกเชื่อมโยงกับ GDP (Gross Domestic Product) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากร ผูกโยงกับการผลิต เทคโนโลยี รวมไปถึงการกำจัดของเสียส่วนเกินหลังการผลิตหรือบริโภค

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) แสดงให้เห็นว่า โลกเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และแม้ว่าในปี 2020 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายปี เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก

แต่ข้อมูลล่าสุดของปี 2021 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มกลับมาเกือบเท่ากับระดับของปี 2019 แล้ว ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดี

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ลดลงในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราวและเพิ่มขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการปล่อยมลพิษทั่วโลกต้องลดลงประมาณ 7% ต่อปีในทศวรรษนี้ เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รู้จัก LCA สู่ไอเดีย Net Zero

การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) เป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้ใหม่หรือการแปรรูป และการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในสังคม เป็นการหาวิธีการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บทบาทของภาคเอกชนมุ่งสู่เป้าหมาย เอสซีจี Net Zero 2050

กิจกรรมทางธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ  จึงถือเป็นเรื่องที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะการดำเนินธุรกิจโดยปราศจากความระมัดระวัง เน้นแต่ผลประโยชน์ขององค์กร ย่อมทำให้ความสมดุลของโลกเปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่าง ๆ จึงมีแนวทางในการกำหนดและสนับสนุนทิศทางบนหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นในหลากหลายแง่มุม  ซึ่งความรับผิดชอบด้านการร่วมลดภาวะโลกร้อน ย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน

การพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เอสซีจี ในฐานะผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) อย่างเห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรม เรียกกันว่าเป็นทิศทาง Sustainable Development Goals ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาของวัตถุดิบในการก่อสร้าง กระบวนการก่อสร้าง และการใช้พลังงานในช่วงอยู่อาศัย โดยมองเฉพาะอัตราส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการ พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 มาจากวัสดุก่อสร้าง โดยวัสดุประกอบอาคารที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดคือ คอนกรีต เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิค อิฐ อลูมิเนียม ไม้ ตามลำดับ อีกทั้งวัสดุเปลือกอาคารนั้นมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานภายในอาคารอีกด้วย

ตัวอย่างการใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์ไทย (เขาวง) จังหวัดสระบุรี

เอสซีจี จึงตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero Emission ไว้ภายใน 2050 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย เพราะการให้ความสำคัญกับเรื่องผลิตภัณฑ์ และวัสดุต่าง ๆ สำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต่อการร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยธุรกิจอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ภาคการก่อสร้างสามารถช่วยได้ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะชะลอและจำกัดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) และในด้านการปรับตัวให้อยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation)

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจพัฒนาบ้านที่พักอาศัยและอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน จากนี้จะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและเป้าหมายของบริษัทเอกชน ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะตอบสนองต่อเทรนด์ของโลก และความต้องการของลูกค้า ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่การเป็น Net zero ในที่สุด

Recommend