Niels Møller กับการสร้างแบรนด์นาฬิกาเพื่อสื่อสาร “ความยั่งยืน” ได้จากหัวใจ

Niels Møller กับการสร้างแบรนด์นาฬิกาเพื่อสื่อสาร “ความยั่งยืน” ได้จากหัวใจ

“ถ้าคุณอยากใช้นาฬิกาอย่างรักษ์โลก คุณต้องไม่ใช้นาฬิกาเลยนะ”

นี่คือคำตอบที่ชวนเรียกเสียงหัวเราะ แต่แฝงด้วยความจริงอยู่นัยทีของนีลส์ มึลเลอร์ (Niels Møller) CEO Mondaine Watch Ltd. ผู้ผลิตนาฬิการะดับโลกหลากหลายเรือน รวมถึงลูมิน็อกซ์ แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสที่มีภาพลักษณ์เพื่อผู้ใช้งานสายลุย รักธรรมชาติ และความยั่งยืน

นีลส์ได้สะท้อนแนวคิดการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านนาฬิกาแบรนด์นี้ ซึ่งดำเนินการผลิตอย่างรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง เขาเท้าความถึงการเป็นผู้ริเริ่มผลิตนาฬิกาที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเจ้าแรกของโลกตั้งแต่ปี 1973 ในยุคที่แทบไม่มีแวดวงธุรกิจใดพูดถึง “ความยั่งยืน” แต่ลูมิน็อกซ์ได้พัฒนากระบวนการผลิตนาฬิกาจากวัสดุรีไซเคิล และพัฒนานวัตกรรมวัสดุใหม่ๆ เพื่อการผลิตนาฬิกาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าใช้วัสดุรีไซเคิลในแบบเดิมๆ

รวมถึงการเลือก Brand Ambassador ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักใช้บุคคลผู้สื่อถึงความหรูหรา แต่ทางแบรนด์เลือกทำงานกับ แบร์ กริล (Bear Grylls) นักผจญภัยชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการทำรายการโทรทัศน์ด้านเอาชีวิตรอดในป่าและอนุรักษ์ธรรมชาติ สื่อสารแบรนด์ในแนวทางที่แตกต่างเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความทรหดเพื่อการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว

เรื่องราวของคุณก่อนจะมาบริหารแบรนด์นาฬิกาลูมิน็อกซ์

ผมเป็นคนเดนมาร์ก แต่ไปเติบโตอยู่ที่เยอรมันตะวันออก หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ผมได้เริ่มมาทำงาน บ. เฟอร์นิเจอร์ในเดนมาร์กที่ชื่อ Fritz Hansen ซึ่งจัดจำหน่ายในเยอรมนีและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก เวลาว่างผมมักจะใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น เดินป่าบนภูเขา เล่นสกีในฤดูหนาว และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล อย่างว่ายน้ำและเล่นวินด์เซิร์ฟในฤดูร้อน

หลังจากนั้นผมทำงานที่นอร์เวย์ในตำแหน่ง CEO บริษัทด้านสินค้าโภคภัณฑ์แห่งหนึ่ง ทำอยู่นาน 8 ปี ซึ่งตอนนั้นผมอาศัยอยู่ในแถบภูเขา เลยมีความใกล้ชิดกับป่าแถบนั้นไปโดยปริยาย และยังคงชื่นชอบในกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เดินป่าในฤดูร้อน และสกีภูเขาในฤดูหนาวเหมือนเดิม

หลังจากนอร์เวย์ ผมกลับเข้าสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อีกครั้ง โดยทำงานให้กับ Stressless ซึ่งเป็นผู้ผลิตเก้าอี้รายใหญ่ในสแกนดิเนเวียเป็นเวลา 4 ปี และย้ายไปอยู่เยอรมนี ในเมืองฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นพื้นที่ราบไม่มีภูเขา แต่มีทะเลบ้าง ผมก็ประทับใจในช่วงเวลาที่นั่น จากนั้นผมก็ไปทำงานที่บริษัทเครื่องประดับที่รัสเซียแห่งหนึ่ง แต่ทำได้อยู่พักเดียว เพราะผมไม่รู้สึกเข้ากันได้กับที่นั่นเท่าไหร่

จนเมื่อปี 2019 ผมเข้าร่วมกับ Mondaine Group บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาลูมิน็อกซ์ และนาฬิกาอีกหลายแบรนด์ มาจนถึงตอนนี้ก็เกือบ 4 ปีครึ่งแล้ว ผมมีความสุขกับบทบาทปัจจุบันของผม ผมกับบริษัทมีความเชื่อมโยงกันในฐานะชาวเดนมาร์กที่มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ความยั่งยืน และการออกแบบ

อันที่จริง ก่อนผมมาทำงานที่นี่ ผมไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านนาฬิกาเลย ผมยอมรับว่าผมต้องขอคำแนะนำจากลูกชายซึ่งทำงานอยู่ในร้านนาฬิกาหรูด้วยซ้ำ (หัวเราะ) พอทำงานไปผมก็รู้ว่าที่ Mondaine Group ยึดมั่นเรื่องความยั่งยืน การรีไซเคิล และการนำโลหะกลับมาใช้ใหม่ มาตั้งแต่ปี 1953

จากที่เล่ามา คุณชอบกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้คุณรู้สึกอย่างไรกับตัวเองบ้าง

สำหรับผม การได้อยู่กับธรรมชาติช่วยให้เกิดความสงบสุขและผ่อนคลาย ทำให้ผมรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างความเครียดจากงานประจำวันกับความสงบสุขที่ได้สัมผัสจากธรรมชาติ ผมยังเดินป่าเป็นกิจกรรมหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวิตเซอร์แลนด์ เพราะที่นั่นมีภูมิประเทศที่สวยงามมาก ผมสามารถอยู่กับธรรมชาติได้นานๆ ผมใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมงในการเดินป่าแต่ละครั้งที่สวิตเซอร์แลนด์ และที่เดนมาร์ก บ้านเกิดของผม ที่นั่นคุณจะเห็นธรรมชาติที่สวยงามและสะอาด ทำให้ผมเองอดเปรียบเทียบไม่ได้กับมลพิษและขยะที่ผมเห็นในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกจากการเดินทางบ่อยครั้งในฐานะผู้บริหาร ทำให้ผมรู้สึกว่าธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม สะอาด และให้ความรู้สึกสงบภายในจิตใจนั้นดีงามและมีคุณค่าเพียงใด

คุณร่วมงาน แบร์ กริล (Bear Grylls) นักผจญภัยในป่าและธรรมชาติชื่อดังของโลก ในฐานะ Brand Ambassador ด้วย ทำไมถึงต้องเป็นเขา?

ที่จริง ก่อนเราร่วมงานกับแบร์ กริล เขาใช้นาฬิกาลูมิน็อกซ์อยู่แล้วนะครับ พอเรารู้แบบนั้น การตัดสินใจติดต่อให้เขามาร่วมงานจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เขาเองมีความเชื่อมั่นแบรนด์อยู่แล้ว และตื่นเต้นที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาฬิการ่วมกับเราเพื่อตอบสนองความต้องการต่อกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ โดยอาศัยประสบการณ์การผจญภัยของเขา

แบร์ กริล (Bear Grylls) นักผจญภัยในป่าและธรรมชาติชื่อดังของโลก PHOTOGRAPH BY BROMPTON via nationalgeographic.com

ความร่วมมือนี้ทำให้เกิดการพัฒนานาฬิกาที่มีฟังก์ชันการทำงานไม่เหมือนใคร เช่น เครื่องวัดระยะทาง (tachymeter) และสายรัด paracord สำหรับใช้งานกลางแจ้งอเนกประสงค์ ถือเป็นความแปลกใหม่ของสายรัดและฟังก์ชันการทำงานของนาฬิกามากเลย แม้ความสำเร็จทางการค้าจะยังไม่แน่นอน แต่ผมมองว่าความร่วมมือกับกริลเป็นการจับคู่ที่ลงตัว เนื่องจากเขาเองก็เป็นคนที่ทุ่มเทกับการผจญภัยกลางแจ้ง ซึ่งสอดคล้องกับจุดโฟกัสของเราด้านกิจกรรมกลางแจ้งและการผจญภัย ทำให้ความทนทานของนาฬิกาที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในป่าและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายอื่นๆ เป็นคุณลักษณะของแบรนด์เราไปด้วย

นอกจากนี้ ตัว แบร์ กริล เองก็มีความมุ่งมั่นในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ความทุ่มเทของเขาในการอนุรักษ์มหาสมุทรส่งผลให้เกิดการเปิดตัวนาฬิกาที่ผลิตจากขยะพลาสติกและขยะมหาสมุทรที่นำกลับมาใช้ใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าร่วมกันของความร่วมมือนี้

ตอนที่ผมกับแบร์ กริล ไปริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในฟิลิปปินส์ เขากับทีมงานอยู่ที่ฟิลิปปินส์เพื่อเก็บข้อมูลขยะพลาสติกในมหาสมุทร ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจเรื่องแนวคิดการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ ทำให้เราได้เจอบริษัท Tide จากการพบปะโดยบังเอิญกับชาวเดนมาร์กคนหนึ่งที่ทำบริษัทผลิตกระเป๋าที่ยั่งยืนจากขยะพลาสติก

กระบวนการการทำนาฬิกาจากวัสดุรีไซเคิลนั้นมาจากการนำขวดน้ำอัดลมพลาสติก หรือพลาสติกประเภทเดียวกันมาหลอมละลาย ซึ่งการทำงานกับสีที่มาจากกระบวนการหลอมละลายนี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับเรา ในที่สุดเราเลือกที่จะใช้สีธรรมชาติของตัววัสดุเอง นาฬิกา Tide รุ่นแรกจึงเปิดตัวในสีน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งสื่อถึงความไม่แน่นอนของสีขยะพลาสติก และต่อมาเราก็เปิดตัวนาฬิการุ่นสีฟ้า ซึ่งแทนสีน้ำทะเลใส เน้นย้ำถึงการเล่าเรื่องของโครงการนี้

การทำนาฬิกาที่มาจากวัสดุรีไซเคิล จะไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์อันหรูหราของนาฬิกาหรือ

อันที่จริงเราเน้นไปที่ราคาที่จับต้องได้ของนาฬิกา Tide มากกว่า ผมมีวิสัยทัศน์ในการทำให้วัสดุรีไซเคิลเข้าถึงได้ทุกคนโดยไม่เพิ่มราคา ในช่วงเริ่มต้นเราต้องเจอกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น การทดสอบแสงยูวี และอาการแพ้วัสดุในตัวคน เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุมีความทนทาน และใช้งานได้จริง เราตั้งใจจะรักษาราคานาฬิกาที่ใช้วัสดุรีไซเคิลให้เทียบเท่ากับนาฬิกาทั่วไป ซึ่งที่จริงแล้ววัสดุรีไซเคิลที่นำมาทำฬิกามีราคาแพงกว่าวัสดุธรรมดานะครับ

นอกจากนี้ แบรนด์เราเองก็มีนโยบายในเรื่องของการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่เพื่อความยั่งยืนมานาน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เรามีโครงการรับนาฬิกาเก่าของลูกค้ามารีไซเคิลเป็นนาฬิกาใหม่ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในกระบวนการรีไซเคิลนี้มีราคาสูง แต่เราก็ยินดีทำเพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกาของเราจะถูกนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี และไม่ลงเอยในถังขยะอย่างสูญเปล่า

เรามุ่งมั่นในการรีไซเคิลมาอย่างยาวนาน และอาจพูดได้ว่า  Mondaine Group เป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้เป็นรายแรกๆ เราเริ่มการผลิตนาฬิกาพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 1973 และได้รับการยกย่องในปี 1993 จากโครงการใช้วัสดุรีไซเคิลมาทำนาฬิกา และเรายังมีนาฬิกาที่ผลิตจากกระป๋องเครื่องดื่มในทศวรรษ 1990 แสดงถึงความทุ่มเทเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาครับ

คุณพบเจอความท้าทายในการเป็นบริษัทผลิตนาฬิกาที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนหรือไม่ แล้วคุณก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้นได้อย่างไร

มร. Niel: เราวางแนวทางเพื่อความยั่งยืนในบริษัทหลายอย่างด้วยกัน เช่น การตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตนาฬิกาของเราในปี 2019 ซึ่งเราสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 เราซื้อพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใกล้เคียง ดังนั้น ผมคงกล่าวได้ว่าเราเป็นบริษัทนาฬิกาแห่งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการบรรลุความเป็นกลางก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon neutrality) อย่างครอบคลุมตั้งแต่ปี 2020 ครอบคลุมการปล่อยก๊าซทุกประเภทในการผลิต

นอกจากการผลิตแล้ว เรายังมองไปถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่ง เช่น การเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟ หรือทางเรือ หากเป็นไปได้ เราพยายามจะไม่ใช้การขนส่งทางอากาศ เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก แต่พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ทำให้เราใช้วิธีการขนส่งทางเรือและทางรถไฟยากขึ้น แต่เราก็จะพยายามเท่าที่ทำได้

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในกระบวนการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การลดขนาดบรรจุภัณฑ์ การใช้วัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ การใช้หมึกพิมพ์จากถั่วเหลืองมาพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และเน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสายนาฬิการ้อยละ 90 เป็นแบบวีแกน (ทำจากพืช) ทำจากวัสดุจากเปลือกแอปเปิลหรือสับปะรด รวมไปถึงการรับประกันการบริการ 10 ปีเพื่อยืดอายุการใช้งานของนาฬิกา

นอกจากนี้เรายังมีโครงการเพื่อทะเลและมหาสมุทร ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะในประเทศไทย และเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีการคาดการณ์ว่าจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทรภายในปี 2050 ซึ่งเราต้องป้องกันปัญหานี้อย่างเร่งด่วน จึงริเริ่มโครงการและช่วยเหลือโครงการในการต่อสู้กับมลพิษพลาสติกในมหาสมุทร แต่เรายอมรับว่าบริษัทเราเพียงบริษัทเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่เราให้ความสำคัญกับความพยายามร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้การคาดการณ์ที่น่าหวั่นใจนี้กลายเป็นจริง

ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ หลายคน หลายบริษัท ต่างพูดถึงความยั่งยืน คุณและแบรนด์ จะทำอย่างไรที่จะให้ความยั่งยืนนั้น “ยั่งยืน” อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป

ผมเห็นด้วยว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นกระแสความนิยมด้านความยั่งยืนเป็นอย่างที่พูดถึงจริงๆ เราจึงยิ่งมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันลูมิน็อกซ์ให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมนาฬิกา ซึ่งอยู่ในค่านิยมและกระบวนการทำงานของเราดังที่ผมได้เล่าให้ฟัง

เรายังการมุ่งเน้นการสำรวจวัสดุใหม่ๆ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขนส่ง นำวัสดุรีไซเคิลมาเข้าสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ เรายังส่งผ่านแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนนี้ไปยังพนักงาน เรามีโครงการสนับสนุนให้พนักงานลดรอยเท้าคาร์บอนของตัวเอง ลดการใช้พลาสติก เรามีสวัสดิการจัดหาบัตรรถไฟในราคาลดพิเศษ เพื่อลดการใช้รถยนต์ เรายังส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานด้วยผลจูงใจด้านเงินเดือนเพิ่มเติม รวมไปถึงพิจารณาการจัดตั้งระบบจักรยานไฟฟ้าสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในระยะทางที่กำหนด สิ่งเหล่านี้คือแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของเราครับ

สัมภาษณ์ เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย

Recommend