“เมื่อพูดถึง ‘เมืองยั่งยืน’ หลายคนอาจนึกถึง Green City
ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว หรือ Smart City
ที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน”
แน่นอนว่า ความทันสมัย สะดวกสบาย และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เมืองน่าอยู่ขึ้น แต่เมืองที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ อาคารอัจฉริยะ หรือพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก หากเมืองเหล่านั้นยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพสูง หรือมีประชากรบางกลุ่มที่ถูกละเลย เมืองเช่นนี้จะยังคงเรียกว่า “ยั่งยืน” ได้หรือไม่?
ที่ต้องเกริ่นเช่นนี้เพราะเราพบว่า มีหลายเมืองที่เติบโตตามแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะถูกออกแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตของผู้ที่อาศัย ตึกระฟ้าและโครงส้รางพื้นฐานขนาดใหญ่ อาจสะท้อนถึงความก้าวหน้าของเมือง แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าทุกคนในเมือง จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสได้อย่างเท่าเทียม หากการพัฒนาเมืองมุ่งเน้นแต่ความเจริญทางกายภาพ โดยละเลยคุณภาพชีวิตของผู้คน เมืองอาจกลายเป็นพื้นที่ที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ขณะที่อีกหลายกลุ่มกลับถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบ
สิ่งเล่านี้ทำให้เราต้องถอยออกมาตั้งหลัก เพื่อทบทวนครั้งว่า ‘เมืองยั่งยืน’ แท้จริงแล้วควรเป็นอย่างไร?
เจน จาคอบส์ (Jane Jacobs) นักคิด นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ผู้ขียนหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำราชั้นครูของนักพัฒนาผังเมืองยุคใหม่ เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ตั้นยุค 60s ว่า “เมืองสามารถเป็นสถานที่ที่ดีสำหรับทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกสร้างขึ้นโดยทุกคน” แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมืองที่ดี ไม่ได้หมายถึงเมืองที่มีโครงสร้างที่ทันสมัยอย่างที่เราเคยกล่าวไป แต่หมายถึงเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
ซึ่งแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับเป้าหมายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่เน้นว่าเมืองควรเติบโตไปพร้อมกับประชากรอย่างสมดุล โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ และต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความหมายของเมืองที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 นี้ ก็คือ ‘เมืองที่ดีในระยะยาว’ ที่อยู่สบาย เข้าถึงง่าย ไร้ความเหลื่อมล้ำ
แล้วเราจะสร้างเมืองที่ว่านี้ได้อย่างไร? นี่คือโจทย์ที่นักวางผังเมือง นักวิชาการ และผู้นำท้องถิ่นทั่วโลกกำลังพยายามหาคำตอบ และเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยบนเวทีเสวนา ในงานประชุมรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติครั้งที่ 20 โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้ 3 ผู้เชี่ยวชาญ จาก 3 ภาคส่วน ได้แก่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Amarin Media & Event Business (AME) มาร่วมพูดคุยกันถึงความท้าทายและแนวทางของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

ผู้นำ: ต้องพัฒนาเมืองให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
“เมืองที่ดี = เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”
“กรุงเทพเมืองน่าอยู่” ถ้าจำไม่ผิดเราน่าจะได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565
หากพูดกันตามความจริง ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยังคงห่างไกลจากการเป็นเมืองน่าอยู่แบบที่หลายคนคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นในด้านสภาพแวดล้อม การเดินทาง หรือการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐาน การออกแบบทางเท้า ก็ยังไม่สะดวกสำหรับทุกคน สิ่งที่เราเห็นบ่อยครั้งคือถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ปัญหาจราจรที่ไม่เคยหมดไป อาคารที่ยังไม่เป็นมิตรต่อผู้พิการ และปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอในทุก ๆ ปี
“กรุงเทพฯ มีสองตัวเลขที่น่าสนใจ คือ 1 กับ 98” คุณชัชชาติกล่าวถึงภาพลักษณ์โดยรวมของกรุงเทพฯ เมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 หลายปีซ้อน แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก
ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขต่างกันจนน่าตกใจขนาดนี้ ก็คือความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุลและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มคนได้อย่างเหมาะสม อย่างที่เรารู้กันว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตจากการขยายตัวของทุน มากกว่าการวางผังเมืองที่รอบด้าน ซึ่งจะเห็นได้จากการพัฒนาโครงการมูลค่าหลายหมื่นล้านในย่าน CBD (Central Business District) ขณะที่พื้นที่รอบนอกที่ไกลออกไปย่านบางบอน หรือ คลองสามวา ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ ทำให้คนจำนวนมาก (ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง) ต้องมีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่สูงเกินจำเป็น
ในฐานะพ่อเมือง คุณชัชชาติยอมรับในเรื่องนี้ตรง ๆ ว่า เขาไม่ได้หวังว่ากรุงเทพฯจะต้องเป็นสุดยอดเมืองอัจฉริยะ แต่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งการจะไปสู่สิ่งนี้ได้ ผู้บริหารต้องมองเมืองเหมือนร่างกายที่มีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ซึ่งแนวทางของกรุงเทพฯ คือการการพัฒนาทั้งโครงการขนาดใหญ่และเล็ก ที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในทุก ๆ วัน ผ่านนโยบายกรุงเทพ 9 ดี เพื่อพัฒนาเมืองทั้ง 9 มิติ ให้เป็นเมืองที่ตอบโจทย์กับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุขและการศึกษาที่เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำแบบ “โง่ จน เจ็บ” ของคนกรุง

หากปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้รับการแก้ไข กรุงเทพฯ ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่เมืองที่ยั่งยืนและมีคุณภาพมากขึ้น แต่การพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มได้นั้น คุณชัชชาติมองว่า จำเป็นต้องกำหนด Action plan ที่เหมาะสมกับลักษณะปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่โครงสร้างเมืองที่กระจุกตัวในเขตเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความแตกต่างด้านโอกาสและการเข้าถึงบริการสาธารณะในระดับเขตและชุมชนที่แตกต่างกัน
ดังนั้น หากมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีสิทธิพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาได้เอง ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเมือง(จากส่วนกลาง) ให้เอื้อต่อประชาชนทุกกลุ่ม ก็จะช่วยให้กรุงเทพฯ ค่อย ๆ ปรับตัวสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ในระยะยาว
ประชาชน: เสียงที่ควรมีบทบาทในการกำหนดทิศทางเมือง
ในทางรัฐศาสตร์ เมืองที่พัฒนาอย่างแท้จริงไม่ใช่เมืองที่มีเพียงโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงหรือเศรษฐกิจเติบโตเท่านั้น แต่คือเมืองที่สามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แนวคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) ในปัจจุบันจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึง ‘ความยืดหยุ่น’ (Resilience) ซึ่งหมายถึงความสามารถของเมืองในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือความผันผวนของเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมือง เรามักให้ความสำคัญกับโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น ถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า หรือระบบชลประทาน ซึ่งเปรียบเสมือน เส้นเลือดใหญ่ ของเมืองตามวิธีการมองเมืองของคุณชัชชาติ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เส้นเลือดฝอย หรือระบบที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด เช่น ทางเท้า ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ชุมชน ตลาดขนาดเล็ก ระบบสาธารณูปโภคย่อย ซึ่งเป็นส่วนที่กำหนดคุณภาพชีวิตของคนในเมืองโดยตรง
แล้วใครควรเป็นผู้ดูแลเส้นเลือดฝอยของเมือง? เรื่องนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ มองว่าหากเมืองยังคงบริหารแบบรวมศูนย์ ที่อำนาจการตัดสินใจอยู่เพียงแค่ภาครัฐ ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอาจไม่สูงนัก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถรับรู้ทุกปัญหาในพื้นที่ได้ทั้งหมด ตรงกันข้าม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองคือกลุ่มที่เข้าใจปัญหาของตนเองดีที่สุด และควรได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วม นี่คือเหตุผลที่แนวคิด ธรรมาภิบาลเมือง (Urban Governance) หรือการบริหารเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท กำลังเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่

แนวทางหนึ่งที่ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นจริง คือการใช้ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจ เช่น แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ของกรุงเทพฯ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแจ้งปัญหาในพื้นที่ของตนเองโดยตรง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทันที และนำไปสู่การแก้ไขที่รวดเร็วขึ้น นี่คือตัวอย่างของ การบริหารจัดการเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยที่มีประสิทธิภาพ เพราะอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน ไม่ใช่การรอให้รัฐตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนั้น ผศ.ดร.พิชญ์ ยังมองว่า Traffy Fondue เป็นเครื่องมือที่สะท้อนหลักการของ Urban Governance ได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้การบริหารเมืองมีความโปร่งใส และรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลที่ถูกรายงานเข้าสู่ระบบจะถูกบันทึกและติดตามผลได้ ทำให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้โดยตรง อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เพราะประชาชนไม่ได้เป็นเพียงผู้รายงานปัญหา แต่ยังมีบทบาทในการติดตามผลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของธรรมาภิบาลเมืองในทุกมิติ
หากต้องการให้กรุงเทพฯ หรือเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยก้าวไปสู่เมืองที่ ทั้งยั่งยืนและยืดหยุ่น รัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการปกครองแบบ Top-down Governance ไปสู่การบริหารที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็น ‘หุ้นส่วน’ ในการพัฒนาเมือง มากกว่าการเป็นเพียง ‘ผู้อยู่อาศัย’ รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ในการเลือกตั้งทุก ๆ สี่ปี แต่รวมถึงการออกแบบและดูแลเมืองในชีวิตประจำวันแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น
ภาคเอกชน: ส่วนสำคัญในการสร้างเมืองน่าอยู่
เมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เมืองที่เต็มไปด้วยโอกาส ทำไมเมืองเหล่านี้จึงสามารถดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพและการลงทุนทางเศรษฐกิจได้มากกว่าเมืองอื่น? คำตอบไม่ได้อยู่เพียงแค่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตที่เมืองสามารถมอบให้แก่ผู้คน เมืองที่น่าอยู่นั้นไม่ใช่แค่ศูนย์กลางทางธุรกิจ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่แรงงานอยากเข้ามาใช้ชีวิต ธุรกิจอยากเข้ามาเติบโต
หากเมืองต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน เมืองนั้นต้องสามารถรักษาและดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเอาไว้ให้ได้ เพราะเมืองไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็น ตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ที่มีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ หากเมืองไม่น่าอยู่ ภาคธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในระยะยาว เมืองอาจเผชิญกับการไหลออกของแรงงานและการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
แต่หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมกรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ดึงดูดแรงงานจากทั่วประเทศ? คุณเจรมัยอธิบายว่า คำตอบไม่ได้อยู่ที่ความน่าอยู่ของเมือง แต่เป็นเพราะ โอกาสทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในที่เดียว กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว (Primacy City) ที่รวบรวมแหล่งงาน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการเติบโตไว้อย่างหนาแน่น แต่ในขณะเดียวกัน เมืองกลับไม่มีระบบรองรับที่เพียงพอสำหรับแรงงานจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามา ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ หรือแม้แต่โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้กลายเป็น ต้นตอของความแออัด (Congestion) ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
ผลที่ตามมาก็คือ แรงงานเหล่านั้นจะกลายเป็นประชากรแฝงและชุมชนกึ่งทางการ (Informal Settlements) ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเข้ามาทำงานในภาคบริการและแรงงานที่ไม่เป็นทางการ ด้วยการอาศัยพื้นที่สาธารณะในการประกอบอาชีพ เพิ่มภาระต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม จนไปลดทอนเสน่ห์ของเมืองในฐานะจุดหมายปลายทางของแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งเป็นความท้าทายที่น่ากลัวที่สุด ในมุมของของผู้ประกอบการธุรกิจ

ในการขจัดความท้าทายนี้ คำตอบอาจเริ่มต้นจากการทำให้กรุงเทพฯ กลับมาน่าอยู่ ซึ่งคุณเจรมัยมองว่าภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญได้หลายด้าน โดยเฉพาะการสร้าง ความเท่าเทียมทางสังคม (Social Inclusion) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วม แนวทางที่เป็นไปได้ ได้แก่
- ส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงเทศกาล (Festival Economy): การจัดอีเวนต์ ศิลปะ วัฒนธรรม และตลาดสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง และเป็นจุดนัดพบของผู้คนหลากหลายกลุ่ม
- พัฒนา Open Space: การสร้างพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น สวนสาธารณะ โซนทางเท้า และพื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคม ซึ่งช่วยลดความแออัดของเมือง และทำให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น
- สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต: เช่น การลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยราคาเข้าถึงได้ หรือพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ไม่ผลักภาระให้คนระดับล่างจนเกินไป
“เอกชนไม่ว่าจะเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นของตัวเอง(ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์)ให้กลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่นเปลี่ยนลานจอดรถในวันธรรมดาให้กลายเป็น Marketplace ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สร้าง Community Center หรือสร้างสวนกึ่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้บ้าน”
นอกจากนี้ คุณเจรมัยยังย้ำว่า ภาคเอกชนจะสามารถมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองได้มากขึ้น หากรัฐเปิดโอกาสให้เกิด ‘Open Policy’ หรือการออกแบบนโยบายที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจได้ แนวทางนี้ช่วยให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างสมดุล ตอบโจทย์ทุกฝ่าย และลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากนโยบายที่ออกแบบโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว
“การพัฒนาเมืองไม่ใช่งานเดี่ยว แต่เป็นงานกลุ่มที่ทุกคนควรมีส่วนในการพัฒนาร่วมกัน” คุณเจรมัยกล่าวในช่วงท้ายของงานเสวนา นี่เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงความสำคัญของการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาเมืองให้เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่และยั่งยืน การทำงานร่วมกันของรัฐ ประชาชน และภาคเอกชนจะช่วยสร้าง ‘เมืองยั่งยืน ที่อยู่สบาย เข้าถึงง่าย ไร้ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม