ลุย ถ้ำหลวง ฮังซึนดึง ดินแดนไร้การสำรวจแห่งเวียดนาม

ลุย ถ้ำหลวง ฮังซึนดึง ดินแดนไร้การสำรวจแห่งเวียดนาม

ถ้ำหลวง
หินขนาดใหญ่ที่มีมอสส์จับจนลื่นและการตกลงมาจากความสูงสิบเมตร คือความท้าทายที่นักเขียน มาร์ก เจนกินส์ ต้องเผชิญตรงปากถ้ำฮังซึนดึงที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่า เขาบอกว่า “แม้ถ้ำเหล่านี้จะใหญ่โตมโหฬาร แต่เอาเข้าจริงคุณมองไม่เห็นมันหรอกครับ จนกว่าจะไปอยู่ข้างหน้านั่นแหละ”

เมื่อ 20 ปีก่อน เฮาเวิร์ด ลิมเบิร์ต หัวหน้าคณะสำรวจพร้อมด้วยเด็บ ผู้เป็นภรรยา เป็นนักสำรวจถ้ำรายแรกๆ ที่มาเยือนเวียดนามนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในยุคนั้นถ้ำของเวียดนามมีชื่อเสียงเลื่องลือ แต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ ในปี 1941 โฮจิมินห์วางแผนปฏิวัติต่อต้านญี่ปุ่นและฝรั่งเศสในถ้ำปักโบทางตอนเหนือของฮานอย

และในช่วงสงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามหลายพันคนได้อาศัยถ้ำเหล่านี้หลบภัยจากการทิ้งระเบิดปูพรมของอเมริกา คู่สามีภรรยาลิมเบิร์ตซึ่งเป็นนักสำรวจถ้ำผู้คร่ำหวอดจากหุบเขายอร์กเชียร์ทางตอนเหนือของอังกฤษ ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฮานอยและเมื่อได้รับใบอนุญาตปึกใหญ่แล้ว พวกเขาก็วางแผนและเตรียมการสำหรับการเดินทางสำรวจในปี 1990 ตั้งแต่นั้นมา

ทั้งคู่เดินทางมาเวียดนาม 13 ครั้ง และไม่เพียงค้นพบถ้ำแม่น้ำ (river cave) ที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อันได้แก่ ถ้ำฮังเครียาว 19 กิโลเมตรไม่ไกลจากถ้ำฮังซึนดึง แต่ยังได้ช่วยชาวเวียดนามก่อตั้งอุทยานแห่งชาติฟองญาเเกบังขนาดพื้นที่ 857.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2003 นักท่องเที่ยวปีละราว 250,000 คน ผู้นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างหวังจะได้เชยชมถ้ำฮังฟองญาที่มีชื่อเดียวกับอุทยานแห่งนี้

ถ้ำหลวง
ในถ้ำลึงคอนนักสำรวจถ้ำไต่ลงมาตามช่องแสง

ความรกชัฏของป่าอาจทำให้สองสามีภรรยาลิมเบิร์ตหาถ้ำไม่พบหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ “คุณคานห์อยู่กับเรามาตั้งแต่ต้นเลยนะ” เฮาเวิร์ดเล่าให้ฟังพลางพยักพเยิดไปทางชายร่างผอมคนหนึ่งที่นั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างกองไฟ พวกเรานั่งยองๆรอบกองไฟด้านในทางเข้าสู่ฮังเเอน ซึ่งเป็นทางเดินยาวหนึ่งกิโลเมตรครึ่งใต้เทือกเขาที่นำไปสู่โลกลี้ลับ “ถ้าไม่มีเขา เราก็คงทำไม่สำเร็จ” เฮาเวิร์ดบอก ครอบครัวของคานห์อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ พ่อของเขาถูกสังหารในสงคราม คานห์จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองในป่าตั้งแต่ยังเด็ก เขาออกล่าสัตว์ไปทั่วพื้นที่ใกล้ชายแดนแถบนี้ โดยอาศัยถ้ำเป็นที่หลบฝนและลูกระเบิด

เฮาเวิร์ดเล่าว่า “เราเดินทางเข้ามาสำรวจถึงสามครั้งกว่าจะเจอถ้ำฮังซึนดึง คานห์เคยเจอทางเข้าเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่เขาลืมไปแล้วว่าอยู่ตรงไหน เขาเพิ่งหามันเจออีกครั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เองครับ”

ใต้พื้นดินในภูมิภาคแถบนี้ของเวียดนามคือชั้นหินปูนขนาดใหญ่ ถ้ำฮังซึนดึงก่อตัวขึ้นเมื่อสองถึงห้าล้านปีก่อนเมื่อน้ำจากแม่น้ำไหลผ่านโพรงหินปูนตามแนวรอยเลื่อนและกัดเซาะจนเกิดเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ใต้ทิวเขา ตรงบริเวณที่หินปูนค่อนข้างอ่อน เพดานจึงถล่มลงมากลายเป็นหลุมยุบ (sinkhole) ทำให้เกิดเป็นช่องแสงขนาดมหึมา

ถ้ำหลวง
เด็บและเฮาเวิร์ด ลิมเบิร์ต หัวหน้าคณะสำรวจ นำทางผ่านภูมิประเทศที่ถูกสลักเสลาภายในถ้ำฮังซึนดึงไปตามเขาวงกตที่ปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ ทางลดหลั่นเป็นขั้นๆนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่อุดมไปด้วยแร่แคลไซต์ไหลเอ่อล้นสระ

เมื่อเฮาเวิร์ดและเด็บได้เห็นพื้นที่ขนาดมหึมานี้เป็นครั้งแรก พวกเขาก็มั่นใจว่าได้ค้นพบถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้าแล้ว และอาจจะถูกของพวกเขา เพราะยังมีถ้ำที่ยาวกว่าฮังซึนดึงอยู่ นั่นคือระบบถ้ำแมมมอทในรัฐเคนทักกีที่ยาวรวมกันถึง 590 กิโลเมตรเป็นผู้ครองสถิติ และยังมีถ้ำที่ลึกกว่าอีกด้วย นั่นคือถ้ำครูเบราโวโรนยา หรือ “ถ้ำอีกา” ในเทือกเขาคอเคซัสตะวันตกของจอร์เจีย ซึ่งลึกถึง 2,191 เมตร แต่หากพูดถึงทางเดินขนาดยักษ์แล้ว คงมีถ้ำเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะเทียบเทียมฮังซึนดึงได้ ถ้ำนี้มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร มีทางเดินต่อเนื่องที่กว้างถึง 90 เมตร และบางจุดสูงเกือบ 200 เมตร

หลังจากป่ายปีน ถูลู่ถูกัง และคืบคลานกันมานานห้าวันเต็มๆ คณะของเรายังเดินสำรวจถ้ำได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น เมื่อนับนักสำรวจถ้ำ นักวิทยาศาสตร์ ทีมถ่ายทำภาพยนตร์และภาพนิ่ง รวมทั้งลูกหาบทั้งหมดแล้ว คณะของเรามีอยู่ด้วยกันกว่า 20 ชีวิต ซึ่งนั่นดูจะทำให้พวกเราทำงานได้ช้าลงนอกจากนั้น การเดินทางก็เริ่มอันตรายมากขึ้น เมื่อเราไต่ผ่านกองหินในจุดที่เรียกว่า “ระวังไดโนเสาร์” การก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวบนหินลื่นๆอาจหมายถึงการร่วงลงไปถึง 30 เมตร

พอไปถึงช่องแสงถัดมาที่มีชื่อว่า “สวนอีแดม” (Garden of Edam) พวกเราพบว่ามันมีขนาดใหญ่โตกว่าช่องแสงแรกมาก ด้านล่างเป็นกองเศษหินขนาดเท่าภูเขาอีกกอง ปกคลุมไปด้วยผืนป่าซึ่งมีทั้งต้นไม้สูง 30 เมตร เถาวัลย์ และต้นตำแย ถึงตอนนี้เวลาและเสบียงของเราเริ่มร่อยหรอลงเฮาเวิร์ดจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องส่งทีมล่วงหน้าไปยัง “กำแพงเมืองเวียดนาม” เพื่อดูว่าจะบุกต่อกันได้หรือไม่

กำแพงที่ว่านี้อยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรครึ่งตรงสุดทางเดินรูปร่างเหมือนตัววี (V) ด้านล่างเป็นคูน้ำลึกครึ่งเมตรแล้วยังมีกำแพงโคลนเหนียวหนืดสูง 12 เมตรขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินฝ่าคูนั้นไปโดยไม่หกล้มหน้าคะมำ ถ้าเดินไปถึงกำแพงได้ เนื้อตัวเราคงเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเหนียวเหนอะหนะ นักสำรวจถ้ำตั้งชื่อทางเดินนี้ว่า พัสเชนเดล (Passchendaele) ตามชื่อสมรภูมิการสู้รบในสนามเพลาะสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ถ้ำหลวง
ชีวิตแตกหน่องอกงามภายในคูหาที่มีแสงแดดสาดส่องลงมาจากด้านบนของถ้ำฮังซึนดึง ช่างเป็นโลกที่แตกต่างจากถ้ำอันคับแคบ เวิ้งว้าง และมืดมิดที่นักสำรวจถ้ำคุ้นเคย เฟิร์นและพืชพรรณอื่นๆเข้ายึดเกาะทำนบหินปูน

การปีนกำแพงโคลนสูง 60 เมตรที่ยื่นออกมานั้นต้องอาศัยเทคนิคและมีความเสี่ยงสูง เราจึงต้องใช้ “คนบ้า” ให้ถูกประเภท โชคดีที่เฮาเวิร์ดเป็นคนเลือกแกเร็ท “สวีนี” ซีเวลล์ และเฮาเวิร์ด คลาร์ก เป็นทัพหน้า ทั้งคู่สำรวจปล่องถ้ำหินปูนที่อันตรายที่สุดในอังกฤษมาด้วยกันถึง 20 ปี

วันแรกตรงฐานกำแพง ขณะที่คลาร์กง่วนกับการผูกเชือกยึดตัวเองไว้ สวีนีก็เริ่มไต่ขึ้นไปอย่างไม่สะทกสะท้านพร้อมกับเจาะรูตามผนังรูแล้วรูเล่า แต่รูเกือบทั้งหมดกลวงเกินกว่าที่จะยึดตะปูเกลียวสำหรับแขวนเชือกของพวกเขาได้ ตลอด 12 ชั่วโมงทั้งคู่สบถไม่หยุดปาก แต่ไม่มีใครเอ่ยปากถึงอันตรายที่แท้จริงของภารกิจนี้ นั่นคือถ้าตะปูเกลียวยาว 15 เซนติเมตรหลุดออกมาสักตัว เชือกที่สวีนีห้อยโตงเตงอยู่ก็จะคลายออก แล้วกระชากเอาตะปูเกลียวตัวอื่นๆให้หลุดตามออกมาเร็วพอๆ กับการรูดซิป และเขาคงไม่วายร่วงลงมาตาย

(อ่านต่อหน้า 3)

Recommend