6 สถานที่ มรดกโลกในประเทศไทย

6 สถานที่ มรดกโลกในประเทศไทย

สุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของชาวสยามในช่วงศตวรรษที่สิบสาม และสิบสี่ มีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมไทย และเป็น มรดกโลกของไทย

อะไรคือเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกว่าสถานที่ใดสมควรได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก พร้อมกับหาคำตอบกันว่า มรดกโลกของไทย มีทั้งหมดกี่ที่ และตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

มรดกโลกในประเทศไทย มีอยู่ทั้งหมด 6 ที่โดยแบ่งออกเป็นมรดกโลกในด้านทางวัฒนธรรม 3 แห่ง และในด้านของธรรมชาติอีก 3 แห่ง โดยในปัจจุบันมีมรดกโลกทั้งหมด 1,154 แห่ง ใน 167 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 897 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 218 แห่ง และอีก 39 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท ซึ่งกว่าจะได้มาเป็น “มรดกโลก” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “องค์การยูเนสโก” จะต้องผ่านเกณฑ์การรับคัดเลือกที่ทางองค์การยูเนสโกกำหนดไว้ขึ้นมา สำหรับประเทศที่มีมรดกโลกที่ได้รับการลงทะเบียนจากองค์การยูเนสโกมากที่สุดคือ ประเทศอิตาลี 58 แห่ง รองลงมาคือ จีน (56 แห่ง) เยอรมนี (51 แห่ง) สเปน และ ฝรั่งเศส (49 แห่ง)

เกณฑ์ในการรับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การคัดเลือกสถานที่ใดสถานที่หนึ่งมาเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการพิจารณา คัดเลือกให้เป็นมรดกโลกนั้น ทางองค์การยูเนสโกจะต้องมีข้อกำหนดในการพิจารณาอย่างแน่นอน ไม่สามารถเลือกตามใจชอบได้แต่อย่างใด โดยในการคัดเลือกมรดกโลกในด้านวัฒนธรรมนั้นมีดังนั้น (ข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

  • เป็นแบบอย่างให้เห็นถึงความแสดงออกอันชาญฉลาดของมนุษย์ โดยผ่านทางผลงานศิลปะ
  • เป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อไปในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการตั้งรากฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนโลก
  • เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของการมีอยู่ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือประเพณีใดๆ ที่ยังคงเหลืออยู่หรือได้สาบสูญไปแล้ว
  • เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของสิ่งก่อสร้างที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในด้านวัฒนธรรมสังคม ศิลปกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
  • เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของการใช้พื้นที่ทางบน ทางทะเล หรือทางธรรมชาติของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
  • มีความเกี่ยวข้องในด้านความคิดหรือความเชื่อโดยตรงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

ในส่วนของเกณฑ์ในการคัดเลือกมรดกโลกในด้านของธรรมชาติมีดังนี้

  • เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการสำคัญต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยในอดีต
  • เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยา หรือในทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
  • เป็นแหล่งปรากฏการณ์หายากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
  • เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าชนิดสัตว์หรือพันธุ์พืชที่หายากหรือกำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ รวมไปถึงระบบนิเวศที่เป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ด้วย

มรดกโลกในด้านทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 

  • แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site)

มรดกโลกในประเทศไทย
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี
ขอขอบคุณภาพจาก Ko Hon Chiu Vincent

บ้านเชียงได้รับการขนานนามว่าเป็นโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ถูกค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้ทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมของมนุษย์หลายๆ ด้านในสมัยดังกล่าวไว้ โดยเฉพาะในด้านความรู้ ภูมิปัญญาความสามารถ ที่เป็นเครื่องมือสำหรับในการดำรงชีวิตและสร้างสังคมให้มีความต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ บ้านเชียงยังได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าอีกร้อยแห่ง ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้ถูกยอมรับให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกใน พ.ศ. 2535 จากองค์การยูเนสโก เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษา และเรียนรู้ของคนรุ่นหลังสืบต่อไป

  • นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)

มรดกโลกในประเทศไทย
ซากปรักหักพังสิ่งก่อสร้างต่างๆ แสดงให้ถึงความงดงามและความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของกรุงศรีอยุธยา
ขอขอบคุณภาพจาก Francesco Bandarin

สำหรับเมืองหลวงเก่าอย่าง พระนครศรีอยุธยา ที่ในอดีตมีความรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานถึง 417 ปี ภายในนครประวัติศาสตร์อยุธยา ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระราชวังโบราณ ที่เคยเป็นพระราชวังหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่เป็นวัดต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” ในปัจจุบัน และวัดมหาธาตุ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2534

  • เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)
มรดกโลกในประเทศไทย
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร
ขอขอบคุณภาพจาก Ko Hon Chiu Vincent

สุโขทัย ถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของราชอาณาจักรสยาม ในช่วงระหว่างยุคศตวรรษที่สิบสาม และสิบสี่ ภายในเมืองสุโขทัยได้มีอนุสาวรีย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมในยุคแรกเริ่มของไทย

นอกจากนี้ ยูเนสโก ยังได้นำเอาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เข้าร่วมเป็นมรดกโลกพร้อมกับเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมเมืองประวัติศาสตร์ได้ โดยการเดินเท้าหรือจะขี่จักรยาน เมืองประวัติศาสตร์ได้ถูกขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2534

มรดกโลกในด้านทางธรรมชาติของประเทศไทย 

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries)
มรดกโลกในประเทศไทย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นบ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช้างและเสือ

ด้วยพื้นที่กว่า 6000 ตารางกิโลเมตร ห้วยขาแข้งเป็นบ้านของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ใหญ่อย่าง ช้างและเสือ อีกทั้งเป็นแหล่งอาศัยของนกหลายสายพันธุ์ และสัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลายชนิด โดยปกติแล้วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านี้ไม่ได้มีการเปิดให้ประชาชน ในเชิงนันทนาการเหมือนกับอุทยานแห่งชาติ แต่มีพื้นที่ที่อนุญาตให้เข้าไปศึกษาธรรมชาติแบบไม่ค้างคืนได้ 3 จุด ได้แก่ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ และ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ พ.ศ. 2534

  • พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)
มรดกโลกในประเทศไทย
พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กว่า 800 ชนิด มีระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่สำคัญซึ่งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์สายพันธุ์เหล่านี้
ขอขอบคุณภาพจาก Ko Hon Chiu Vincent

เป็นผืนป่าแห่งที่สองของประเทศไทย และแห่งที่ 5 ของโลกที่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อ พ.ศ. 2548 ภายในฝืนป่า จะประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 4 แห่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง ได้ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด นับว่าเป็นพื้นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีป่าหลากหลายชนิด อาทิเช่น ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบ ป่าเพญพรรณ และทุ่งหญ้า อีกทั้งยังมีการสำรวจพบสัตว์ป่าจำนวนมากที่มีแนวโน้มต่อการสูญพันธุ์อาศัยอยู่ในฝืนป่าแห่งนี้

  • กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)
ขอบคุณภาพถ่ายจาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กลุ่มป่าแก่งกระจาน ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดราว 200 กิโลเมตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ที่หายากหลายชริด เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิง และยังเป็นพื้นที่ของการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี จึงเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้แก่งกระจานสามารถเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติที่เป็นไปตามเกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม :

สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำในจังหวัด กาญจนบุรี

Recommend