แคมปิ้งกลางนา เดินป่ากับช้าง

แคมปิ้งกลางนา เดินป่ากับช้าง

หลังฤดูเก็บเกี่ยวเที่ยวได้

ช่วงฤดูหนาวหลายคนคงมีจุดหมายปลายทางอยากไปสัมผัสสายหมอกและอุณหภูมิเย็นฉ่ำ ณ ดงดอยสักแห่งทางภาคเหนือ พวกเราเองก็เช่นกัน แต่บางครั้งก็อาจตามมาด้วยภาพคลาคล่ำของนักท่องเที่ยวที่ต่างพากันมุ่งหน้ามาดื่มด่ำบรรยากาศกันอย่างแน่นขนัด จนอุทยานแห่งชาติฯ หรือสถานที่กางเต็นท์มีชื่อหลาย ๆ แห่งรองรับนักท่องเที่ยวไม่ไหว จะดีแค่ไหนหากลองมองหาสถานที่ท่องเที่ยวนอกกระแส หรือต่างช่วงเทศกาลดูบ้าง เพื่อให้เราได้เข้าใกล้ธรรมชาติ และใช้เวลาค่อย ๆ ซึมซับเรื่องราวระหว่างรายทางได้อย่างละเมียดละไม

บรรยากาศยามเช้ากลางท้องนา
ดาวเต็มท้องฟ้า

การได้ดื่มกาแฟท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ มันช่างมีความสุขจริงๆ

ปลายฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว หมู่บ้านห้วยบง “ห้วยบง Elephant Homestay” ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ต้อนรับเรา (ทีมงานเนชั่นแนลจีโอกราฟิค ฉบับภาษาไทย) ด้วยบรรยากาศของธรรมชาติอันแสนเงียบสงบ พร้อมลมที่หอบนำความเย็นมาปะทะผิว ช่วงที่เรามาเยือนนี้ ตรงกับต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเวลาชาวบ้านได้ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวดอยไปจนหมดแล้ว จึงเหลือแต่ตอซังข้าวสีเหลืองบนแปลงนาที่ทอดยาวไปจนจรดตีนเขา โดยข้าวดอยนี้ชาวบ้านจะปลูกแค่ปีละครั้งเท่านั้น เพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือน ยาวไปจนกว่าจะถึงฤดูกาลทำนาครั้งใหม่ในปีหน้า

ข้าวเบ๊อะที่ทำจากข้าวดอย
ชาวบ้านกำลังต้มข้าวเบ๊อะ

จากจุดประสงค์แรกของทีมงาน คือ การมาลงพื้นที่เพื่อช่วยชาวบ้านห้วยบง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ในเรื่องการทำหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน แต่ด้วยงบประมาณที่มีค่อนข้างจำกัดทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างช้า ๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวได้ ขณะที่ชาวบ้านและช้างยังต้องกินต้องใช้ ดังนั้นครั้งนี้พวกเราจึงขอเป็นนักท่องเที่ยวออกสำรวจศักยภาพชุมชน เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้พบเจอนั้นกลับไปบอกเล่าว่า นอกเหนือจากการเป็นหมู่บ้านช้างกลางหุบเขาแห่งแม่แจ่ม ที่นี่ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวอะไรอีกที่น่าสนใจบ้าง

ข้าวดอย
ข้าวสวยที่หุงด้วยข้าวดอย

ในที่สุดก็ได้พบว่าหลังจากฤดูเกี่ยวข้าวดอย เราสามารถเที่ยวได้เหมือนที่อื่น ๆ อย่างการแคมปิ้ง หรือกางเต็นท์นอนในนา ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยทำ แทนการนอนในบ้านชาวบ้านแบบโฮมสเตย์อย่างแต่ก่อน เปลี่ยนมานอนกางเต็นท์ชมดาวกลางทุ่งนาในช่วงหน้าหนาว แล้วตื่นมากินอาหารเช้าร่วมกับชาวบ้าน หนึ่งในเมนูที่เราติดใจนั่นคือ ข้าวเบ๊อะ เป็นอาหารของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอที่ทำขึ้นมาเพื่อต้อนรับแขกพิเศษ ใช้ข้าวดอยมาต้มให้เละเหมือนโจ๊ก แล้วใส่น้ำพริกแกง เนื้อสัตว์ และผักผสมรวมกัน เวลากินตักมาใส่ข้าวสวยเหมือนกับข้าว หรือจะกินเป็นโจ๊กก็ได้รสชาติดีมาก

วิธีการทำข้าวเบ๊อะ

1.คั่วหมู หรือ ย่างเนื้อหมูให้แห้งกรอบ แล้วนำมาสับให้ละเอียดพอดี

2.ตั้งหม้อใส่ข้าวสาร ใส่เนื้อหมู ยอดมะพร้าวอ่อน หรือจะใส่หน่อไม้ก็ได้ แล้วคนข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะแตกเมล็ด

3.เตรียมพริกขี้หนู กระเทียม ตะไคร้ ขมิ้นตำให้ละเอียด พอข้าวแตกจนพอดีแล้ว จึงค่อยใส่พริกที่ตำไว้ลงไปในหม้อ

4.ก่อนนำหม้อลงจากเตา ให้ใส่ต้นหอมและผักชี หรือผักอีลึง ผงชูรสกะเหรี่ยงเพิ่มความหอมให้กับเมนูนี้

เพื่อให้หลายคนที่ไม่รู้จักข้าวดอยได้ทราบ ข้าวดอย คือข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูง แบ่งการปลูกเป็น 2 ลักษณะ คือ ข้าวไร่ ที่ปลูกตามไหล่เขา กับข้าวที่ปลูกในนา พันธุ์ข้าวดอยที่กลุ่มชาติพันธุ์นำมาปลูกกันโดยมากจะมีพันธุ์ข้าวแบ่งตามลักษณะการปลูก ดังนี้

ข้าวนา 

1. บือโปะโละ

2. บือกวาโบ

3. บือชอมี

ข้าวไร่

1. บือบอ

2. บือซูคี รึ (ไรซ์เบอรี่)

3 .บือโปะโละ

4. บือข่าโช

ทั้งหมดนี้คือพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากเอาใจสายแคมปิ้งผู้รักอิสระผ่านกิจกรรมการมากางเต็นท์กลางทุ่งนา ดื่มด่ำธรรมชาติหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว ข้าวดอย หรือข้าวไร่ของชาวเขาเป็นอีกสิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าเมล็ดข้าวดอยจะเหมือนข้าวญี่ปุ่นที่เรากินตามร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีราคาแพง แต่สำหรับข้าวดอยที่เรากล่าวถึงนั้นราคาช่างถูกเสียเหลือเกิน พวกเราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า “ข้าวดอย” นี่แหละน่าจะเป็นสินค้าประจำหมู่บ้านที่ส่งขายให้กับผู้ที่ชื่นชอบข้าวสไตล์ญี่ปุ่น อย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งให้กับชาวบ้านได้มีรายได้จากผลิตผลทางการเกษตร ไม่หวังพึ่งพิงเพียงธุรกิจท่องเที่ยวที่อาจผันผวนไม่แน่นอน และรายได้ส่วนหนึ่งจะหักนำไปซื้อหญ้าให้ช้างที่ตกงานจากผลของโรคระบาด

ไปเดินป่ากับช้างกันครับ

เห็นช้างเที่ยวเที่ยวตามช้าง
แบบ Slow Life ใช้ชีวิตแบบไม่รีบ

หลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว คุณสดุดี เสรีชีวี  ผู้นำชุมชนหมู่บ้านห้วยบง ชวนพวกเราไปเดินเล่นในป่ากับช้าง! พูดง่าย ๆ ไปเดินเป็นเพื่อนช้างนั่นแหละ ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ แถมได้รูปน่าตื่นเต้นไปโชว์เพื่อนได้อีกเป็นกระบุง แนะนำเลยว่ามาที่ “ห้วยบง Elephant Homestay” คุณจะได้สัมผัสกับช้างเชือกใหญ่ ๆ แบบใกล้ชิด ชนิดที่เรียกว่า “ตาจ้องตา หน้าแนบงวง” กันเลยทีเดียว

 

ในชีวิตจะมีสักกี่ครั้งที่ได้เดินป่าลัดเลาะลำธารไปพร้อม ๆ กับช้างแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่เร่งรีบ ช้างเดิน เราเดิน ช้างหยุด เราก็หยุด การได้สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ตรงหน้าแบบใกล้ชิดถือเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่ยอดเยี่ยม พฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างหลายอย่างทำให้เรายิ้มและรู้สึกมีความสุขแบบไม่รู้ตัว

ยำปลากระป๋องที่อร่อยที่สุด

ช้างมีความสุข เราก็มีความสุข อีกหนึ่งความรู้ที่เราได้จากที่นี่ก็คือ ทุกครั้งที่ช้างได้ออกมาเดินเล่น นั่นเท่ากับว่าช้างได้ผ่อนคลายและออกกำลังไปในตัว น้ำและหินในลำธารจะช่วยทำความสะอาด และขัดเล็บเท้าให้กับช้างเส้นทางที่พวกเราเดินไปนั้นไม่ไกลมากนัก ใช้เวลาเดินทางแบบเดิน ๆ หยุด ๆ ราว 3 ชั่วโมงโดยประมาณ ลัดเลาะชายป่า ฟังเสียงลำธารไหลเอื่อยไปเรื่อย ๆ ด้วยอากาศที่ไม่ร้อนมากนักทำให้เราเดินกันอย่างสบาย หากเมื่อยก็แวะพักริมทางเป็นระยะ ๆ แบบไม่ต้องเกรงใจช้าง

ด้วยการดูแลของควาญช้างและชาวบ้าน ทำให้เรามีมื้อเที่ยงกลางป่าสุดพิเศษ แบบหาในร้านอาหารที่ไหนก็ไม่เจอ เช่น ยำปลากระป๋องในลำไม้ไผ่ตัดสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถูกต้มสุกจากน้ำในลำธาร และข้าวที่หุงด้วยกระบอกไม้ไผ่ ช่วยให้อาหารธรรมดา ๆ ชุดนี้ กลายเป็นเมนูสุดประทับใจขึ้นมาทันที

“เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ตื่นเต้น และรู้สึกสงบในบางที” สี่คำนี้น่าจะพออธิบายความรู้สึกแบบพอสังเขปให้กับคนที่กำลังหาที่เที่ยวแห่งใหม่กันอยู่ หากเราเหนื่อยล้าและอยากเข้าป่า บางทีมีเพื่อนร่วมทางเป็นช้างก็ดีเหมือนกัน…

เหตุผลที่พาช้างเดิน

ผมถามสดุดีว่าทำไมต้องพาช้างไปเดินด้วย เขาตอบว่า ช้างที่กลับมาอยู่ในหมู่บ้าน ถ้าเราไม่พาเขาเดินไปไหนเลย ช้างจะเครียด การเดินเข้าป่าไปหาอาหารในป่ามากิน เป็นการออกกำลังของช้าง และลดความเครียดของช้างไปในตัว สดุดีบอกกับพวกเรา

นี่อาจจะเป็นทริปท่องเที่ยวที่ดูไม่หวือหวา แต่อย่างน้อยพวกเราก็รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวบ้านและช่วยเหลือช้างให้มีรายได้และอาหารกิน พวกเขาไม่เคยร้องขอจากภาครัฐ แต่ลงมือทำด้วยตนเอง แม้จะเป็นการเริ่มต้นทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาค่อย ๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนจนกว่าจะเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยศักยภาพของชุมชน ความสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ บวกกับกำลังใจของชาวบ้าน เชื่อแน่ว่าอนาคต “บ้านห้วยบง” จะต้องอยู่ในชื่ออันเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้แบบไม่ยาก แล้วอย่างนี้จะไม่มาสนับสนุนชาวบ้านเหรอครับ

สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยววิถีชุมชนห้วยบง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ที่
คุณสดุดี เสรีชีวี โทรศัพท์ 09-7349-8837 (ทั้งนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)

เรื่อง ไตรรัตน์ ทรงเผ่า , บดินทร์ บำบัดนรภัย

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล , ณัฐกิตติ มีสกุล (นักศึกษาฝึกงาน)

Recommend