อัศจรรย์พิภพ บาดาล แห่งสโลวีเนีย

อัศจรรย์พิภพ บาดาล แห่งสโลวีเนีย

ในภูมิภาคแบบคาสต์ของสโลวีเนีย ถ้ำสองแห่งทอประกายอยู่ในภาพถ่ายโลก บาดาล ตระการตาที่ไม่เคยมีใครถ่ายได้มาก่อน เราจึงย้อนรอยการค้นพบครั้งนั้น

ปากทางเข้าสู่ถํ้า บาดาล ซึ่งเคยรู้จักกันในชื่อที่มีความหมายตรงตัวว่า “ถํ้าหนาว” ตั้งอยู่ทางใต้ของสโลวีเนีย ห่างจากเมืองหลวงลูบลิยานา 34 กิโลเมตร ปัจจุบันรู้จักกันในนาม คริชนา (Križna)  ตามชื่อโบสถ์ที่อยู่ใกล้กันอันเป็นจุดหมาย ของนักจาริกแสวงบุญ ตั้งอยู่บนยอดเขา สูง 857 เมตร  ในลุ่มนํ้าลูบลินิตซา ที่ซึ่งนํ้าระบายผ่าน ภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst) ทําให้เกิดเครือข่ายหลุมยุบ เถื่อนถํ้า และทางเดินใต้ดินอันน่าพิศวง

พบหลักฐานว่าผู้คนมาเยือนถํ้าแห่งนี้มานับพันปีแล้ว เศษเครื่องปั้นดินเผาที่พบใกล้ทางเข้าถํ้ามีอายุอยู่ในยุคสําริด รายงานชิ้นแรกเกี่ยวกับถํ้าคริชนาเป็นของจอห์น เจมส์ โทบิน ชาวอังกฤษ หลังมาเยือนถํ้านี้เมื่อปี 1832 ต่อมา ในปี 1838 โยเชฟ เซเรร์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จึงได้เขียนคําอธิบายถํ้าและสเก็ตช์ภาพถํ้าขึ้นเป็นครั้งแรก

บาดาล, คาสต์, ถ้ำ, สโลวีเนีย
เพดานหินพอกสีทองผนึกรวมเข้ากับหินงอกก่อตัวเป็นเสาหินหยดตระการตาในถํ้าคริชนาใหม่ ซึ่งค้นพบตรงหลุมยุบชื่อดีคัลนิก ที่เกรอะดีดอล

จุดเปลี่ยนของการสํารวจถํ้าแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1878 หลังเฟร์ดินาน ฟอน ฮอคช์เตเตอร์ นักธรณีวิทยา ผู้พํานักอยู่ในกรุงเวียนนา ขุดพบกระดูก 4,600 ชิ้นซึ่งเป็นของหมีถํ้าราว 100 ตัว ระหว่างที่ฮอคช์เตเตอร์ขุดค้น ครั้งที่สองในปีถัดมา โยเซฟ ซอมบาตี นักโบราณคดี ได้จัดทําแผนที่ถํ้าอย่างละเอียดฉบับแรกขึ้น

ในช่วงกว่า 80 ปีนับจากนั้น ก่อนการค้นพบทะเลสาบใต้ดิน ถํ้าคริชนาเป็นที่รู้จักเพราะกระดูกหมีเป็นหลัก  หมีถํ้าสี่ชนิดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหมีสีนํ้าตาลในปัจจุบันมาก ท่องไปเกือบทั่วยุโรปในสมัยไพลสโตซีน  กระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 26,000 ปีก่อน หมีหลายชั่วรุ่นอาศัยและจําศีลอยู่ในถํ้าคาสต์แห้งๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายหลายแห่งทั่วที่ราบสูงคาสต์ของสโลวีเนีย ส่วนของถํ้าคริชนาที่รู้จักกันในชื่อทางเดินเมดเวดี (ทางเดินหมี) ซึ่งต่อมามีหินพอกขนาดใหญ่งอกขึ้นมากั้นขวาง เป็นที่อาศัยของ Ursus ingressus หมีชนิดที่อพยพจากเอเชียเมื่อราว 50,000 ปีก่อน

บาดาล, คาสต์, ถ้ำ, สโลวีเนีย, นักสำรวจถ้ำ
ทางเดินเยเซร์สกี (ทะเลสาบ) สิ้นสุดตรงหลุมขอบชัน ซึ่งเป็นหลุมยุบชนิดหนึ่ง ลําธารนี้แห้งผากตามฤดูกาล และทางเดินอาจถูกนํ้าท่วม เห็นได้จากคราบสีเทาบนผนังซึ่งบ่งบอกระดับนํ้าจากฝนหนัก

หลังการขุดค้นของฮอคช์เตเตอร์ ถํ้าก็เริ่มดึงดูดผู้มาเยือน แต่น่าเสียดายที่ชื่อเสียงยังนํานักลักลอบขุดค้นมาด้วย หินหยด (dripstone) ถูกหักแล้วนําไปวางขายตามแผงใกล้ถํ้าโปสโตยนาซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังกว่าและอยู่ห่างไปราว 30 กิโลเมตร

แม้ถํ้าคริชนาจะโด่งดัง ทว่าภูมิทัศน์แหล่งนํ้าในถํ้าที่ชวนตื่นตะลึงกลับไม่มีใครค้นพบเป็นเวลานานอย่างน่าทึ่ง ในปี 1926 ครูโรงเรียนมัธยมในลูบลิยานาชื่อ มักส์ เปรเซลย์ และนักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นคนกลุ่มแรกที่สํารวจถํ้าด้วยเรือ ระหว่างการสํารวจที่ใช้เวลาหลายวัน พวกเขาใช้เส้นทางที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อ ทางเดินเยเซร์สกี (ทะเลสาบ) ไปยังคัลวาเรีย (แคลวารี) ที่ซึ่งลําธารใต้ดินสองสายมาบรรจบกัน  ระหว่างปี 1927 ถึง 1934 สมาชิกของสมาคมถํ้าลูบลิยานายังสํารวจทางนํ้าอื่นๆอีกด้วย

สถาปนิกใหญ่ผู้รังสรรค์ถํ้าแห่งนี้คือสายนํ้าหยาดนํ้าฟ้าแทรกซึมไปทั่วภูมิทัศน์แบบคาสต์ที่อยู่รอบๆ ไหลรินลงสู่เถื่อนถํ้า และฝนหนักก็ทําให้ธารนํ้าในหลุมยุบที่เรียกว่า หลุมขอบชัน (ponor) เอ่อท้น เมื่อขึ้นชื่อว่านํ้าย่อมหล่อเลี้ยงชีวิต เพราะมีการค้นพบสัตว์นํ้าราว 36 ชนิดในถํ้า ส่วนใหญ่เป็นโทรโกลไบต์ (troglobite) ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบในถํ้าต่างๆ

บาดาล, คาสต์, สโลวีเนีย, นักสำรวจถ้ำ
รอยเว้าแนวดิ่งเหล่านี้ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของนํ้าปรากฏบนผนังหลายจุดของทางเดินเดซมัน ที่ซึ่งยาเนซ ยากาเซราร์ นักสํารวจถํ้า นั่งเพื่อให้เห็นสัดส่วนของรอยเว้าเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น
.
ทางเดินนี้อยู่ใกล้ปากถํ้าคริชนา ซึ่งเป็นหนึ่งในถํ้า 12,500 แห่งของสโลวีเนีย ในภาพถ่ายชุดนี้ ปีเตอร์ เกเดย์ ช่างภาพถํ้าผู้ครํ่าหวอด เป็นคนแรกที่ได้ถ่ายภาพระบบถํ้าคริชนาครบทั้งถํ้า

นํ้าในถํ้ายังอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดทะเลสาบใต้ดิน 45 แห่งอันเป็นจุดเด่นของถํ้าคริชนา  นํ้าฝนที่มีฤทธิ์เป็นกรดละลายแร่ธาตุในหมู่คาร์บอเนตปริมาณมหาศาล เช่น หินปูนและโดโลไมต์ เมื่อนํ้าปะทะเข้ากับอากาศในถํ้าคาร์บอนไดออกไซด์จึงถูกปลดปล่อยออกมา และทําให้แร่ธาตุที่ละลายตกทับถมจนเกิดเป็นหินพอก แหล่งทับถมหินพอกซึ่งก่อตัวขึ้นในอัตราเฉลี่ยราวหนึ่งในสี่ของหนึ่งมิลลิเมตรต่อปี  กลายเป็นปราการกีดขวางทางนํ้าต่างๆ และกลายเป็นทะเลสาบในที่สุดในไม่ช้า ผู้มาเยือนก็เริ่มล่องเรือในทะเลสาบนํ้าใสแจ๋ว

ท่ามกลางหมู่หินพอกและหินย้อยสีทองเปล่งปลั่ง ซึ่งในบางจุดทิ้งตัวลงสู่ผืนนํ้าจนเกิดเป็นภาพลวงตา ต่อมา นักถํ้าวิทยา (speleologist) ได้ล้อมรั้วถํ้าเพื่อปกป้องเนื่องจากหินพอกมีความเปราะบาง ปัจจุบันยังมีการจํากัดจํานวนนักท่องเที่ยวด้วย ผู้มาเยือนส่วนใหญ่ที่มีมากกว่า 10,000 คนต่อปีเที่ยวถํ้าส่วนที่แห้งโดยสวมไฟฉายติดศีรษะ และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สามารถเที่ยวในถํ้าด้วยเรือได้

ในคิตต์โลวาเบรซนา (บ่อนํ้าของคิตต์) ซึ่งมีทางเดินไปทางทิศตะวันตก  ถูกทางนํ้าใต้ดินแบบกาลักนํ้า (siphon—โพรงใต้ดินลักษณะคล้ายอักษรยูควํ่า) ขวางกั้นไว้ นักสํารวจจึงเดินย้อนขึ้นไปทางต้นนํ้าด้านทิศตะวันออกแทน

บาดาล, ถ้ำ, นักสำรวจถ้ำ
กระแสนํ้าในลําธารใต้ดินพัดพาแร่ธาตุไปทับถมกัน เกิดเป็นปราการหินพอกที่กั้นแบ่งทะเลสาบส่วนใหญ่ภายในถํ้า ตรงจุดนี้รอยแยกลึกเชื่อมทะเลสาบสองแห่งเข้าด้วยกัน แห่งหนึ่งเห็นได้ในภาพ ส่วนอีกแห่งที่มองไม่เห็นอยู่ทางด้านหลังนักสํารวจถํ้าซึ่งยืนอยู่ด้านบน

ขนาดของถํ้าทางตะวันตกยังคงเป็นปริศนา โดยเฉพาะหลังมีการทดสอบด้วยสี (dye tracing)  ซึ่งเผยให้เห็นทางนํ้าที่ไหลจากด้านในถํ้าไปยังนํ้าพุใกล้ๆ กัน นักสํารวจลงมือค้นหาปากทางเข้าจากด้านนอกไปทางทิศตะวันตก แม้ว่าจะไม่เคยพบปากทางที่ว่าสักแห่ง แต่ช่องอากาศกับรอยแตกหลายจุดให้เบาะแสว่าอาจมีถํ้าขนาดมหึมาอยู่เบื้องล่าง

ในทศวรรษ 1970 นักสํารวจถํ้าพยายามขยายรอยแยกตรงขอบหลุมยุบที่ถล่มลงหลุมหนึ่งชื่อ ดีคัลนิกที่เกรอะดีดอล ซึ่งน่าจะเผยให้เห็นถํ้าเบื้องล่างได้ จุดที่ว่าอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากทางเข้าถํ้าคริชนา  แต่การขุดสํารวจนั้นซับซ้อนเกินไปจนทีมงานต้องล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด

ราว 20 ปีต่อมา นักสํารวจถํ้าท้องถิ่นยังคงขยายรอยแยกนั้นต่อไป ในปี 1991 หลังจากใช้เวลา 200 ชั่วโมงขุดอุโมงค์แคบแห่งหนึ่ง (ยาว 26 เมตร ลึก 15 เมตร) พวกเขาพบเส้นทางที่นําไปยังคูหาทะเลสาบชื่อ ปรีโตชนีซีโฟน หรือกาลักนํ้าปรีโตชนี

นักสำรวจถ้ำ, คาสต์, สโลวีเนีย
ถํ้าคริชนาเป็นที่พักของหมีจําศีล เห็นได้จากหลักฐานซากฟอสซิลจํานวนมาก ซึ่งพบอย่างน้อย 4,600 ชิ้น ขากรรไกรของหมีถํ้าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (ในภาพ เคลเมน ซูชา นักสํารวจถํ้า ส่องไฟให้เห็นชัด) และอาศัยอยู่ในถํ้านี้จนถึงสมัยนํ้าแข็งสุดท้าย ถูกเก็บรักษาไว้ในหินที่ทางเดินเมดเวด

เส้นทางสั้นๆ ระหว่างทะเลสาบที่เป็นกาลักนํ้าและบ่อนํ้าของคิตต์บ่งบอกว่า  นักสํารวจพบส่วนขยายของถํ้าคริชนาแล้ว ชิ้นส่วนกระดูกหมีที่พบในตะกอนท้องนํ้าในถํ้าแห่งใหม่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่า ถํ้าทั้งสองแห่งเชื่อมต่อกันจริง วันเดียวกันนั้นเอง นักสํารวจล่องเรือยางไปตามทางนํ้าเป็นระยะทางกว่ากิโลเมตร  ก่อนจะไปถึงสุดถํ้าที่หลุมยุบแห่งหนึ่งซึ่งพวกเขาตั้งชื่อให้ว่า กาลักนํ้าแห่งความหวัง (ซีโฟนอุปาเนีย)  และมีนํ้าพุอยู่ห่างไปเพียง 650 เมตร อีกฝั่งหนึ่งของหลุมยุบ

ถํ้าคริชนาใหม่ซึ่งเป็นชื่อส่วนขยายของถํ้าที่ค้นพบกลับกลายเป็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  แต่ชวนค้นหาไม่ต่างจากถํ้าผู้พี่ทางตะวันออกเลย ขณะที่นํ้าไหลเข้ามาสู่ทางเดินที่จมอยู่ใต้นํ้าระหว่างกาลักนํ้าทั้งสองแห่งซึ่งได้แก่บ่อของคิตต์ในถํ้าคริชนาและปรีโตชนีในถํ้าคริชนาใหม่ มันจะผ่านการแปรรูปทางเคมีที่ไร้คําอธิบาย และสร้างบรรยากาศโดดเด่นขึ้นมาในถํ้าแห่งใหม่

ปราการหินพอกใกล้ธารนํ้าเชี่ยวกรากมีสีเหลืองทองมลังเมลือง แต่ในที่อื่นๆ ลําธารทําให้หินพอกที่ทับถมก่อนหน้านี้ละลาย และชั้นนอกของหินกะเทาะออกจนเห็นแร่แมงกานีสสีดําที่เคลือบหินชั้นใน ความต่างระหว่างหินพอกสีทองกับหินสีดํา บวกกับลําธารและทะเลสาบอันน่าอัศจรรย์ ซึ่งโอบล้อมภาพโมเสกงามแปลกตาเหล่านี้ ก่อให้เกิดความงามราวกับเทพนิยาย ทว่าแสนเปราะบางขึ้นมา

บาดาล, ถ้ำ, สโลวีเนียหลังค้นพบถํ้าแห่งใหม่ นักอนุรักษ์ทําการสํารวจและเห็นพ้องกันว่า ควรจํากัดการเข้าถึงถํ้านี้เทศบาลเชร์กนีกาปิดถํ้า และการเข้าถํ้าต้องได้รับใบอนุญาตเมื่อการสํารวจถํ้าอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นในปี 1991  ทางการอนุญาตให้นักสํารวจถํ้า 16 คนจากสถาบันวิจัยคาสต์ (Karst Research Institute) เข้าไปสํารวจถํ้าเป็นเวลากว่า 700 ชั่วโมง พวกเขาบันทึกว่า ถํ้ามีความยาว 1,415 เมตร

จากนั้น เกือบหนึ่งร้อยปีหลังมีการแนะนําให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันเป็นครั้งแรกในที่สุด รัฐบาลสโลวีเนียก็ออกกฎหมายพิทักษ์ถํ้าปี 2004 ซึ่งจัดประเภทของถํ้าและการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึง จากถํ้าจํานวนทั้งหมด 13,659 แห่งในสโลวีเนีย มีเพียงหกแห่งที่ปิดตาย รวมถึงถํ้าคริชนาใหม่ โดยถํ้าทั้งหกแห่งนั้นเปราะบางเสียจนถ้าหากอนุญาตให้คนเข้าถึงได้ อาจทําให้ถํ้าเสียหายหรือถูกทําลายลงได้ และมีเพียงนักวิจัยเท่านั้นที่สามารถไปเยือน

ถํ้าคริชนาและคริชนาใหม่มีเสน่ห์ตราตรึงนักสํารวจจนถึงตอนนี้ ถํ้าทั้งสองเชื่อมต่อกันแน่ แต่จนกว่ามนุษย์จะเดินผ่านระหว่างสองถํ้าได้ จะยังถือว่าเป็นถํ้าแยกจากกันอยู่ต่อไป ลึกลงไปในทะเลสาบกาลักนํ้าที่บ่อของคิตต์ นักดํานํ้ายังคงดํานํ้าลึก 70 เมตรเพื่อหาทางผ่านเข้าสู่หมวดหินขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นการสํารวจของพวกเขา

ขณะเดียวกัน ในกาลักนํ้าปรีโตชนีของถํ้าคริชนาใหม่ ความลึกที่ดิ่งลงไปมากกว่า 124 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่นักดํานํ้าเคยลงไปถึง ธรรมชาติยังคงพิทักษ์ความลับของถํ้าสองพี่น้องไว้ และเป็นผู้เดียวที่รู้ว่าอัญมณีเม็ดงามทั้งสองซ่อนเร้นความงามอื่นใดไว้

เรื่อง มาร์โค ซีมิซ

ภาพถ่าย ปีเตอร์ เกเดย์

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2563

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม เกาะบอร์เนียว : ท่องแดนถ้ำอลังการ 

Recommend