สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

จนกระทั่งเกิดเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2001 แฮมมอนด์เล่าว่า ”ตอนนั้นเราคิดว่าผู้คนคงไม่มีกะจิตกะใจจะมาดูดำดูดีกับไฮไลน์หรอกครับ แต่กระแสความสนใจเรื่องการออกแบบและการวางผังเมืองที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ ไปกับกระบวนการออกแบบพื้นที่บริเวณกราวนด์ซีโร่ได้ช่วยจุดประกายให้คนหันมาสนใจโครงการของเรามากขึ้นครับ ผู้คนคงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่พวกเขาพอจะทำได้”

ในปี 2002 กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ได้ว่าจ้างทีมงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ข้อสรุปที่ได้คือการเปลี่ยนไฮไลน์เป็นสวนสาธารณะจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนในบริเวณนั้น ไม่ใช่ฉุดรั้งการพัฒนาตามคำกล่าวอ้างของคณะบริหารของจูลีอานี ก่อนหน้านั้นไม่นาน รางรถไฟร้างทางตะวันออกของกรุงปารีสใกล้กับจัตุรัสบาสตีย์ (Place de la Bastille) ได้รับการแปลงโฉมเป็นสวนสาธารณะแนว

ยาวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชื่อ โปรเมอนาดปลองเต (Promenade Plantèe) จึงให้แนวคิดที่ใช้เป็นต้นแบบอย่างจริงจังของไฮไลน์ได้ แม้รูปแบบของกรุงปารีสจะนำมาปรับใช้กับมหานครนิวยอร์กไม่ง่ายนัก แต่โปรเมอนาดปลองเตก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้โครงการของเดวิดกับแฮมมอนด์อย่างมาก ทั้งสองเริ่มมั่นใจว่าความคิดที่จะเปลี่ยนไฮไลน์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์อาจเป็นกลุ่มระดับรากหญ้าก็จริง แต่รากของมันก็หยั่งลึกอยู่ในชุมชนหรือแวดวงคนในวงการออกแบบและศิลปะที่มีความลุ่มลึกและสลับซับซ้อนที่สุดในโลก พอถึงปี 2003 เดวิดกับแฮมมอนด์ก็ตัดสินใจจัด ”การประกวดแนวคิดโครงการ” ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันด้านสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเชิญชวนใครก็ตามให้เสนอแนวคิดและการออกแบบโครงการพัฒนาไฮไลน์ในอนาคต พวกเขาคาดว่าคงได้รับผลงานไม่กี่สิบชิ้นจากชาวนิวยอร์ก แต่สุดท้ายกลับมีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมดถึง 720 ชิ้นจาก 36 ประเทศ

แมนแฮตตัน, สวนสาธารณะ, มหานคร, นิวยอร์ก
ตลอดความยาวของทางรถไฟสายไฮไลน์รกครึ้มไปด้วยวัชพืชและทุ่งดอกไม้ป่า เส้นทางส่วนที่สามซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ทอดยาวไปยังตอนเหนือของถนนสายที่ 30 ยังคงรกเรื้ออย่างที่เห็น

เมื่อนิวยอร์กฟื้นตัวจากความทรงจำอันเลวร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเริ่มดึงดูดความสนใจจากบรรดาผู้จัดการกองทุนรวมรุ่นใหม่ๆ และผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชอบช่วยเหลือสังคม

กิจกรรมระดมทุนเพื่อไฮไลน์ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีได้กลายเป็นงานการกุศลยอดนิยมงานหนึ่งของนิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีผู้สนับสนุนวัยต่ำกว่า 40 ปีมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นั่นช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากจูลีอานีอย่างไมเคิล บลูมเบิร์ก มีแนวคิดโน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับการอนุรักษ์ไฮไลน์เอาไว้

บลูมเบิร์กซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้บริจาครายใหญ่ให้สถาบันทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของเมืองมาช้านานให้การสนับสนุนแผนพัฒนาโครงการไฮไลน์ ในที่สุดทางการนิวยอร์กก็ทำข้อตกลงกับกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ โดยทำงานร่วมกันในการออกแบบและก่อสร้างสิ่งที่จะกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่

ในปี 2005 อแมนดา เบอร์เดน กรรมาธิการวางผังเมือง ได้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการจัดเขตพื้นที่ (zoning) ในบริเวณนี้ขึ้นโดยออกกฎสำหรับสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ ตอนที่กฎระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้นั้น พื้นที่โดยรอบได้กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดย่านหนึ่งในเมืองไปแล้วอาคารที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทไอเอซีที่ออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี พอถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2006 ชิ้นส่วนแรกของรางรถไฟถูกยกออกจากไฮไลน์ เพื่อเป็นสัญญาณของการเปิดงาน และการก่อสร้างก็เริ่มต้นขึ้น

นับจากวันที่ไฮไลน์ส่วนแรกเปิดให้บริการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2009 ที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก และเราก็น่าจะได้ยินคนข้างๆ พูดภาษาเยอรมันหรือญี่ปุ่นมากพอๆ กับภาษาอังกฤษ กระนั้น

ไฮไลน์ยังเป็นสวนสาธารณะของผู้คนในชุมชน เมื่อผมเดินไปตามไฮไลน์พร้อมกับแฮมมอนด์ในวันแดดจัดวันหนึ่งเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนที่เป็นเหมือนระเบียงรับแดดคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และดูเหมือนจะมีชาวบ้านจากละแวกใกล้เคียงเข้ามายึดทำเลราวกับเป็นชายหาดส่วนตัวมากพอๆ กับนักท่องเที่ยวที่ออกมาเดินเล่น

เส้นทางส่วนแรกของไฮไลน์นั้นคดเคี้ยว บางช่วงมุดลอดใต้อาคารสามหลังจนดูคล้ายอุโมงค์สั้นๆ จากนั้นจึงเผยให้เห็นทิวทัศน์ของขอบฟ้ากลางมหานครหรือของแม่น้ำฮัดสัน ช่วงที่ไฮไลน์ตัดกับถนนเทนท์อเวนิว ภาพที่เห็นจะเปลี่ยนไปอีก กลายเป็นที่โล่งคล้ายอัฒจันทร์กลางแจ้งแขวนอยู่เหนือถนนให้เรานั่งมองรถราวิ่งลอดใต้ตัวเราไปได้

เส้นทางด้านเหนือที่ยังไม่ได้รับการบูรณะของไฮไลน์เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเกือบจรดแม่น้ำฮัดสัน บริษัทรถไฟซีเอสเอกซ์ยังครอบครองกรรมสิทธิ์เส้นทางส่วนนี้อยู่ แต่กลุ่มเฟรนด์ออฟเดอะไฮไลน์หวังว่าสักวันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชาวนิวยอร์กอีกจำนวนไม่น้อยคงมีโอกาสได้ชื่นชมความงามของพลุวันชาติสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมาชิกของกลุ่มเฟรนด์ออฟเดอะไฮไลน์และคู่รักของเธอเช่นในภาพนี้

เส้นทางรถไฟลอยฟ้าช่วงที่สองทางเหนือของถนนสายที่ 20 เริ่มเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นความท้าทายอีกลักษณะหนึ่งสำหรับนักออกแบบ ”พื้นที่ตรงนี้เปิดโล่งให้เราเห็นตัวเมือง จากนั้นจู่ ๆ คุณจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ระหว่างผนังตึกสองหลัง” คอร์เนอร์อธิบาย ”เส้นทางช่วงนี้ตรงสุดๆ เลยครับ เราเลยต้องหาทางทำให้คุณไม่รู้สึกเหมือนติดอยู่ในทางเดินแคบๆ”

เขาตัดสินใจเริ่มงานในส่วนที่สองด้วยการปลูกต้นไม้ให้หนาทึบกว่าเส้นทางช่วงแรกมาก โดยใช้สมมุติฐานว่า ถ้าไม่สามารถทำให้ความคับแคบหายไปได้ ก็ควรขับเน้นความรู้สึกนี้ให้ชัดขึ้นสักหนึ่งช่วงตึก แล้วรีบเปลี่ยนอารมณ์มาสู่สนามหญ้าที่เปิดโล่งและผ่อนคลาย จากนั้นจึงตามมาด้วยสิ่งที่นักออกแบบเรียกว่า ทางยกระดับหรือโครงสร้างโลหะที่ยกทางเดินขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้หนาทึบไว้ด้านล่าง ด้านเหนือของทางยกระดับนี้เป็นบริเวณสำหรับนั่งเล่นอีกจุดหนึ่ง จากตรงนี้มองลงไปเห็นถนนผ่านกรอบสีขาวขนาดมหึมาล้อกับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ห่างออกไปเล็กน้อย เส้นทางเดินที่ตรงยาวมีมวลหมู่ดอกไม้ป่าเรียงรายไปตลอด

ในวันที่ผมเดินชมส่วนที่สร้างใหม่พร้อมกับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ต้นไม้ส่วนใหญ่เข้าที่เข้าทางหมดแล้ว แม้ว่าการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป แต่บรรยากาศกลับเงียบสงบอย่างน่าประหลาด เราเดินไปตามส่วนที่สร้างใหม่ตั้งแต่ต้นไปจนสุดทาง แฮมมอนด์บอกว่า ความเงียบสงบทำให้เขานึกถึงไฮไลน์ในช่วงแรก ๆ ก่อนที่ผู้คนจะแห่เข้ามา ”ผมว่าผมคงจะคิดถึงไฮไลน์ในตอนนั้นครับ” เขาเปรย แต่เขาก็ตระหนักว่าความสำเร็จอันล้นหลามของไฮไลน์เป็นเรื่องน่ายินดีกว่าการได้เห็นโครงสร้างเหล็กเก่าๆ อันว่างเปล่าเป็นไหนๆ


อ่านเพิ่มเติม :  ต้นไม้ แห่งความทรงจำ : เรื่องราวเล่าขานจาก 9 ต้นไม้ในตำนาน

Recommend