เจียอี้ (Chiayi) ในมุมที่มีดีมากกว่าอาลีซาน

เจียอี้ (Chiayi) ในมุมที่มีดีมากกว่าอาลีซาน

รู้จักไต้หวันให้ไกลกว่าไทเป กับทริป “ปั่นได้ฟีล ท่องวิวใหม่ที่ไต้หวัน”
เส้นทางที่เราคัดสรรและชวนคุณไปค้นหาไต้หวันในมุมใหม่

[BRANDED CONTENT FOR TAIWAN TOURISM]

เราเลือก เจียอี้ (Chiayi) เทศมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของไต้หวัน มาเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ “Walk and Bike to the Unseen of Taiwan – ปั่นได้ฟีล ท่องวิวใหม่ที่ไต้หวัน” ที่ บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand จับมือกับ การท่องเที่ยวไต้หวัน เพราะเราตั้งใจที่จะลองไปรู้จักไต้หวันให้ไกลกว่าไทเป กับ 4 เส้นทางใน 5 เมืองรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเราคัดสรรและอยากชวนคุณไปค้นหาไต้หวันในมุมใหม่ในแบบฉบับของเรา

หลายคนรู้จัก เจียอี้ (Chiayi County) เพราะเมืองนี้เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติอาลีซาน (Alishan National Forest Recreation Area) หนึ่งในจุดหมายที่คนมาถึงเจียอี้แล้วต้องไปให้ถึง ซึ่งถ้าหากคุณมีเวลามากพอ ก็ไม่ควรพลาดการไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมแสงแรกของวันที่โผล่พ้นผืนทะเลหมอกบนยอดเขาอาลีซาน

ทว่า เราตั้งเป้าพาทุกท่านไป “ท่องวิวใหม่” ที่ไต้หวัน จึงอยากพาคุณไปรู้จักเมืองนี้ให้มากกว่าอาลีซาน ภายใต้ความสนใจเรื่องงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี สถานที่ที่สามารถเป็นกรณีศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง และพื้นที่ทางธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

เจียอี้เป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานแห่งชาติที่มาถึง 3 แห่งในเมืองเดียว ซึ่งมากสุดในไต้หวัน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอาลีซาน อุทยานแห่งชาติชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Coast National Scenic Area) และวนอุทยานแห่งชาติซีลาหย่า (Siraya National Scenic Area)
รวมถึงยังเป็นเมืองที่อยู่ในรอยต่อของอุทยานแห่งชาติอวี้ซาน (Yushan National Park) ที่มีพื้นที่ครอบคลุมเจียอี้ กับอาลีซาน ไปจนถึงเขตเถาหยวน เมืองเกาสง และเขตซิ่นอี้ เมืองหนานโถว ที่ตั้งของอวี้ซาน (Yushan) หรือ ภูเขาหยก (Mount Jade) หรือ ภูเขานิทากะ (Mount Niitaka) ซึ่งเป็นชื่อเรียกระหว่างการปกครองโดยญี่ปุ่น ภูเขาสูงที่สุดในไต้หวัน สูง 3,952 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

จึงกล่าวได้ว่าความสวยงามของทะเลและภูเขาในเจียอี้นั้นไม่เป็นสองรองใคร

จากนาเกลือไถหนาน สู่เมืองแห่งการทำประมงและฟาร์มหอยนางรมแห่งหยุนเจียหนาน

เราออกเดินทางจากไถหนานในช่วงสาย มุ่งตรงไปที่เจียอี้ โดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำเอ๋ากู่ (Aogu Wetlands) เป็นจุดหมายแรก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แนวตะเข็บชายแดนหยุนหลิน ใกล้กับชายฝั่งทะเลหยุนเจียหนาน รอยต่อของพื้นที่ราบชายฝั่งที่ทอดยาวกินแดน 8 อำเภอริมชายฝั่งทะเลใน 3 เมืองของเกาะไต้หวัน ครอบคลุมหยุนหลิน, เจียอี้ และไถหนาน ในเขตอุทยานแห่งชาติชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Coast National Scenic Area)

พูดถึงทะเล เจียอี้มีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากพอสำหรับการทำประมง และเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไต้หวัน และถ้าพูดถึงหอยนางรม เราเองก็เพิ่งรู้ว่า…โคตรดี!

ระหว่างทาง คนขับรถ (ที่เราเช่ารถเหมาคันสำหรับ 4-6 คน) พาเรามาที่ร้านอาหารทะเลบ้าน ๆ ร้านหนึ่งในตงสือ (Dongshi Township) เมืองเล็ก ๆ ใกล้กับท่าเทียบเรือประมงตงสือ (Dongshi Fisherman’s Wharf) ซึ่งไม่อยู่ในแผน แต่กลับกลายเป็นมื้อกลางวันที่เราประทับใจที่สุดมื้อหนึ่งในทริป

เมื่อมาถึงแล้วพบหอยนางรมสดส่งตรงจากฟาร์มทำให้เราอึ้งไปชั่วขณะ เพราะคุณจะกินหอยกี่กิโลกรัมก็ได้ ถ้าคุณกินไหว แต่จ่ายแค่หัวละ 200 ดอลลาร์ไต้หวันต่อหัว ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มในเวลาชั่วโมงครึ่ง

Aogu Wetlands and Forest Park

จากนั้นเราเดินทางไปต่อที่จุดหมายแรกของทริปคือ พื้นที่ชุ่มน้ำเอ๋ากู่ (Aogu Wetlands and Forest Park) อยู่ในเขตพื้นที่ของบริษัทผลิตเกลือในไต้หวัน ว่ากันว่าที่นี่คือขุมทรัพย์ทางนิเวศวิทยาที่มีขนาดใหญ่กว่า 300 เฮกเตอร์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นพื้นที่ทำฟาร์มประมงบนทะเลสาบน้ำเค็ม มีแนวป่าสนทะเลสลับสันดอนทราย เป็นแหล่งดูนกชายเลนนานาชนิด โดยเฉพาะพวก Wader นกน้ำประจำถิ่น พวก Plover กลุ่มนกหัวโต และนกปากช้อนหน้าดำ (Black-faced Spoonbill) ที่จะพบในฤดูนกอพยพช่วงปลายปี

ความรู้เรื่องนกเราน้อยพอ ๆ กับเวลาที่เรามีในครั้งนี้ พวกเราใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงอยู่กับการเฝ้าสังเกตเจ้านกที่กำลังหากินผ่านบังไพร และศาลาริมทางที่มีป้ายบอกเล่าชนิดพันธุ์ของนกในพื้นที่อย่างละเอียด ข้อมูลและภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เราสนุกกับการดูนกมากขึ้น ทว่าความคลุมเครือเดียวที่เรายังไม่มั่นใจ ว่านกที่เราเห็นนั้นมันใช่ตัวเดียวกับนกที่อยู่ในภาพไหมนะ อาจจะรบกวนผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกช่วยพวกเราอีกทอด

Southern Branch of National Palace Museum

จุดหมายต่อมาสายเที่ยวชมสถาปัตยกรรมต้องห้ามพลาดอีกหนึ่งแห่ง เรามากันที่เมืองไท่เป่า (Taibao) ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไต้หวันเจียอี้ ที่นี่คือ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคใต้ (Southern Branch of the National Palace Museum) เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูละม้ายงานประติมากรรมขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 38,332 ตารางเมตร ซึ่งภายในจัดแสดงภาพวาดจีนโบราณ และโบราณวัตถุสำคัญที่สะท้อนถึงเรื่องราวทางวัฒนธรรมจีน อินเดีย และเปอร์เซียไว้มากมาย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางบริบทของทุ่งนาและไร่อ้อย โอบล้อมด้วยทะเลสาบกว้างใหญ่ ตัวอาคารเปรียบเสมือนการวาดลายเส้นด้วยน้ำหมึกสีเข้ม เส้นสายของอาคารลื่นไหล ตัดกันจนเกิดที่ว่างที่กลายเป็นฟังก์ชันภายในอาคาร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวไต้หวัน Kris Yao แห่ง KRIS YAO | ARTECH สตูดิโอออกแบบจากไทเป

สร้างเสร็จในปี 2015 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายเส้นพู่กันจีนสามแบบ คือ ลายเส้นและน้ำหมึกตัวหนา ลายเส้นของน้ำหมึกที่ค่อย ๆ แห้งเพียงครึ่งหนึ่ง และรอยเปื้อนของน้ำหมึก

เราใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการเดินวนจนครบรอบอาคาร ซึ่งในฐานะผู้เข้าชมคนหนึ่ง พวกเราตื่นเต้นตั้งแต่การออกแบบทางเชื่อมอาคารด้านหน้า มีอุโมงค์ทรงโค้งที่ไหลลื่น พร้อมช่องเปิดให้แสงลอดผ่าน มีระเบียงให้ออกมาเก็บภาพ ในขณะเดียวกันเส้นสายของสถาปัตยกรรมที่ดูอ่อนช้อย กลับกร้าวแกร่งด้วยโทนสีและวัสดุอย่างโครงเหล็ก ทว่าก็ยังดูโปร่งเบาด้วยการเลือกใช้ฟาซาดกระจก

หากสังเกตดี ๆ ทั่วผนังฝั่งตะวันตกที่ทึบหนาและโค้งมนกรุผิวด้วยจานอะลูมิเนียมหล่อ ว่ากันว่ามีมากกว่า 36,000 ชิ้น ที่แสดงให้เห็นลวดลายมังกรทองสัมฤทธิ์และเมฆโบราณ โดยมีสะพานข้ามผืนน้ำที่โดดเด่นไม่แพ้ตัวอาคาร สะพานนี้ทำหน้าที่เชื่อมไปยังห้องโถงชั้นสองและคอร์ตยาร์ดของพิพิธภัณฑ์

ความประทับใจอีกอย่าง คือการที่เราได้เห็นสมาชิกในครอบครัวชาวไต้หวันกลุ่มน้อยบ้างใหญ่บ้างพากันมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์อย่างไม่ขาดสาย พื้นที่แห่งนี้เอื้อต่อการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสนใจเรื่องราวศิลปะ และสร้างการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมระหว่างครอบครัวในวันหยุด

ที่นี่มีพื้นที่ให้เด็กเล่นสนุกตามประสาเด็ก บ้างวิ่งไล่จับในสนามหญ้า บ้างเล่นสนุกกับเพื่อนต่างวัยในบ่อทราย บ้างวิ่งเล่นกลางน้ำพุด้านหน้าอาคารกับเพื่อนต่างเพศ ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็นั่งจับกลุ่มดูลูกหลานเล่นสนุกกับกิจกรรมหลากหลายอยู่ห่าง ๆ ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มภายใต้ร่มเงาของสถาปัตยกรรมและสภาพอากาศที่ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป

ทั้งหมดทั้งมวล ภาพทุกอย่างไม่ใช่ภาพเหนือจินตนาการแต่อย่างใด เพราะทุกพิพิธภัณฑ์หรือครีเอทีฟสเปซในไต้หวันคนแน่นทั้งวันเหมือนกันหมดทุกที่ ทุกเมือง

ปั่นจักรยานไป หลงไป…หลงไปกับเสน่ห์ของการวางผังเมืองใจกลางเจียอี้

ความเหนื่อยล้าจากการเดินสำรวจเมืองตั้งแต่เช้าจรดบ่าย ส่งผลให้ม่านตาของสมาชิกในทีมบางคนปิดลงชั่วขณะ สักพักเดียวพวกเราก็ตื่นขึ้นมาบนถนนสายหนึ่งที่กวาดสายตาดูก็พอรู้ว่า เรากำลังมุ่งตรงเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองเจียอี้แล้วในขณะนี้

60 ตารางกิโลเมตร คือขนาดพื้นที่ทั้งหมดของตัวเมืองเจียอี้ (Chiayi City) ซึ่งมีจำนวนประชาการอาศัยอยู่ราวสองแสนหกหมื่นคนเท่านั้น ผังเมืองของเจียอี้เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก มีลักษณะเป็นบล็อกหลายๆ บล็อกรวมกัน จนสามารถกำหนดสัญญาณไฟจราจรบนถนนสายหลักอย่างเป็นระบบ ไฟเขียว เขียวพร้อมกันหมดทั้งเส้น ไฟแดง แดงพร้อมกันหมดทั้งสาย ถนนหนทางเชื่อมถึงกันหมดจนต้องหมั่นสังเกตป้ายจราจรให้ดี เพราะเป็นเส้นทางเดินรถทางเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้จะมีสี่แยกค่อนข้างเยอะ มีซอยเล็กซอยน้อยค่อนข้างแยะ แต่เชื่อเถอะ ที่นี่ไม่วุ่นวายเหมือนบางที่ เพราะคนที่นี่วินัยเยี่ยมยอด เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

Alishan Forest Railway Chiayi Station

เราปั่นจักรยาน YouBike ไปตามเลนที่ขีดเส้นมาเพื่อจักรยานโดยเฉพาะด้วยความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจไปตามถนนจงซาน (Zhongshan Road) มาจนถึง Alishan Forest Railway Chiayi Station แม้ความเจริญทางเทคโนโลยีและการก่อสร้างจะล้ำสมัย ทว่าอาคารสีครีมอ่อนแกมเหลืองที่เด่นสง่าหลังนี้ คือหลักฐานความคลาสสิกจากสมัยอดีตที่ยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ให้อยู่เหนือกาลเวลาจนปัจจุบัน

โครงสร้างเหล็กท่อกลม (Steel Pipes) สีขาวโพลนกระจายตัวกันอยู่ห่าง ๆ ทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคาเหล็กแบนราบเพื่อเป็นเพิงบังแสงแดดและฝนของผู้ใช้งาน ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นให้เกิดการอยู่ร่วมแบบถ่อมตน โดยไม่ตะโกนแข่งกัน ดังคำอธิบายของ Shen Ting Tseng Architects ถึงงานออกแบบของเขา

โครงสร้างเหล็กที่แข็งแรงและโปร่งเบาเปรียบเสมือนการดึงปุยเมฆลงต่ำมาใกล้กับพื้นดิน เปิดโอกาสให้ผู้มารอขึ้นรถไฟ หรือหยุดรอการเปลี่ยนถ่ายไปยังขนส่งมวลชนสาธารณะใจกลางจัตุรัสด้านหน้า โดยไม่แตะต้องตัวสถานีรถไฟที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แต่ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยภายนอกเข้าสู่ภายใน หรือภายในออกสู่ภายนอกได้เต็มประสิทธิภาพ  ในขณะที่ด้านข้างจัตุรัสมีสถานีเช่าจักรยาน YouBike ขนาดใหญ่ที่มีจักรยานนับร้อยคันจอดเรียงรายกันให้ผู้ใช้งานเลือกสรรได้ตามใจชอบ

Chiayi Art Museum / Chiayi Cultural and Creative Industries Park

บนถนนสายเดียวกัน ถัดจากสถานีรถไฟเจียอี้มาไม่กี่สิบเมตร คุณจะพบกับสองสถานที่ที่ยังคงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้เราได้เชยชม แม้ฟังก์ชันใหม่ของทั้งสองอาคารจะเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างเมื่อครั้งอดีต

เริ่มจากอดีตอาคารโรงงานยาสูบเก่าตรงหัวมุมถนนจงซาน ตัดกับถนนกว่างหนิง ที่นี่คืออนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของเจียอี้ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1936 ในสมัยอาณานิคมของญี่ปุ่น หรือ ยุคโชวะ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 ชั้นที่สถาปนิกชาวญี่ปุ่น Sutejiro Umezawa เคยออกแบบและวางผังอาคารเป็นรูปตัว L ที่มีมุมอาคารโค้งมนเป็นเอกลักษณ์

ตัวอาคารหลังเก่าเป็นสารตั้งต้นให้ Studiobase Architects และ M.H.Wang Architects and Associates เปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมจากนีโอคลาสสิกมาสู่สถาปัตยกรรมโมเดิร์น ในการออกแบบส่วนต่อขยายจากอาคารโรงงานยาสูบเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำเมืองแห่งใหม่ Chiayi Art Museum ที่เพิ่งเปิดในปี ค.ศ. 2020

ส่วนต่อขยายและปรับปรุงอาคาร 3 ชั้น เกิดจากแนวคิดของสถาปนิกที่ต้องการลดความวุ่นวายของการรื้อถอนและงานก่อสร้างในพื้นที่ให้มากที่สุด ผ่านการประยุกต์ใช้วัสดุร่วมสมัยมาผสมผสานโครงสร้างเดิมบางส่วน โดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก (RC) ร่วมกับโครงสร้างไม้แปรรูป (Glulam & CLT) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพอาคารให้สามารถรองรับกับแผ่นดินไหวได้ รวมถึงตัววัสดุเองยังสอดรับไปกับความเป็น “เมืองแห่งไม้” หรือ เมืองแห่งอุตสาหกรรมไม้ ซึ่งในอดีตเจียอี้เคยมีโรงเลื่อยใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกตั้งอยู่ ในขณะที่โถงล็อบบี้มีการทุบผนังคอนกรีตเดิมออกแล้วใช้ผนังกระจกเพื่อเพิ่มความเปิดโปร่ง เมื่อเปิดม่านขึ้นจะเผยให้เห็นโครงถักและเสาไม้แปรรูปได้จากภายนอก มุมอาคารส่วนต่อเติมยังคงโค้งมนล้อไปกับลักษณะเดิมของอาคารคอนกรีต เชื่อมกับอาคารโกดังและร้านค้าปลีก และบริเวณคอร์ตยาร์ดของอาคารที่ได้รับการเนรมิตเป็นสวนหย่อมและมุมนั่งพักกลางแจ้งสุดร่มรื่นในแนวคิด Urban Living Room

เยื้องจาก Chiayi Art Museum เดินข้ามฝั่งถนนจงซานไปเล็กน้อยคุณก็จะพบกับ Chaiyi Cultural and Creative Industries Park โกดังเก่าที่กลายมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองซึ่งเก๋ไก๋ไม่แพ้ Songshan Cultural and Creative Park ในไทเปเลยล่ะ!

สวนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเจียอี้ ได้รับการผลักดันจาก Taiwan Living Arts Foundation ให้กลายเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการศิลปะและร้านค้างานดีไซน์ของเมือง เพื่อการส่งเสริมคนทำงานสร้างสรรค์ในท้องถิ่นได้มีพื้นที่ปลดปล่อยผลงาน ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟเจียอี้ ในอดีตโกดังเหล่านี้คือโรงเหล้าแห่งแรกในไต้หวันในนาม Chiayi Old Distillery จึงทำให้เจียอี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บ้านเกิดของสุรากลั่นข้าวฟ่าง” อีกหนึ่งชื่อนั่นเอง

จากภาพเจียอี้ในเวลากลางวันดูผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่านใช่ไหม ใครมาที่นี่ให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินถนนที่ไม่เคยหลับใหลบนถนนเหวินฮั่ว แล้วจะเปลี่ยนความคิด ที่นี่ครึกครื้นและผู้คนเนืองแน่นสุด ๆ ที่มีทั้งตลาดเหวินฮั่ว ซึ่งเป็นตลาดนัดกลางวัน และตลาดนัดกลางคืนเหวินฮั่ว (Wenhua Road Night Market) ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งถนนเหวินฮั่วแทบจะเป็นจุดศูนย์รวมของคนเจียอี้และนักท่องเที่ยวมาอยู่รวมกันมากที่สุด มีร้านอาหารและของอร่อยขึ้นชื่อและร้านรวงสำหรับสายช้อปรวมกันอยู่ที่นี่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลากหลายความน่าสนใจของนานาสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเจียอี้ ที่เราอยากบอกว่ามีดีมากกว่าอาลีซานที่คุณรู้จัก ติดตามแคมเปญ “Walk and Bike to the Unseen of Taiwan – ปั่นได้ฟีล ท่องวิวใหม่ที่ไต้หวัน” ในเส้นทางอื่น ๆ ได้ที่ช่องทางการสื่อสารของพวกเรา บ้านและสวน Explorers Club และ National Geographic Thailand ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก

เรื่องและภาพ นวภัทร ดัสดุลย์ (บ้านและสวน Explorer Club)

#การท่องเที่ยวไต้หวัน #TaiwanTourismTH #Chiayi #Kaohsiung #WestCoast


อ่านเพิ่มเติม Tainan City เมืองหลวงเก่า 400 ปี มีดีที่สถาปัตยกรรมและธรรมชาติ

Recommend