เรื่อง ดี. ที. แมกซ์
ภาพประกอบ โอเวน ฟรีแมน
ตอนที่ผมพบกับไซบอร์ก นีล ฮาร์บิสสัน ที่บาร์เซโลนา เขาดูไม่ต่างจากฮิปสเตอร์ทั่วไปในเมืองนั้น เพียงแต่เขามีเสาอากาศสีดำที่โค้งงอออกมาจากด้านหลังของกะโหลกศีรษะเหนือผมทรงกะลาครอบสีทอง
ฮาร์บิสสันวัย 34 ปี เกิดที่เมืองเบลฟัสต์ ไอร์แลนด์เหนือ และเติบโตขึ้นในสเปน เขามีความผิดปกติที่พบได้น้อยมากเรียกว่า ภาวะตาบอดสีทุกสี หรือภาวะสูญเสียการระลึกรู้สี (acromatopsia) ซึ่งแปลว่า เขาไม่สามารถรับรู้สีได้ แต่เสาอากาศ ซึ่งมีส่วนปลายเป็นตัวรับของเส้นใยนำแสง (เซนเซอร์ไฟเบอร์ออปติก) อยู่เหนือดวงตาของเขาพอดี ช่วยให้ฮาร์บิสสันรับรู้สีได้
ฮาร์บิสสันไม่เคยรู้สึกว่า การอยู่ในโลกที่มีแต่สีขาวและดำถือเป็นความพิการแต่อย่างใด “ผมมองเห็นได้ไกลขึ้น ผมยังจดจำรูปทรงต่างๆได้ง่ายขึ้นเพราะไม่มีสีสันมาทำให้สับสน” เขาบอกผมด้วยน้ำเสียงเรียบๆ
แต่เขาอยากรู้อยากเห็นมากว่าสิ่งต่างๆจะเป็นอย่างไรถ้ามีสี ด้วยความที่เรียนด้านดนตรีมา ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย เขาจึงคิดว่าเสียงอาจทำให้เขาค้นพบสีได้ ช่วงอายุ 20 ต้นๆ เขาไปหาศัลยแพทย์ (ผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ) ที่ยินยอมปลูกฝังอุปกรณ์ไซเบอร์เนติกส์ (cybernatics: ศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสารและควบคุมภายในสัตว์และในเครื่องจักร) ให้
ตัวรับของเส้นใยนำแสงจะรับสีต่างๆที่อยู่ตรงหน้าเขา และไมโครชิปที่ฝังอยู่ในกะโหลกจะเปลี่ยนคลื่นความถี่ของสีต่างๆไปเป็นการสั่นสะเทือนตรงบริเวณด้านหลังศีรษะ ซึ่งจะกลายเป็นความถี่เสียงและเปลี่ยนกะโหลกให้เป็นเหมือนหูที่สาม เขาระบุได้อย่างถูกต้องว่า เสื้อคลุมของผมเป็นสีน้ำเงิน เมื่อหันเสาอากาศไปทางมูน รีบัส เพื่อนที่เป็นศิลปินไซบอร์กและนักเต้น เขาก็บอกได้ว่าเสื้อของเธอเป็นสีเหลือง
เมื่อผมถามฮาร์บิสสันว่า แพทย์ติดอุปกรณ์เข้ากับตัวเขาได้อย่างไร เขาก็รีบแหวกผมด้านหลังศีรษะให้ดูจุดที่เชื่อมต่อกับเสาอากาศ ผิวหนังสีอมชมพูถูกแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งยึดด้วยหมุดสองตัวกดทับไว้ อุปกรณ์ปลูกฝังชิ้นนี้เชื่อมต่อกับไมโครชิปที่สั่นสะเทือนได้ และอุปกรณ์อีกชิ้นคือตัวรวมสัญญาณบลูทูท ซึ่งช่วยให้เพื่อนๆส่งสีต่างๆผ่านมาทางสมาร์ทโฟนของเขาได้
เสาอากาศช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับฮาร์บิสสัน เขาบอกว่ายิ่งนานวันข้อมูลที่ได้รับก็เริ่มไม่เหมือนการมองเห็นหรือ การได้ยินอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนสัมผัสที่หก
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเกี่ยวกับเสาอากาศนี้คือ มันช่วยให้เขามีความสามารถอย่างหนึ่งที่มนุษย์อย่างเราๆไม่มี เขามองโคมไฟบนดาดฟ้าและสัมผัสได้ว่า แสงอินฟราเรดที่กระตุ้นโคมไฟให้ทำงานปิดอยู่ พอมองไปที่กระถางต้นไม้ก็ “เห็น” เครื่องหมายรังสีอัลตราไวโอเลตที่แสดงตำแหน่งของน้ำต้อยบริเวณตรงกลางของดอกไม้ เขาไม่ได้มีเพียงทักษะเทียบเท่ามนุษย์ทั่วไป แต่ก้าวล้ำไปกว่านั้น
ฮาร์บิสสันจึงเป็นเหมือนก้าวแรกซึ่งนำไปสู่เป้าหมายที่นักอนาคตศาสตร์ (futurist) วาดภาพไว้ เป็นตัวอย่างแรกๆของสิ่งที่เรย์ เคิร์ซวีล กล่าวถึงในหนังสือ The Singularity is Near ว่า “การขยายขอบเขตศักยภาพของมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่” แต่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของฮาร์บิสสันเองกลับเป็นเรื่องทางธรรมชาติมากกว่าเทคโนโลยี แต่ในเมื่อเขากลายเป็นไซบอร์ก คนแรกของโลกอย่างเป็นทางการ (เขาโน้มน้าวรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการอนุญาตให้เขาติดเสาอากาศในรูปถ่ายหนังสือเดินทาง โดยอ้างว่าเสาดังกล่าวไม่ใช่อุปกรณ์ไฟฟ้า แต่เป็นส่วนต่อขยายของสมอง) เขายังกลายเป็นผู้ชักจูงให้คนอื่นคล้อยตาม ไม่นานรีบัสก็ทำตามเขาในสิ่งที่บางครั้งเรียกว่า ลัทธิก้าวข้ามขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ หรือลัทธิพ้นมนุษย์ (transhumanism) ด้วยการมีเครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวในโทรศัพท์ของเธอเชื่อมต่อกับแม่เหล็กที่สั่นสะเทือนได้ฝังอยู่ในต้นแขน เธอได้รับรายงานแผ่นดินไหวตามเวลาจริง ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของโลก และแสดงออกผ่านการเต้นรำ
เห็นได้ชัดว่า เสาอากาศของฮาร์บิสสันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เรากำลังอยู่บนเส้นทางในการสร้างนิยามใหม่ให้กับวิวัฒนาการของเราอย่างนั้นหรือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า วิวัฒนาการในตอนนี้ไม่เพียงหมายถึงกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่เชื่องช้าผ่านยีนซึ่งเป็นที่ต้องการ แต่ยังรวมถึงทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อขยายพลังอำนาจของเราและพลังของสิ่งต่างๆที่เราทำอย่างการรวมยีน วัฒนธรรม และเทคโนโลยี หากเป็นเช่นนั้นจริง วิวัฒนาการนี้จะนำพาเราไปสู่อะไร