เรื่อง แพทริเชีย เอดมอนส์
ภาพถ่าย คริสเตียน ซีกเลอร์
โลกคงมีสัตว์อีกเพียงไม่กี่ชนิดที่เทียบรัศมีกิ้งก่าคาเมเลียนได้ในแง่ของความสามารถทางสรีระอันน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ลิ้นที่ยาวกว่าลำตัวพุ่งออกไปตวัดจับแมลงได้ในชั่วเสี้ยววินาที สายตาที่มองเห็นได้ชัดแจ๋วราวกับกล้องส่องทางไกลหมุนได้รอบทิศทาง เท้าที่มีนิ้วเท้าแยกออกเป็นสองชุดทำหน้าที่ยึดจับได้แน่นหนาราวปากคีบ เขาที่ยื่นออกมาจากคิ้วและจมูก ไปจนถึงแผงคอที่สวยงามราวกับผ้าลูกไม้
จากคุณลักษณะพิสดารทั้งหลายแหล่ของกิ้งก่าคาเมเลียน สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดและเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่โบร่ำโบราณคือ ผิวหนังที่เปลี่ยนสีสันได้ ดังความเชื่อที่ว่า กิ้งก่าคาเมเลียนสามารถเปลี่ยนสีผิวหนังไปตามสิ่งที่มันจับต้องหรือสัมผัส แม้การเปลี่ยนสีในบางครั้งจะช่วยให้พวกมันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมก็จริง แต่สีผิวหนังที่เปลี่ยนไปแท้จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาเพื่อการสื่อสารเสียส่วนใหญ่ กิ้งก่าคาเมเลียนเป็นสัตว์ เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าชนิดเดียวที่ใช้สีสันแทนภาษาและการแสดงออกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่กระทบมัน ทั้งการเกี้ยวพาราสี การแข่งขัน และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม
อย่างน้อยนี่คือความเชื่อในปัจจุบัน คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์สัน นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งก่าคาเมเลียนที่มหาวิทยาลัยบราวน์ บอกว่า “แม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะเป็นที่สนใจมานานหลายร้อยปี แต่ปัจจุบันยังคงมีปริศนามากมายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ เรายังคงพยายามทำความเข้าใจกลไกการทำงานของมันอยู่ครับ” ตั้งแต่การแลบลิ้นออกไปอย่างรวดเร็วไปจนถึงฟิสิกส์ของการเปลี่ยนสีผิวหนัง
เมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือไอยูซีเอ็น เผยแพร่บัญชีแดง (Red List) ฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานะเชิงอนุรักษ์ของกิ้งก่าคาเมเลียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจัดว่าถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม แอนเดอร์สันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิ้งก่าคาเมเลียนของไอยูซีเอ็น เช่นเดียวกับคริสตัล ทอลลี นักชีววิทยาผู้ได้รับทุนเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทอลลีเดินทางไปค้นคว้าวิจัยทางตอนใต้ของแอฟริกาและบันทึกการค้นพบกิ้งก่าคาเมเลียนชนิดใหม่ๆ รวมถึงแหล่งอาศัยที่กำลังหดหายไป
ในจำนวนชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนที่รู้จักกันกว่า 200 ชนิด ราวร้อยละ 40 พบบนเกาะมาดากัสการ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา และมากกว่าร้อยละ 20 ของชนิดพันธุ์ที่รู้จักกันได้รับการระบุชนิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง
แอนเดอร์สันศึกษาการล่าเหยื่อของกิ้งก่าคาเมเลียนอย่างละเอียด โดยใช้กล้องที่จับภาพได้ถึง 3,000 เฟรมต่อวินาทีเขาถ่ายทำฉากการกินจิ้งหรีดนาน 0.56 วินาทีของกิ้งก่าคาเมเลียนและตัดต่อเป็นวิดีโอความยาว 28 วินาทีที่แสดงให้เห็นกลไกการพุ่งและตวัดลิ้นของมัน
ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนสีผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนเพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน และก้าวหน้าไปอย่างมากเมื่อต้นปีนี้หลังการตีพิมพ์งานวิจัยของไมเคิล มิลินโควิตช์ นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมานานแล้วว่า กิ้งก่าคาเมเลียนเปลี่ยนสีเมื่อสารสีในผิวหนังแพร่กระจายไปตามเซลล์ที่เชื่อมต่อกันเหมือนเส้นเลือด แต่มิลินโควิตช์ ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการและนักชีวฟิสิกส์ แย้งว่า ทฤษฏีนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะกิ้งก่าคาเมเลียนสีเขียวจำนวนมากไม่มีสารสีในผิวหนังที่เป็นสีเขียวเลย
ดังนั้นมิลินโควิตช์กับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเจนีวาจึงเริ่ม “ศึกษาทั้งในเชิงฟิสิกส์และชีววิทยาไปพร้อมๆกัน” ภายใต้ชั้นเซลล์ผิวหนังที่มีสารสี พวกเขาพบเซลล์ผิวหนังอีกชั้นหนึ่งที่ประกอบด้วยผลึกขนาดนาโน (นาโนสเกล) เรียงตัวกันเป็นโครงข่ายรูปสามเหลี่ยม
เมื่อนำตัวอย่างผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนไปทดสอบภายใต้แรงดันและสารเคมี นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า ผลึกเหล่านี้สามารถ “ปรับแต่ง” เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างผลึกได้ตามต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อสีของแสงที่สะท้อนจากโครงข่ายผลึกรูปสามเหลี่ยม เมื่อระยะห่างระหว่างผลึกเพิ่มขึ้น สีที่สะท้อนออกมาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสีฟ้าเป็นเขียว จากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นส้มและแดง เป็นเหมือนภาพคาไลโดสโคปซึ่งมักพบได้เห็นในกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เวลาเปลี่ยนจากอารมณ์สงบไปสู่ความรู้สึกตื่นเต้น หรือความรู้สึกสเน่ห์หา
แม้ว่ากิ้งก่าคาเมเลียนทุกชนิดจะเปลี่ยนสีได้ แต่หลายชนิดไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ฉูดฉาดพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น อย่างไรก็ตาม กิ้งก่าคาเมเลียนเกือบทุกชนิดมีเทคนิคอีกอย่างในการข่มขวัญอีกฝ่าย นั่นคือพวกมันทำให้ตัวเองดูใหญ่ขึ้นด้วยการบีบลำตัวให้ลีบเข้าแต่สูงขึ้นโดยอาศัยการผายซี่โครงที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปตัววีเพื่อยกกระดูกสันหลังให้สูงขึ้น นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถทำให้ลำตัวดูใหญ่ขึ้นอีกด้วยการขดหางเข้ามาให้แน่น แล้วใช้กลไกในลิ้นดันให้คอขยายใหญ่
และแม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะพรางตัวจากภัยคุกคามบางชนิดได้ แต่ไม่อาจเอาตัวรอดจากการทำเกษตรด้วยวิธีแผ้วถางป่า ซึ่งทำลายถิ่นอาศัยของพวกมัน ไอยูซีเอ็นกำหนดให้กิ้งก่าคาเมเลียน 9 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 37 ชนิด จัดว่าใกล้สูญพันธุ์ 20 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ และ35 ชนิดใกล้ถูกคุกคาม