มนุษย์ปริศนาหน้าใหม่ (First Human)

มนุษย์ปริศนาหน้าใหม่ (First Human)

เรื่อง  เจมี ชรีฟ
ภาพถ่าย โรเบิร์ต คลาร์ก

ขุมทรัพย์ฟอสซิลที่พบลึกเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้ ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์

ตอนนั้นเป็นวันที่ 13 กันยายน ปี 2013 สตีฟ ทักเกอร์ และริก ฮันเตอร์ นักสำรวจถ้ำสมัครเล่นสองคนเดินเข้าสู่ถ้ำหินโดโลไมต์ชื่อ  “ไรซิงสตาร์” (Rising Star)  ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโจฮันเนสเบิร์กไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 50 กิโลเมตร   ถ้ำแห่งนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักสำรวจถ้ำมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เครือข่ายทางเดินและคูหาน้อยใหญ่อันซับซ้อนของมันล้วนได้รับการสำรวจและทำแผนที่ไว้อย่างดี  ทักเกอร์และฮันเตอร์หวังจะพบเส้นทางที่ยังไม่ค่อยมีใครใช้กันนัก

แต่พวกเขามีภารกิจอื่นในใจ  ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ  มีการค้นพบฟอสซิลบรรพบุรุษมนุษย์  ยุคแรกๆในภูมิภาคแถบนี้มากเสียจนได้รับการขนานนามว่า  “ต้นกำเนิดแห่งมนุษยชาติ”  แม้ยุคทองแห่งการล่าฟอสซิลของที่นี่จะผ่านมานานแล้ว  แต่นักสำรวจถ้ำทั้งสองต่างรู้ดีว่า  นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ในโจฮันเนสเบิร์กกำลังมองหากระดูกอยู่

ลึกเข้าไปในถ้ำ  ทักเกอร์และฮันเตอร์ใช้เส้นทางแคบๆชื่อ “ซูเปอร์แมนส์ครอว์ล” ที่ได้ชื่อนี้เพราะคนส่วนใหญ่จะผ่านไปได้ก็ต่อเมื่อแนบแขนข้างหนึ่งไว้กับลำตัวและชูแขนอีกข้างขึ้นเหนือศีรษะเหมือนท่าบินของซูเปอร์แมน  พวกเขาผ่านคูหาใหญ่แห่งหนึ่ง  แล้วปีนผนังหินขรุขระขึ้นไปจนสุด  ด้านบนเป็นโพรงเล็กๆสวยงามมีหินย้อยประดับ ทักเกอร์ค่อยๆลดตัวลงในรอยแยกที่พื้นถ้ำ  เท้าของเขาสัมผัสแง่งหินเล็กๆแง่งหนึ่ง  ก่อนจะเจออีกแง่งใต้แง่งนั้น และจากนั้นก็พบแต่ความว่างเปล่า

เขาหย่อนตัวลงไปและพบว่าตัวเองอยู่ในปล่องถ้ำแคบๆแนวดิ่งที่บางช่วงกว้างเพียง 20 เซนติเมตร  เขาตะโกนเรียกฮันเตอร์ให้ตามลงมา  ทั้งคู่จัดว่ามีรูปร่างผอมบางเป็นพิเศษ  พูดง่ายๆคือมีแต่กล้ามเนื้อกับกระดูก  ถ้าตัวใหญ่กว่านี้อีกหน่อย พวกเขาคงไม่สามารถลงไปตามช่องนั้นได้  และการค้นพบฟอสซิลมนุษย์ที่อาจเรียกได้ว่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ  และน่าพิศวงที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย คงไม่มีวันเกิดขึ้น

ลี เบอร์เกอร์ นักมานุษยบรรพกาลวิทยา ผู้ขอให้นักสำรวจถ้ำช่วยสอดส่องมองหาฟอสซิล  เป็นชาวอเมริกันร่างใหญ่   ศีรษะเถิกและชอบฉีกยิ้มกว้างจนแก้มแทบปริ   ย้อนหลังไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตอนที่เบอร์เกอร์ได้งานที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ (เรียกสั้นๆว่า “วิตส์”) และเริ่มออกเสาะหาฟอสซิล ความสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ย้ายศูนย์กลางไปยังเกรตริฟต์แวลลีย์ในแอฟริกาตะวันออกมานานแล้ว

นักวิจัยส่วนใหญ่มองว่า  แอฟริกาใต้เป็นเรื่องประกอบในมหากาพย์ว่าด้วยวิวัฒนาการของมนุษย์  ไม่ใช่พล็อตหรือโครงเรื่องหลัก  เบอร์เกอร์ตั้งใจจะพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิด  แต่การค้นพบที่ไม่ค่อยสลักสำคัญของเขาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีมีแต่จะยิ่งตอกย้ำว่า แอฟริกาใต้ไม่มีอะไรจะหยิบยื่นให้เป็นคุณูปการแก่การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์

และแล้วในปี 2008  เบอร์เกอร์ก็ค้นพบสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ ระหว่างขุดค้นในสถานที่ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า  มาลาปา (Malapa) ห่างจากถ้ำไรซิงสตาร์ราว 16 กิโลเมตร  เขากับแมตทิว ลูกชายวัย 14 ปี พบฟอสซิลโฮมินินโผล่ออกมาจากกองหินโดโลไมต์

 

Recommend