เรื่อง เจเรมี เบอร์ลิน
ภาพถ่าย แคโรลิน คลุพเพิล
ผืนป่าเขียวขจีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับพรมแดนบังกลาเทศ คือที่ตั้งของหมู่บ้านเล็กๆซึ่งมีระเบียบทางสังคมไม่เหมือนใคร ชนพื้นเมืองเผ่ากะสิราว 500 คนในหมู่บ้านมูลินนงยังคงสืบสานประเพณีการสืบทอดทางแม่ซึ่งมีมาแต่โบราณ ณ ชุมชนแห่งนี้ ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง เงินทอง ทรัพย์สิน หรืออำนาจ ล้วนตกทอดจากแม่สู่ลูกสาว พูดอีกนัยหนึ่งคือเพศหญิงคือผู้เป็นใหญ่นั่นเอง
แคโรลิน คลุพเพิลช่างภาพจากเบอร์ลินใช้เวลาเก้าเดือนในช่วงสองปีพำนักอยู่กับครอบครัวชาวกะสิครอบครัวแล้วครอบครัวเล่าในหมู่บ้านที่ “สงบสุขและสะอาดอย่างไม่น่าเชื่อ” เธอได้พบกับวัฒนธรรมที่ลูกสาวคนสุดท้อง (เรียกว่า คัดดูห์) เป็นผู้รับมรดก สามีย้ายเข้าไปอยู่บ้านภรรยา และลูกๆใช้นามสกุลผู้เป็นแม่
เด็กผู้หญิงเข้าเรียนที่โรงเรียนในหมู่บ้านจนโตเป็นสาว แต่บางคนก็ย้ายไปเรียนต่อในเมืองหลวงของรัฐเมื่ออายุได้สิบเอ็ดหรือสิบสองปีหลังจากนั้นจึงเข้าเรียนในวิทยาลัยหรือกลับคืนสู่มูลินนงเพื่อดูแลพ่อแม่ พวกเธอจะแต่งงานกับใครก็ได้ที่พวกเธอเลือก การหย่าร้างหรือเลือกใช้ชีวิตโสดไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย แต่การไม่มีลูกสาวอาจเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีเพียงลูกสาวเท่านั้นที่จะสืบทอดตระกูลต่อไปได้ ครอบครัวที่ไม่มีลูกสาวจึงได้ชื่อว่า เอียป-ดูห์ หรือ “สูญพันธุ์” วาเลนตินา แพคินไทน์ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นฮิลล์ กล่าวและเสริมว่า ธรรมเนียมนี้มีมา “แต่โบราณ” แล้ว โดยอาจเป็นสมัยที่ชาวกะสิมีหลายคู่หลายคน จึงยากจะระบุได้ว่าใครเป็นพ่อของลูกที่เกิดมา หรืออาจเป็นครั้งที่บรรพบุรุษฝ่ายชายต้องออกไปทำศึกจึงไม่อาจดูแลเครือญาติหรือครอบครัวได้
ทุกวันนี้ ผู้ชายเป็นผู้นำในสภาหมู่บ้านมูลินนง แต่แทบไม่ได้ครอบครองทรัพย์สิน คลุพเพิลกล่าวว่า บางคนซึ่งไม่พอใจกับสถานะพลเมืองชั้นสองของตนถึงกับเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศด้วยซ้ำไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เธอทึ่งกับ “การยอมรับนับถือที่ชายชาวกะสิมีต่อผู้หญิง” ซึ่งเป็นหัวใจของสารคดีภาพชุดนี้