นักท่องทะเลแห่งมหาสมุทรอินเดีย

นักท่องทะเลแห่งมหาสมุทรอินเดีย

มัลดีฟส์เป็นชาติที่มีความเป็นเลิศด้านการท่องทะเล

มานานนับพันปี

ทั้งยังมีฝีมือการต่อเรือที่ชาวอาหรับและจีนยอมรับ

ตอนที่อมินาท สีตูนา แนะนำตัว เธอบอกให้เราเรียกเธอสั้นๆว่า “สีตุ”

สีตุเป็นครูโรงเรียนประถมบนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งที่มีประชากรไม่เกินสองพัน ห่างจากมาเล่ เมืองหลวงของมัลดีฟส์ราว 45 นาทีทางสปีดโบ๊ต  ในดินแดนที่มีน้ำทะเลมากกว่าแผ่นดินอย่างมัลดีฟส์  ผืนทะเลเป็นดังถนนหนทาง การลงเรือปกติกว่าการขึ้นรถ และอาชีพประมงยังเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของประเทศ รองจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เริ่มเกิดขึ้นกลางทศวรรษ 1970

สามีของสีตุก็เป็นชาวประมง  วันนี้เขาออกทะเลไปตกปลา  ฉันถามสีตุว่าลูกของเธอหัดจับปลาบ้างไหม  เธอตอบว่าพ่อเขาพาลูกออกทะเลไปด้วยกันเสมอ

ที่มัลดีฟส์ ยังเป็นเรื่องปกติที่พ่อพาลูกออกทะเลไปด้วยกันเพื่อเรียนรู้การจับปลาตั้งแต่ยังเล็ก  ถึงทุกวันนี้ เด็กชายส่วนใหญ่จับปลาเป็นก็จากการถ่ายทอดของคนรุ่นพ่อ เช่นเดียวกับที่พ่อเรียนจากปู่  ปู่เรียนจากทวดสืบขึ้นไปเรื่อยๆ  ในขณะที่พวกผู้หญิงรุ่นก่อนๆต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือน ทำงานบ้าน ถนอมอาหาร และเลี้ยงดูลูก รอสามีหาปลากลับมา  ผู้หญิงรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาระดับสูงหรือจบมหาวิทยาลัยจากเมืองหลวง แต่งงาน และทำงานนอกบ้าน เช่นที่สีตุสอนหนังสือบนเกาะบ้านเกิดของสามี และเธอก็พึงพอใจ

เพราะหาดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลใสสีเขียว และอากาศสดชื่น ทำให้คนทั่วโลกอยากเดินทางมายังมัลดีฟส์เพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อน  แต่สำหรับคนมัลดีฟส์เองอย่างสีตุซึ่งอยู่และคุ้นกับภูมิทัศน์เช่นนี้มาชั่วชีวิต เลือกไปเที่ยวที่ไหนกัน

“ศรีลังกาบ้าง เคราลาบ้างค่ะ” สีตุตอบ แต่ก็บอกด้วยว่าเธอชอบศรีลังกามากกว่า  ครอบครัวของสีตุไปเที่ยวศรีลังกาแทบทุกปี  เธอรู้สึกว่าคนที่นั่นเป็นมิตรกว่าอินเดีย  “คนศรีลังการู้จักคนมัลดีฟส์ดี และคนมัลดีฟส์ก็คุ้นเคยกับคนศรีลังกา”  แต่เหตุผลสำคัญก็คือ “ถ้าคุณมีเงิน 500 รูฟียา (1,000 บาท) คุณจะซื้อเสื้อผ้าที่ศรีลังกาได้ห้าชุด แต่ถ้าไปซื้อที่มาเล่ คุณจะซื้อได้แค่ชุดเดียว” สีตุบอก

มัลดีฟส์
ในอดีตชาวมัลดีฟส์ได้ชื่อว่าเป็นนักท่องทะเลตัวยง ปัจจุบันชาวมัลดีฟส์ก็ยังใช้ชีวิตและทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในทะเล ทั้งการทำประมงและท่องเที่ยว

สำหรับคนมัลดีฟส์ ศรีลังกาไม่ใช่ถิ่นอื่นไกลเลย

พูดได้ว่าศรีลังกา รวมทั้งอินเดีย โดยเฉพาะทางใต้และอ่าวเบงกอล เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่นักท่องทะเล (seafarer) จากหมู่เกาะมัลดีฟส์ ที่ทอดตัวเป็นอะทอลล์จากเหนือลงใต้เป็นระยะทาง 850 กิโลเมตร แล่นเรือใบติดต่อค้าขายมานานนับพันปี   ผู้คนจากดินแดนพันเกาะจึงคุ้นเคยและรับวัฒนธรรมสิงหลและทมิฬ จนปรากฏเป็นภาษา ตัวอักษร และขนบธรรมเนียมบางประการ

ในทางพันธุกรรม คนมัลดีฟส์มีความเกี่ยวโยงกับคนอินเดียใต้และอินเดียตะวันตก  นาซีมา โมฮัมเหม็ด นักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์แห่งบัณฑิตยสถานดิเวฮี บอกฉันว่า “หมู่เกาะมัลดีฟส์มีคนอาศัยมานานกว่า 2,500 ปี  เชื่อว่าตั้งรกรากกลุ่มแรกมาจากอนุทวีปอินเดียที่เดินทางด้วยเรือ และเป็นผู้ริเริ่มวัฒนธรรมท่องทะเลซึ่งสืบทอดมาจนถึงวันนี้”  นั่นแปลว่ากลุ่มคนที่เดินทางมาถึงมัลดีฟส์พวกแรก ย่อมเป็นนักท่องทะเลที่รู้จักมหาสมุทรและสายน้ำที่ไม่อาจคาดเดาได้เป็นอย่างดี  เธอยังเอ่ยถึงบันทึกสมัยแรกๆ ของนักท่องทะเลที่เล่าถึงการเข้าเฝ้าจักรพรรดิจูเลียนแห่งโรม (ระหว่าง ค.ศ. 361-363) และการถวายของกำนัลแด่จักรพรรดิจีนในอีกสามศตวรรษต่อมาด้วย

“หมู่เกาะมัลดีฟส์มีคนอาศัยมานานกว่า 2,500 ปี  เชื่อว่าตั้งรกรากกลุ่มแรกมาจากอนุทวีปอินเดียที่เดินทางด้วยเรือ และเป็นผู้ริเริ่มวัฒนธรรมท่องทะเลซึ่งสืบทอดมาจนถึงวันนี้”

ฮาเวียร์ โรเมโร-ฟรีอัส นักชาติพันธุ์วิทยาชาวสเปน ใช้ชีวิตอยู่ในมัลดีฟส์ระหว่างทศวรรษ 1970-1990 จนเชี่ยวชาญอ่านเขียนอักษรและพูดภาษาดิเวฮี (Dhivehi) อันเป็นทั้งคำที่คนมัลดีฟส์เรียกตัวเองและภาษาประจำชาติได้  เขาพูดคุยสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่และคนท้องถิ่น โดยเฉพาะที่อยู่บนเกาะทางตอนใต้ของมัลดีฟส์ และเก็บรวบรวมนิทานพื้นบ้าน ตำนานโบราณ ตลอดจนเรื่องเล่าร่วมสมัยเอาไว้มากมาย  ในหนังสือ The Maldive Islanders: A Study of the Popular Culture of an Ancient Kingdom ของเขาบันทึกคำกล่าวของชาวฟูมูลากู เกาะทางใต้เกือบสุดของมัลดีฟส์ที่ว่า “ปัญหาของพวกเราจะไม่คลี่คลาย หากเราไม่ได้น้ำตาล ข้าว น้ำมัน หม้อไห และสิ่งทอจากต่างถิ่น”  ความที่เกาะทั้ง 1,200 เกาะเล็กเกาะน้อยของมัลดีฟส์มีลักษณะเรียบแบน ไม่มีดินอย่างที่แผ่นดินมี ชนิดพืชพรรณน้อย ไม่มีแหล่งแร่หรือเหมืองโลหะ วัสดุพื้นฐาน รวมทั้งโลหะ เครื่องใช้ไม้สอย กระทั่งดอกไม้ไฟ ล้วนต้องนำเข้ามาจากถิ่นอื่นทั้งสิ้น  การดำเนินชีวิตในหมู่อะทอลล์ของมัลดีฟส์จึงเป็นไปไม่ได้ หากปราศจากการค้า

มัลดีฟส์
ปลาทูน่าครีบเหลืองเป็นอาหารจานหลักของคนมัลดีสฟ์มาตั้งแต่อดีต ชาวประมงนำปลาขนาดใหญ่ขนาดสองคนแบก จากสะพานปลาขึ้นมาขายที่ตลาดปลาฝั่งตรงข้ามเป็นภาพที่เห็นชินตา

ในการเดินทางแต่ละครั้ง พ่อค้าจากมัลดีฟส์บรรทุกปลาทูนาแห้ง ขนมหวานที่ทำจากเนื้อมะพร้าวเคี่ยวน้ำตาลอย่างบอนดี (bondi) กระดองเต่าทะเล และเชือกใยมะพร้าวที่พวกผู้หญิงเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนไปด้วย  หากเป็นอะทอลล์ที่มีหอยเบี้ย (Cypraea moneta) สาวๆก็จะเก็บหอยที่ขายเป็นเงินตราจากอ่าวโคลนตื้นๆ  มีหลักฐานหอยเบี้ยของมัลดีฟส์ถูกใช้เป็นเงินตรามาก่อนศตวรรษที่ 12 หรือเกินหนึ่งพันปีมาแล้ว  นอกจากนี้ยังมีขี้วาฬสเปิร์ม (ambergris) ซึ่งลอยมาติดชายหาดให้เก็บได้สบายๆ แต่ขายเป็นสินค้าราคาแพงได้ เพราะเป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำหอม

ในระหว่างที่พวกผู้หญิงเตรียมของ พวกผู้ชายจะซ่อมแซมเรือสินค้าไว้ให้พร้อมสำหรับการเดินทางที่จะมาถึง ดังบทกวีที่ลูกเรือนักท่องทะเลเร่งเร้าให้ผู้ช่วยไต้ก๋ง “รีบซ่อมแซมเรือเพื่อจะแล่นไปยังศรีลังกาให้ได้ภายในกลางเดือนกันยายน เพื่อขายสินค้าให้ได้ราคาดี”

เหตุที่จะต้องออกเรือให้ได้ภายในกลางเดือนกันยายนก็เพราะบรรดานักท่องทะเลชาวดิเวฮีต้องแล่นเรือโดยอาศัยลมมรสุมตามฤดูกาล  นับจากกลางพฤษภาคมถึงกันยายนเป็นฤดู “ฮูลันกู” (Hulhan’gu) มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พาเอาความชื้นและอากาศอุ่นจากกลางมหาสมุทรอินเดียไปสู่แผ่นดินใหญ่ มีกระแสน้ำอันทรงพลังช่วยขับเคลื่อนขบวนเรือค้าขายจากมัลดีฟส์ไปยังศรีลังกาและอ่าวเบงกอล  ส่วนขากลับก็อาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือของฤดู “อิรูวัย” (Iruvai) เดือนธันวาคมถึงมกราคม ที่พัดเอาอากาศแห้งและเย็นสบายจากมวลแผ่นดินของอินเดียสู่มหาสมุทร กางใบแล่นเรือกลับบ้าน  ระหว่างที่เรือเทียบท่า พ่อค้าและลูกเรือจะมีเวลาราวสามสี่เดือนในการค้าขายและซื้อสินค้าบรรทุกให้เต็มลำเรือ

ว่ากันว่าคนดิเวฮีในยุคนั้นเป็นพ่อค้าที่เอาจริงเอาจังชนิดที่เมื่อเรือเทียบท่าก็มุ่งตรงไปย่านค้าขายทันที เสร็จงานแล้วรีบตรงกลับขึ้นมานอนบนเรือ ไม่ค้างคืนที่ใด ไม่สร้างมิตรภาพกับคนแปลกหน้าต่างถิ่น ไม่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่ชอบรวมกลุ่มเหนียวแน่นอยู่กับพวกเดียวกัน  แม้จะมีเรื่องเล่าที่คนมัลดีฟส์คนแรกไปตั้งรกรากอยู่ที่หมู่เกาะเซเชลล์ แอฟริกาในตำนานเมื่อพันปีก่อน แต่ชุมชนมัลดีฟส์ในดินแดนอื่นเป็นของหายาก จนเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาที่เพิ่งมีคนจากมัลดีฟส์เริ่มไปอยู่อาศัยในประเทศอื่นๆ

ว่ากันว่าคนดิเวฮีในยุคนั้นเป็นพ่อค้าที่เอาจริงเอาจังชนิดที่เมื่อเรือเทียบท่าก็มุ่งตรงไปย่านค้าขายทันที เสร็จงานแล้วรีบตรงกลับขึ้นมานอนบนเรือ ไม่ค้างคืนที่ใด

ก่อนวันออกเดินทางสองสามวัน พวกผู้ชายจะลำเลียงสินค้าลงเรือที่จอดห่างจากฝั่ง  พอถึงวันเดินทาง พวกผู้หญิงจะสวมชุดที่สวยที่สุดของเธอและเตรียมบุหงาห่อด้วยใบพลูเป็นของที่ระลึกติดตัวสามีหรือคู่รักไปด้วยระหว่างรอนแรม มีการร้องรำทำเพลงและอวยพรให้ลูกเรือนักท่องทะเลเดินทางโดยสวัสดิภาพ  ในขณะที่วันที่เรือกลับมาถึง ก็ถือเป็นวันสำคัญของคนทั้งเกาะที่ทุกคนพากันออกมาต้อนรับที่หาดด้วยความยินดี

แม้นักท่องทะเลยุคโบราณจะเป็นชายล้วน แต่สำหรับคนดิเวฮี ก็ไม่นับเป็นเรื่องประหลาดหากจะมีผู้หญิงร่วมทางไปด้วย  ในกรณีที่เรือเทียบท่าในถิ่นอื่นที่ไม่รู้จักและประเมินว่าอาจเป็นอันตรายกับลูกเรือหญิง พวกผู้ชายมีมาตรการปกป้องพวกเธอ เช่น ตัดผมผู้หญิงให้สั้นและให้เธอเปลี่ยนชุดเป็นผู้ชายก่อนจะขึ้นฝั่ง

ตลาดปลาเปิดตลอดวันและคึกคักมากเป็นพิเศษตอนบ่ายแก่ๆ เมื่อชาวประมงขนปลามาขาย และคนทั่วไปแวะซื้อปลาก่อนกลับบ้าน

แม้คนมัลดีฟส์จะเป็นนักท่องทะเลผู้เก่งกาจ แต่ก็หลงทางไปถึงดินแดนที่ไกลโพ้นได้

ลองจินตนาการถึงการเดินเรือเมื่อสองพันปีที่แล้ว ก่อนที่โลกจะมีเครื่องยนต์และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนนำทาง นักท่องทะเลต้องอาศัยแต่ความชำนาญในการอ่านร่องน้ำและดวงดาว ฝีมือและทักษะในการรับมือกับคลื่น ลม และพายุ เรือใบที่ถูกต่ออย่างประณีตแข็งแรง ลูกเรือที่ร่วมแรงร่วมใจ ตลอดจนคาถาอาคมที่นักท่องทะเลมีไว้ป้องกันภูติผีปีศาจ ปัดเป่าความกลัว สร้างความมั่นใจห้ทุกคนเดินทางไปถึงจุดหมายได้โดยปลอดภัย

แต่ใช่ว่าทั้งหมดนี้จะคุ้มครองนักท่องทะเลดิเวฮีให้มีสวัสดิภาพเสมอไป

ต่อให้อยู่ในเส้นทางหลักที่เคยแล่นเรืออย่างเชี่ยวชาญ เรือสินค้าจากมัลดีฟส์อาจไปไม่ถึงศรีลังกาหรืออินเดียใต้  แต่ถูกน้ำและลมพัดจนพลัดไปถึงยังหมู่เกาะในทะเลอันดามันอย่างนิโคบาร์ ชายฝั่งพม่า หรือเกาะสุมาตรา  ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะกลับถึงมัลดีฟส์ได้  คนที่กลับมาได้อาจเล่าถึงเรื่องราวผจญภัยที่ตัวเองต้องเผชิญ รวมทั้งการประจันหน้ากับชาวเผ่าที่กินเนื้อคนด้วย (แต่ว่าเรื่องเล่าก็คือเรื่องเล่าและคนทางบ้านไม่มีทางรู้ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด)

ขากลับจากศรีลังกาหรือเบงกอลมายังมัลดีฟส์ยิ่งลำบากกว่า  เพราะเรือที่มีแต่ใบ ไร้เครื่องยนต์ อาจถูกลมและกระแสน้ำพัดจนคลาดไปจากร่องน้ำระหว่างหมู่เกาะ และหลงทางออกทะเลเปิดไปได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในยามค่ำคืน  ทั้งยังไม่มีเกาะใหญ่หรือแผ่นดินใกล้ๆ ที่อาจขึ้นฝั่งได้เลย  ถ้าโชคร้ายที่สุด ทั้งคน ทั้งเรือ และสินค้าก็หายสาบสูญไป  หรืออาจหลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไกลถึงเกาะแมคควอรีอันหนาวเย็นทางซีกโลกใต้ (ปัจจุบันเป็นเกาะในรัฐแทสเมเนีย ตอนใต้ประเทศออสเตรเลีย)

แต่ถ้าโชคดี กระแสน้ำพาไปทางตะวันตก ลูกเรือจากมัลดีฟส์อาจได้ขึ้นฝั่งที่มาดากัสการ์ หมู่เกาะเซเชลล์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเซเชลล์) โซมาลี และแอฟริกาตะวันออก และหากเจรจากับผู้ปกครองที่เป็นเจ้าอาณานิคมหรือหาทางติดเรือที่มาค้าขายยังอินเดียได้ ก็มีหวังได้กลับบ้าน

มัลดีฟส์
กระเบนนับเป็นปลาที่พบยากในน่านน้ำไทย แต่กลับพบได้ง่ายตามหาดทรายน้ำตื้นและบริเวณสะพานปลา ใกล้ตลาดปลามาเล่ ที่ซึ่งฝูงกระเบนมักมารอเศษอาหารที่เหลือจากตลาดปลา

ในเมื่อเรือเป็นพาหนะการเดินทางที่สำคัญ คนมัลดีฟส์จึงเชี่ยวชาญศาสตร์และศิลป์แห่งการต่อเรือ

ใครที่ไปมาเล่และได้ไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ของมัลดีฟส์ที่ตั้งอยู่ในสุลต่านพาร์ก ถนนจันทนี (Chandhanee Magu) ย่อมเห็นมุมจัดแสดงเรือโดนี วัสดุที่ใช้ต่อเรือ เข็มทิศโบราณ เชือกที่ทำจากกาบมะพร้าว รวมทั้งข้อมูลชนิดของไม้ เชือก และอื่นๆ  ฉันคิดว่าถ้าหากคนมัลดีฟส์นึกจะเล่าเรื่องการท่องทะเลและการต่อเรือจริงๆ คงจัดแสดงเป็นอีกพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะได้เลย

โรเมโร-ฟรีอัส เคยเฝ้าดูการต่อเรือของคนมัลดีฟส์และบันทึกเอาไว้ว่า “คนมัลดีฟส์ต่อเรือโดยไม่อาศัยแบบแปลนก็จริง แต่ทำอย่างใส่ใจที่สุด  นายช่างใหญ่จะหมั่นวัดเรือด้วยเชือกหรือใบมะพร้าวแล้วสั่งงานลูกน้องของตน” และยังบอกด้วยว่าในสมัยโบราณ ผังจักรวาลของโหราจารย์ในท้องถิ่นถูกนำมาใช้เพื่อหาฤกษ์ยามและทิศทางในการสร้างบ้านและการต่อเรือด้วย

แม้มัลดีฟส์จะอยู่ใกล้ศรีลังกากับอินเดียมากกว่า แต่เรือที่ต่อจากไม้ (planked boat) ของมัลดีฟส์ส์กลับคล้ายคลึงกับเรือทางแอฟริกาตะวันออกและอาหรับ  ในยุคแรกไม้กระดานเรือถูก ผูกหรือ “เย็บ” ไว้ด้วยใยกาบมะพร้าว และทอใบเรือเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ต่อมาในศตวรรษที่สิบเจ็ดหรือสิบแปด ก็มีการเปลี่ยนเทคนิคเป็นการใช้หมุดโลหะและใบเรือแบบสามเหลี่ยมแทน  เรือของคนมัลดีฟส์ได้รับการกล่าวขานในหมู่นักปราชญ์และนักเดินทางตลอดประวัติศาสตร์ เช่น อัลอิดริซี นักเดินทางชาวโมรอคโคในศตวรรษที่ 12  จากอิบิน บัตตูตา ในศตวรรษที่ 14  รวมทั้งหม่าฮวาน นักบันทึกจดหมายเหตุของเจิ้งเหอ ในศตวรรษที่ 15

มัลดีฟส์
ฝีมือการต่อเรือของชาวมัลดีฟส์เป็นที่กล่าวขานนับพันปีจากนักเดินเรือชาวอาหรับและชาวจีน ช่างต่อเรือมัลดีฟส์แตกฉานศิลปะการต่อเรือและเปิดรับเทคนิคการต่อเรือใหม่ๆ จากชาวตะวันตกตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม

เพราะความที่เป็นทั้งนักท่องทะเลและแตกฉานศิลปะการต่อเรือ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อมีเรือจากต่างถิ่น ทั้งที่เดินทางเข้ามาเองหรือบังเอิญเกยตื้น   คนมัลดีฟส์จะแอบสังเกต เรียนรู้ และเก็บงำเทคนิควิธีการสร้างเรือต่างถิ่นเหล่านั้น  ช่างต่อเรือยินดีต้อนรับเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ มาปรับใช้กับงานต่อเรือของตน เช่นเทคนิคการใช้ตะปูจากโปรตุเกส ก่อนจะเรียนรู้จากจากชาวดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษในเวลาต่อมา  เรือของมัลดีฟส์ถูกแบ่งออกเป็นสามรุ่น ได้แก่  เรือแบบดั้งเดิมที่แล่นด้วยใบเรืออาศัยแรงลมและกระแสน้ำในการขับเคลื่อนนั้นถือเป็นเรือ “รุ่นที่หนึ่ง”  จนเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ช่างต่อเรือมัลดีฟส์หันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซล เรือ “โดนีรุ่นที่สอง” (second generation of dhoani) จึงถือกำเนิดขึ้น  ส่วนการต่อเรือแบบสมัยใหม่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21 ใช้วัสดุอย่างไฟเบอร์กลาส เป็นเรือรุ่นที่สามของการทำประมงสมัยใหม่

มัลดีฟส์
ในเมืองหลวงที่แออัดอย่างมาเล่ เราพบเห็นร้านซ่อมอุปกรณ์และส่วนต่างๆ ของเรือได้ง่ายกว่าอู่ซ่อมรถยนต์

มัลดีฟส์มีเรืออย่างน้อย 16 ชนิด และมีขนาดตามการใช้งานหรือบริเวณที่ใช้งาน เช่น หาปลาบริเวณน้ำตื้น บรรทุกสินค้า ขนถ่ายสินค้า เดินทางระหว่างเกาะ เดินทางไกล ฯลฯ โดยมีเรือมาตรฐานที่เรียกว่าเรือโดนี (dhoani, dhoni) เป็นแม่แบบ  ในขณะที่เรือสำหรับการเดินทางค้าขายไกลๆ มีเคบินสำหรับคนโดยสาร เรียกว่าเรือโอดี (odi)  และเรือขนสินค้าเรียกว่าเรือบาตเตลี (baththeli)  ทุกวันนี้เรายังเห็นเรือโดนีถูกดัดแปลงเป็นเรือสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป  แต่บนเกาะบางแห่งก็ยังเห็นเรือโดนีที่ใช้จับปลาจริงๆ ได้อยู่บ้าง

“คนมัลดีฟส์ต่อเรือโดยไม่อาศัยแบบแปลนก็จริง แต่ทำอย่างใส่ใจที่สุด  นายช่างใหญ่จะหมั่นวัดเรือด้วยเชือกหรือใบมะพร้าวแล้วสั่งงานลูกน้องของตน”

ปัจจุบัน มัลดีฟส์ยังคงมีอุตสาหกรรมต่อเรือเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเรือโดนีดั้งเดิมและเรือสมัยใหม่  โดยเฉพาะที่เกาะอาลีฟูชิ (Alifshi)  เด็กชายและหนุ่มๆชาวอาลีฟูชิและเกาะใกล้เคียงได้เรียนวิชาการต่อเรือก็จากการฝึกงานและช่วยงานเล็กๆน้อยๆในอู่ต่อเรือเป็นเรื่องสามัญ

ชารีฟเป็นลูกหลานของนักท่องทะเลก็จริง แต่เขาไม่ได้ออกทะเลอย่างบรรพบุรุษอีกแล้ว 

ชายวัยกลาง 50 ล่วงเข้า 60 ผู้นี้ ปักหลักเปิดร้านขายของที่ระลึกสองสามแห่งในมาเล่ และกิจการของเขาก็ไปได้ดี

ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มาเล่กลายเป็นเมืองใหญ่มากกว่าเดิมด้วยตึกสูงที่สร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น มีวิถีชีวิตดุจเดียวกับที่เมืองหลวงทั้งหลายเป็น การจราจรติดขัดด้วยรถยนต์ จักรยานยนต์  และอาจเห็นรถทัวร์ขนาดใหญ่บนถนนของมาเล่ด้วย จนบางทีเราอาจลืมไปว่ากำลังเดินอยู่ในเมืองหลวงที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทร

จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ความหมายของคำว่า “seafarer” ขยับจาก “นักท่องทะเล” ตามความหมายที่เคยในอดีตกาล มาเป็นลูกเรือรับจ้างในเรือเดินสมุทร เป็นทีมลูกเรือท่องเที่ยว เป็นชื่อเรือยอร์ชเช่าเหมาลำ และเป็นแพ็กเกจทัวร์รอบหมู่เกาะมัลดีฟส์  เช่นเดียวกับที่คนมัลดีฟส์เข้าสู่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกที่ ไม่ว่าจะทำงานในรีสอร์ต เป็นไกด์นำเที่ยว สอนและพาดำน้ำ ทำทัวร์ตกปลา เปิดบริการโฮมสเตย์ในเกาะของคนท้องถิ่น หรือเปิดร้านขายของที่ระลึกและรับแลกเปลี่ยนเงินรูฟียะห์บนถนนสายเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งอยู่อย่างที่ชารีฟทำ

มัลดีฟส์
เศรษฐกิจของมัลดีฟส์พึ่งพาการทำประมงและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตาม การส่งออกปลาจากมัลดีฟส์ลดลงจากเดิมร้อยละสิบ ในครึ่งแรกของปี 2018 ส่วนทางกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละแปด

ชารีฟไม่ต้องเสี่ยงชีวิตหรือเหนื่อยยากท่องทะเลเพื่อไปค้าขายไกลๆอย่างที่บรรพบุรุษทำอีกแล้ว  เขามีบุคลิกลักษณะตามแบบที่พ่อค้าที่ประสบความสำเร็จพึงจะมี ยิ้มง่ายคุยง่าย พูดอังกฤษน้ำไหลไฟดับ ผูกมิตรกับคนต่างชาติต่างภาษา และใจกว้าง มีของกำนัลให้เพื่อนฝูง

ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ความหมายของคำว่า “seafarer” ขยับจาก “นักท่องทะเล” ตามความหมายที่เคยในอดีตกาล มาเป็นลูกเรือรับจ้างในเรือเดินสมุทร เป็นทีมลูกเรือท่องเที่ยว เป็นชื่อเรือยอร์ชเช่าเหมาลำ และเป็นแพ็กเกจทัวร์รอบหมู่เกาะมัลดีฟส์

ร้านขายของที่ระลึกขนาดสองห้องของชารีฟดูฉูดฉาดอัดแน่นด้วยของที่ระลึกนานาชนิด  แต่วันนี้ชารีฟไม่อยู่ เราจึงแลกเงินดอลลาร์สหรัฐที่เตรียมมากับชาฮีด ลูกน้องที่มีบุคลิกแคล่วคล่องไม่ต่างจากเจ้าของร้าน   ธนบัตรของมัลดีฟส์พิมพ์สีสวยเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของประจำถิ่น  ธนบัตรใบละ 20 รูฟียา ด้านหนึ่งเป็นเรือโดนีแล่นกางใบ ด้านหนึ่งเป็นรูปทูน่าขนาดใหญ่ในมือสองข้างของชาวประมง  ใบละ 5 เป็นรูปหอยสังข์,  10 เป็นรูปกลองพื้นเมือง, 50 เป็นรูปหออะซานหน้า  Old Friday Mosque, 100 เป็นรูปใบลาน  ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็น่าเก็บสะสมทั้งนั้นในสายตาคนต่างถิ่นอย่างฉัน  แต่ธนบัตรใบไหนที่ฮิตที่สุดในหมู่คนมัลดีฟส์เหรอ ฉันถามชาฮีด

ชาฮีดหัวเราะเสียงดังลั่นตอบว่า “ก็ใบละพันไง  ใครๆ ก็ชอบใบละพันทั้งนั้น”

จริงที่ใครๆ ก็คงชอบมูลค่าของมัน แต่รูปฉลามวาฬที่พิมพ์อยู่บนแบงก์ใบละพันก็สวยงามกว่าแบงก์ใบอื่นๆ อยู่ดี

 

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการเดินทาง

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และโครงการ CROSSROADS Maldives

ข้อมูลเพิ่มเติม www.crossroadsmaldives.com

 

Recommend