เซเชลส์ หมู่เกาะแดนสวรรค์
บทแรกของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ เซเชลส์ เขียนไว้ว่า “พวกเราชาวเซเชลส์สำนึกในพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้เราพำนักอยู่ในประเทศที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราตระหนักเสมอถึงความพิเศษและความเปราะบางของหมู่เกาะเซเชลส์…”
ถ้าข้อความข้างต้นฟังดูคล้ายแถลงการณ์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติก็สมควรอยู่หรอก เพราะหมู่เกาะเซเชลส์มีอะไรให้ปกปักรักษามากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะหินแกรนิตทางตะวันออกของหมู่เกาะเซเชลส์ เกาะเหล่านี้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 93,000 คนของเซเชลส์ คือส่วนยอดเขาของมวลแผ่นดินที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งแยกตัว ออกจากมหาทวีปกอนด์วานาพร้อมกับอินเดียและมาดากัสการ์เมื่อ 125 ล้านปีก่อน
การแยกตัวทางวิวัฒนาการอันยาวนานกอปรกับการเพิ่มเติมขุมทรัพย์ทางชีวภาพใหม่ๆได้สร้างสิ่งน่าสนใจขึ้นมากมายซึ่งรวมถึงกบขนาดเล็กกว่าเล็บมือ เต่ายักษ์น้ำหนักมากถึง 250 กิโลกรัม ต้นปาล์มที่มีผลใหญ่มากจนหากตกใส่อาจทำให้กะโหลกศีรษะแตกร้าวได้
ด้านปลายสุดทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะหินแกรนิตนี้เป็นที่ตั้งของเกาะเฟรกาต เกาะส่วนบุคคลที่มีรีสอร์ตหรูและเป็นที่หลบภัยแห่งสุดท้ายของสัตว์หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือนกกางเขนหมู่เกาะเซเชลส์ นกชนิดนี้เคยแพร่หลายไปทั่วแต่พอถึงกลางทศวรรษ 1960 กลับเหลือไม่ถึง 15 ตัวบนเกาะซึ่งมีพื้นที่เพียงสองตารางกิโลเมตรเศษแห่งนี้ นักอนุรักษ์ธรรมชาติจึงเริ่มโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศขึ้น แมวจรจัดถูกกำจัดจนหมดสิ้น พวกเขาจัดหาบ้านหรือรังให้พวกมันและให้อาหารเสริมเมื่อจำนวนนกกางเขนเพิ่มขึ้น จึงมีการขนย้ายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์บนเกาะอื่นๆที่ปราศจากนักล่าเพื่อกระจายความเสี่ยงในการอยู่รอด และทุกวันนี้ประชากรนกกางเขนหมู่เกาะเซเชลล์ก็ค่อยๆทวีจำนวนขึ้นเป็นหลายร้อยตัวแล้ว
ผู้สืบทอดเชื้อสายจากบรรพบุรุษยุคอดีตบนเกาะเฟรกาตที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือกิ้งกือยักษ์เซเชลส์ สัตว์ขาปล้องตัวสีดำขลับขนาดเท่านิ้วมือ ลำตัวยาว 15 เซนติเมตร สัตว์เลื้อยคลานสีสันสวยงามเหล่านี้มักคึกคักที่สุดหลังฟ้ามืด“ไม่มีหมู่เกาะอื่นใดมีสิ่งที่เซเชลส์มีอีกแล้วครับ” คริสโตเฟอร์ ไคเซอร์-บันเบอร์รี นักนิเวศวิทยา บอกและเสริมว่า “หมู่เกาะกาลาปาโกสโด่งดังเพราะดาร์วิน แต่เซเชลส์ก็ไม่ได้ด้อยกว่าเลยสักนิด”
อี. โอ. วิลสัน นักชีววิทยาผู้เป็น “บิดาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” ทำนายไว้เมื่อเกือบ 25 ปีก่อนว่า ศตวรรษนี้จะเป็น “ยุคแห่งการฟื้นฟูด้านนิเวศวิทยา” ความคิดนี้เป็นที่สนใจของชาวเซเชลส์เช่นกัน เมื่อพวกเขาตระหนักถึงความรุ่มรวยทางชีวภาพของประเทศ จึงเกิดความกระตือรือร้นที่จะปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์นี้ไว้ มีชมรมอนุรักษ์พืชและสัตว์ป่า เกิดขึ้นในหลายโรงเรียน “คนรุ่นใหม่ตื่นตัวในเรื่องนี้กันใหญ่เลยครับ” เทอเรนซ์ เวล ผู้ประสานงานของชมรม บอก “ยี่สิบปีเชียวนะครับที่เราทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆเพื่อสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นไปยังนักเรียน เราพาพวกเขาไปดำน้ำและทัศนศึกษานอกโรงเรียนเพื่อให้เห็นว่า เรามีระบบนิเวศอันเปราะบางและเราต้องปกปักรักษาไว้ให้คนรุ่นหลัง”
บนลาดเขาในกรุงวิกตอเรีย เมืองหลวงของเซเชลส์ เป็นที่ตั้งของนาฬิกาประจำโบสถ์เรือนหนึ่ง มันจะตีบอกเวลาซ้ำสองครั้ง ครั้งแรกตีบอกชั่วโมง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาทีก็ตีซ้ำอีกครั้ง ผมคิดว่านาฬิกานี้เปรียบเสมือนเซเชลส์นั่นเอง กล่าวคือ เสียงตีบอกเวลาหนที่สองหมายถึงโอกาสครั้งที่สอง ซึ่งประกาศให้รู้ถึงการเฉลิมฉลองของธรรมชาติที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย ทอมัส พี. เพสแชก
อ่านเพิ่มเติม