เรื่อง เกลนน์ ฮอดเจส
ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี
ผมชมภาพยนตร์เรื่อง จอว์ส (Jaws) ตั้งแต่เริ่มฉายในช่วงฤดูร้อนของปี 1975 ตอนนั้นผมอายุเก้าขวบ และยังจำได้ว่าผู้ชมทั้งโรงส่งเสียงเฮดังลั่นเมื่อโบรดีฆ่าฉลามยักษ์ได้ในที่สุด ผมรักภาพยนตร์เรื่องนี้มาก และคืนนั้นผมฝันว่าฉลามว่ายน้ำขึ้นมาจากโถส้วม แล้วไล่ตามผมไปตามโถงทางเดิน
ประสบการณ์ของผมคล้ายกับของคนทั่วไปในสหรัฐฯ และทั่วโลก เรารักภาพยนตร์เรื่อง จอว์ส และเราหวาดกลัวฉลาม ผมโตมากับน้ำที่บ้านของปู่ย่าบนชายฝั่งรัฐคอนเนตทิคัต และแม้ว่าผมจะยังว่ายน้ำต่อ ผมมักหวั่นใจอยู่เสมอว่า อาจถูกฉลามลากขาลงน้ำไปได้ทุกเมื่อ แม้ว่าตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมาจะมีคนถูกฉลามกัดที่ชายฝั่งคอนเนตทิคัตเพียงสองครั้งแต่ข้อเท็จจริงย่อมไม่สำคัญเท่าความรู้สึก
ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายให้เขียนบทความชิ้นนี้ ผมจึงตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่เคยอยากทำมาก่อน นั่นคือการว่ายน้ำกับฉลาม ผมจะเรียนดำน้ำแบบสกูบา แล้วจะไปยังสถานที่แห่งหนึ่งในหมู่เกาะบาฮามาสซึ่งมีชื่อว่า หาดไทเกอร์ (Tiger Beach – หาดฉลามเสือ) ผมจะดำน้ำกับฉลามเสือซึ่งเป็นเจ้าของสถิติทำร้ายมนุษย์มากกว่าฉลามชนิดอื่นใด เว้นแต่ฉลามขาว นี่จะเป็นการดำน้ำครั้งแรกของผมหลังได้รับใบอนุญาต ซึ่งหมายความว่า เป็นการดำน้ำครั้งแรกนอกสระว่ายน้ำหรือหนองน้ำในแมริแลนด์ และไม่มีกรงป้องกันอันตรายเสียด้วย
แต่ผมแค่อยากลบล้างความเชื่อผิดๆของใครต่อใคร คนที่รู้จักฉลามอย่างใกล้ชิดมักกลัวพวกมันน้อยที่สุด และไม่มีใครเข้าใกล้ฉลามไปมากกว่านักดำน้ำอีกแล้ว นักดำน้ำซึ่งทำงานที่หาดไทเกอร์พูดถึงฉลามเสือที่นั่นด้วยความรักใคร่ ในลักษณะเดียวกับที่คนพูดถึงลูกๆหรือสัตว์เลี้ยง พวกเขาตั้งชื่อเล่นให้มันและคุยจ้อถึงพฤติกรรมแปลกๆของพวกมัน
แต่การลบล้างความเชื่อผิดๆทำได้ยาก เพราะความเป็นจริงไม่ได้มีเพียงขาวกับดำ ก่อนหน้าที่ผมจะลงดำน้ำเป็นครั้งแรกที่หาดไทเกอร์เพียงวันเดียว มีรายงานข่าวว่า ชายคนหนึ่งถูกฉลามเสือทำร้ายในฮาวาย เขารอดตายมาได้แต่ก็เป็นแผลเหวอะหวะ นี่เป็นการถูกฉลามทำร้ายหนึ่งในสามครั้งบริเวณนอกชายฝั่งโอวาฮูเฉพาะในเดือนนั้นเดือนเดียว และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการถูกฉลามทำร้ายซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่เราต้องย้ำว่า ฉลามเสือไม่ได้มีความสำคัญเพราะจำนวนคนที่มันทำร้ายเท่านั้น ในฐานะสัตว์นักล่าระดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ฉลามเสือเป็นกำลังสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศมหาสมุทร ด้วยการจำกัดพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ เช่น เต่าทะเล ด้วยเหตุนี้ ฉลามเสือจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเล ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลมากมายหลายชนิด
ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของฉลามเสือในระบบนิเวศของมหาสมุทรยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากโลกและมหาสมุทรยังคงอุ่นขึ้นต่อไป สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะเป็นผู้ชนะ บางชนิดจะเป็นผู้แพ้ และฉลามเสือน่าจะเป็นผู้ชนะ ฉลามเสือชอบน้ำอุ่น กินแทบทุกอย่างที่ขวางหน้า และมีลูกครอกใหญ่ (จำนวนลูกในครอกที่น้อยของฉลามชนิดอื่นทำให้พวกมันเสี่ยงต่อการทำประมงเกินขนาด) โดยรวมแล้ว ลักษณะพิเศษเหล่านี้ทำให้ฉลามเสือเป็นฉลามที่ทรหดอดทนที่สุดชนิดหนึ่ง นอกจากนั้น พวกมันยังเป็นฉลามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งอีกด้วย โดยฉลามเพศเมียที่โตเต็มวัยมีลำตัวยาวได้กว่า 5.5 เมตร และหนักกว่า 570 กิโลกรัม มีเพียงฉลามขาวและฉลามอีกไม่กี่ชนิดที่มีขนาดใหญ่กว่า
หาดไทเกอร์ไม่ใช่หาดทราย แต่เป็นบริเวณน้ำตื้น ห่างจากเกาะแกรนด์บาฮามาไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ลักษณะเป็นพื้นทรายที่มีหญ้าทะเลและแนวปะการัง ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมของนักดำน้ำเมื่อประมาณทศวรรษก่อน บริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัยที่ดีที่สุดของฉลามเสือ และมีทัศนวิศัยเหมาะสำหรับการชมฉลามด้วยท้องน้ำลึก 6 ถึง 14 เมตร และมักใสแจ๋วอยู่เสมอ
ฉลามส่วนใหญ่ที่หาดไทเกอร์คุ้นเคยกับนักดำน้ำดี เคยชินกับการให้อาหาร และไม่แว้งกัด กระนั้น แม้แต่ตัวที่ไม่เคยชินกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำนี้ ซึ่งเราได้พบตัวหนึ่งระหว่างดำน้ำวันแรก ก็มักไม่เป็นภัยต่อนักดำน้ำ ฉลามเสือเป็นนักล่าที่ซุ่มโจมตีเหยื่อ โดยใช้การซ่อนตัวและจู่โจมเข้าจับเหยื่อ ที่หาดไทเกอร์ คุณไม่ได้พุ้ยน้ำสุ่มสี่สุ่มห้า หรือว่ายน้ำอยู่บนผิวน้ำเหมือนเหยื่อที่ถูกโจมตีส่วนใหญ่ คุณอยู่ใต้น้ำในระดับเดียวกับฉลาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เหยื่อ การดำน้ำกับฉลามจึงปลอดภัยพอสมควร