หมึกสาย: นักมายากลแปดหนวด

หมึกสาย: นักมายากลแปดหนวด

หมึกสาย : นักมายากลแปดหนวด

ในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง หมึกสาย หรือหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ดูเหมือนว่าจะคล้ายเรามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีที่มันสบตากับคุณราวกับมันกำลังพินิจพิเคราะห์คุณ  อีกส่วนหนึ่งคือความคล่องแคล่วทางกายภาพ  หนวดทั้งแปดเส้นของหมึกสายมีปุ่มดูดนับร้อยปุ่มซึ่งช่วยให้มันจัดการวัตถุต่างๆ ได้  ความคล่องแคล่วนี้ทำให้มันแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างโลมา ซึ่งแม้จะฉลาด แต่ก็ถูกจำกัดด้วยลักษณะทางกายวิภาค

ขณะเดียวกัน หมึกสายก็ดูแปลกประหลาดราวกับเป็นสัตว์จากนอกโลก  ประการแรก มันมีหัวใจสามดวงและเลือดสีน้ำเงิน  เมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคาม  มันจะพ่นหมึกออกมาให้ฟุ้งกระจาย และพุ่งตัวหนีไปอีกทิศทางหนึ่ง มันไม่มีกระดูก อวัยวะในร่างกายที่แข็งมีเพียงจะงอยปากลักษณะเหมือนจะงอยปากนกแก้วและกระดูกอ่อนรอบสมอง ทำให้มันหายตัวไปในรอยแยกเล็กๆ ได้อย่างง่ายดาย  ปุ่มดูดทุกปุ่มไม่เพียงเคลื่อนไหวอย่างอิสระต่อกัน แต่ละปุ่มยังปกคลุมด้วยตัวรับรส ลองนึกภาพว่า ตัวคุณปกคลุมไปด้วยลิ้นนับร้อยลิ้นดูสิ  ผิวหนังของหมึกสายยังมีเซลล์รับแสงฝังอยู่ด้วย

หมึกสายและหมึกกระดองที่อาศัยอยู่ในน้ำตื้นและล่าเหยื่อในช่วงกลางวันเป็นสุดยอดนักพรางตัว แน่นอนว่า การพรางตัวไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด สัตว์มากมายวิวัฒน์มาให้ดูเหมือนบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่มัน ตัวอย่างเช่น ฟองน้ำสีส้มตรงนั้นไม่ใช่ฟองน้ำ แต่เป็นปลากบกำลังซุ่มรอปลาที่ไม่ทันระวังตัว ใบไม้ที่คุณเห็นลอยอยู่เหนือพื้นทรายก็ไม่ใช่ใบไม้ แต่เป็นปลาที่วิวัฒน์ขึ้นมาให้ดูเหมือนใบไม้ ดอกไม้ทะเลเล็กๆนั่นเป็นทากทะเลที่วิวัฒน์ขึ้นเพื่อเลียนแบบดอกไม้ทะเลทุกหนทุกแห่งที่คุณมองไป พื้นทรายหลายบริเวณลุกขึ้นเดินไปเดินมา (ปูตัวจิ๋วกับเปลือกหอยสีทราย) หรือว่ายน้ำหนีไป (ปลาลิ้นหมาซึ่งมีสีทราย)

หมึกสาย
นอกจากความเฉลียวฉลาดแล้ว หมึกสายอย่างเช่นหมึกสายตาหนามถิ่นใต้ตัวนี้ (Octopus berrima) ยังมีกลเม็ดเด็ดพรายอีกสารพัด เช่น ความว่องไวปราดเปรียวและการพรางตัว

สิ่งที่ทำให้หมึกสายและหมึกกระดอง (รวมถึงหมึกกล้วยด้วย แต่ในระดับน้อยกว่า) แตกต่างออกไปก็คือ พวกมัน พรางตัวได้ขณะเคลื่อนที่ ราวกับพวกมันสามารถใช้ผิวหนังสร้างภาพสามมิติของวัตถุรอบตัว พวกมันทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

การพรางตัวของหมึกสายมีองค์ประกอบหลักสามประการ หนึ่งคือสี หมึกสายสร้างสีด้วยระบบเซลล์สารสีและเซลล์สะท้อนแสง  สารสีบรรจุอยู่ในถุงเล็กๆ นับพันถุงในผิวหนังชั้นบนสุด เมื่อถุงปิด พวกมันจะดูเหมือนจุดด่างเล็กๆ เพื่อแสดง สารสี หมึกสายจะหดกล้ามเนื้อรอบถุง เป็นการดึงให้ถุงเปิดและเผยสีออกมา มันสามารถสร้างลวดลาย เช่น ลายแถบ ลายทาง หรือลายจุดได้ทันที ขึ้นอยู่กับว่ามันเปิดหรือปิดถุงชุดไหน

องค์ประกอบที่สองของการพรางตัวคือพื้นผิวของผิวหนัง หมึกสายสามารถเปลี่ยนผิวหนังจากเรียบเป็นขรุขระ โดยการหดกล้ามเนื้อพิเศษ ผลที่ได้อาจสุดโต่ง หมึกสายสาหร่าย (Abdopus aculeatus) ทำให้เกิดโครงสร้างเป็นเส้นๆขึ้นชั่วคราว ช่วยให้มันดูเหมือนสาหร่าย

องค์ประกอบที่สามของการพรางตัวคือการแสดงท่าทาง วิธีที่หมึกสายแสดงท่าทางของตัวเองทำให้มันเด่นชัดมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ตัวอย่างเช่น หมึกสายบางชนิดจะพองตัวให้เหมือนก้อนปะการัง และใช้หนวดแค่สองเส้นคืบคลานช้าๆไปตามก้นทะเล (อย่า อย่า อย่ามองฉัน ฉันเป็นแค่ก้อนหิน…)

หมึกสายเก่งเรื่องนี้ได้อย่างไร คำตอบสั้นๆ คือ “วิวัฒนาการ” ตลอดช่วงเวลาหลายสิบล้านปี หมึกสายตัวที่เก่งเรื่องการพรางตัวมีโอกาสหลบเลี่ยงสัตว์นักล่าและออกลูกออกหลานได้มากกว่า สัตว์มากมาย รวมทั้งปลาไหล โลมา กั้ง นกกาน้ำ ปลาหลากหลายชนิด และแม้แต่หมึกสายอื่นๆ ล้วนโปรดปรานการกินหมึกสาย เนื่องจากหมึกสายไม่มีกระดูก สัตว์นักล่าจึงกินมันได้ทั้งตัว

หมึกสาย
หมึกสายสีจาง (Octopus pallidus) ตัวใหญ่หนาและมีหนวดค่อนข้างสั้น อาศัยอยู่ในน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ของออสเตรเลีย ที่ซึ่งมันออกหากินหอยในเวลากลางคืน

คราวนี้มาดูระบบประสาทของหมึกสายกัน หอยขมทั่วๆ ไปมีเซลล์ประสาทเพียง 10,000 เซลล์ กุ้งลอบสเตอร์มีประมาณ 100,000 เซลล์ แมงมุมกระโดดอาจมี 600,000 เซลล์ ผึ้งและแมลงสาบมีประมาณหนึ่งล้านเซลล์ ดังนั้นเซลล์ประสาท 500 ล้านเซลล์ของหมึกสายใหญ่ (Octopus vulgaris) จึงทำให้มันเหนือชั้นกว่าอย่างสิ้นเชิง   ในแง่จำนวนเซลล์ประสาท หมึกสายมีมากกว่าหนูเล็ก (80 ล้านเซลล์) หรือหนูใหญ่ (200 ล้านเซลล์) และเกือบเท่าแมว (ประมาณ 700 ล้านเซลล์) อย่างไรก็ตาม ขณะที่สัตว์มีกระดูกสันหลังมีเซลล์ประสาทส่วนใหญ่อยู่ในหัว เซลล์ประสาทสองในสามของหมึกสายอยู่ในหนวด

ปีเตอร์ กอดฟรีย์-สมิท นักชีววิทยาหมึกสายเสนอว่า แรงผลักดันหลายอย่างอาจช่วยให้หมึกสายพัฒนาระบบประสาทอันซับซ้อนขึ้นมา  อย่างแรกคือร่างกาย  ความที่ไม่มีกระดูก  หมึกสายจึงยืดหนวดเส้นใดก็ได้ไปในทิศทางใดก็ได้ เมื่อใดก็ได้ ส่งผลให้หมึกสายมีขอบเขตการเคลื่อนไหวที่เป็นไปได้มากมาย  หมึกสายยังมีปุ่มดูดซึ่งทุกปุ่มขยับได้อย่างอิสระ  ขณะเดียวกัน หมึกสายยังวิวัฒน์ความสามารถในการรับรู้และประมวลผลข้อมูลประสาทรับความรู้สึกที่รับเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ได้แก่ รสชาติและการสัมผัสจากปุ่มดูด แรงโน้มถ่วงของโลกที่รับรู้ด้วยเซลล์สแตโทซิสต์ (statocyst) ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่ดวงตาอันซับซ้อนรับเข้ามา

ยิ่งไปกว่านั้น หมึกสายหลายชนิดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน เช่น พวกมันต้องเคลื่อนที่ไปบนปะการัง รอบๆ ปะการัง และผ่านแนวปะการัง  ความที่ไม่มีเกราะหุ้มร่างกาย หมึกสายจำเป็นต้องระแวดระวังสัตว์นักล่า และในกรณี ที่การพรางตัวไม่เพียงพอ พวกมันจำเป็นต้องรู้จักสถานที่ซ่อนตัว สุดท้าย หมึกสายเป็นนักล่าที่รวดเร็วและปราดเปรียว จับและกินสัตว์ได้หลากหลายชนิด ตั้งแต่หอยนางรมไปจนถึงปูและปลา กอดฟรีย์-สมิทเสนอว่า ร่างกายที่ไม่มีกระดูก สภาพแวดล้อมอันซับซ้อน อาหารที่หลากหลาย และการหลบเลี่ยงสัตว์นักล่า ปัจจัยทั้งหมดนี้ผลักดันให้ความฉลาดวิวัฒน์ขึ้นมาได้

เรื่อง โอลิเวีย จัดสัน

ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

โลมาปากขวดดับอนาถ หมึกติดคอ

Recommend