นักวิทยาศาสตร์พบพิษแมงป่องจากแอมะซอนสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้

นักวิทยาศาสตร์พบพิษแมงป่องจากแอมะซอนสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้

“ผลการศึกษาเบื้องต้นที่นำเสนอในการประชุมด้านสุขภาพ FAPESP Week France เผยให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นพิษต่อมนุษย์นี้อาจช่วยจัดการเซลล์ร้ายที่อันตรายต่อมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน”

ในปัจจุบันที่ประชากรโลกอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มเสื่อมโทรมมากขึ้นเช่นกัน ทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสัมผัสกับมลพิษมากขึ้น ซึ่งหมายความว่ามีปัจจัยกระตุ้นความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและความเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นไปตาม 

ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2022 เผยให้เห็นว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 38,559 ราย และป่วยเพิ่มขึ้นราว 18,000 คนต่อปีหรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากอย่างน่าตกใจ ดังนั้นจะมีแนวทางไหนบ้างที่จะช่วยชีวิตผู้คนจากโรคร้ายเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนมองหาสิ่งที่ไม่เคยมีใครสนใจมาก่อน นั่นคือ พิษของแมงป่องจากป่าฝนแอมะซอน (Brotheas amazonicus) 

“จากการสำรวจทางชีวภาพ เราสามารถระบุโมเลกุลในสปีชีส์ของแมงป่องแอมะซอนได้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโมเลกุลที่พบในพิษของแมงป่องชนิดอื่น” เอลีอานี กังเดียนี อารังเตส (Eliane Candiani Arantes) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล กล่าว “แต่โมเลกุลดังกล่าว สามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งเต้านมได้” 

ผลการศึกษาเบื้องต้นซึ่งดำเนินการร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติเพื่อแอมะซอน (INPA) และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอมะซอน (UEA) ได้ถูกนำเสนอในการประชุมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ FAPESP Week France ในทางภูมิภาคตอนใต้ของฝรั่งเศส 

ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา

ทีมวิจัยได้ใช้วิธีที่เรียกว่า ‘Bioprospecting’ หรือก็คือกระบวนการค้นหาสารประกอบที่มีประโยชน์ในธรรมชาติ โดยเฉพาะจากพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ พวกเขาได้สำรวจพิษแมงป่องเพื่อดูว่ามีโมเลกุลใดบ้างที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งจะต้องเป็นสารที่มีผลต่อเนื้อเยื่อที่มีชีวิตในด้านดี เช่น จัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือที่เป็นมะเร็ง

พิษถูกรีดมาจากแมงป่องในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งจะนำเข้าสู่กระบวนการเพิ่มปริมาณด้วยการใส่ยีนของมันเข้าไปในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งมักจะเป็นยีสต์หรือแบคทีเรีย เพื่อให้พิษถูกผลิตมากขึ้นในห้องทดลอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ยีสต์สายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า Pichia pastoris

“เราตั้งใจที่จะให้ได้โมเลกุลเหล่านี้มา ด้วยการผ่านการแสดงออกในต่างสายพันธุ์” อารังเตส กล่าว 

ในขณะที่กำลังเพิ่มปริมาณอยู่นั้น พวกเขาก็ค้นพบบางอย่าง ทีมวิจัยสามารถระบุสารพิษต่อระบบประสาทได้ 2 ชนิดที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว พวกเขาก็โมเลกุลตัวหนึ่งที่ดูจะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถต่อต้านเนื้องอกได้นั่นคือ BamazScplp1 

ผลการทดสอบเปปไทด์ (กรดอะมิโนสายสั้น-ในที่นี้คือ BamazScplp1) กับเซลล์มะเร็งเต้านมเผยให้เห็นว่ามีการตอบสนองที่คล้ายกับ ‘แพกคลีแท็กเซล’ ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้กันทั่วไปเพื่อรักษามะเร็งนี้ เปปไทด์ไปกระตุ้นให้เซลล์ตายและแตก

นี่คือผลลัพธ์เบื้องต้นที่ถูกรายงานไว้ในการประชุม ดังนั้นการตรวจสอบเหล่านี้จึงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็นับเป็นก้าวที่ดีในการมองหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะสามารถจัดการกับโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซูเปอร์กาวที่ทำจากพิษงู

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยในบราซิลสนใจพิษจากสัตว์เพื่อมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมทางแพทย์ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ศึกษาพิษงูและสัตว์มีพิษ (CEVAP) นักวิทยาศาสตร์ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘ไฟบรินซีลแลนท์’ (fibrin sealant) 

มันเป็น กาวชีวภาพชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเอนไซม์ในพิษงูกับ ไครโอพรีซิพิเตต (cryoprecipitate) หรือก็คือส่วนประกอบที่ได้จากเลือดควาย วัว หรือแกะ และอุดมไปด้วยไฟบริโนเจน สิ่งเหล่านี้เป็นโปรตีนที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด

เมื่อผสมกันแล้ว ทั้งสองอย่างจะสร้างเครือข่ายไฟบริน ซึ่งเป็นการเลียนแบบกระบวนการรักษาตามธรรมชาติของร่างกาย  สารเหล่านี้ได้ถูกนำไปศึกษาต่อเพื่อหวังใช้ในการซ่อมแซมระบบประสาท รักษาอาการบาดเจ็บของกระดูก และแม้กระทั่งช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวหลังจากการได้รับการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง 

ปัจจุบันอยู่ในสถานะการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้รับพิจารณาการรับรองและใช้อย่างแพร่หลาย

“ปัจจัยการเจริญเติบโตนี้ส่งเสริมการสร้างหลอดเลือดใหม่ หากเราผสมเข้ากับโคลีนอิน-1 (เอนไซม์ชนิดหนึ่งในงู) เราจะสร้างสารปิดช่องว่างไฟบรินที่มีการปรับปรุงที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับสารที่กำลังพัฒนาที่ CEVAP โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรม” อารังเตส กล่าว

วัคซีนป้องกันมะเร็ง 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจรายงานก็คือ นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเซาเปาโลกำลังพัฒนาวิธีต่อสู่กับมะเร็งแบบใหม่ นั่นคือ สร้างภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งโดยใช้เซลล์เดนไดรต์ (Dendritic cells – เซลล์ส่งสารแอนติเจนโดยมีหน้าที่หลักคือประมวลผลสารแอนติเจนของเซลล์อื่นและบอกให้กับเซลล์ภูมิคุ้มกัน) 

“ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบว่าสามารถนำโมโนไซต์ (Monocytes – เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) จากเซลล์เม็ดเลือดของผู้ป่วยมะเร็ง มาเปลี่ยนเป็นเซลล์เดนไดรต์ในห้องปฏิบัติการได้ แต่เซลล์เดนไดรต์ที่ผลิตขึ้นด้วยวิธีนี้มักจะกระตุ้นการดื้อยา” โจเซ่ อาเลชังดรี มาร์ซากาว บาร์บูตู (José Alexandre Marzagão Barbuto) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล กล่าว

เพื่อเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ นักวิจัยจึงผลิตเซลล์เดนไดรต์จากผู้บริจาคที่แข็งแรง และนำมาผสมกับเซลล์ของผู้ป่วยมะเร็งเพื่อสร้างวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื้องอกของผู้ป่วยเองได้ ซึ่งผลการทสอบกับมะเร็งหลายประเภทแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิที่น่าสนใจ

“เราได้ทำการศึกษาครั้งแรกกับผู้ป่วยมะเร็งเมลาโนมาและมะเร็งไต ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งกลีโอบลาสโตมาคนอื่น ๆ ด้วย (glioblastoma – เนื้องอกในสมองชนิดรุนแรง) ตอนนี้เรากำลังหวังที่จะทำการศึกษาทางคลินิกในระยะที่สาม” บาร์บูตู กล่าว

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

การค้นพบเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่มันก็ได้เน้นย้ำให้เห็นว่าสารประกอบจากธรรมชาตินั้นดูจะมีศักยภาพที่ดีในการช่วยมนุษย์ต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง และมันอาจทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อใช้ควบคู่กับแนวทางการรักษาปัจจุบัน หรืออาจแทนที่ก็ได้ 

จำเป็นจะต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมทั้งเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความสำคัญในการปกป้องธรรมชาติเพื่อให้สิ่งมีชีวิตมีพิษเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัย บางทีธรรมชาติอาจเต็มไปด้วยวิธีการรักษาที่ยอดเยี่ยมที่ผ่านวิวัฒนาการมานานหลายพันล้านปีบนโลก

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.eurekalert.org

https://www.newsweek.com

https://www.sciencealert.com


อ่านรเพิ่มเติม : สารประกอบในปลิงทะเล

อาจเป็นกุญแจสำคัญในการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

Recommend