กะโหลก อิคธิออนิส ฉายวิวัฒนาการจะงอยปากนก
กะโหลกศีรษะอันบอบบางของ “อิคธิออนิส” สิ่งมีชีวิตโบราณ ทว่าได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในธรรมชาติได้กลายมาเป็นเบาะแสใหม่แก่ปริศนาวิวัฒนาการจากไดโนเสาร์มาเป็นนก
ย้อนกลับไปในปี 1870 เป็นครั้งแรกที่ฟอสซิลของนกโบราณนาม อิคธิออนิส (Ichthyornis) ถูกค้นพบโดย Othniel Charles Marsh นักล่าฟอสซิลระดับตำนาน สัตว์โบราณสายพันธุ์นี้มีชีวิตอยู่บนโลกในยุคครีเตเชียส เมื่อราว 100 – 66 ล้านปีก่อน ในช่วงเวลาที่บรรดานกเริ่มสูญเสียลักษณะความเป็นไดโนเสาร์จากบรรพบุรุษ และวิวัฒนาการปีกขึ้นมา ดังเช่นสัตว์ปีกที่เราเห็นในปัจจุบัน
แม้ว่าฟอสซิลของบรรดานกในยุคครีเตเชียสจะถูกพบในจีนเสียส่วนมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วฟอสซิลที่พบมักถูกบีบอัดจนเกือบแบน นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่ทราบแน่ชัดว่ารูปร่างของกะโหลกศีรษะอิคธิออนิสที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ในการค้นพบฟอสซิลล่าสุดของอิคธิออนิสจำนวนหลายชิ้น มีกะโหลกที่เกือบจะสมบูรณ์แบบปะปนอยู่ด้วย ส่งผลให้การค้นพบครั้งนี้มีส่วนช่วยได้มากในการเติบเต็มช่องว่างของปริศนาวิวัฒนาการในนก
และขณะนี้นักบรรพชีวินวิทยาได้เปิดตัวภาพกะโหลกศีรษะอันสมบูรณ์ของอิคธิออนิส ในจำนวนนี้มีสามชิ้นที่ได้รับการค้นพบใหม่ในรอบ 148 ปี “สำหรับนักบรรพชีวินวิทยาแล้วกะโหลกนกเป็นอะไรที่หายากมากครับ มันไม่ค่อยถูกเก็บรักษาไว้ตามธรรมชาติ” Daniel Field ผู้นำการวิจัยครั้งนี้จากมหาวิทยาลัย Bath ในสหราชอาณาจักรกล่าว
บางส่วนของตัวอย่างฟอสซิลที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่นี้ยังคงฝังอยู่ในหิน แต่ด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน Field และ Bhart-Anjan Bhullar จากมหาวิทยาลัยเยลร่วมกันวิเคราะห์ฟอสซิลและสร้างแบบจำลองภาพสามมิติของกะโลหกศีรษะอิคธิออนิสขึ้นมา ผลการวิจัยครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature
(พบฟอสซิลของวาฬไม่มีฟันที่เก่าแก่ที่สุด)
“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เทียบได้กับการปฏิวัติวงการบรรพชีวินวิทยาเลยค่ะ” Jingmai O’Connor ผู้เชี่ยวชาญด้านนกยุคโบราณจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนกล่าว “และขณะนี้ด้วยองค์ความรู้ที่มี นักวิทยาศาสตร์กำลังแสดงให้เห็นว่ากะโหลกของอิคธิออนิสนั้นพิเศษอย่างไร มันเป็นการผสมผสานระหว่างวิวัฒนาการและคุณสมบัติดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ ซึ่งเราพบว่ามันมีคุณสมบัติแบบดั้งเดิมมากกว่าที่เคยคิดกันไว้”