ภาพกราฟิกของ Lingwulong shenqi
ศิลปกรรมโดย Zhang Zongda
ฟอสซิลเก่าแก่เผยต้นกำเนิดของ ซอโรพอด
ไดโนเสาร์คอยาวหรือที่เรียกกันว่า ซอโรพอด คือไดโนเสาร์ยักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก และเดินท่องไปมาบนทวีปโบราณด้วยกล้ามเนื้อและกระดูกที่มีมวลมหาศาล พวกมันมีความยาวตั้งแต่หัวถึงหางราว 36 เมตร ในขณะที่น้ำหนักก็มากถึง 70 ตัน
ทว่าผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ลงในวารสาร Nature Communications ได้เผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดของไดโนเสาร์คอยาว ซอโรพอดสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในจีนนี้มีชื่อว่า Lingwulong shenqi หมายถึง “มังกรมหัศจรรย์แห่งเมืองหลิงหวู่” และเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าสัตว์กลุ่มซอโรโพโดมอร์ฟ (sauropodomorphs) หรือไดโนเสาร์พวกคอยาวที่ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยปรากฏมา อุบัติขึ้นบนโลกเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ถึง 15 ล้านปี
ผลการประกาศล่าสุดนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังรายงานการค้นพบซอโรพอดสายพันธุ์ใหม่ ในอาร์เจนตินา มันชื่อ “Ingentia prima” มีความหมายว่า “ยักษ์ใหญ่ตนแรก” มีชีวิตอยู่บนโลกในยุคไทรแอสซิก หรือหลายล้านปีก่อนที่ไดโนเสาร์คอยาวตามที่เราคุ้นเคยกันจะถือกำเนิดขึ้น
“ผมชอบมากที่การค้นพบใหม่ทั้งสองชิ้นนี้พลิกเกมไปเลย” Steve Brusatte นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ผู้เขียนหนังสือ The Rise and Fall of the Dinosaurs ทั้งยังเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว “สิ่งที่เราคิดกันเกี่ยวกับซอโรพอดนั้นไม่ได้ผิดไปไกลนัก เพียงแต่ว่าวิวัฒนาการของพวกมันเกิดขึ้นมาก่อนหน้าหลายล้านปี เร็วกว่าที่เราคาดกันไว้”
นวัตกรรมด้านร่างกาย
ในยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก ซอโรพอดมีชีวิตอยู่ในแทบจะทุกพื้นที่ พวกมันมีวิวัฒนาการและขยายเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ปลายยุคไทรแอสซิก หรือราว 200 ล้านปีก่อนไปจนถึง 90 ล้านปีก่อนในยุคครีเตเชียส ทว่าพวกมันไม่ได้มีร่างกายที่ใหญ่โตมโหฬารมาตั้งแต่เริ่ม เพราะซอโรพอดรุ่นแรกๆ นั้นมีขนาดเล็กและเดินด้วยสองขา
นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อกันว่าบรรดาซอโรพอดนั้น ไม่ได้ปรับตัวให้กลายมาเป็นยอดหอคอยนักกินพืชตั้งแต่แรก จนกระทั่งเมื่อ 180 ล้านปีก่อน ในยุคจูแรสซิกตอนกลางความเปลี่ยยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้น ซอโรพอดวิวัฒนาการให้ร่างกายของพวกมันเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเกิด กระดูกมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักร่างกาย ในขณะที่ส่วนคอก็ยืดยาวออกขึ้น และมีท่อนขาขนาดใหญ่เป็นรากฐานอันมั่นคง
ทว่าวิวัฒนาการที่ทำให้พวกมันกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่สุดของไดโนเสาร์เกิดขึ้นเมื่อใดและที่ใด? ก่อนยุคจูแรสซิกตอนกลางหรือไม่? ยังคงต้องหาคำตอบ
ทีมวิจัยที่นำโดย Cecilia Apaldetti นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซานฮวน ค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาค Patagonia ของอาร์เจนตินา ซึ่งสามารถย้อนอายุกลับไปได้ราว 208 ล้านปี ต่อมาฟอสซิลดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า Ingentia prima จากการวิเคราะห์ฟอสซิลบ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตโบราณตัวนี้มีความยาว 10 เมตร หนักประมาณ 10 ตัน แตกต่างจากซอโรพอดที่เราคุ้นเคยกัน เจ้าซอโรพอดจากยุคไทรแอสซิกตัวนี้มีวิธีในการเติบโตให้มีขนาดใหญ่ตามแนวทางของมัน กระดูกของมันไม่ได้เติบโตในอัตราที่เท่ากัน ทว่าบ่งชี้ว่ามีการเติบโตอย่างช้าๆ และเร็วขึ้นฉับพลัน ขาหน้าและขาหลังของมันมีความโค้งมากกว่าซอโรพอดในยุคหลัง ในขณะที่คอของมันก็ไม่ได้ยืดยาวเท่า
ผลการค้นพบครั้งนี้ยืนยันว่ากลยุทธ์การปรับตัวให้ร่างกายมีขนาดใหญ่โตของซอโรพอดนั้นมีมาตั้งแต่ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย “ไดโนเสาร์มีความสามารถที่ไม่ธรรมดาในการวิวัฒน์ร่างกายของมัน” Apaldetti กล่าว “สิ่งนี้ทำให้พวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศบนพื้นดินได้ แม้จะผ่านกาลเวลามาเป็นล้านปี และความเก่งกาจในการวิวัฒน์ร่างกายของมันนี้อาจถือได้ว่าพวกมันคือหนึ่งในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบนโลกก็เป็นได้”
มังกรมหัศจรรย์
เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเรื่องราวของ Ingentina ถูกเปิดเผย ทีมนักบรรพชีวินวิทยาที่กำลังดำเนินภารกิจขุดค้นในจีนก็ได้ประกาศการค้นพบซอโรพอด Lingwulong shenqi ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 174 ล้านปีก่อน และอยู่ในตระกูลไดโพลโดคอยด์ (diplodocoid)
ย้อนกลับไปในปี 2005 Xing Xu นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ทั้งยังเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พร้อมด้วยทีมงานของเขาเริ่มต้นขุดค้นแหล่งโบราณคดีหลิงหวู่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หลังปีก่อนหน้าชาวนาท้องถิ่นบังเอิญขุดพบฟอสซิลเข้า ต่อมาในปีเดียวกันนักวิทยาศาสตร์จีนก็พบฟอสซิลหลายชิ้นของไดโนเสาร์ราว 6 – 8 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้ Lingwulong ก็รวมอยู่ด้วยเช่นกัน
“ผมทราบดีว่าการค้นพบนี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป” Xu ผู้นำการค้นพบกล่าว และในบรรดาไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบ Lingwulong ถือได้ว่ามีความโดดเด่นมากที่สุด เพราะฟอสซิลของมันช่วยฉายภาพให้เห็นว่าซอโรพอดมีวิวัฒนาการอย่างไร ท่ามกลางการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่แบ่งแยกมหาทวีปแพนเจียออกจากกัน ซึ่งการก่อกำเนิดผืนทวีปใหม่นี้มีผลอย่างมากต่อวิวัฒนาการของไดโนเสาร์บนบก เมื่อผืนทวีปถูกแบ่งแยกออกจากกัน และทะเลกลายมาเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้ไดโนเสาร์ข้ามไปมาหากันได้เช่นในยุคก่อน ส่งผลให้พวกมันต้องดำรงชีวิตกันต่อไปเอง และแยกสายวิวัฒนาการไปตามรูปแบบของตน
ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบ Lingwulong ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไม่เคยมีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์ตระกูลไดโพลโดคอยด์มาก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าทะเลในทวีปเมื่อราว 180 ล้านปีก่อน คืออุปสรรคที่แบ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้แยกจากทวีปแพนเจียที่เหลือ ส่งผลให้ไดโนเสาร์ตระกูลไดโพลโดคอยด์ และญาติของมันที่มีชื่อเรียกว่านีโอซอโรพอด (neosauropods) ไม่สามารถเดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ทว่าการค้นพบ Lingwulong ล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานว่านีโอซอโรพอดน่าจะเดินทางมาถึงภูมิภาคนี้ก่อนที่ทวีปจะเคลื่อนตัวแยกออกจากกันจนไม่สามารถข้ามได้ นั่นหมายความว่าไดโนเสาร์ในตระกูลซอโรพอดนั้นปรากฏขึ้นมาบนโลกแล้วเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดกันไว้ถึง 15 ล้านปี
“การค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้หมายความว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เชื่อกันว่าแยกอย่างโดดเดี่ยว อาจมีบางพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลง หรือเป็นปริศนา” Paul Upchurch นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว “เราเสนอทฤฎีว่าบรรดาฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่ถูกแยกตัวจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกนี้อาจจะยังคงถูกเก็บรักษาไว้รอวันค้นพบ และที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ไม่พบอาจเป็นเพราะตัวอย่างได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าไดโนเสาร์เหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่นี้”
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม
เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับ ไดโนเสาร์ จะอยู่ร่วมโลกกัน?