ย้อนตำนาน 80 ปีเขาดิน

ย้อนตำนาน 80 ปีเขาดิน

ย้อนตำนาน 80 ปี เขาดิน

แม้สวนสัตว์ดุสิต “เขาดินวนา” หรือ “เขาดิน” จะปิดตัวลงแล้วตลอดกาล

แต่ภารกิจในการก้าวสู่การเป็นสวนสัตว์ยุคใหม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น 

เรื่อง สุภัชญา เตชะชูเชิด

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

27 กันยายน 2561 หรืออีกเพียงสามวัน สถานที่แห่งนี้  “สวนสัตว์ดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” จะปิดลงตลอดกาล

ฉันเดินผ่านกำแพงสีขาวซึ่งครั้งหนึ่งเคยละลานตาไปด้วยรูปสัตว์นานาชนิด รูปปั้นยีราฟ งูเหลือม และฝูงลิงที่สีซีดจางลงตามกาลเวลา  คอยต้อนรับผู้มาเยือนอยู่หน้าซุ้มประตู   น่าแปลกที่วันนี้บรรยากาศภายในสวนสัตว์ดูมีชีวิตชีวามากกว่าทุกวันที่ผ่านมา ผู้คนมากหน้าหลายตาชวนกันมาดูสัตว์ พ่อแม่อธิบายและอ่านป้ายสื่อความหมายให้ลูกฟัง กลุ่มนักเรียนหยอกล้อกับเพื่อน ชวนกันหาว่าสัตว์อยู่ตรงไหนหรือกำลังทำอะไรอยู่ ผู้ใหญ่บางคนมาเดินทอดน่องอยู่คนเดียวเพื่อรำลึกความหลัง เก็บและบันทึกความทรงจำในโอกาสสุดท้าย

ฉันรีบเดินไปทักทาย “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัสลูกดกวัย 52 ปี ผู้เชื่อมความทรงจำอันเลือนรางของฉันกับเขาดินเอาไว้  แม่มะลิกำลังหลับอยู่ในน้ำ ตัวอ้วนกลมทำให้ส่วนหลังนูนพ้นน้ำขึ้นมา เด็กๆกลุ่มใหญ่พากันบอกว่า “เหมือนเกาะกลางทะเลเลย”  บางคนก็ว่าเป็นภูเขา หลายคนพยายามเรียกความสนใจจากแม่มะลิด้วยการโบกมือทักทาย แต่เจ้าฮิปโปตัวใหญ่ยักษ์ก็ยังนิ่งเหมือนเดิม  แม่มะลิจะรู้ไหมว่า  มีคนมากมายมาเยี่ยมเยียนในช่วงนี้เพื่อบอกลา  ก่อนที่เธอจะถูกย้ายไปอยู่บ้านใหม่

เขาดิน
“แม่มะลิ” ฮิปโปวัย 52 ปีกำลังอ้าปากรับอาหารจากเด็กๆและนักท่องเที่ยว โปรแกรมป้อนอาหารสัตว์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารฮิปโปได้อย่างใกล้ชิด นอกจากจะเป็นการให้ความรู้แล้ว ยังเชื่อมให้คนที่ร่วมกิจกรรมได้มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์มากขึ้น

ฉันแวะไปทักทายสัตว์อีกหลายตัว  ฉันยืนดูลิงกระรอก  ลิงตัวเล็กขนสีทองที่วิ่งซนเหมือนเด็กๆ ส่วนสลอทที่อยู่ถัดไปก็เคลื่อนไหวเชื่องช้าเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว  ฝูงปลาสวายใต้สะพานก็ไม่มีทีท่าว่าจะอิ่มขนมปังก้อนเสียที  พวกมันคงไม่มีทางรู้หรอกว่า  สวนสัตว์เขาดินกำลังจะปิดลงแล้ว

เขาดิน
ภาพเก่าพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ถ่ายโดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์-ฮันต์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงบริเวณสระน้ำของเขาดินที่มุมขวาของภาพ ดินที่ได้จากการขุดบ่อถูกนำมาถมเป็นฐานของพระที่นั่งอนันตสมาคม
เขาดิน
ผู้ดูแลพาช้างมาอาบน้ำ บริเวณนี้เดิมเรียกว่า “ท่าช้างอาบน้ำ” ปัจจุบันยังคงมีเสาที่เห็นในภาพอยู่ แต่ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป

เขาดินวนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นเพียงสวนพฤกษชาติในเขตพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสและสำราญพระราชอิริยาบถ  พอมีการขุดดินในบ่อมาทำเป็นฐานก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงเกิดเป็นเนินดินระหว่างบ่อน้ำ และเชื่อกันต่อมาว่า  เนินดินนั้นเองที่เป็น “เขาดิน”

ในรัชกาลต่อๆมา  เขาดินยังคงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต หรือ “สวนดุสิต” สำหรับเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์และข้าราชการฝ่ายใน  จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  มีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพื้นที่สวนดุสิตให้อยู่ในการดูแลของเทศบาลนครกรุงเทพฯ เพื่อจัดทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และมีการย้ายลูกหลานของกวางดาวหกตัวที่ได้มาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ห้า เสด็จประพาสชวา  จากสวนของพระที่นั่งอัมพรสถาน มาจัดแสดงในพื้นที่ด้วย  สวนดุสิตจึงกลายเป็น “สวนสัตว์ดุสิต” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“แต่ก่อนนี้คนเยอะมากเลยนะ สะพานปลานี่คนมาลอยกระทงแน่นไปหมด” ป้าสมใจ แม่ค้าขายขนมปังที่สะพานปลา ผู้เกิดและเติบโตมากับเขาดินเล่าให้ฉันฟัง  ในยุคก่อนเขาดินไม่ได้เป็นเพียงสวนสัตว์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันดับต้นๆของกรุงเทพฯ ในยุคที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าอยู่ทุกมุมเมืองอย่างวันนี้ ใครๆต่างพากันมาใช้ชีวิตวันหยุดหรือเทศกาลต่างๆ ที่เขาดิน

ในสมัยนั้น เขาดินเต็มไปด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เวทีประกวดชายงามแห่งแรกของไทย การแข่งสะบ้า มวยทะเล คอนเสิร์ต และเครื่องเล่นราวกับเป็นสวนสนุก  นอกจากนี้  เมื่อ พ.ศ. 2514 เขาดินยังเคยมีโรงละครสัตว์ด้วย มีทั้งการโชว์เสือลอดบ่วงไฟ  ชิมแปนซีเล่นดนตรี ไปจนถึงช้างเตะบอล ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2524-2527 เขาดินกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตถึงขนาดมีรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดชื่อ “เฮฮาหน้าเขาดิน” ออกอากาศทุกบ่ายวันอาทิตย์ และปรับเปลี่ยนมาเป็นรายการ “สนุกกับเราที่เขาดิน”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยจำนวนมากผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เขาดิน
งานประกวดชายงามในเทศกาลงานฤดูหนาวสวนสัตว์ดุสิตระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม พ.ศ. 2502

สมัยเรียนปริญญาตรีสาขาชีววิทยาในรายวิชาสัตว์มีกระดูกสันหลัง อาจารย์ผู้สอนพาพวกเราไปเรียนกันในเขาดิน ซึ่งอยู่ห่างจากรั้วมหาวิทยาลัยไปไม่ไกลนัก เขาดินในวันธรรมดาดูเงียบเหงาจนเหมือนเป็นสวนสัตว์ส่วนตัวของพวกเรา  อาจารย์นำเราเดินและอธิบายเกี่ยวกับเสือ งู นก และสัตว์อื่นๆจนทั่ว ป้ายสื่อความหมายมีภาพแผนที่และรูปสำคัญๆที่ใช้ประกอบการบรรยายได้เป็นอย่างดี

ในตอนนั้น ฉันซึ่งชอบดูนกและเดินป่าดูสัตว์ในธรรมชาติ เลยอดถามอาจารย์ไม่ได้ว่า ทำไมเราไม่เข้าป่าเรียนชีววิทยาในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ทำไมยังต้องมาเดินในสวนสัตว์อยู่

“เราเรียนวิชาสัตว์มีกระดูกสันหลัง เราไม่ได้เรียนวิชาการดำรงชีพในป่า เราต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงได้เจอสัตว์และเรียนรู้เกี่ยวกับพวกมันได้ขนาดนี้” เป็นคำตอบจากอาจารย์ที่ฉันยังจำได้ดี  หากตัดความชอบส่วนตัวออกไป สวนสัตว์จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีมาก เราได้เห็นสัตว์หลากหลายในระยะใกล้ สามารถสังเกตลักษณะสำคัญได้อย่างชัดเจน และเฝ้าดูพฤติกรรม หรือรูปแบบการเคลื่อนที่ของสัตว์ที่น่าสนใจได้ ซึ่งถ้าเป็นในป่า เราคงแทบไม่มีโอกาสได้รู้จักเสือหรือได้เห็นสมเสร็จเลย

หากมองให้ดี สวนสัตว์จึงเปรียบเสมือนห้องเรียนห้องใหญ่ที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆไว้อย่างครบถ้วน และมีโครงการด้านการศึกษามากมาย  ทุกปี เขาดินต้อนรับและให้ความรู้แก่คนกว่าสองล้านคน ทั้งจากที่มาเดินเที่ยวตามอัธยาศัย และจากโรงเรียนต่างๆ ที่มาทัศนศึกษาไม่เว้นวัน ไม่เพียงเท่านั้น เขาดินยังมีโครงการสวนสัตว์สัญจรเพื่อไปให้ความรู้แก่น้องๆ ถึงโรงเรียน โดยพี่ๆ เจ้าหน้าที่จะประชุมเพื่อออกแบบและพัฒนากิจกรรมร่วมกับคุณครูให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัยอีกด้วย

เขาดิน
หนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆและนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือโชว์แมวน้ำ สวนสัตว์ต้องเพิ่มรอบโชว์ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นช่วงก่อนเขาดินปิดทำการ

เมื่อเขาดินเปลี่ยนบทบาทมามุ่งเน้นด้านการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนมากขึ้น  กิจกรรมบันเทิงต่างๆที่ส่งเสียงดังและอาจสร้างความเครียดให้สัตว์ก็ถูกตัดทอนออกไป  เทศกาลสำคัญของเขาดินจึงเปลี่ยนจากวันลอยกระทงหรือวันสงกรานต์  มาเป็น “วันรักนกเงือก” “วันเสือโลก” หรือ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” แทน  ในวันเหล่านี้ พี่ๆฝ่ายการศึกษาของเขาดิน จะจัดเตรียมกิจกรรมให้ความรู้กับน้องๆ ที่มาเที่ยวชม เปิดโอกาสให้เด็กๆได้สัมผัสไข่ หนังสัตว์ หรือสัตว์สตัฟฟ์  มีกิจกรรมวอร์กแรลลีเพื่อให้ครอบครัวช่วยกันเก็บข้อมูลจากส่วนต่างๆของสวนสัตว์  ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จัดช่วงให้อาหารสัตว์ (feeding program) ที่เด็กๆสามารถให้อาหารสัตว์และใกล้ชิดกับสัตว์ได้

“เราไม่ได้สอนแค่ว่า เราเลี้ยงสัตว์อย่างไร  มันอยู่ในนี้อย่างไร แต่เราสอนว่า ตัวจริงของเขาในธรรมชาติเป็นอย่างไร พอรู้จักสัตว์ตัวจริงกันแล้ว ก็อยากให้น้องๆ ช่วยกันดูแลเพื่อนๆ ของเขาด้วย”  พี่กฤต หรือ มงคล ส่งเสริมเจริญโชติ เล่าให้ฉันฟังถึงกิจกรรมต่างๆ จากฝ่ายการศึกษาของสวนสัตว์  ซึ่งไม่เพียงแต่มอบชุดความรู้ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของการอนุรักษ์ให้เด็กๆ ด้วย

แม้สวนสัตว์เขาดินจะปิดตัวลง แต่ภารกิจสำคัญขององค์การสวนสัตว์กำลังจะเริ่มต้นขึ้น องค์การสวนสัตว์ได้รับพระราชทานที่ดินขนาด 300 ไร่ บริเวณคลองหก จังหวัดปทุมธานี เพื่อใช้สำหรับจัดตั้งสวนสัตว์แห่งใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์เขาดินถึงสามเท่า เมื่อมีพื้นที่กว้างขวางขึ้น สัตว์ก็น่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ตั้งต้นกระบวนการสร้างสวนสัตว์อย่างที่เป็นสวนสัตว์สมัยใหม่อีกครั้งด้วยประสบการณ์ 80 ปีของเขาดิน  และความก้าวหน้าของงานวิจัยในปัจจุบัน ทั้งด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสัตว์มากขึ้น กระบวนการก่อสร้าง และเทคโนโลยีใหม่ๆ  รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์เล่าให้ฉันฟังถึงแนวทางและมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์แห่งใหม่ในอนาคตว่า “สวนสัตว์จะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ จากแต่ก่อนเป็นที่ท่องเที่ยว ปัจจุบันจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ และ ‘edutainment’ คือคนเข้ามาจะได้รับทั้งความบันเทิงและความรู้ควบคู่กันไปด้วย”

“สัตว์จะอยู่ดีหรือไม่ คนที่ทำงานด้านนี้สำคัญที่สุด เราจะต้องเร่งพัฒนาคนก่อน ตั้งแต่คนเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ทำให้เห็นว่างานของเขาคือการรับผิดชอบในสิ่งที่สำคัญ พัฒนาเขาให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับชนิดงานที่ทำ”  หมอปานเทพเล่า พร้อมยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ในต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ดูแลและทำความสะอาดให้สัตว์เท่านั้น แต่ยังสามารถให้ความรู้กับประชาชนที่เขามาเยี่ยมชมได้ เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ชนิดพันธุ์ที่สำคัญควรมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะสนับสนุนและเป็นผู้ช่วยในงานวิจัยได้ด้วย โดยระหว่างที่สวนสัตว์กำลังดำเนินการก่อสร้างนี้ก็จะเน้นการอบรมบุคคลากรเพื่อรองรับการเปิดสวนสัตว์แห่งใหม่ด้วย

เขาดิน
“โตโน่” สิงโตขาวกำลังมองดูผู้ดูแลทำความสะอาดและเตรียมอาหารบริเวณส่วนแสดง ก่อนสิงโตหนุ่มจะถูกปล่อยออกมาทักทายนักท่องเที่ยว การทำความสะอาดกรงให้สัตว์เป็นกิจวัตรสำคัญของผู้ดูแล ในขณะเดียวกันก็ต้องสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ด้วยว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่

หมอปานเทพยังเสริมในมิติอื่นๆ ด้วยว่า “การสร้างสวนสัตว์ใหม่ไม่ใช่เพียงมีที่ดินแล้วเราไปสร้าง แต่เราต้องคิดถึงบริบทรอบๆ ด้วย ทั้งในแง่สังคม ชุมชน รวมไปถึงตัวสวนสัตว์เองก็ต้องมีแนวคิดและการประสานนำองค์ความรู้รอบด้านเข้ามาใช้” การบริหารงานสวนสัตว์จึงต้องคิดกว้างมากกว่าแค่เรื่องพื้นที่  ต้องทำงานร่วมกับโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่รอบๆ ต้องวางแผนเรื่องการคมนาคมให้สามารถเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างสะดวกสบาย

หมอปานเทพมุ่งหวังจะเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในย่านคลองหกเข้าด้วยกัน โดยมีภาพของศูนย์  การเรียนรู้อย่างสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันวิจัย สถานศึกษา และพิพิธภัณฑ์กว่า 19 แห่งที่รวมตัวกันใจกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี เป็นต้นแบบ

“เราไม่ได้สร้างแค่สวนสัตว์ แต่เราสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้พื้นที่ย่านนั้นกลายเป็นสมิทโซเนียนแห่งเอเชีย” หมอปานเทพบอกอย่างหนักแน่น ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทย  ถึงแม้ภาพนั้นจะยังดูห่างไกลสำหรับฉันมาก

 


อ่านเพิ่มเติม

สรรพสัตว์ในสวนสัตว์ซีเรียเอาตัวรอดจากเมืองที่ล่มสลายอย่างไร

Recommend