ทำไมมนุษย์จึงยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อ เซลฟี่ กับสัตว์

ทำไมมนุษย์จึงยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อ เซลฟี่ กับสัตว์

ในสวนสัตว์และสวนสาธารณะ ผู้คนมักเข้าหาสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง ทางจิตวิทยามีคำอธิบายว่าอย่างไร

คนส่วนใหญ่มักพูดว่า มันเป็นความคิดอันเลวร้ายมาก หากเราเข้าใกล้กับสัตว์ป่าที่ดุร้าย

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาหญิงคนหนึ่งได้ปีนข้ามกำแพงคอนกรีตของกรงเสือจากัวร์ ในสวนสัตว์ Wildlife World Zoo นอกเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เสือจากัวร์ตะครุบแขนเสื้อของเธอจนขาดวิ่น กรงเล็บแหลมคมบาดแขนของเธอจนเกิดบาดแผลฉกรรจ์ มีผู้บันทึกภาพวิดีโอเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ก่อนจะเผยแพร่ออกไป ผู้เห็นเหตุการณ์ช่วยดึงเธอออกมาก่อนที่เสือจากัวร์จะทำร้ายเธอ เธอปลอดภัยและเสือจากัวร์ก็เช่นกัน จากสิ่งที่เกิดขึ้นเธอยอมรับผิดจากการกระทำครั้งนี้แต่โดยดี

เรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ต และเกิดการตั้งคำถามร่วมกันว่า ทำไมต้องทำอะไรเสี่ยงแบบนั้นล่ะ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องเกี่ยวกับความประมาทของคนที่พยายามเข้าใกล้สัตว์ป่าจนเกิดเป็นกระแสพาดหัวข่าว เมื่อปีที่ผ่านมา ชายมึนเมากระโดดเข้าไปในกรงสิงโต ณ สวนสัตว์อินเดีย โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องการเห็นสิงโตตัวใหญ่อย่างใกล้ชิด สวนสัตว์แห่งหนึ่งในประเทศจีนคนวิ่งกรูเข้าไปบริเวณกรงสัตว์ เพื่อจะเซลฟี่ก่อนจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตจากตัววอลรัส เหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยเช่นกัน นักท่องเที่ยวจำนวนมากในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ถูกวัวไบซันทำร้ายเมื่อพวกเขาพยายามถ่ายภาพเซลฟี่ ซึ่งเกิดจากความประมาทมากจนเกินไป

เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าไม่ควรเข้าใกล้สัตว์ป่าที่ดุร้ายเพราะอาจทำให้คุณเสี่ยงอันตราย สวนสัตว์จึงมีวิธีการป้องกันมากมาย ทั้งกำแพงกั้นล้อมรอบเพื่อให้ผู้คนอยู่ห่างจากสัตว์ และป้ายเตือนให้นำมือของคุณออกห่างจากกรง

แต่ถึงกระนั้นแรงกระตุ้นของผู้คนที่ต้องการเข้าใกล้สัตว์ป่าก็ยังมีมากพอที่จะทำให้ใครหลายๆ คนเพิกเฉยต่อคำเตือน คนมักคิดว่าสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์จะมีนิสัยไม่ดุร้าย คนส่วนใหญ่จึงเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่พวกมันแสดงออกมา

เซลฟี่
หญิงสาวถ่ายรูปสิงโตที่กำลังหลับอยู่ในกรงของพวกมัน ณ สวนสัตว์ลิทัวเนีย บนโทรทัศน์และสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยวิดีโอของคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิงโตตัวใหญ่อย่างใกล้ชิด ซึ่งการโต้เถียงเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านักล่าขนาดใหญ่ไม่ได้มีนิสัยดุร้ายและไม่เป็นอันตรายต่อคน

มีเหตุผลทางวัฒนธรรมหลายประการ ประการแรก สื่อมักเป็นตัวกลางกระตุ้นให้คนอยากเซลฟี่กับสัตว์ดุร้ายเพื่อเรียกกระแส ซูซาน เคลย์ตัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว ซึ่งปกติรายการโทรทัศน์ หรือวิดีโอใน YouTube มักทำสื่อให้คนดูเห็นถึงความดุร้ายของสัตว์ป่า กล่าวอีกนัยหนึ่ง “การถอดเขี้ยวเล็บของสัตว์” คือการเห็นชายอย่าง เควิน ริชาร์ดสัน ได้รับฉายาว่า “Lion Whisperer” ทั้งหยอกล้อ ขับเคี่ยว และคลอเคลียกับสัตว์อย่างสิงโต เสือจากัวร์ หรือไฮยีน่าอยู่เป็นประจำ เพื่อต้องการสื่อสารออกไปว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด ริชาร์ดสัน มีผู้ติดตามบนช่อง YouTube: LionWhispererTV กว่าล้านคน ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติบางกลุ่มว่าการสนับสนุนให้คนอยู่ใกล้ชิดกับสิงโตนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง โดย ริชาร์ดสัน กล่าวว่าเขาไม่ผิด และจะไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้

การเซลฟี่กับสัตว์ป่าถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างของโลกสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีสวนสัตว์ สวนสาธารณะ และทัวร์แนวผจญภัยรอบโลกอีกมากมายได้นำเสนอประสบการณ์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่าแก่ส่วนรวม เช่น การเดินเล่นกับสิงโต การโพสท่ากับเสือที่โตเต็มวัย และการดำน้ำในกรงกับฉลาม ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์

แรงกระตุ้นในการถ่ายภาพเซลฟี่

สังคมออนไลน์ เปรียบเสมือนตัวกลางอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้คนอยากเซลฟี่กับสัตว์เพื่อเรียกยอดกดถูกใจ อีริน โวเกล นักศึกษาโครงการทุนวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก กล่าวว่า การได้รับยอดกดถูกใจและความคิดเห็นมักทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งเธอยังบอกถึงผลการศึกษาพบว่า เมื่อคุณโพสต์สิ่งใดก็ตามลงบนสังคมออนไลน์ คุณจะรู้สึกมั่นใจในตนเองขึ้นมาแบบฉับพลัน นั่นถือเป็นแรงกระตุ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

กระนั้นเองแม้จิตใต้สำนึกลึกๆ “มนุษย์ยอมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้ภาพถ่าย” เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ที่ดุร้ายจริงๆ โวเกล กล่าวอีกว่า การถ่ายภาพสัตว์ดุร้ายเมื่อคุณอยู่นอกกรงขังมันอาจไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการ เซลฟี่ ตัวเองกับสัตว์เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคุณอยู่ในประสบการณ์นั้น

เซลฟี่
ผู้เข้าชมหมีขั้วโลกที่สวนสัตว์ ในฝรั่งเศส เป็นการชมแบบใกล้ชิดผ่านตู้กระจกขนาดใหญ่ ที่อุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ผู้คนยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อที่จะใกล้ชิดกับหมีและสัตว์ป่าอื่นๆ เพื่อถ่ายภาพเซลฟี่ ทางอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน จึงออกแนวทาง “การเซลฟี่อย่างปลอดภัย” เพื่อพยายามยับยั้งพฤติกรรมที่ประมาทจนเกินไป

ไม่ใช่แค่สัตว์ป่าดุร้ายที่ทำให้คนเสี่ยงอันตราย แต่ยังรวมไปถึงการถ่ายเซลฟี่ทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงกับชีวิตอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเซลฟี่แบบสุดโต่ง เช่น การยืนบนรางรถไฟ การเดินเซไปมาบนริมผา หรือแม้แต่การเล่นยิงปืนที่ภายในมีกระสุนบรรจุอยู่ จากการศึกษาเมื่อปี 2018 เป็นผลลัพธ์อันน่าสลดใจ เมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟี่จำนวน 259 ราย ระหว่างปี 2011 ถึงปี 2017 เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความเสี่ยงและผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นชายอายุราว 20 ต้น ๆ

“ธรรมชาติของคนมักชอบทำสิ่งที่เสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ” โวเกลกล่าว ตั้งแต่ก่อนที่สื่อสังคมออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทในสังคม “โดยปกติคนมักมีพฤติกรรมแบบหนึ่งเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้อง ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมปกติที่พวกเขาทำอยู่เป็นประจำ”

เราควรตระหนักว่าอะไรควรทำ

เมื่อพูดถึงการเผชิญหน้ากับสัตว์ การตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบสามารถทำให้สัตว์มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายด้วยเช่นกัน สิ่งที่ทุกคนตระหนักเป็นอย่างดี คือสัตว์จะถูกฆ่าเพื่อปกป้องคนที่รุกล้ำเข้าไปในเขตของสัตว์ เช่น ฮารัมบี กอริลลาอายุ 17 ปี ถูกยิงในปี 2015 ณ สวนสัตว์ซินซินเนติ เมื่อมีเด็กเล็กตกลงไปในกรงของมัน

บ่อยครั้งที่ผู้คนต่างมองหาความท้าทาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของสัตว์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีวิดีโอบันทึกภาพชายคนหนึ่งกระโดดลงจากท่าเรือฟลอริดากำลังพยายามขี่หลังนกกระทุง วิดีโอบันทึกภาพนกกระทุงดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากกลุ่มคนที่ยืนหัวเราะอย่างขบขัน เมื่อปี 2015 มีวิดีโอบันทึกภาพที่เป็นกระแส คือภาพชายคนหนึ่งพยายามขี่หลังกวางมูสตัวเมีย ขณะที่มันกำลังว่ายน้ำข้ามทะเลสาบ บริติชโคลัมเบีย ในประเทศแคนาดา

“โดยปกติคนมักคิดว่าสัตว์ไม่มีความรู้สึกเหมือนกันกับเรา” เคลย์ตันกล่าว และเสริมว่าปัจจัยทั่วไปที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เหล่านี้ คือผู้คนต่างไม่เคารพต่อความรู้สึกของสัตว์

ในช่วงวัยเด็ก คือช่วงที่เราเริ่มเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร เธอกล่าวว่านั่นขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่พวกเขามีต่อสัตว์ การมาเที่ยวสวนสัตว์ผู้ปกครองสามารถใช้ประสบการณ์เหล่านี้ปลูกฝังนิสัยของเด็กว่าควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร

แรงกระตุ้นเกี่ยวกับการเซลฟี่ถือเป็นเรื่องอันตราย ยกตัวอย่างกรณีที่คุณอยู่ในกรงเสือ โวเกลแนะนำว่า แรงกระตุ้นในการ เซลฟี่ กับสัตว์เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายเกินไป “ซึ่งสำหรับการถ่ายภาพเซลฟี่คุณไม่จำเป็นต้องทำมันถึงขนาดนั้น”

***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม:

ระยะเวลาทั้งหมดกว่าหนึ่งปี ช่างภาพคนนี้ได้อะไรบ้างจากการติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของเหล่าเสือพูม่า

เสือพูม่า

Recommend