มวลน้ำทะเลอุ่นเป็นวงกว้างที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอาร์กติกแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลต่อ วาฬหลังค่อม
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจำนวนประชากรวาฬหลังค่อมในมหาสมุทรแปซิฟิกกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
การลดลงของปริมาณน้ำแข็งในทะเลอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลกและสัตว์ป่าอื่นๆ แต่ทำให้ฤดูหากินของวาฬในฤดูร้อนลำบากมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจว่าจะถอดรายชื่อออกจากรายการสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อความร้อนของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปลายปี 2013 มวลของน้ำทะเลอุ่นเป็นวงกว้าง หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “the blob” ที่เกิดขึ้นบริเวณอ่าวอลาสกา ได้แพร่กระจายอย่างช้าๆ ไปทางใต้ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้ทำให้ความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่มนุษย์โลกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง เอลนีโญ
ปรากฏการณ์ลึกลับดังกล่าวคงอยู่ในบริเวณนั้นเป็นเวลากว่า 6 ปี ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในบางแห่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียส และได้ฆ่าประชากรของเคยและสัตว์อื่นๆ ที่เป็นอาหารหลักของวาฬหลังค่อม
ดังนั้น ผลการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนวาฬหลังค่อมตัวเมียย้ายถิ่นอาศัยในช่วงฤดูร้อนปีละ 4,800 กิโลเมตรจากอลาสกาไปฮาวายเพื่อที่จะออกลูกและเลี้ยงลูกพวกมันน้อยลง “ในฮาวาย สัตว์ต่างอดอยาก เนื่องจากความหนาแน่นของอาหารต่ำมากๆ” Rachel Cartwright ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ และนักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เกาะแชนเนล กล่าว
ในปี 2013 และ 2014 Cartwright เห็นแม่และลูกวาฬคู่หนึ่งในการสำรวจมหาสมุทรประมาณ 3 กิโลเมตร ตามการวิจัยครั้งใหม่ของเธอซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคมในวารสาร Royal Society Open Science “ในปี 2017 และ 2018 พวกเราต้องสำรวจมากกว่า 12 กิโลเมตรเพื่อที่จะได้เห็นแม่และลูกวาฬ”
เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
วาฬตัวเมียส่วนใหญ่จะเดินทางไปผสมพันธุ์ทางใต้ก็ต่อเมื่อพวกมันสามารถเก็บไขมันได้มากพอสำหรับการตกไข่ในช่วงฤดูร้อน Cartwright อธิบาย “เซลล์ไขมันผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า เลปติน ซึ่งช่วยกระตุ้นการตกไข่ หากพวกมันไม่มีเซลล์ไขมันที่เพียงพอ การตกไข่จะไม่มีทางเกิดขึ้น”
Stephanie Stack หัวหน้านักชีววิทยาของมูลนิธิไม่หวังผลกำไรด้านวาฬ ได้ออกมายืนยันว่านักวิจัยท่านอื่นที่ทำงานบริเวณดังกล่าวก็ได้ทำการสังเกตการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน “ชุดข้อมูลของเราสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่คล้ายกันในการลดลงของการพบเห็นแม่และลูกวาฬในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา” Stack อธิบาย
นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่ได้ยังสอดคล้องกับข้อมูลของพื้นที่หากินของวาฬหลังค่อมในมลรัฐอลาสกาในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา Alison Craig นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมที่มหาวิทยาลัย Edinburgh Napier กล่าวเสริม ในพื้นที่อย่างอ่าวกลาเซียร์ ประชากรวาฬหลังค่อมมีจำนวนลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คนสังเกตเห็นการลดลงของจำนวนลูกวาฬอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแม่และลูกวาฬมักจะว่ายไปที่บริเวณน่านน้ำที่ไกลออกไปในปี 2017 และ 2018 “มีพื้นที่ใกล้เคียงหลายแห่งที่วาฬตัวเมียอาจจะผสมพันธุ์ได้ ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา โดยพวกเราควรจับตามองสถานที่เหล่านั้นไว้อย่างใกล้ชิด” เธอกล่าว “แต่จากประสบการณ์ของฉัน วาฬหลังค่อมเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างหัวโบราณ พวกมันมักจะออกลูกและเลี้ยงลูกในสถานที่เดิมๆ มานานกว่าหลายทศวรรษ”
อย่าเพิ่งดีใจไป
ตอนนี้ the blob ได้กระจายตัวออกไปแล้วและ Cartwright ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า วาฬหลังค่อมก็กลับมาแล้วเช่นกันในปีนี้ “ฉันเพิ่งกลับมาจากฮาวาย จำนวนแม่ลูกวาฬก็กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2014 แล้ว” เธอกล่าวเพิ่ม
แต่ถึงแม้ว่าข่าวครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เธอเองก็เตือนว่าอย่าเพิ่งมองโลกในแง่ดีเกินไป
ผลกระทบจาก the blob ต่อการอพยพของวาฬนั้นมีความผันผวน แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นอีกเป็นประจำบ่อยครั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก เธอเสริม และนั่นเองทำให้ประชากรที่เปราะบางอยู่แล้วของวาฬหลังค่อมตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
“เหตุการณ์ครั้งนี้มันสอนให้เรารู้ว่าการอนุรักษ์พันธุ์วาฬหลังค่อมนั้นมีความหละหลวมมากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก และตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่ควรจะไปลดมาตรการการป้องกันแต่อย่างใด”
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย