ก่อน “วาระสุดท้าย” ของ ” แมวน้ำลายพิณ ” ที่เสี่ยงตาย จากโลกร้อน

ก่อน “วาระสุดท้าย” ของ ” แมวน้ำลายพิณ ” ที่เสี่ยงตาย จากโลกร้อน

ลึกลงไปใต้วิหารน้ำแข็งขาวโพลนลูกหนึ่ง ฉันได้ยินเสียงหวีดร้องโหยหวน ระคนไปกับเสียงเจี๊ยวจ๊าวของ แมวน้ำลายพิณ

ฉันแหวกว่ายอยู่ในน่านน้ำเย็นเยือกของอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ รอบตัวมี แมวน้ำลายพิณ ตัวเต็มวัยพุ่งทะยานอย่างสง่างามในโลกใต้น้ำของพวกมัน บนเพดานน้ำแข็งผืนหนึ่งเหนือพวกเรามีลูกแมวน้ำแรกเกิดพักพิงอยู่หลายพันตัว

ตอนนั้นเป็นเดือนมีนาคม ปี 2011 ฉันอยู่ที่หมู่เกาะแมกดาเลน ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ในอดีต ทุกฤดูหนาว กลุ่มก้อนน้ำแข็งในอ่าวจะเปลี่ยนเป็นแหล่งตกลูกทางใต้สุดของแมวน้ำลายพิณ และแหล่งอนุบาลสำหรับลูกแมวน้ำแรกเกิด

“มาครับ เราไปค้นหาน้ำแข็งกัน” มาริโอ เซียร์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นของเรา บอก “ถ้าเจอน้ำแข็ง เราก็จะเจอแมวน้ำครับ” จริงอย่างที่เขาว่า แมวน้ำเพศเมียตั้งท้องฝูงหนึ่งเจอแพน้ำแข็งแตกหักลอยอยู่ใกล้รัฐพรินซ์เอดเวิร์ด ไอแลนด์ จึงพากันขึ้นไปออกลูก เรือของเราแล่นเข้าไปในดงน้ำแข็งดังกล่าว จากนั้นเราใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์บันทึกพฤติกรรมของแมวน้ำลายพิณทั้งบนและใต้ผิวน้ำ ช่วงกลางวัน ดวงอาทิตย์สาดแสงไปทั่วภูมิทัศน์น้ำแข็งที่แต่งแต้มด้วยแม่กับลูกแมวน้ำลายพิณขนสีขาวนุ่มฟู ตาสีดำขลับ และจมูกสีเทาเข้ม พอตกกลางคืนจะมีเสียงร้องประสานเหมือนทารกของลูกแมวน้ำลอยแทรกลำเรือเข้ามาขณะที่เราหลับกันอยู่

แมวน้ำลายพิณ
แม่แมวน้ำกับลูกทักทายกันด้วยการ “จุมพิต” แสดงการจดจำได้เมื่อปี 2011 ท่ามกลางฝูงลูกแมวน้ำขนปุกปุยสีขาว แม่จะระบุลูกตัวเองได้ด้วยการเอาจมูกแตะกันเพื่อตรวจสอบกลิ่น ระหว่างให้นม บางครั้งลูกแมวน้ำก็ลื่นตกจาก แผ่นน้ำแข็ง พวกมันอยู่รอดในน้ำเย็นจัดได้ไม่นานนัก
แมวน้ำลายพิณ
ลูกแมวน้ำลายพิณตัวหนึ่งติดอยู่ระหว่างแผ่นน้ำแข็งที่กำลังเคลื่อนที่ หลังพายุลูกหนึ่งพัดกระหน่ำนอกชายฝั่งรัฐ นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ในบริเวณที่เรียกกันว่า เดอะฟรอนต์ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 ฝนตกหนักและลมแรง อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ร้ายแรงถึงตายสำหรับลูกแมวน้ำที่ต้องพึ่งพาน้ำแข็งเพื่ออยู่รอด

แมวน้ำลายพิณจำเป็นต้องออกลูกบนน้ำแข็ง ระหว่างอพยพมาจากอาร์กติกในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พวกมันจะออกค้นหาน้ำแข็งทะเลตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โดยทั่วไปแมวน้ำเพศเมียที่ตั้งท้องจะ ตกลูกเพียงตัวเดียว พวกแม่ๆจะให้นมลูกตลอดสองสัปดาห์แรกของชีวิตเพื่อสะสมไขมันสำรอง จากนั้นก็ทิ้งลูกไว้บนน้ำแข็ง แล้วจากไปผสมพันธุ์ ลูกแมวน้ำต้องพึ่งพาชั้นไขมันของตัวเองเพื่ออยู่รอด จนกว่าจะว่ายน้ำเป็นและรู้วิธีจับอาหารกินเอง เพื่อเรียนรู้การเป็นแมวน้ำลายพิณ ลูกแมวน้ำต้องอาศัยเวลา และน้ำแข็งที่มีความเสถียร

แต่ฤดูหนาวในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์กำลังอุ่นเร็วขึ้นเป็นสองเท่าของฤดูร้อน ในอัตราสูงกว่าสององศาทุกๆหนึ่งร้อยปี ปีเตอร์ กัลเบรท นักวิทยาศาสตร์วิจัย สาขาสมุทรศาสตร์กายภาพ สังกัดกรมประมงและมหาสมุทรแคนาดา หรือดีเอฟโอ กล่าว นี่หมายถึงน้ำแข็งทะเลที่ปกคลุมน้อยลง และทางเลือกด้านแหล่งอนุบาลที่หายไปสำหรับแมวน้ำลายพิณตั้งท้องในอ่าวแห่งนี้

แมวน้ำลายพิณ
แมวน้ำลายพิณเพศผู้ที่ก้าวร้าวผิดปกติ (ตัวซ้าย) พยายามจะผสมพันธุ์กับเพศเมียที่ไม่ยอมรับมัน ฤดูผสมพันธุ์ จะเริ่มขึ้นทันทีหลังจากพวกแม่ๆ ให้ลูกหย่านมแล้ว
ลูกแมวน้ำ, แมวน้ำ
ลูกแมวน้ำหลบอยู่ใต้ที่กำบังจากกระแสลมพัดไม่หยุดหย่อนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2012 นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ตราบเท่าที่มีน้ำแข็งทะเล ไม่ว่าจะเปราะบางเพียงใด แมวน้ำลายพิณก็จะเสี่ยงออกลูกกันต่อไปในแหล่งตกลูกดั้งเดิม ของพวกมัน

นักวิทยาศาสตร์มักพูดถึงฤดูหนาวในภูมิภาคนี้โดยแบ่งเป็นปีที่น้ำแข็งสมบูรณ์ (good ice year) กับปีที่น้ำแข็งไม่สมบูรณ์ (bad ice year) ปีที่น้ำแข็งสมบูรณ์ซึ่งบอกได้จากฤดูหนาวที่เยือกเย็นกว่าและผืนน้ำแข็งปกคลุมเป็นชั้นหนากินบริเวณกว้าง เกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ น้ำแข็งทะเลในอ่าวนี้ลดลงมาตั้งแต่ปี 1995 เป็นอย่างน้อย สิ่งที่พบบ่อยในตอนนี้คือปีที่น้ำแข็งไม่สมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากฤดูหนาวที่อากาศไม่เย็นจัด ส่งผลให้เกิดแพน้ำแข็งบางๆที่มีแนวโน้มแตกหักง่าย ปีที่น้ำแข็งไม่สมบูรณ์อาจกลายเป็นหายนะของแมวน้ำลายพิณได้ หนึ่งในนั้นคือเมื่อปี 2011

วันสุดท้ายของเราในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์เมื่อเดือนมีนาคมปีนั้น พายุลูกหนึ่งกระหน่ำท้องน้ำอย่างบ้าคลั่ง เราฝ่าพ้นมาจนถึงท่าเรือแล้ว และกำลังขนอุปกรณ์ลงจากเรือ เมื่อเซียร์แจ้งข่าวว่า น้ำแข็งที่เปราะบางถูกพายุซัดจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ลูกแมวน้ำนับพันตัวตายเกลี้ยง

แม่ลูกแมวน้ำกระจายอยู่ทั่วแพน้ำแข็งที่แตกเป็นเสี่ยงๆในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 เมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้นและลมพัดแรง น้ำแข็งซึ่งบางจุดมีคราบเลือดจากการตกลูก ยังคงแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่อไป
แมวน้ำลายพิณ
ลูกแมวน้ำตัวหนึ่งกระเสือกกระสนอยู่บนแพน้ำแข็งบางๆ เมื่อปี 2020 ในอดีต น้ำแข็งทะเลปกคลุมเป็นชั้นหนา ในอ่าว ช่วยให้ลูกแมวน้ำมีที่พักพิงที่ปลอดภัยและวางใจได้สำหรับการอยู่รอด

ความตายของลูกแมวน้ำครั้งนั้นเป็นจุดพลิกผันสำหรับฉัน เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏให้เห็นอย่างน่าสะพรึง เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาแบบเรียลไทม์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่อง ฉันสงสัยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรสำหรับสัตว์ชนิดนี้ที่ต้องพึ่งพาน้ำแข็ง

สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากแกร์รี สเตนสัน และไมก์ แฮมมิลล์ สองผู้เชี่ยวชาญด้านแมวน้ำลายพิณในสังกัดดีเอฟโอ ก็คือ การไม่มีน้ำแข็งอยู่ในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์อาจดีกว่ามีน้ำแข็งที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อไม่มีน้ำแข็ง แมวน้ำลายพิณจะว่ายน้ำออกไปไกลขึ้น และค้นหาน้ำแข็งนอกแหล่งตกลูกดั้งเดิมของพวกมัน แต่ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่า ถ้ายังพอมีน้ำแข็ง ไม่ว่าอยู่ในสภาพย่ำแย่แค่ไหน ฝูงแมวน้ำก็จะอ้อยอิ่งอยู่เพื่อใช้ประโยชน์จากมัน

เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 ฉันไปสมทบกับสเตนสันและทีมงานกลุ่มใหญ่ระหว่างดำเนินงานสำรวจแมวน้ำ ลายพิณ ซึ่งจะทำกันทุกสี่ถึงห้าปีในบริเวณที่เรียกว่า เดอะฟรอนต์ นอกชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ซึ่งเป็นแหล่งตกลูกใหญ่ที่สุดของประชากรแมวน้ำลายพิณในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของแอตแลนติก

แมวน้ำลายพิณ
ลูกแมวน้ำลายพิณที่เพิ่งหย่านมแหวกว่ายอยู่ในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ แมวน้ำลายพิณเพศเมียจะตกลูกบนน้ำแข็ง ตลอดสองสัปดาห์แรก ลูกแมวน้ำจะสะสมไขมันสำรองที่จะช่วยให้มันหย่านมแม่ได้ เพื่อออกไปเผชิญกับน่านน้ำเย็นเยียบ และอยู่รอดได้ด้วยตนเอง
แมวน้ำลายพิณ
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 แม่ลูกแมวน้ำคู่หนึ่งพักผ่อนหลังให้นม ฤดูตกลูกในหมู่เกาะแมกดาเลนของรัฐควิเบก กลายเป็นสิ่งดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว แต่น้ำแข็งที่ไม่เสถียรระหว่างฤดูหนาวช่วงหลังๆนี้ นำไปสู่อัตราการจมน้ำระดับหายนะในหมู่ลูกแมวน้ำลายพิณแรกเกิด

ความพยายามโดยการประสานความร่วมมือเพื่อสำรวจพื้นที่ตรงนี้ต้องพึ่งพาทั้งอากาศยานชนิดปีกตรึงและเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องส่งวิทยุที่นำไปติดตั้งไว้ตามแพแมวน้ำช่วยให้นักวิจัยนับจำนวนลูกแมวน้ำจากทางอากาศ ประเมินอายุ และติดตามการเคลื่อนไหวได้ ทั้งหมดนี้ทำได้ยากอยู่แล้วแม้ในปีที่น้ำแข็งสมบูรณ์ แต่การสำรวจยิ่งยากขึ้นทุกครั้ง สเตนสันยอมรับ น้ำแข็งทะเลนอกชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์กำลังเปลี่ยนครรลองอย่างช้าๆ ไปในทิศทางใกล้เคียงกับน้ำแข็งในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์

ในช่วงต้นของการสำรวจ พายุรุนแรงลูกหนึ่งพัดกระหน่ำน้ำแข็งนอกชายฝั่งแตกเป็นเสี่ยงๆ ขณะที่ลมพัดหอบลูกแมวน้ำที่รอดชีวิตไปทางตะวันออก ห่างไกลจากแหล่งหากินตามปกติ แม้แนวโน้มข้างหน้าอาจจะดูน่าหดหู่ แต่ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง แมวน้ำลายพิณสามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ พวกมันจะเคลื่อนย้ายตามน้ำแข็ง ในระยะยาวแล้ว แฮมมิลล์กับสเตนสันทำนายว่า แมวน้ำอาจสร้างแหล่งตกลูกใหม่ไกลออกไปทางเหนือ เดือนนี้พวกแมวน้ำจะเริ่มฤดูกาลตกลูกอีกครั้งในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ฉันจะไปรออยู่ที่นั่น พร้อมกับความหวังว่าจะเป็นปีที่น้ำแข็งสมบูรณ์

เรื่องและภาพถ่าย เจนนิเฟอร์ เฮย์ส

แปล  อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี เปราะบาง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/601207


อ่านเพิ่มเติม โลกเดือด! น้ำแข็งละลาย ทำ ” หมีขั้วโลกอดอยาก ” หนีขึ้นบก แต่ไร้อาหาร

หมีขั้วโลกอดอยาก

Recommend