พบเจอ เพนกวิน ราชา และแมวน้ำขนกลายพันธุ์ที่เกาะเซาธ์จอร์เจีย ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อร่างกายและเม็ดสีที่มีความหลากหลาย
ณ พื้นที่เกาะเซาธ์จอเจียอันห่างไกล ที่ตั้งอยู่ห่างจากปลายยอดแหลมด้านทิศใต้ในชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ไปราว 2,000 กิโลเมตร เป็นพื้นที่อยู่อาศัยตามฤดูกาลของเหล่าแมวน้ำ เพนกวิน และสัตว์ชนิดอื่นๆ
ในการสำรวจของทีมงาน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อไม่นานมานี้ Jeff Mauritzen ช่างภาพของเราพบเจอเพนกวินกษัตริย์ (King penguin) และแมวน้ำขน (Fur seal) ที่พบเจอได้ยาก เพราะสัตว์ที่ Jeff พบเจอมีการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งทำให้พวกมันทั้งหมดปรากฏลักษณะของสีซีดตลอดลำตัว
สัตว์แปลกประหลาด
โดยปกติแล้ว การกลายพันธุ์ของสัตว์ไม่ได้เป็นเรื่องรุนแรงอะไรมากนัก อย่างในกรณี เพนกวิน ตัวนี้ที่มีขนสีน้ำตาลซึ่งผิดปกติ เป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของยีนด้อยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดสีในเซลล์เม็ดสีเข้ม (eumelanin) อันเป็นเม็ดสีผิวที่ผลิตขนสีดำ สีเทา และสีน้ำตาล กล่าวโดย Hein van Grouw นักปักษีวิทยาประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเมือง Tring ประเทศอังกฤษ
การกลายพันธุ์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Oxidation) ของเม็ดสี และทำให้มันมีความไวต่อแสงอาทิตย์ ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนสีของขนจนกลายเป็นสีขาวด่างเกือบทั้งหมด
“คุณจะเห็นได้ว่าขนสีเหลืองไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสีนั้นไม่ได้มาจากเมลานิน แต่มาจากแคโรทีนอยด์ (Carotenoids)” ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกลายพันธุ์เป็นสีน้ำตาล” Julia Finger นักชีววิทยาแห่ง Brazil University of the Sinos Valley กล่าว
โดยสีน้ำตาลเป็นหนึ่งในเม็ดสีที่มีการกลายพันธุ์เป็นปกติในเพนกวิน ซึ่งสามารถพบได้ในในเพนกวินอีกหลายชนิด เช่น เพนกวินเจนทู เพนกวินมาเจลลัน และ เพนกวินอาเดลี แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
แมวน้ำสีซีด
ในทางกลับกัน แมวน้ำขนสองตัวที่ได้พบดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาวะผิวเผือก (leucism) สภาวะนี้จะทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเม็ดสีเข้มที่เรียกว่าเมลานินอย่างเพียงพอ บางครั้งก็รวมไปถึงเม็ดสีผิวอื่นด้วยเช่นกัน
สภาวะเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับแมวน้ำที่อยู่นอกเกาะเซาธ์จอเจีย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่นี่ ซึ่งอาจมีกรณีแมวน้ำสีเผือกเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 1 ใน 400 ไปจนถึง 1 ใน 1500 ตัว ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Polar Biology ในปี 2005 กรณีนี้มีคำอธิบายว่า เนื่องจากต้นศตวรรษที่ยี่สิบ มีการล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในปริมาณที่สูงมาก แต่ดูเหมือนว่าสัตว์ที่มีผิวเผือกบนเกาะเซาธ์จอเจียมักรอดพ้นจากการล่า และเป็นลักษณะของแมวน้ำเผือกที่กระจายอยู่ทั่วเกาะนี้ โดยเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Founder Effect
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าการกลายพันธุ์ของสีผิวไม่ได้เป็นตัววัดในเรื่องทักษะเอาชีวิตรอดหรือพฤติกรรมของแมวน้ำขนแต่อย่างไร
” ทั้งเพนกวินและแมวน้ำที่เขาถ่ายภาพมาได้นั้นไม่ได้ทำตัวผิดปกติ และไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติตัวต่างจากเพื่อนร่วมสายพันธุ์แต่อย่างใด” Mauritzen กล่าว
ด้าน Grouw กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในความเห็นของฉัน การกลายพันธุ์ของสีผิวไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดชีวิตมากนัก และมันสามารถจับคู่กับสัตว์ที่มีสีผิวปกติเพื่อขยายพันธุ์ได้”
“อย่างไรก็ตาม” เธอกล่าวและเสริมว่า “ฉันพบว่านกส่วนใหญ่สามารถรับมือกับการกลายพันธุ์ของสีผิวและได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของพวกมันได้”