แมวติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่นายทาสทั้งหลายไม่ต้องกังวล

แมวติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่นายทาสทั้งหลายไม่ต้องกังวล

การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า แมวติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าสัตว์ตระกูลแมวสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่มนุษย์ได้หรือไม่

จากงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ แมวติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในขณะนี้ และยังแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้อีกด้วย แต่การศึกษาในสุนัขพบว่า ความไวต่อการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สูงเท่าแมว ซึ่งอ้างอิงการศึกษาของนักวิจัยในประเทศจีน จากสถาบันวิจัยสัตวแพทย์ฮาร์บิน นอกจากนี้ยังพบว่า ในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น เช่น ไก่ สุกร และเป็ด ก็มีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำเช่นกัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าว่า การค้นพบครั้งนี้มีความน่าสนใจ แต่บรรดาเจ้าของแมวไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากการทดลองนี้เป็นเพียงวิธีการที่ใช้ในห้องปฏิบัติการและกลุ่มตัวอย่างที่นำมาทดลองมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งแตกต่างจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่แมวอาศัยอยู่กับมนุษย์จริงๆ จึงยังไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้ นักไวรัสวิทยา ลินดา ซาอิฟ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต ในโคลัมบัส กล่าวและเสริมว่า ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงที่บ่งชี้ว่า สารคัดหลั่งจากแมวที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสจะแพร่สู่มนุษย์ได้

แมว, แมวบ้าน, แมวติดเชื้อโควิด-19, สัตว์เลี้ยง, นายทาส, เลี้ยงแมว,

ความสามารถในการป้องกันโรคของสัตว์เลี้ยง

ด้วยสถานการณ์โคโรนาไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก บางคนอาจเกิดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดจากสัตว์เลี้ยงข้ามมาสู่มนุษย์ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า สัตว์เลี้ยงบางชนิดติดเชื้อไวรัส เช่นกรณีแมวบ้านในประเทศเบลเยียม และสุนัขสองตัวในฮ่องกง “แมวและสุนัขต่างมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจเรื่องความไวต่อการติดเชื้อ SARS-CoV-2 เพื่อป้องกันโรคโควิด-19” ข้อความจากงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ bioRxiv เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่่ผ่านมา

ทีมนักวิจัยที่นำโดย Bu Zhigao ทำการทดลองโดยให้เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในแมวบ้านจำนวนห้าตัวผ่านทางจมูก หลังจากผ่านไปหกวัน แมวสองตัวแสดงอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น และแมวที่ติดเชื้ออีกสามตัวถูกนำไปรวมไว้ในกรงกับแมวที่สุขภาพแข็งแรง จากนั้นทีมนักวิจัยพบว่า แมวที่สุขภาพแข็งแรงมีสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 แต่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย จากการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า แมวที่สุขภาพดีได้รับเชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากแมวที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีข้อมูลว่าติดเชื้อได้อย่างไร นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยเสนอความเห็นว่า รูปแบบการกำจัดไวรัส SARS-CoV-2 ในแมว อาจนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการใช้ในมนุษย์ในอนาคต แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า ความเห็นนี้จะสามารถทำได้สำเร็จ

ไม่แสดงอาการ

อย่างไรก็ตาม ซาอิฟกล่าวว่า แมวที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ เลย และในการทดลองพบแมวเพียงตัวเดียวที่สังเกตอาการได้ว่าติดเชื้อไวรัส “จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ไวรัสอาจไม่แสดงอาการของโรคในแมว” เธอกล่าว นอกจากนี้ กลไกการแพร่ระบาดในแมวยังไม่ชัดเจน เนื่องจากในงานวิจัยไม่ได้รายงานรูปแบบการติดตั้งกรงที่ใช้ในการทดลองว่า แมวแต่ละตัวสัมผัสกันอย่างไร หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผ่านช่องทางใด

จากผลการทดลองแนะนำว่า แมวอาจเป็นต้นทางนำไปสู่ความพยายามการควบคุมโรคโควิด-19 ในอนาคต แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด เดิร์ก ฟิฟเฟอร์ นักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวและเสริมว่า “การให้ความสำคัญในเรื่องควบคุมการแพร่ระบาด ยังคงเคร่งครัดเรื่องการลดความเสี่ยงการแพร่ระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันเอง”

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่โรคซาร์กำลังระบาด การศึกษาชิ้นหนึ่งรายงานว่า แมวบ้านติดเชื้อ SARS-CoV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซาร์ และแพร่เชื้อสู่แมวตัวอื่นๆ แต่ “ยังไม่มีรายงานหรือการศึกษาใดๆ ยืนยันว่า ระหว่างที่โรคซาร์กำลังระบาด เชื้อ SARS-CoV ได้แพร่กระจายจากแมวสู่มนุษย์”

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง รวมถึงงดสัมผัสอาหารสัตว์ หรือให้สัตว์เลียตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และแยกพื้นที่ระหว่างผู้ติดเชื้อกับสัตว์เลี้ยง

“คำแนะนำนี้เป็นการเตือนเพื่อให้เราไม่แพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยง ในระหว่างที่เรายังไม่มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยง” ซาอิฟกล่าวเสริม

สุนัข, หมาน่านัก, ยอร์กเชียร์เทอร์เรีย, หมาติดโควิด-19, หมาติดเชื้อโควิด-19 ได้ไหม, สัตว์เลี้ยง, การดูแลสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น

นักวิจัยยังพบว่า เฟอร์เร็ตมีความไวต่อการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งพวกเขาให้ความเห็นว่า อาจใช้เฟอร์เร็ตเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนายาและวัคซีนโรคโควิด-19 ในอนาคต และห้องปฏิบัติการบางแห่งเริ่มทดลองเรื่องโควิด-19 กับเฟอร์เร็ตแล้ว

อย่างไรก็ตาม สุนัขมีความไวน้อยมากต่อการติดไวรัสชนิดนี้ นักวิจัยทดลองให้เชื้อโควิด-19 กับสุนัขห้าตัว ผลปรากฏว่า สุนัขสองตัวจากทั้งหมดตรวจพบอาร์เอ็นเอของไวรัสในอุจจาระ แต่ไม่มีสุนัขตัวใดในการทดลองที่แสดงภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือระบบอื่นๆ เช่นเดียวกับการทดลองในสุกร ไก่ และเป็ด ที่ให้ผลการศึกษาไปในทางเดียวกันกับสุนัข

การค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สัตว์เหล่านี้ไม่มีบทบาทต่อการเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด-19 ฟิฟเฟอร์กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง สมริตที มัลละภาตี


ข้อมูลอ้างอิง 

วารสาร Nature – https://www.nature.com/articles/d41586-020-00989-3

Scientific American – https://www.scientificamerican.com/article/cats-can-get-coronavirus-study-suggests-but-pet-owners-need-not-panic/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เสือโคร่งในสวนสัตว์บรองซ์ติดเชื้อโคโรนาไวรัส

เสือโคร่ง, เสือติดโควิด, โควิด-19, นาเดีย, บรองซ์

Recommend