หอยมือเสือ หอยสองฝาที่ขนาดใหญ่ที่สุด

หอยมือเสือ หอยสองฝาที่ขนาดใหญ่ที่สุด

หอยมือเสือ เป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

จากกรณีรายการเรียลิตีจากประเทศเกาหลี ที่นำดาราไปผจญภัยยังสถานที่ห่างไกลต่างๆ ได้เดินทางมายังประเทศไทย และได้ทำการถ่ายทำบริเวณหาดเพทาย เกาะมุก จังหวัดตรัง โดยมีฉากที่ผู้ร่วมรายการทำการดำน้ำไปจับ หอยมือเสือ 3 ตัว เพื่อนำมาเป็นอาหาร จนเกิดหลายคำถามตามมา ทางด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกมาเปิดเผยว่า สถานะของหอยมือเสือในประเทศไทยเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

สัตว์ป่าคุ้มครอง คือสัตว์ป่าที่มีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้าย “กฎกระทรวง” กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด ซึ่งในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมีรายชื่อหอยที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 2 ชนิดคือ หอยมือเสือทุกชนิด (Tridacna spp.) และหอยสังข์แตร (Charonia tritonis)

บัญชีรายชื่อของสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมดในประเทศไทย

ข้อห้ามข้อบังคับ บางประการ จากพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ควรทราบมีดังนี้

  • สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่ว่าชนิดใด ห้ามล่าสัตว์ เก็บรัง ครอบครองที่ดิน แผ้วถาง หรือเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ
  • การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย
  • ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกอีแอ่น (นกแอ่นกินรัง) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน

หอยมือเสือ หอยสองฝาที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

หอยมือเสือ หรือ Giant clams (Tridacna spp.) เป็นหอยสองฝาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังในทะเลเขตอบอุ่น ลักษณะโดดเด่นเฉพาะคือมีลำตัวและฝาขนาดใหญ่ รวมไปถึงวิธีการหาอาหารที่ไม่เหมือนหอยสองฝาชนิดอื่น หอยมือเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือชนิด Tridacna gigas ซึ่งมีขนาดความยาวของเปลือกถึง 1.3 เมตร และหนักกว่า 500 กิโลกรัม ในขณะที่หอยมือเสือชนิดอื่นๆ มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 40-50 เซนติเมตร หอยมือเสือจัดว่ามีขนาดลำตัวเฉลี่ยใหญ่กว่าหอยสองฝาที่พบโดยทั่วไป เช่น หอยนางรม หอยแมลงภู่ และสแกลลอป ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่้งที่เป็นลักษณะร่วมของหอยมือเสือทุกชนิดคือ แมนเทิลที่พัฒนาขึ้นมาจนมีขนาดใหญ่ โดยพบทั้งสองข้างของฝาหอย เพื่อสัมผัสกับแสงอาทิตย์ แมนเทิลคืออวัยวะที่เด่นชัดที่สุดของหอยมือเสือ

หอยมือเสือ, หอยสองฝา,
หอยมือเสือมีเปลือกขนาดใหญ่ และมักอาศัยอยู่ในแนวปะการังที่แสงแดดสามารถส่องถึง

หอยมือเสือวิวัฒน์มาเพื่ออาศัยอยู่ในแหล่งอาศัยที่มีปริมาณสารอาหารน้อย เนื้อเยื่อแมนเทิลของหอยมือเสือที่สัมผัสกับแสงอาทิตย์ประกอบด้วยสาหร่ายเซลล์เดียวที่รู้จักกันในชื่อ ซูแซนเทลลา (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายในสกุลเดียวกันที่อาศัยอยู่ในปะการัง และมีการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย ซึ่งสาหร่ายใช้สารอินทรีย์บางชนิดจากหอยมือเสือในกระบวนการสังเคราะห์แสง และหอยมือเสือก็ได้รับอาหารจากสาหร่ายเป็นการตอบแทน

หอยสังข์แตร หอยฝาเดียวที่ขนาดใหญ่ที่สุดในน่านน้ำไทย

เปลือกของหอยสังข์แตร ซึ่งจัดเป็นหอยฝาเดียว

หอยสังข์แตร หรือ Triton trumpet (Charonia tritonis) ในน่านน้ำไทยจัดว่าเป็นหอยฝาเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อาจยาวถึง 12 นิ้ว อาศัยอยู่ในแนวปะการังที่ระดับความลึกถึง 30 เมตร พบทั้งอ่าวไทยและอันดามัน กินอาหารจำพวกปลิงทะเล และดาวทะเล โดยเฉพาะดาวมงกุฏหนาม ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินปะการัง จึงจัดได้ว่าหอยสังข์แตรเป็นตัวควบคุมตามธรรมชาติ ถือเป็นสัตว์ทะเลหายาก ปัจจุบัน กรมประมงเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรักษาจำนวนประชากรในธรรมชาติให้อยู่ในระดับสมดุล

หอยสังข์แตร, ดาวหนามมงกุฎ
หอยสังข์แตรเป็นผู้ล่าตามธรรมชาติของดาวมงกุฎหนาม

อ่านเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เต่าทะเล 5 สายพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำไทย

เต่าทะเล
ภาพถ่ายโดย Steven Kovacs

Recommend