เต่าทะเล : หยัดยืนได้อีกนานเพียงใด
ถ้าได้เฝ้ามอง เต่าทะเล นานพอ คุณจะอดทึ่งในความอัศจรรย์ของพวกมันไม่ได้ เต่าท่องสมุทรด้วยครีบคู่หน้าที่มีลักษณะคล้ายปีก ขุดทรายทำรังด้วยขาหลังที่กอบทรายและโยนทิ้งได้เกือบเหมือนมือ รีดน้ำเค็มออกจากต่อมใกล้ตาได้เหมือนน้ำตา ปากคล้ายจะงอยปากนกซึ่งอาจเป็นเพราะมันมีบรรพบุรุษร่วมกับไก่ นอกจากเต่ามะเฟืองที่มีชั้นผิวหนังหนาแล้ว เต่าอื่นๆ มีโครงกระดูกภายนอกที่ปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ดเคอราทิน ซึ่งเป็นวัสดุที่พบในนอแรดและเล็บมนุษย์ ทว่าเต่าแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป เต่ากระช่วยแนวปะการังด้วยการกินฟองน้ำทะเลที่อาจทำลายปะการัง เต่าหัวค้อนใช้ขากรรไกรทรงพลังเคี้ยวแมงดาทะเลได้ เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนกับเพรียงหัวหอม และว่ายน้ำจากญี่ปุ่นไปแคลิฟอร์เนียได้สบายๆ
เต่าทะเล แยกสายวิวัฒนาการจากเต่าบกเมื่อกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว พวกมันรอดชีวิตจากดาวเคราะห์น้อยที่ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์มาได้ และผ่านการสูญพันธุ์ทางทะเลเมื่อสองล้านปีก่อนที่ทำให้เครือญาติของมันหายไปกว่าครึ่ง ทุกวันนี้ เราพบเต่าทะเลได้ตามชายหาดในทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา และมีเต่าแหวกว่ายอยู่ในน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์บางคนในปัจจุบันเชื่อว่า ลำพังแค่ในทะเลแคริบเบียนยุคก่อนโคลัมบัสก็อาจมีเต่าตนุตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ถึง 91 ล้านตัว นั่นคือประมาณสิบเท่าของเต่าทะเลตัวเต็มวัยทุกชนิดรวมกันที่เชื่อกันว่าแหวกว่ายอยู่ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกในปัจจุบัน
ตั้งแต่เต่าหญ้าเคมป์ที่มีขนาดใหญ่ไม่เกินยางรถยนต์ไปจนถึงเต่ามะเฟืองที่อาจหนักกว่าหมีขั้วโลก เต่าทะเลหกในเจ็ดชนิดมีสถานะตั้งแต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนสถานะของเต่าหลังแบนในออสเตรเลียนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด
แต่พวกมันก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งๆที่เผชิญอุปสรรคสารพัดจากน้ำมือเรา
ดูเหมือนเต่าทะเลอาจฟื้นตัวเก่งกว่าที่เราคิด “ผมเห็นเต่าบาดเจ็บ พิกลพิการ และเจ็บป่วยเหลือเชื่อมาแล้วทุกรูปแบบ และพวกมันก็รอดมาได้” ไบรอัน วอลเลซ ผู้รับผิดชอบการประเมินเต่าทะเลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น บอกและเสริมว่า “เต่าทะเลที่สูญพันธุ์แบบนกโดโดและนกพิราบแพสเซนเจอร์มีที่ไหนกันล่ะครับ” พวกมันทั้งเจ็ดชนิดยังอยู่รอดได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ขณะที่เราตักตวงทรัพยากรจากทะเล พัฒนาแนวชายฝั่ง และก่อภาวะโลกร้อน ก็สมควรแล้วที่เราจะถามตัวเองว่า เรากำลังทำลายสัตว์เหล่านี้หรือไม่ แต่หลังจากรายงานเรื่องสถานการณ์เต่าทะเลในประเทศต่างๆในช่วงหลายเดือน ผมกลับคิดว่าเราควรตั้งคำถามอื่นแทน นั่นคือสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้จะอยู่รอดได้ดีแค่ไหน ถ้าเราช่วยพวกมันอีกสักนิด
เรายังพอเห็นความหวังในพื้นที่ที่คนยอมรับแนวคิดอนุรักษ์เต่า เช้าวันหนึ่งในคอสตาริกา ผมนั่งอยู่บนรถขนส่งสินค้าขณะที่มหาสมุทรส่องประกายวิบวับผ่านดงต้นปาล์มขวด สินค้าของเราคือกระสอบใหญ่ 80 ใบบรรจุไข่เต่า 96,000 ฟอง เลยไปอีกไม่กี่กิโลเมตร รถก็ถอยเข้าสู่เพิงเปิดโล่ง พวกผู้ชายขนสินค้าเปราะบางนี้ไปวางบนโต๊ะคัดแยกให้พวกผู้หญิงเริ่มหยิบใส่ถุง ในไม่ช้าไข่ก็อยู่ในบรรจุภัณฑ์ใหม่พร้อมส่งไปขายให้ร้านอาหารและบาร์ที่อยู่ไกลถึงซานโฮเซ เมืองหลวงของประเทศ ทั้งหมดนี้ถูกกฎหมายทุกประการ ทั้งยังอาจส่งผลดีต่อเต่าอีกด้วย
ทุกเดือน ชายหาดแห่งนี้ในเมืองโอสติโอนัลบนคาบสมุทรริมชายฝั่งแปซิฟิกตอนเหนือของคอสตาริกาจะเป็นแหล่งวางไข่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตามปกติ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า อาร์รีบาดา (arribada) จะเกิดกลางดึกเหมือนที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้ เต่าหญ้าเพศเมียหลายพันตัวชุมนุมกันนอกชายฝั่ง แสงดาวเต็มฟ้าเผยให้เห็นเงาตะคุ่มของพวกมัน จากนั้น แม่เต่าทยอยขึ้นฝั่งเหมือนได้รับสัญญาณลี้ลับบางอย่าง ทั้งชนทั้งดันกันเข้ามาเป็นระลอกโดยไม่สนใจภัยคุกคามรอบข้าง เช่น นกแร้ง หมาป่า และแรกคูนหิวโหยที่จะมาคุ้ยไข่ พวกมันเริ่มขุดทราย เจอรังของเต่าตัวอื่นและทำไข่แตก เบ่งไข่ไว้ในรังที่เพิ่งขุดขึ้นหมาดๆ ก่อนจะเดินต้วมเตี้ยมกลับลงทะเล
มนุษย์มาตอนฟ้าสาง พวกผู้ชายเดินเท้าเปล่าด้วยจังหวะประหลาดราวกับกำลังเต้นรำ กระดกส้นเท้ากับปลายเท้าอย่างระมัดระวังเพื่อสำรวจหาพื้นทรายร่วนๆ เมื่อพบ พวกเขาจะนั่งยองๆลงขุดจนกระทั่งเจอไข่ จากนั้นวัยรุ่นและพวกผู้หญิงก็เริ่มเก็บใส่ถุง
คอสตาริกาเริ่มออกกฎห้ามเก็บไข่เต่าในทศวรรษ 1970 แต่ไม่ได้บังคับใช้จริงจัง ท้ายที่สุด นักวิจัยจึงเสนอแผนจัดการ นั่นคืออนุญาตให้มีการค้าไข่เต่าในท้องถิ่นอย่างถูกกฎหมายโดยอยู่ภายใต้การควบคุม ในคืนอาร์รีบาดา เต่าขึ้นมาขุดรังวางไข่อย่างล้นหลามจนชายหาดไม่พอรองรับ ต่อให้ไม่มีคนลักลอบเก็บ ไข่เต่ามากถึงครึ่งหนึ่งบนชายหาดก็ได้รับความเสียหายอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จากฝีมือเต่าด้วยกันเอง รัฐบาลคอสตาริกาจึงอนุญาตให้ชาวเมืองโอสติโอนัลไม่กี่ร้อยคนเก็บไข่เต่าส่วนหนึ่งได้โดยถูกกฎหมาย
ทุกวันนี้ หลายคนมองว่าการเก็บไข่เต่าในโอสติโอนัลคือความสำเร็จ ชาวเมืองได้ส่วนแบ่งเป็นไข่จำนวนหนึ่ง และนักชีววิทยาบางคนคิดว่า การกำจัดไข่ส่วนเกินจากชายหาดช่วยป้องกันไม่ให้จุลชีพทำลายไข่ส่วนที่ดี เงินที่ได้จากการขายนำมาใช้เป็นค่าลาดตระเวนชายหาดและการตรวจตราไม่ให้พวกลักลอบเก็บไข่เข้ามาในพื้นที่ มีเอกสารกำกับการขายทุกครั้งเพื่อแจ้งผู้ซื้อว่าเป็นไข่เต่าถูกกฎหมาย ชาวเมืองที่ร่วมโครงการช่วยขับไล่สัตว์นักล่าเพื่อให้เต่าที่ฟักเป็นตัวได้กลับลงทะเล
เรื่อง เครก เวลช์
ภาพถ่าย ทอมัส พี. เพสแชก
*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2562
สารคดีแนะนำ