ธงรังนก ผืนผ้าปกป้องรังนกในทุ่งบัวแดง สัญลักษณ์ใหม่กลางบึงน้ำละหาน จ.ชัยภูมิ

ธงรังนก ผืนผ้าปกป้องรังนกในทุ่งบัวแดง สัญลักษณ์ใหม่กลางบึงน้ำละหาน จ.ชัยภูมิ

ความพยายามในการปกป้องรังนกในบึงละหาน เพื่อรักษาระบบนิเวศของทุ่งบัวแดง

ผืนผ้าสีขาวที่โบกสะบัดอยู่กลางบึงน้ำไกล ๆ ดูแปลกแยกจากบรรดาริ้วผ้าที่ทำไว้เป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งเครื่องมือหาปลาที่มีอยู่ทั่วไปในบึงละหาน ด้วยความแปลกตาจน เราจึงต้องล่องเรือออกไปดูให้รู้ว่า ผืนผ้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสัญลักษณ์อื่น ๆ ของบึงน้ำแห่งนี้เช่นไร

ใช้เวลานั่งเรือไม่นานก็มาถึงยังจุดหมายตามตั้งใจ ผืนผ้าสีขาวนั้นมีภาพลายเส้นง่าย ๆ ปรากฏอยู่ ภาพลายเส้นที่เพียงแรกเห็นก็รู้ว่านั่นคือภาพนกกำลังเลี้ยงลูกน้อยอยู่ในรัง ผืนผ้าที่โบกสะบัดอยู่กลางบึงน้ำเหล่านี้ ชาวทุ่งบัวแดงบึงละหาน จ.ชัยภูมิ ต่างเรียกมันว่า  ‘ธงรังนก ‘

‘ธงรังนก ‘ ถือเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่คนในชุมชนจัดทำขึ้น หมายให้มันทำหน้าที่ปกป้อง ‘รังนก ‘ ที่มีอยู่ในทุ่งบัวแดงให้อยู่รอดปลอดภัยเพื่อจะได้ขยายเผ่าพันธุ์ต่อไป

ค้นพบแล้วปกป้อง

ราวปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 ชาวชุมชนทุ่งบัวแดงบึงละหาน บ้านโนนหัวช้าง อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ได้ทำการสำรวจนกน้ำที่พบในทุ่งบัวแดง การสำรวจครั้นนั้น ไม่เพียงพบนกน้ำมากกว่า 50 ชนิด หากยังได้พบ  ‘รังนก ‘ เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย รังนกจำนวนไม่กี่รังที่พบนั้น กลายมาเป็นแรงดาลใจสำคัญให้ชาวทุ่งบัวแดง โดยเฉพาะ พี่ติ๋ง พี่แหลม ได้ถ่อเรือออกไปค้นหารังนกอย่างต่อเนื่อง

 

บึงละหาน ผู้ชาย เรือ ปักธง

ภาพชายสองคนกับเรือสองลำที่ถ่อเรือออกไปตามจุดต่าง ๆ พร้อมจดบันทึก นับเป็นภาพชีวิตที่หลายใครไม่คุ้นเคย ความไม่คุ้นเคยในวิถีที่แปลกไป คงไม่มีถ้อยคำจะอธิบายได้ดีไปกว่าปล่อยให้กาลเวลาเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านั้น

และกาลเวลาค่อย ๆ ทำหน้าที่ของมัน กระทั่งใคร ๆ ได้เห็นว่า การลงมือทำในวิถีอันแตกต่างของชายทั้งสองจะเป็นประโยชน์กับทุ่งบัวแดงต่อไปเช่นไร

เมื่อมีนกน้ำมาอาศัยทำรัง ปลาในน้ำจะยังอยู่เย็นเป็นสุข

เมื่อในน้ำมีปลา ในป่าบัวมีรังนก คนบนฝั่งจึงพร้อมพรั่งด้วยอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยความจริงนี้ การถ่อเรือหารังนกของชายทั้งสอง จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการนำเรือออกไปหาปลาเช่นวิถีที่คนรอบบึงละหานคุ้นเคยมาเนิ่นนาน

ผู้ชาย 2 คน พายเรือ ทุ่งดอกบัว บึงน้ำ บึงละหาน ชัยภูมิ

พี่ติ๋ง พี่แหลม ไม่เพียงชำนาญพื้นที่และการบังคับเรือเท่านั้น หากทั้งสองคนยังมีสายตาคมกริบสามารถเสาะหาและมองเห็นตำแหน่งของรังนกได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ความสามารถเฉพาะตัวนี้จึงทำให้ทั้งสองคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้การสำรวจรังนกทุ่งบัวแดงบึงละหานในปี พ.ศ. 2565 พบรังนกจำนวน 46 รัง (ตามที่จดบันทึกไว้) โดยแบ่งเป็นรังนกอีแจว 23 รัง รังนกพริก 5 รัง และรังนกเป็ดผีเล็ก 18 รัง จากจำนวนรังนกที่พบถือเป็นสิ่งยืนยันได้ดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของบึงละหาน

นก ลูกนก ทุ่งบัวแดง บึงละหาน

 

แต่ขณะที่เรากำลังยินดีต่อการค้นพบนั้น ความจริงอีกด้านกลับแฝงไว้ด้วยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับรังนก ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดถึงความจริงบางอย่าง ความจริงที่ทุกชีวิตในพื้นที่ชุมน้ำบึงละหานต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ธงผืนแรกในบึงน้ำ

“เราต้องทำสัญลักษณ์อะไรสักอย่างให้เรือเขารู้ว่าบริเวณนี้มีรังนกอยู่” พี่ติ๋งเอ่ยขึ้นในบ่ายวันหนึ่งหลังจากได้เห็นซากรังนกเป็ดผีเล็กถูกทำลายอย่างย่อยยับจากใบพัดท้ายเรือหาปลา

จากความคิดเห็นหลากหลายที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ในที่สุดวงสนทนาก็สรุปว่า ‘ธง’ จะเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่งที่อยู่ของรังนกเพื่อให้เรือหาปลาขับกันอย่างระมัดระวัง เมื่อผ่านเข้ามาใกล้บริเวณดังกล่าว

เมื่อได้ข้อตกลงกันแล้ว ธงผืนแรกที่ชาวชุมชนทุ่งบัวแดงให้ชื่อไว้ว่า ‘ธงรังนก’ จึงได้เริ่มโบกสะบัดอยู่เหนือพื้นที่ชุ่มน้ำบึงละหานนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

แต่ถึงแม้ธงรังนกจะถูกปักไปเป็นที่เรียบร้อย แต่จำนวนธงก็ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำได้มากนัก หลายรังที่สำรวจพบใหม่จึงยังคงถูกทำลายทั้งจากภัยธรรมชาติและอันตรายจากเรือหาปลา การสูญเสียจึงยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ

แม้วันนี้สถานการณ์จะยังไม่เป็นเช่นที่หวัง หากในโศกนาฏกรรมก็ยังมีข่าวดีที่ช่วยให้คนทำงานได้พอชื่นใจขึ้นมาบ้าง

เพราะ ‘ธงรังนก’ เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนหาปลา และข่าวถูกกระจายออกไปยังท่าเรือต่าง ๆ รอบบึงละหานมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีกับชาวชุมชนทุ่งบัวแดงเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดแล้ว ความตั้งใจของพวกเขาก็ไม่ได้สูญเปล่าไปกับสายลมแสงแดดเหล่านั้นแต่อย่างใด

ธงรังนกเริ่มโบกสะบัด

กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 

“ถ้ามาครบแล้วก็ลงเรือกันเลยนะครับ” พี่ติ๋งบอกแก่คณะสำรวจรังนกที่มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทีมสำรวจรังนกทุ่งบัวแดงบึงละหานของปี พ.ศ. 2566 ดูแปลกตาไปกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน มีเจ้าหน้าที่จาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน นำโดยหัวหน้า อภิรัฐ ทัดกลาง หัวหน้าเขตห้ามล่าฯ เข้ามาร่วมการสำรวจด้วยตนเอง เมื่อทุกคนพร้อมเรือ 2 ลำที่มี พี่ติ๋ง พี่แหลม ทำหน้าที่เป็นผู้คัดท้ายจึงได้เวลาแล่นออกจากฝั่งอย่างช้า ๆ

ยามเช้า บัวแดงยังบานดอกงดงาม พี่ติ๋ง พี่แหลม ถ่อเรือไปตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ไม่นาน เราก็ได้พบกับไข่นกอีแจวที่วางอยู่บนกอจอก แหนเล็ก ๆ ที่ถูกนำมากองทับกันไว้ง่าย ๆ ไข่รูปทรงหยดน้ำที่มีสีคล้ายไข่พะโล้ทั้งสี่ใบนั้น ดึงดูดความสนใจของคณะสำรวจได้เป็นอย่างดี

ไข่นก นกอีแจว รังนก บนใบบัว

เราลงมือจดบันทึกรายละเอียดทั้งสีสัน จำนวนของไข่ ถ่ายภาพ และกำหนดพิกัดตำแหน่งของรังนกลงในเครื่องมือระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) จากรังแรกผ่านไปสู่รังที่ 2 3 และ 4 คณะสำรวจบันทึกข้อมูลแต่ละรังอย่างละเอียด

จากเช้าสู่บ่ายอ่อน ๆ พี่ติ๋ง พี่แหลมก็พาเรือสองลำกลับคืนฝั่ง และนั่นเป็นสัญญาณว่าการสำรวจรังนกในทุ่งบัวแดงบึงละหานครั้งแรกของปี พ.ศ.2566 เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งผลการสำรวจพบรังนกทั้งสิ้น 15 รัง แบ่งออกเป็นรังนกเป็ดผีเล็ก 8 รัง รังนกอีแจว 5 รัง และรังนกพริก 2 รัง

แม้พบรังนกจำนวนไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูผสมพันธุ์ของบรรดานกน้ำ และจากนี้เราจะยังคงลงพื้นที่ทำการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะพบรังนกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  พร้อมกับ  ธงรังนก ที่จะโบกสะบัดไปทั่วทั้งทุ่งบัวแดงบึงละหาน จ.ชัยภูมิ ด้วยเช่นกัน

ธงรังนก ตัวแทนความหวังของการอยู่รอดปลอดภัย 

จากชายสองคนที่ถ่อเรือไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อบันทึกข้อมูลรังนกไว้ด้วยความจำหรือจดลงในกระดาษ จากธงผ้าที่ผู้คนสงสัยและมักตั้งคำถามถึงความหมายของมันในวันนั้น มาถึงวันที่ความตั้งใจของคนในชุมชนทุ่งบัวแดงบึงละหานได้กลายมาเป็นคำตอบให้กับข้อสงสัยก่อนหน้านี้ เมื่อข้อข้องใจเริ่มคลี่คลาย ความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายจึงตามมา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นผลมาจากความตั้งใจของชาวชุมชนทุ่งบัวแดง

ความตั้งใจของคนที่จะดูแลสัตว์

สัตว์ที่คนได้เห็นและเข้าใจแล้วว่า หากช่วยกันรักษาลมหายใจให้เขาได้ดำรงอยู่แล้ว พวกเราเองก็จะมีชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

ชุมชนทุ่งบัวแดงจึงหวังให้ ธงรังนก เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บึงละหาน จ.ชัยภูมิ กลายเป็นบ้านอันอบอุ่นของทุกสรรพชีวิตได้อย่างแท้จริง

 

เรื่องและภาพ มนตรี คำสิงห์

ขอขอบคุณ

พี่ติ๋ง พี่แหลม และชาวชุมชนบ้านโนนหัวช้าง บึงละหาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิทุกท่าน

หัวหน้าอภิรัฐ ทัดกลาง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหานและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน


อ่านเพิ่มเติม

เฝ้ามองธรรมชาติของ นกพริก และความรักของพ่อนก ณ ทุ่งบัวแดงบึงละหาน จ.ชัยภูมิ

นกน้ำ นกพริก บึงละหาน

Recommend