อนาคตของกระซู่หลังจากสูญเสียตัวสุดท้ายในมาเลเซีย

อนาคตของกระซู่หลังจากสูญเสียตัวสุดท้ายในมาเลเซีย

กระซู่ เพศเมียตัวนี้ถูกจับมาดูแลที่เกาะบอร์เนียว อันเป็นการย้ายถิ่นเพื่อให้มันปลอดภัยจากนักล่าสัตว์ ขอบคุณภาพถ่ายโดย ARI WIBOWO, WWF-INDONESIA


ขณะนี้มีกระซู่เหลืออยู่เพียง 80 ตัวในอินโดนีเซียเท่านั้น

กระซู่หรือแรดสุมาตราได้สูญพันธุ์ไปจากมาเลเซียแล้ว หลังจากที่อีมาน กระซู่ตัวสุดท้ายของประเทศ ตายไปเนื่องจากโรคมะเร็งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ศูนย์พักพิงแรดบอร์เนียวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน ขณะมีอายุได้ 25 ปี โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาเลเซียได้สูญเสียแทม กระซู่เพศผู้ตัวสุดท้ายของประเทศไป

“อีมานได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างดีเยี่ยมหลังจากเราจับมันมาดูแลตั้งแต่ปี 2014 ไม่มีใครทำได้มากเหมือนเราแล้ว” คริสติน หลิว รัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐซาบาห์ กล่าว

ย้อนไปเมื่อปี 2008 มีการค้นพบแทมที่สวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่ง มันถูกจับและนำมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน รัฐซาบาห์ และวางแผนให้มันผสมพันธุ์กับกระซู่เพศเมียสองตัวที่ชื่อว่า ปันตุง (Puntung) ซึ่งถูกจับมาเมื่อปี 2011 และอีมาน (Iman) ที่ถูกจับเมื่อปี 2014 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

กระซู่
กระซู่ ชื่อว่า ฮาราปัน โพสท่าที่ศูนย์อนุรักษ์ไวท์โอ๊คที่มลรัฐฟลอริดา สถานที่ซึ่งมันได้อยู่อาศัยที่นั่นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์กระซู่ หรือ แรดสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

ในปี 2017 ปันตุงได้รับการการุณยฆาตเนื่องจากโรคมะเร็ง และอีมาน กระซู่เพศเมียตัวสุดท้ายในมาเลเซีย ก็เพิ่งตายไป โดยสาเหตุที่ทำให้กระซู่มีจำนวนน้อยลงเช่นนี้เนื่องจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์ มีการคาดการณ์ว่า เหลือกระซู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 80 ตัวเท่านั้น และส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างกระจัดกระจายในเกาะกาลีมันตัน ส่วนพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า พฤติกรรมการอยู่อย่างสันโดษของกระซู่เป็นสาเหตุใหญ่ของการลดจำนวนลง เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ กระซู่เพศเมียอาจเป็นซีสต์ (ถุงน้ำที่เกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆของร่างกาย) และเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์ หากไม่มีการผสมพันธุ์นานเกินไป (เช่นเดียวกับกรณีการเจริญพันธุ์ของอีมานและปันตุงเองก็ไม่สามารถตั้งท้องตัวอ่อนได้ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากกับดักของพรานจนไม่สามารถตั้งท้องในธรรมชาติได้)

กระซู่
บรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติหวังว่ากระซู่ที่อยู่ในศูนย์พักพิงกระซู่ในอินโดนีเซียจะสามารถมีลูกได้เพื่อไม่ให้สายพันธุ์ของมันต้องสูญพันธุ์ไป ในขณะมีกระซู่อาศัยในป่าอยู่เพียง 80 ตัวเท่านั้น ภาพถ่ายโดย ALAIN COMPOST

นั่นเป็นเหตุผลที่ในปี 2018 บรรดาผู้นำองค์กรไม่แสวงกำไรระดับโลก รวมถึงเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้จัดตั้งความร่วมมือที่ไม่เคยมีก่อน ชื่อว่า กู้ชีพกระซู่ (Sumatran Rhino Rescue) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตามหาและจับกระซู่ในป่าอย่างปลอดภัยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนำพวกมันมารวมกันและขยายพันธุ์ในพื้นที่ปิด

“เราจะจับกระซู่ที่ยังหลงเหลือและอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในกาลีมันตันและสุมาตรา และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มันมีลูกได้” มากาเร็ต คินแนร์ด (Margaret Kinnaird) ผู้นำด้านปฏิบัติการสัตว์ป่าขององค์กร WWF International กล่าว

(รับชมวิดีโอ กระซู่ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)

ความหวังใหม่ต่อกระซู่ที่ยังเหลือ

คินแนร์ดกล่าวว่า การสูญพันธุ์ของกระซู่ในมาเลเซียเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ค้นหาสัตว์ที่ยังเหลืออยู่ในธรรมชาติให้มากขึ้น คินแนร์ดทำงานด้านการค้นหาและดูแลกระซู่มาได้ 2 ปีแล้ว และพบข่าวดีว่า เมื่อปลายปีที่แล้วมีการพาตัวพาหุ (Pahu) กระซู่เพศเมียซึ่งจับได้จากในป่า เข้าสู่กระบวนการขยายพันธุ์ที่ศูนย์พักพิงแรดในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พาหุมีความสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างแข็งแรง มันกำลังปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่ และถ้าโชคดี มันอาจมี “คู่” มาอยู่ร่วมกัน

“การสำรวจของเราเมื่อเร็วๆนี้บ่งชี้ว่า ยังคงมีกระซู่ตัวอื่นๆใช้ชีวิตอยู่ในป่าที่กาลีมันตัน” คินแนร์ดกล่าวและเสริมว่า “มันทำให้ฉันมีความหวังอีกครั้งค่ะ”

“เราต้องมุ่งความสนใจไปที่การรักษากระซู่อีก 80 ตัวที่เหลือ โดยใช้ทั้งการปกป้องพวกมันอย่างเข้มงวด การผสมพันธุ์ในพื้นที่ปิด และการทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจว่ากระซู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางธรรมชาติ” ซูซี เอลลิส กรรมการบริหารของมูลนิธิแรดนานาชาติ (the International Rhino Foundation) กล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นการต่อสู้ที่เราจะแพ้ไม่ได้”

เรื่อง JASON BITTEL


อ่านเพิ่มเติม แรดขาวเหนือ : บทเรียนจากความตายของสัตว์ตัวสุดท้าย

Recommend