ผึ้ง : ความลับของมวลหมู่ภมร

ผึ้ง : ความลับของมวลหมู่ภมร

ผึ้ง : ความลับของมวลหมู่ภมร

การทดลองที่ช่างภาพทำกับรังผึ้งตามธรรมชาติได้ผลลัพธ์เป็นภาพถ่ายที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผึ้งป้องกันตัวเอง รักษาความอบอุ่นหรือความเย็น และอยู่กันเป็นสังคมอย่างไร

ผึ้ง เพิ่งจะสร้างรังได้ไม่ทันไร ก็ถูกโจมตีทันที

แต่ไม่ใช่จากไรวาร์รัว (Varroa destructor)  ยาฆ่าแมลง  ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย หรืออันตรายอื่นๆ อีกมากมาย ที่ประชากรผึ้งทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่จากต่อซึ่งแต่ละตัวเป็นยักษ์ตาแดงเมื่อเทียบกับผึ้งตัวเล็กจ้อยที่เนื้อตัวเต็มไปด้วยขน  การโจมตีแต่ละครั้งใช้เวลาแค่พริบตาเดียว ต่อคว้าตัวผึ้งกลางอากาศ แล้วบินจากไปพร้อมกับเหยื่อของมัน หลังจากนั้น เหยื่อจะถูกฉีกเป็นชิ้นๆ เพื่อป้อนตัวอ่อนต่อที่ตะกละตะกลาม

หากสู้กันตัวต่อตัว ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera)  ไม่อาจเทียบชั้นกับต่อพันธุ์ยุโรป (Vespa crabro)  ได้เลย ต่อซึ่งตัวยาวถึงสี่เซนติเมตร มีขากรรไกรทรงพลังที่ฉีกแมลงขนาดเล็กกว่าเป็นชิ้นๆ ได้

ตลอดสองสามวันแรกของการโจมตี ดูเหมือนผึ้งจะไม่มีหนทางรับมือการโจมตีของต่อได้เลย

“ผมคิดในใจว่า พับผ่าสิ!  ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ มีหวังต่อฆ่าผึ้งของผมทั้งฝูงแน่” ช่างภาพอินโก อาร์นดท์ เล่า  สวนของเขาในเมืองลังเงิน เยอรมนี เป็นที่อาศัยของผึ้ง

แต่ขณะที่สัปดาห์นั้นดำเนินต่อไป ผึ้งก็เริ่มตั้งตัวได้  พวกมันมารวมตัวกันใกล้ทางเข้ารัง สร้างแนวป้องกันราวผืนพรมมีชีวิต แต่ละครั้งที่ต่อบินเข้ามาใกล้เกินไป ผู้พิทักษ์รังบางตัวจะพุ่งเข้าใส่ผู้บุกรุก ในชั่วพริบตาเดียว ผึ้งจำนวนมากขึ้นก็เข้ามากลุ้มรุมและตรึงต่อให้อยู่ตรงนั้น

ภายในลูกบอลผึ้งนี้  สิ่งแปลกประหลาดยิ่งกว่ากำลังเกิดขึ้น  ผึ้งพันธุ์มีกลเม็ดที่ทำให้สามารถขยับกล้ามเนื้อสำหรับใช้บินได้เร็วมากจนส่วนอกปล่อยความร้อนปริมาณน้อยๆ ออกมาได้ เมื่อผึ้งสิบกว่าตัวหรือมากกว่านั้นขยับกล้ามเนื้อนี้พร้อมกัน กลุ่มผึ้งสามารถเพิ่มอุณหภูมิโดยรอบได้อย่างมาก

ผึ้งกำลังอบต่อทั้งเป็น

“ผมคิดว่าวิธีนี้ฉลาดมากครับ” ยือร์เกิน เทาท์ซ นักชีววิทยาซึ่งเกษียณเมื่อไม่นานมานี้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งให้น้ำหวานตลอด 25 ปีที่มหาวิทยาลัยจูเลียสมักซิมิเลียนแห่งวืร์ซบรูก เยอรมนี กล่าว

นี่เป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งของผึ้งพันธุ์ที่อาร์นทด์บันทึกรายละเอียดใหม่ๆ ได้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถึงจะถ่ายภาพสัตว์ป่ามานาน 30 ปีแล้ว  แต่เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง อาร์นทด์จึงร่วมมือกับเทาทซ์

แม้พฤติกรรมผึ้งต่อกรกับต่อจะได้รับการบันทึกในผึ้งชนิดใกล้เคียงแถบเอเชีย แต่ไม่มีใครเคยถ่ายภาพการต่อสู้กันอย่างที่อาร์นดท์ถ่ายได้ “นี่เป็นภาพถ่ายดีที่สุดของพฤติกรรมนี้ที่ผมเคยเห็นมาครับ” ทอมัส ดี. ซีลีย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ผู้ศึกษาพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผึ้งมาตลอดครึ่งศตวรรษ กล่าว

อาร์นดท์เล่าว่า หลังการต่อสู้สองสามครั้งแรก เขาเห็นผึ้งสู้กับต่อมากถึงวันละ 10 ครั้ง  ถ้าฝูงผึ้งอ่อนแอ ต่อก็ทำลายล้างผึ้งได้ แต่ในตอนนี้ การต่อสู้ในสวนของอาร์นดท์ยังคงดำเนินต่อไปเป็นสงครามอันดุเดือดระหว่างแมลงด้วยกัน

ผึ้ง
ป้องกันรังอย่างดุเดือด : เพื่อป้องกันรังจากต่อนักล่า ผึ้งเข้าประจำตำแหน่งตรงปากโพรง พวกมันชูขาหน้าขึ้นและอ้าขากรรไกรกว้าง
ผึ้ง
บนและล่าง: เมื่อต่อเข้ามาใกล้ ผึ้งก็เข้ากลุ้มรุมต่อ และทับไว้เพื่อไม่ให้ต่อหนี

ผึ้ง

ผึ้ง
จากนั้นผึ้งขยับกล้ามเนื้อสำหรับบินอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความร้อน อุณหภูมิร่างกายของต่อสูงขึ้นจนกระทั่งตายเพราะความร้อน

หลังร่วมเดินทางเข้าป่าในอุทยานแห่งชาติไฮนิชของเยอรมนีไปกับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาผึ้งในธรรมชาติ อาร์นดท์ก็ติดใจ  แต่เขาตระหนักดีว่าไม่อาจไขความลับของผึ้งได้แน่ๆ จากการสังเกตผึ้งในกล่องเทียมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเก็บน้ำผึ้ง  สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คือ การถ่ายภาพรังตามธรรมชาติ

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย  แม้คุณจะสวมชุดเลี้ยงผึ้ง แล้วปีนขึ้นไป 20 เมตรบนเรือนยอดของป่าซึ่งผึ้งชอบทำรัง ดังเช่นที่อาร์นดท์ทำเมื่อปี 2018 “สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดเกิดขึ้นในต้นไม้ครับ” เขาบอก

ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 อาร์นดท์ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเยอรมนีให้เข้าไปในป่าท้องถิ่น แล้วนำต้นบีชล้มซึ่งภายในมีโพรงที่นกหัวขวานสีดำทิ้งแล้วอยู่ นี่คือบ้านชั้นเลิศของผึ้งพันธุ์ เขาตัดลำต้นออกมาท่อนหนึ่ง แล้วจัดส่งมายังสวนของเขา

อาร์นดท์เริ่มงานด้วยการสร้างบังไพรโดยนำไม้อัดมาประกบกันสี่ด้าน แล้ววางชิดท่อนไม้หนัก 100 กิโลกรัม พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างและหน้าต่างขนาดจิ๋วไว้สำหรับให้เขาสอดเลนส์มาโครลอดด้านหลังโพรง  จากนั้น เขานำราชินีจากรังผึ้งพันธุ์ในบริเวณใกล้เคียงมาใส่ในโพรงนกหัวขวาน  แล้วรออยู่ในบังไพร นิ้วเตรียมกดชัตเตอร์

เวลาผ่านไปครู่เดียว หน่วยลาดตระเวนจากรังเดิมของราชินีลงเกาะตรงขอบโพรงนกหัวขวาน  มีผึ้งมาเกาะมากขึ้นเรื่อยๆ จนท่อนไม้อื้ออึงไปด้วยเสียงหึ่งของแมลงซึ่งอยู่เป็นสังคมตามธรรมชาตินับหมื่นตัว  ไม่นานทั้งรังก็ย้ายเข้ามาอยู่ในโพรงนกหัวขวาน

ตลอดหกเดือน อาร์นดท์ถ่ายภาพมากกว่า 60,000 ภาพ สร้างสรรค์ภาพผึ้งในธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เวลาหลายร้อยชั่วโมงในบังไพรให้ผลตอบแทนคุ้มค่า  เมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น อาร์นดท์เฝ้าสังเกตขณะผึ้งเทียวไปเทียวมายังแหล่งน้ำที่เขาจัดไว้ให้ในบริเวณใกล้เคียง ที่ซึ่งผึ้งจะดูดน้ำด้วยลิ้นลักษณะคล้ายหลอด จากนั้นบินกลับไปยังรัง  ภายในรัง มันส่งน้ำต่อไปยังผึ้งอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า หน่วยกระจายน้ำ ซึ่งมีหน้าที่สำรอกน้ำลงบนรวง  เมื่อน้ำระเหยจะทำให้รังเย็น  กระบวนการนี้สามารถเร่งให้เกิดเร็วขึ้นได้โดยผึ้งตัวอื่นกระพือปีกเพิ่มกระแสอากาศให้น้ำระเหยเร็วขึ้น

เมื่ออุณหภูมิภายนอกลดลง ผึ้งจะคล้องขากันเป็นผ้านวมมีชีวิตคลุมผิวรวงไว้ เทาทซ์เปรียบโครงสร้างนี้กับถุงนอน แต่เป็นถุงนอนที่เนื้อผ้าซึ่งทำด้วยผึ้งเกี่ยวประสานกัน สามารถคลายตัวหรือสานกันแน่นเพื่อปรับอุณหภูมิ

ผึ้ง
ผึ้งพันธุ์ที่เมืองลังเงิน เยอรมนี ดื่มน้ำด้วยลิ้นลักษณะคล้ายหลอดเพื่อนำกลับไปยังรัง ผึ้งใช้น้ำควบคุมสภาพอากาศภายในรัง
ผึ้ง
ผึ้งมาถึงรังในโพรงไม้ที่นกหัวขวานสีดำสร้างและทิ้งไปนานแล้ว

ในบางกรณี อาร์นดท์และเทาทซ์สามารถอธิบายพฤติกรรมที่ผู้เลี้ยงผึ้งฉงนกันมานาน  ความลี้ลับหนึ่งคือ เพราะเหตุใดผึ้งจึงแทะไม้กล่องรังอย่างไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อันใด  พวกเขาพบว่า ภายในต้นไม้พฤติกรรมนี้สมเหตุสมผลมากกว่า

“ผึ้งขูดขุยที่หลุดร่อนจากภายในผิวโพรงครับ” เทาทซ์กล่าว

เป็นไปได้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่เพียงกำจัดจุลชีพที่อาจก่อโรค เช่น เชื้อรา แต่ยังทำให้พื้นผิวเรียบเพื่อผึ้งตัวอื่นจะได้ทาสารเคลือบไม้ที่เรียกว่าพรอโพลิส (propolis)

“พรอโพลิสเป็นสารที่ต้นอ่อนของต้นไม้ในฤดูใบไม้ผลิหลั่งออกมา” เทาทซ์บอกและเสริมว่า “มันเหนียวมากครับ แต่ผึ้งก็เก็บรวบรวมมาเพราะมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย  สารนี้เป็นส่วนหนึ่งของร้านขายยาของป่า”

ผึ้ง
ผึ้งงานสร้างรวงใหม่จากขี้ผึ้ง ขณะที่ตัวอื่นๆ บินเข้าโพรงนกหัวขวานโดยนำเรณูและน้ำต้อยมาด้วย ผึ้งต่างจากมดซึ่งแต่ละตัวมีบทบาทหน้าที่เฉพาะ ผึ้งงานทุกตัวสามารถทำงานทุกอย่างที่จำเป็นในการบำรุงรักษารัง

พฤติกรรมอีกหลายอย่างก็บันทึกภาพได้เป็นครั้งแรก เช่น เมื่ออาร์นดท์ถ่ายภาพผึ้งเปิดต่อมปล่อยฟีโรโมนกลางอากาศ

“ไม่มีใครเคยเก็บภาพพฤติกรรมนั้นมาก่อนครับ” ซีลีย์กล่าว เขาหวังว่า ภาพถ่ายระยะใกล้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้คนมองเห็นความงามของผึ้งในธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ถูกซุกซ่อนไว้

เรามักคุ้นเคยกับการเห็นผึ้งหรือนึกถึงผึ้งที่อาศัยอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวครับ” ซีลีย์กล่าว “แต่นั่นคือวิถีที่ผึ้งใช้ชีวิตเพื่อผู้เลี้ยงผึ้ง  แต่ไม่ใช่วิถีทางที่พวกมันอยู่กันมาตลอดหลายล้านปีด้วยตัวเอง”

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2563


สารคดีแนะนำ

แมลงหายไปไหนกันหมด

Recommend