ค้นพบ กะท่าง ชนิดใหม่ล่าสุดของโลก ที่จังหวัดน่าน

ค้นพบ กะท่าง ชนิดใหม่ล่าสุดของโลก ที่จังหวัดน่าน

ในอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ตั้งแต่ฟองน้ำจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง มีสัตว์อยู่จำนวนมากกว่าหนึ่งล้านชนิดที่มีการค้นพบแล้วในโลกนี้ สมาชิกของสัตว์ในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหมาะสมกับพื้นที่อาศัยนั้นๆ

สัตว์กลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) เป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามระยะการเจริญเติบโต หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างก่อนกลายเป็นตัวเต็มวัย หรือ Metamorphosis เช่น ตัวอ่อนของกบและคางคกที่เรียกว่า ลูกอ๊อด อาศัยอยู่ในน้ำ และหายใจด้วยเหงือก ก่อนจะเปลี่ยนรูปร่าง และกลายมาเป็นกบหรือคางคกตัวเต็มวัย ที่อาศัยอยู่บนบก และหายใจด้วยปอดและผิวหนัง

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 3 อันดับ (order) คืออันดับเขียดงู อันดับกบและคางคก และอันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์ สัตว์ในอันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์นั้นแบ่งรูปร่างได้ 2 แบบคือ ซาลาแมนเดอร์ (salamander) มีผิวหนังเรียบลื่นและมีร่องอยู่ระหว่างขาหน้าและขาหลัง และนิวท์ (newt) มีผิวหนังขรุขระและไม่มีร่องอยู่ระหว่างขาหน้าและขาหลัง เช่น กะท่างน้ำที่พบในประเทศไทย

กะท่าง, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์หายาก, สัตว์ป่า
กะท่างน้ำดอยลังกา T. anguliceps

กะท่างน้ำมีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานอย่างจิ้งจกหรือกิ้งก่า ทำให้มักถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งความเข้าใจผิดนี้เองนำไปสู่การมีชื่อที่หลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น เช่น กะท่างน้ำ (กะท่าง ภาษาอีสานแปลว่ากิ้งก่า) จระเข้น้ำ จิ้งจกน้ำ และจั๊กกิ้มน้ำ (จั๊กกิ้มภาษาเหนือแปลว่าจิ้งจก) เป็นต้น

ลักษณะของกะท่างโดยทั่วไปมีขา 4 ขาที่ยาวใกล้เคียงกัน ลำตัวเรียวยาว มีหางยาว มีสันที่หัวทั้ง 2 ข้าง มีสันแข็งเป็นแนวยาวผ่านกึ่งกลางของลำตัวไปจนถึงปลายหาง และมีตุ่มขนาดใหญ่หลายตุ่มเรียงเป็นแนวยาว 2 แนวทั้งด้านซ้ายและขวาของลำตัว มีสีสันต่างๆ กันตั้งแต่สีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีส้ม

กะท่าง, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์หายาก, สัตว์ป่า
กะท่างหรือกะทั่ง T. verrucosus

กะท่างน้ำตัวเต็มวัย (adult) อาศัยอยู่บนบกที่มีความชุ่มชื้นและจะเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งน้ำ เช่น แอ่งน้ำขังหรือหนองน้ำที่มักไม่มีปลาอาศัย และมีพืชน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป รวมถึงมีเศษอินทรียวัตถุต่างๆ กะท่างมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นน้ำเพื่อซ่อนตัวจากผู้ล่า การจับคู่ผสมพันธุ์เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกายของเพศเมีย ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม

จากนั้นกะท่างน้ำเพศเมียจะวางไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ (fertilized eggs) ที่มีลักษณะกลม ใส คล้ายวุ้น ติดอยู่กับพืชน้ำ ก้อนหิน หรือบนพื้นดินใกล้กับแหล่งน้ำ

ตัวอ่อน (larvae) ที่ออกจากไข่จะอาศัยในน้ำและหายใจด้วยเหงือกที่เป็นพู่ 3 คู่ยื่นออกมาจากหัวและเหงือกนี้จะค่อยๆ ลดรูปไปเมื่อตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเด็ก (juvenile) ที่จะขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกตามที่ชุ่มชื้น เช่น ใต้ขอนไม้ ใต้โขดหิน ใต้ใบไม้ที่ทับถมกัน หรือในโพรง และเมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะกลับไปยังแหล่งน้ำเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ต่อไป และพื้นที่ที่พบกะท่างน้ำนั้นจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป

กะท่าง, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์หายาก, สัตว์ป่า
กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอูเอโนะ T. uyenoi

ปัจจุบัน กะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยมีรายงาน 5 ชนิด ดังนี้ กะท่างหรือกะทั่ง (Tylototriton verrucosus) กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอูเอโนะ (T. uyenoi), กะท่างน้ำดอยลังกา (T. anguliceps), กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา (T. panhai) และกะท่างน้ำดอยภูคา (T. phukhaensis) ทั้ง 5 ชนิดนี้มีข้อมูลทางพันธุกรรม รวมถึงมีลักษณะสัณฐานและมีขอบเขตการกระจายตัวที่แตกต่างกันด้วย ดังนี้

  • กะท่างหรือกะทั่งมีสันนูนข้างหัวแคบ มีสันกลางหลัง (vertebral ridge) แคบ และแบ่งเป็นท่อน (segmented) พบการกระจายตัวที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย
  • กะท่างน้ำเหนือมีปลายหัวทู่ สันนูนข้างหัวกว้าง มีสันกลางหลังกว้างและแบ่งเป็นท่อน มีรายงานการกระจายตัวบนเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออกที่ดอยสุเทพ-ปุย และดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และบนเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตกที่น้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • กะท่างน้ำดอยลังกามีสันนูนข้างหัวแคบและสันนูนส่วนปลายโค้งเข้าหาแนวกลางตัว มีสันนูนกลางหัวขนาดใหญ่ พบที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ จังหวัดเชียงราย
  • กะท่างน้ำอีสานมีขาสีน้ำตาลเข้มยกเว้นปลายนิ้วมีสีส้มถึงเหลืองมีการกระจายตัวบนเทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย
  • กะท่างน้ำดอยภูคามีสันกลางหัวยาวและมีสันคล้ายอักษรตัววี “V” บนหัว พบเฉพาะที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน นับเป็นกะท่างน้ำชนิดล่าสุดของโลก
กะท่าง, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์หายาก, สัตว์ป่า
กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา T. panhai

เรื่องราวการค้นพบ กะท่าง ชนิดใหม่ของโลก

ทีมวิจัยนำโดยอาจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะทำงานได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ นางสาวภาราดา พีรชัยเดโช อาจารย์และนิสิตจากภาควิชาเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ จากมหาวิทยาลัยพะเยา มีผู้สนับสนุน คือ นาย Axel Hernandez นักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส นางสาว Yasuho Onishi และ Dr. Kanto Nishikawa จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนการสำรวจโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน วางแผนเข้าสำรวจกะท่างน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน โดยมี ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ยืนยันว่าเคยพบเห็นกะท่างน้ำในนิตยสารบางฉบับมากว่า 20 ปีแล้ว

นำไปสู่คำถามที่ว่า กะท่างน้ำนั้นยังมีอยู่หรือไม่ (ถ้ามี) เป็นชนิดอะไร โดยได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และได้รับความอนุเคราะห์จากนายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และมีนายพศิน อิ่นแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทางไปยังดอยดงหญ้าหวายที่สูงชัน ผ่านป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูฝน เพื่อตามหาแหล่งน้ำจับคู่ผสมพันธุ์ของกะท่างน้ำ (breeding site) จนพบแอ่งน้ำขนาดประมาณ 200 ตารางเมตรในหุบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,795 เมตร

ในแอ่งน้ำน้ำมีหญ้าขึ้นปกคลุม มีระดับน้ำสูงประมาณครึ่งแข้ง มีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่กลางแอ่งน้ำมีไข่ของกะท่างน้ำติดอยู่กับก้อนหิน ไม่พบปลาในแอ่งน้ำ และพบกะท่างน้ำตัวเต็มวัยทั้งเพศเมียและเพศผู้มากกว่า 50 ตัว

เมื่อ อ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ พบเห็นแล้วสังเกตได้ว่ากะท่างน้ำที่พบมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะมีสันกระดูกกลางหัวเรียวยาวและมีสันคล้ายอักษร “V” บนหัวอีกด้วย จึงทำการเก็บข้อมูลทางกายภาพและชีวภาพของแหล่งน้ำเพิ่มเติม และนำกะท่างน้ำมาทำการศึกษาสัณฐานอย่างละเอียดและศึกษาข้อมูลพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการพบว่า เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 5 ของประเทศไทย พร้อมตั้งชื่อว่า “กะท่างน้ำดอยภูคา” เพื่อเป็นเกียรติแก่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tylototriton phukhaensis โดยบรรยายชนิดพันธุ์ใหม่ในวารสาร Tropical Natural History เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020

กะท่าง, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์หายาก, สัตว์ป่า
กะท่างน้ำดอยภูคา T. phukhaensis

จุดเริ่มต้นของการศึกษากะท่างน้ำของ อ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ เริ่มต้นจากการเป็นนิสิตปริญญาตรีภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการการเรียนการสอนเพื่อเสริมประสบการณ์ (senior project) ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ เริ่มต้นจากคำถามว่า ทำไมกะท่างน้ำชนิด T. verrucosus เป็นกะท่างน้ำชนิดเดียวที่มีรายงานในประเทศไทย ณ ขณะนั้น มีสีและการกระจายตัวที่แตกต่างกัน ได้แก่ แบบสีส้มการกระจายตัวอยู่ทางเหนือ (ปัจจุบันคือชนิดกะท่างน้ำเหนือ) และแบบสีคล้ำกระจายตัวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ปัจจุบันคือชนิดกะท่างน้ำอีสาน) ทำไมยังถูกจัดรวมเป็นชนิด T. verrucosus อยู่ จากจุดเริ่มต้นนั้นนำมาสู่การค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กะท่างน้ำในประเทศไทยรวมปัจจุบัน 5 ชนิด

ลักษณะพื้นที่โดยรอบแอ่งน้ำที่พบกะท่างน้ำดอยภูคา

ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกของประเทศไทย มีกะท่างน้ำเพียงชนิดเดียวที่ถูกคุ้มครองคือกะท่างหรือกะทั่ง (T. verrucosus) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัย การทำลายแหล่งน้ำที่ใช้จับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ โดยการปล่อยปลาลงไปหรือปล่อยให้ปศุสัตว์ลงไปใช้ประโยชน์ การจับกะท่างน้ำจากธรรมชาติเพื่อการค้า การนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาพื้นบ้าน รวมทั้งความเชื่อผิด ๆ ของชาวบ้านบางพื้นที่ที่เชื่อว่ากะท่างน้ำเป็นสัตว์ที่มีอันตรายและควรกำจัดเมื่อพบเห็น

ในท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของกะท่างน้ำซึ่งจะนำไปสู่การเสียสมดุลในธรรมชาติ เสียโอกาสในการนำสารในเมือกหรือพิษของกะท่างน้ำ ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งหรือต่อต้านการเจริญของจุลชีพและเชื้อโรคต่างๆ มาใช้เป็นยารักษาโรคในมนุษย์

อ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ
อ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดแคลนความรู้และข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งจำนวนชนิด การกระจายตัว และข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีกะท่างน้ำชนิดใหม่ๆ ที่รอการค้นพบอยู่อีก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย รวมถึงเพื่อการวางแผนอนุรักษ์สายพันธุ์กะท่างน้ำในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

เรื่องและภาพถ่าย ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การค้นพบจิ้งจกนิ้วยาว จิ้งจกชนิดใหม่ของโลกที่ลานสกา

Recommend