มีสัตว์หลายชนิดที่แกล้งตาย และไม่ใช่เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงผู้ล่า

มีสัตว์หลายชนิดที่แกล้งตาย และไม่ใช่เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงผู้ล่า

งู สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นก และสัตว์ต่างๆ วิวัฒน์ พฤติกรรมแกล้งตาย ขึ้นมาด้วยหลากหลายเหตุผล

ในบรรดาวิธีการที่สัตว์ต่างๆ วิวัฒนาการเพื่อหลีกหนีผู้ล่า พฤติกรรมแกล้งตาย อาจเป็นหนึ่งวิธีที่สร้างสรรค์มากที่สุด และเสี่ยงอันตรายมากที่สุดเช่นกัน ในวงการวิทยาศาสตร์ คำว่า แธนาโทซิส (Thanatosis) หรือภาวะอัมพาตชั่วคราว หรือการแกล้งตาย สามารถพบได้ทั่วไปในอาณาจักรสัตว์ ตั้งแต่นกไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงปลา นักแกล้งตายที่โด่งดังที่สุดอาจจะเป็นโอพอสซัมเวอร์จิเนียที่พบได้ในแถบอเมริกาเหนือ โดยมันจะเปิดปาก แลบลิ้นออกมา ขับถ่ายมูล และปล่อยของเหลวที่มีกลิ่นเน่าเสีย เพื่อโน้มน้าวผู้ล่าว่า ร่างกายของมันเน่าเสียเกินกว่าที่จะกินได้แล้ว

หนูตะเภาและกระต่ายหลายสายพันธุ์มีพฤติกรรมแกล้งตาย เช่นเดียวกับงูหลากหลายชนิด เช่น งูเท็กซัสสีคราม กลุ่มสัตว์ปีกที่เป็นนักต้มตุ๋นประกอบด้วย นกกระทาญี่ปุ่น ไก่บ้าน และเป็ดป่า ฉลามบางชนิดถึงขั้นแกล้งหงายท้อง โดยมันจะงอหลังของมัน และคงสภาพนั้นไว้ชั่วขณะหนึ่ง ฉลามมะนาว (Lemon shark) จะแสดงการว่ายน้ำอย่างติดขัด หายใจลำบาก และแสดงการสั่นกลัวในบางเวลา

พฤติกรรมแกล้งตาย, สัตว์แกล้งตาย, แกล้งตาย, พฤติกรรมสัตว์
โอพอสสัมแกล้งตายเมื่อรู้ตัวว่าผู้ล่ากำลังเข้ามาจู่โจม

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลากหลายสายพันธุ์มีพฤติกรรมอาการอัมพาตชั่วคราว ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับพวกมัน หรืออย่างน้อยทำให้พวกมันเป็นสายพันธุ์ที่ถูกศึกษามากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจอนักล่า ตั๊กแตนแคระญี่ปุ่นจะแกล้งตายด้วยการเหยียดขาออกไปในหลายๆ ทิศทาง จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พวกกบจะกลืนพวกมันได้

โดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจแน่ชัดถึงพฤติกรรมที่น่าสนใจเหล่านี้ โรซาลินด์ ฮัมฟรีย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ในสหราชอาณาจักร กล่าวในอีเมล มันยากที่จะไปเก็บข้อมูลในป่า และยังมีความกังวลทางจริยธรรมเกี่ยวกับการสร้างการทดลองที่ให้ผู้ล่าจู่โจมเหยื่อ เธอกล่าว เหล่านี้คือข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ทราบแล้ว

“โอกาสสุดท้าย”

แมลงหลากชนิดแกล้งตายหลังจากที่ถูกผู้ล่าจับได้ เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า อัมพาตหลังการปะทะ เข่น ตัวอ่อนของแมลงช้างยุโรป (Euroleon nostras) – แมลงมีปีกที่เป็นผู้ล่าที่น่าเกรงขาม สามารถแกล้งตายได้นานถึง 61 นาทีอย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะที่ ชาร์ล ดาร์วิน กลับประหลาดใจที่บันทึกได้ว่า ด้วงสามารถแกล้งตายได้ถึง 23 นาที

เรื่องราวประมาณว่า : นักล่า เช่น นกกระจอก สังเกตเห็นกลุ่มของตัวอ่อนของแมลงช้าง และบินถลาลงไปเพื่อจับพวกมัน ในบางครั้ง นกกระจอกทำตัวอ่อนร่วงจากปาก สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ตัวอ่อนตัวนั้นก็แกล้งตาย

มันเป็นโอกาสสุดท้ายของชีวิตคุณ” แอนา เซนโดวา-แฟรงก์ นักวิจัยรับเชิญของมหาวิทยาลัยบริสทอลแห่งสหราชอาณาจักร และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยพฤติกรรมการแกล้งตายในวารสาร Biology Letters เดือนมีนาคม 2021 กล่าว

พฤติกรรมแกล้งตาย, สัตว์แกล้งตาย, แกล้งตาย, พฤติกรรมสัตว์
ตั๊กแตนตำข้าวตัวผู้จะมีอาการเป็นอัมพฤกษ์ชั่วคราวหลังจากผสมพันธุ์เสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเมียกัดกินตัวของมัน

อาการอัมพาตหลังการปะทะแตกต่างจากวิธีหยุดนิ่งภายใต้การควบคุมของจิตใจ “เหมือนเวลาโจรบุกขึ้นบ้านคุณ และคุณหยุดอยู่นิ่งๆ เพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกพบเห็น” เซนโดวา-แฟรงก์ กล่าวและอธิบายเสริมว่า แต่มันคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่อยู่นอกเหนืออำนาจของจิตใจ เช่น อัตราการเต้นหัวใจเต้นช้าลง

การแกล้งตายเพื่อการหาอาหารและการผสมพันธุ์

ในขณะที่สิ่งมีชีวิตมากมายแกล้งตายเพื่อหลีกหนีความตาย สิ่งมีชีวิตบางชนิดได้ค้นพบการใช้เทคนิคนี้เพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น ในแมงมุมเนิร์สซารีมีพฤติกรรมที่ตัวเมียมักจะกินตัวผู้ เพื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะสะสมอาหาร โดยยึดติดตัวของมันเองเข้ากับอาหารเหล่านั้น จากนั้นมันจะแกล้งตาย เมื่อตัวเมียลากอาหารที่มียตัวผู้ติดอยู่ไปมา และเริ่มกินอาหาร ตัวผู้ที่ติดอยู่ในอาหารจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และพยายามจะผสมพันธุ์กับตัวเมีย และบางครั้งพวกมันก็ประสบความสำเร็จ ไทร์น บิลเดอะห์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก กล่าว

การแกล้งตายดูเหมือนจะเป็นความพยายามผสมพันธุ์ของตัวผู้ เป็นพฤติกรรมเพิ่มเติมหรือแทนที่จะ เป็นกลยุทธ์ตอบโต้การถูกล่า” เธอเขียนในอีเมล “บางทีมันสามารถเป็นได้ทั้งสองบทบาท

ในทางตรงกันข้าม แมลงปอหาบเร่ทุ่งหญ้า (moorland hawker dragonfly) ตัวเมีย พยายามอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ มันจะหยุดบินและดิ่งกระแทกลงพื้นเพื่อหลีกหนีตัวผู้ที่ดุดัน ซึ่งสามารถทำร้ายมันได้

ปลาหมอสีในทวีปอเมริกากลางจะแกล้งตายอยู่บนพื้นผิวใต้ทะเลสาบเพื่อที่จะล่อลวงปลาและเหยื่อชนิดอื่น เมื่อปลาตัวอื่นว่ายเข้ามาเพื่อหวังกัดกินร่างของมัน ปลาหมอสีจะตื่นขึ้นและจู่โจม ในทำนองเดียวกัน ปลาเก๋าในประเทศบราซิลก็มีการแกล้งตายเพื่อล่อเหยื่อที่เป็นปลาวัยเยาว์

การป้องกันที่แปลกแต่ประสบความสำเร็จ

อาการอัมพาตชั่วคราวสามารถมองได้ว่าเป็น “พฤติกรรมที่แปลกสำหรับการพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อป้องกันตัวเอง หากเราคิดว่าเหยื่อพยายามดิ้นรนและหลบหนีเมื่อถูกจับ” ฮัมฟรีย์กล่าวและเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม มันมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้อาการอัมพาตชั่วคราวอาจประสบความสำเร็จในการลดความน่าจะเป็นของการจู่โจมครั้งต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น ในการทดลองกับแมลงช้างของชาวอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตัวอ่อนที่แกล้งตายนานกว่าตัวอื่นจะมีโอกาสที่จะถูกกินโดยผู้ล่าน้อยกว่า ซึ่งผู้ล่าอาจถูกหลอกหรือถูกทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนจาากการตอบสนองของตัวอ่อน

เป็ด และสัตว์ปีกบางชนิด มักแกล้งตาย เพื่อหลีกเลี้ยงการถูกล่า

ในการทดลองเมื่อปี 1975 นักวิทยาศาสตร์เฝ้าดูสุนัขจิ้งจอกแดงในกรงเลี้ยง ล่าเป็ด 5 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เป็ดส่วนใหญ่ทำการแกล้งตายทันทีเมื่อถูกสุนัขจิ้งจอกจับ จากนั้นสุนัขจิ้งจอกจะนำร่างของเป็ดกลับรังเพื่อเป็นอาหารต่อไป สุนัขจิ้งจอกที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าต้องฆ่าเป็ด หรือทำให้มันพิการทันที แต่สุนัขจิ้งจอกที่ขาดประสบการณ์จะปล่อยเป็ดที่คิดว่าตายแล้วไว้บางครั้ง ทำให้เหยื่อของพวกมันหนีไปได้

นี่คือเหตุผลว่าทำไม เซนโดว่า-แฟรงค์ เรียกพฤติกรรมนี้ว่า “โอกาสสุดท้าย

การขยับตัวอาจเป็นการการันตีความตาย แต่การแกล้งตายจะทำให้มีโอกาสรอด ไม่ว่าจะน้อยเพียงใดก็ตาม

เรื่อง: คริสทีน พีเตอร์สัน
แปลและเรียบเรียง: จอมพล ละมูนกิจ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กุ้งเดินพาเหรด เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง

Recommend