กบแก้ว ตัวใสแห่งอเมริกากลาง

กบแก้ว ตัวใสแห่งอเมริกากลาง

กบแก้ว สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกโปร่งแสงตัวจิ๋วแห่งทวีปอเมริกากลางและใต้มีแต่เรื่องให้ประหลาดใจ

คืนไร้แสงจันทร์ในฤดูร้อนคืนหนึ่งบริเวณเชิงเทือกเขาแอนดีสในเอกวาดอร์ กบแก้ว หนุ่มโสดเกาะบนใบไม้ที่ห้อย อยู่เหนือลำธารสายหนึ่ง มันเลือกทำเลดีที่สุดเพื่อพยายามทำให้กบสาวประทับใจ พลางร้องเสียงสูงป่าวประกาศตำแหน่งของมัน

ปัญหาคือ ทำเลดีอย่างเดียวยังไม่พอ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสีเขียวออกเหลืองตัวนี้เคยจับตามองสิ่งที่กบเพศผู้ที่ผ่านการผสมพันธุ์มาก่อนแล้วทำ ดังนั้นเมื่อมันพบกลุ่มไข่ที่ถูกทอดทิ้ง มันจึงอยู่ใกล้ๆกลุ่มไข่นั้นนานหลายชั่วโมง ทำทีว่ากำลังปกป้องไข่ จากนั้นสิ่งน่าทึ่งก็เกิดขึ้น กบเพศเมียที่แอบมองอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกหลอกให้คิดว่า กบหนุ่มเป็นพ่อกบที่มีประสบการณ์ เริ่มสนใจมัน

กบแก้ว, กบแก้วพระอาทิตย์
ไข่ของกบแก้วพระอาทิตย์ (Hyalinobatrachium aureoguttatum) มองเห็นผ่านท้องของกบเพศเมีย ภาพนี้ถ่ายในสตูดิโอเคลื่อนที่

“นี่เป็นครั้งแรกที่เรารายงานพฤติกรรมนี้ในกบและคางคกค่ะ” อันเยเลต วาเลนเซีย-อากีลาร์ นักนิเวศวิทยา เชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าว เธอบันทึกพฤติกรรมที่ดูเหมือนเป็นการหลอกลวงของเพศผู้ในกบแก้วชนิดหนึ่งในบราซิล และเชื่อว่ากบแก้วอย่างน้อยสองชนิดในเอกวาดอร์ก็อาจมีพฤติกรรมเดียวกัน

งานวิจัยของวาเลนเซีย-อากีลาร์เป็นหนึ่งในการค้นพบใหม่หลายประการเกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสวยงามซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามผิวหนังโปร่งแสง

ทั่วเขตนีโอทรอปิกส์มีกบแก้วที่ทราบชนิดแล้ว 156 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขา แอนดีสและทวีปอเมริกากลาง ความก้าวหน้าเมื่อไม่นานมานี้ในด้านทัศนศาสตร์ พันธุศาสตร์ และชีววิทยาโมเลกุล ช่วยให้นักวิจัยศึกษาชีวิตสัตว์ตัวจิ๋วที่อาศัยบนต้นไม้เหล่านี้ ซึ่งบางชนิดมีขนาดเล็กกว่าลวดหนีบกระดาษเสียอีก

กบแก้ว, กบแก้วมันดูเรียกู
กบแก้วมันดูเรียกู (Nymphargus manduriacu) เพิ่งได้รับการบรรยายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ของชนิด เมื่อไม่กี่ปีก่อน กบลายจุดสีเหลืองที่หายากชนิดนี้เป็นสัตว์นักล่าที่ฉวยโอกาส โดยมันจะรอจนเหยื่อซึ่งได้แก่แมลง ขนาดเล็กหรือแมงมุม เดินผ่านมา จากนั้นก็กระโดดออกไปจับ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฆวน มานูเอล กัวยาซามิน นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซานฟรันซิสโกเดกีโต ประเทศเอกวาดอร์ บรรยายลักษณะชนิดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 56 ชนิด รวมถึงกบแก้ว 14 ชนิด “เป็นงานสำคัญที่ไม่รู้จบครับ” เขาบอกและเสริมว่า “สิ่งมหัศจรรย์ขนาดจิ๋วเหล่านี้ทำให้เราประหลาดใจอยู่เรื่อยๆ”

ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ในกบแก้วบางชนิด เพศผู้เป็นพ่อชั้นยอด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่หายาก ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง เพศผู้อย่างน้อย 24 ชนิดไม่เพียงปกป้องไข่จากสัตว์นักล่า แต่ยังดูแลไข่อย่างแข็งขัน บางครั้งเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์
หลังจากกบเพศเมียวางไข่ครอกละ 20 ถึงกว่า 100 ฟองขึ้นอยู่กับชนิด กบเพศผู้ผสมไข่ด้วยสเปิร์ม ขณะที่เอ็มบริโอพัฒนา เพศผู้บางชนิด เช่น กบแก้วพระอาทิตย์ (Hyalinobatrachium aureoguttatum) และกบแก้วถิ่นเหนือ (Hyalinobatrachium fleischmanni) นั่งกกกลุ่มไข่ “เหมือนไก่” เพื่อให้ไข่ชุ่มชื้นอยู่เสมอจนกระทั่งฟักเป็นลูกอ๊อด เจสซี ดีเลีย นักชีววิทยาประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในนิวยอร์กซิตี เล่า

กบแก้ว, กบยักษ์
กบแก้วยักษ์มักดาเลนา (Ikakogi tayrona) เพศเมียกกไข่ในภูมิภาคเซียร์ราเนวาดาเดซานตามาร์ตา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโคลอมเบีย กบที่ยาว 2.5 เซนติเมตรชนิดนี้ผิดจากกบทั่วไปตรงที่แม่กบดูแลเอ็มบริโอ

ดีเลียกล่าวว่า เมื่อประมาณ 25 ล้านถึง 35 ล้านปีก่อน ตอนที่กบแก้วชนิดแรกๆวิวัฒน์ขึ้น แม่กบน่าจะทำหน้าที่เลี้ยงลูกทั้งหมด จากนั้นเมื่อประมาณแปดล้านถึง 25 ล้านปีก่อน เพศผู้บางตัวยึดเอางานเลี้ยงลูกมาทำเอง แต่เพราะเหตุใดยังเป็นความลึกลับ
“ทุกครั้งที่เปลี่ยนมาให้พ่อทำหน้าที่นี้ การดูแลลูกใช้เวลานานขึ้นและมีพฤติกรรมหลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับเพศเมีย ซึ่งละทิ้งไข่ก่อนจะฟักเป็นตัว” เขาบอก อาจเป็นเพราะเพศเมียมุ่งแต่การสร้างไข่ครอกต่อไป

ขณะเดียวกัน งานวิจัยชิ้นใหม่กำลังเผยว่า ท้องใสแจ๋วอันโด่งดังของกบแก้วเกิดขึ้นได้อย่างไร การ์โลส ตาโบอาดา นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดุ๊กในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งทำงานกับดีเลีย สงสัยว่ากบแก้ววัยอ่อนปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภายในเซลล์และเนื้อเยื่อขึ้นใหม่เพื่อเติบโตเป็นกบตัวเต็มวัยที่มีร่างกายโปร่งใส

กบแก้ว
กบแก้วที่ค้นพบใหม่ในสกุล Hyalinobatrachium ชนิดนี้ วัดความยาวได้ไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดนี้มีเอกลักษณ์คือเสียงร้องที่สูงและร่างกายมีจุดสีดำปกคลุม ซึ่งอาจทำหน้าที่พรางตัวในสภาพแวดล้อม แบบป่าดิบชื้น

“ไม่ใช่แค่ผิวหนังและการไม่มีสารสีเท่านั้นครับ คุณต้องมีกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในโปร่งใสที่กระจายแสงออกไปให้องศาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ตาโบอาดากล่าว ของเหลวระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อยังอาจมีสารที่ช่วยให้แสงเดินทางเป็นวิถีตรง เป็นการลดความทึบแสง เขาบอก

ตาโบอาดากำลังศึกษากลไกอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้กบแก้วกลมกลืนไปกับใบไม้สีเขียวซึ่งมันเกาะนอนหลับในช่วงกลางวัน
เขาเรียกกลไกนี้ว่า “กระจกชีวภาพ เป็นผลึกชนิดหนึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังหรือสิ่งปกคลุมในเนื้อเยื่อจำนวนมากของกบ ซึ่งสะท้อนแสงที่มาถึงผลึกตามปกติได้มากถึงร้อยละ 50 ผลึกเหล่านั้นขยายสัญญาณ [แสง] แล้วสีเขียวของกบก็ดูสดมากขึ้นครับ”
ความโปร่งใสของกบแก้วมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยอำพรางรูปทรงที่คุ้นเคยของกบจากสัตว์นักล่า เช่น นก แมงมุม และงู

เอ็มบริโอ
เอ็มบริโอของกบแก้วไวลีย์ (Nymphargus wileyi) ซึ่งเป็นกบเฉพาะถิ่นทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส ในเอกวาดอร์ ห้อยลงจากปลายใบเฟิน เมื่อไข่ฟักเป็นลูกอ๊อด พวกมันจะตกลงในลำธารข้างล่างเพื่อเจริญเติบโตต่อไป

นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษากบแก้วหลายคนได้แรงบันดาลใจจากการที่หัวข้อศึกษาของพวกเขาบางชนิดกำลังหายไป และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น ขึ้นบัญชีกบแก้วว่าอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 10 ชนิด ใกล้สูญพันธุ์ 28 ชนิด และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 21 ชนิด

“ทันทีที่ค้นพบ หลายชนิดก็ได้รับการประกาศว่าใกล้สูญพันธุ์แล้วครับ” กัวยาซามินกล่าว

เรื่อง อันเฆลา โปซาดา-สวัฟฟอร์ด
ภาพถ่าย ไฆเม กูเลบรัส

สามารถติดตามสารคดี ตัวใสเหมือนแก้ว ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบกบจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดแห่งมาดากัสการ์

กบจิ๋ว

Recommend