วาฬสีเทา สร้างสถิติใหม่ด้วยการว่ายน้ำครึ่งโลก

วาฬสีเทา สร้างสถิติใหม่ด้วยการว่ายน้ำครึ่งโลก

วาฬสีเทา ตัวผู้ขนาด 12.19 เมตร เดินทางจากมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือไปยังนามิเบีย การปรากฏตัวครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบเห็นวาฬชนิดนี้ในซีกโลกใต้

วาฬสีเทา ว่ายน้ำเป็นระยะทางที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้สำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล โดยมีระยะทางมากกว่า 26,875.98 กิโลเมตร ซึ่งเกินระยะทางครึ่งหนึ่งของการเดินทางรอบโลก

วาฬเพศผู้ที่ถูกสำรวจพบนอกชายฝั่งนามิเบียในปี 2013 เป็นวาฬสีเทาตัวแรกที่ได้รับรายงานการปรากฏตัวในซีกโลกใต้

แต่กระบวนการสืบหาแหล่งกำเนิดของวาฬต้องใช้เวลาหลายปีไปกับการวิจัยทางพันธุกรรม เพื่อยืนยันว่าวาฬมีต้นกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ โดยผลการศึกษาถูกเผยแพร่ในวารสาร Biology Letter เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021

วาฬสีเทาที่เรารู้จักมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ วาฬสีเทาตะวันออก ซึ่งมีจำนวนคงที่ประมาณ 20,500 ตัว และวาฬสีเทาตะวันตกที่ใกล้สูญพันธุ์ มีประชากรเหลือเพียงประมาณ 200 ตัวในธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากการล่าวาฬเชิงพาณิชย์มานานหลายทศวรรษ วาฬสีเทาสายพันธุ์ตะวันออกอพยพจากทะเลรอบอแลสกาและรัสเซีย ไปยังแหล่งเพาะพันธุ์ในบาฮากาลีฟอร์เนีย  ในขณะที่วาฬสีเทาสายพันธุ์ตะวันตกยังไม่มีข้อมูลเรื่องแหลงผสมพันธุ์ที่ชัดเจน แต่ได้รับการบันทึกว่ามักจะหาอาหารบริเวณรัสเซียตะวันออก 

เมื่อหนึ่งในคณะวิจัย ไซมอน เอลเวน นักสัตววิทยา มหาวิทยาลัยสเตลเลนบอช ประเทศแอฟริกาใต้ ได้ยินเกี่ยวกับการพบเห็นครั้งแรกเมื่อปี 2013 “ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่” เขากล่าว “มันเหมือนกับมีคนบอกว่า พวกเขาเห็นหมีขั้วโลกในปารีส แม้ในทางเทคนิคแล้วมันสามารถไปถึงที่นั่นได้ แต่ดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าไหร่”

วาฬสีเทา
แผนที่โดย NGM

ภาพถ่ายได้ยืนยันว่า เป็นวาฬสีเทาจริง ยาวประมาณ 12.19 เมตร วาฬตัวดังกล่าวอาศัยอยู่ในอ่าววอลวิสนานสองเดือน อาจเป็นเพราะมันขาดสารอาหารเลยทำให้เอลเวน และเทสส์ กริดเรย์ นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยเสตเลนบอชส์ สามารถเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอด้วยการรบกวนมันน้อยที่สุดได้

ความสำเร็จที่น่าทึ่งของวาฬสีเทา ที่ทำให้มีชัยเหนือเจ้าของสถิติเดิมคือเต่ามะเฟือง ที่เดินทางกว่า 20,557.71 กิโลเมตรทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก มันสร้างคำถามให้กับนักวิทยาศาสตร์ว่าทำไมวาฬสีเทาถึงเดินทางไกลจากบ้าน

ทีมวิจัยคาดว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้วาฬสีเทาออกสำรวจ หรือกำลังหลงทางในแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

ตามปกติแล้ว วาฬจะอพยพที่ระยะทางประมาณ 8,046.7 กิโลเมตร “การเดินทางไกลมีราคาแพงมาก” รัส โฮลเซล หนึ่งในผู้เขียนรายงาน นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยเดอรัม ในสหราชอณาจักร และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวและเสริมว่า “มันทำให้คุณสงสัยว่า ทำไมพวกมันถึงทำอย่างนั้นภายใต้สถานการณ์ใด ด้วยเหตุผลเหล่านี้มันจึงน่าสนใจในด้านวิทยาศาสตร์”

สำรวจลึกลงไปในรหัสพันธุกรรม

สำหรับการวิจัย กริดลีย์และเอลเวนได้ร่วมมือกับโฮลเซล และนักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ ฟาตีฮ์ ซาริกอล จากมหาวิทยาลัยเดอรัม เพื่อเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมของวาฬสีเทาตัวนี้กับวาฬสีเทาตัวอื่น ๆ ที่ถูกจัดเก็บในศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตกว่าหนึ่งพันชนิด

พวกเขากำหนดความน่าจะเป็นว่า วาฬมาจากกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ระบุอัตลักษณ์ในแอตแลนติก โดยมีหลักฐานฟอสซิลของวาฬสีเทาในมหาสมุทรแอตแลนติก และพบวาฬสีเทาสองตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“เรารู้จักสัตว์จำพวกวาฬน้อยมาก ๆ เพราะมันหายากมาก” โฮลเซลกล่าว “แต่ในกรณีของวาฬสีเทา พวกมันมักอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง และเป็นที่จดจำได้ ดังนั้นแนวคิดที่ว่าจะมีประชากรวาฬซ่อนอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกจึงไม่น่าจะเป็นได้มากนัก”

ผลการทดลองเผยให้เห็น รหัสพันธุกรรมของวาฬสีเทาที่นามิเบียตรงกับของวาฬสีเทาแปซิฟิกเหนือที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพ น่าแปลกใจที่นักวิจัยกล่าวว่ามันใกล้เคียงกับประชากรวาฬสายพันธุ์ตะวันตกที่ใกล้สูญพันธ์ุ

วาฬเอาแต่ใจ ?

หลังจากนั้น ทีมวิจัยได้วิเคราะห์เส้นทางที่เป็นไปได้ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอาจใช้เดินทาง ซึ่งเส้นทางที่คาดว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือ พวกมันว่ายน้ำไปทั่วแคนาดาผ่านเส้นทางทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่ทางเลือกอื่น ๆ เช่น ว่ายน้ำรอบอเมริกาใต้หรือว่ายน้ำผ่านมหาสมุทรอินเดียนั้นเป็นไปได้น้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีรายงานการสำรวจ และเนื่องจากวาฬสีเทามักจะกินอาหารบริเวณน้ำตื้น ทำให้การเดินทางไกลในมหาสมุทรเปิดนั้นยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ซู มัวร์ นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเทิล เชื่อว่า การข้ามมหาสมุทรอินเดียเป็นไปได้มากที่สุดเนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดและซับซ้อนน้อยที่สุด

“ถ้าจะให้กล่าว…วาฬตัวนี้น่าจะเหมือนคนเร่ร่อน” มัวร์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยกล่าวเสริมว่า “นี่ไม่ใช่การอพยพโดยมีเป้าหมายชัดเจน”

“แต่มันทำให้เรามีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น ที่จะพิจารณาเกี่ยวความยืดหยุ่นของสายพันธุ์นี้” เธอกล่าว

เรื่อง: เฮเทอร์ ริชาร์ดสัน
แปลและเรียบเรียง: วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความลับของเหล่าวาฬ พวกมันเหมือนมนุษย์มากกว่าที่คิด

วาฬ, ความลับของวาฬ

Recommend