เสือแพนเทอร์ ฟลอริดาประชากรแมวใหญ่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้กำลังฟื้นตัวขึ้น แต่ความเฟื่องฟูด้านการพัฒนาส่อเค้าคุกคามความอยู่รอดของพวกมัน
‘ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรของ เสือแพนเทอร์ ’
ไบรอัน เคลลี กล่าวทักทาย ตอนผมพบเจอที่ทางแยกจอแจในอีสต์เนเปิลส์ รัฐฟลอริดา
เคลลี นักชีววิทยาเสือแพนเทอร์ของรัฐ ชี้ไปทางทิศตะวันออกสู่ย่านที่พักอาศัยแผ่กว้างที่เขาพำนักอยู่ เสือแพนเทอร์ตัวหนึ่งถูกกล้องดักถ่ายจับภาพไว้ได้ห่างออกไปแค่ครึ่งกิโลเมตร เขาบอก และมีอีกตัวที่ข้ามถนนหกเลนที่เรากำลังยืนอยู่ข้างๆ ไปได้อย่างปลอดภัย
แต่มีเสือแพนเทอร์อีกตัว เป็นเพศเมียอายุแปดปี ชื่อ เอฟพี224 (FP224) อาศัยอยู่แถวนี้ มันโดนรถชนมาแล้วสองครั้ง ขาหักข้างหนึ่งทั้งสองรอบ มันได้รับการรักษาโดยสัตวแพทย์ และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหลังอุบัติเหตุทั้งสองครั้ง เพื่อตามหาร่องรอยของเสือตัวนี้ เราขับรถไปที่บ้านของเคลลีซึ่งอยู่ติดกับป่าผืนหนึ่ง ที่เมื่อไม่นานมานี้มันใช้เป็นรัง ให้กำเนิดลูกเสืออย่างน้อยสามตัว ตอนนี้เป็นหน้าฝน ปกติรอยเท้าเสือแพนเทอร์จะถูกฝนชะหายไป แต่พวกเราโชคดี
“นี่ไง รอยเท้าของนาง” เคลลีบอก พลางชี้ไปที่รอยอุ้งเท้าขนาดใหญ่ราวกำปั้นผม บนพื้นทรายอ่อนนุ่ม เราเดินตามรอยเท้าเข้าไปในดงสนต้นสูงกับปาล์มซาบาลที่มีไม้รากอากาศเกาะเต็มไปหมด พอตรวจดูจากกล้อง ดักถ่ายภาพอัตโนมัติที่เคลลีนำมาติดตั้งไว้ก็พบว่า เอฟพี224 เพิ่งเดินผ่านจุดนี้ก่อนสามทุ่มเล็กน้อยเมื่อสองคืนก่อน
การเห็นรอยเท้าของมันช่างน่ายินดี เพราะเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่า ฟลอริดายังมีผืนป่าและสัตว์ พวกแมวใหญ่ ซึ่งบางส่วนมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มีใครพบเห็นได้ ตามชายขอบของเขตชานเมือง ที่กำลังขยายตัว
ชาวฟลอริดาส่วนใหญ่จะไม่มีวันได้เห็นร่องรอยของสัตว์นักล่าเหล่านี้ ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่ 30 ถึง 75 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย โดยขึ้นอยู่กับเป็นเพศใด และกระโจนไกลเกือบ 10 เมตรในคราวเดียว แต่เสือแพนเทอร์ที่ชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าเชอโรกีเรียกว่า “เจ้าแห่งพงไพร” ต้องพึ่งพาพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรของที่ลุ่มน้ำขัง ผืนป่า และทุ่งหญ้าในแถบตะวันตกเฉียงใต้และตอนกลางของรัฐฟลอริดา ซึ่งหลายแห่งตกอยู่ในความเสี่ยงจากการพัฒนา
เสือแพนเทอร์ฟลอริดา (Puma corcolor coryi) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของแมวใหญ่หลายชื่อ เช่น เสือพูม่า เสือคูการ์ และสิงโตภูเขา เคยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ แต่พวกมันถูกล่าอย่างหนักจนเมื่อล่วงถึงทศวรรษ 1970 ก็เหลือให้พบเห็นแค่ในฟลอริดา และจำนวนก็ลดลงจนเหลือไม่ถึง 30 ตัว ทำให้พวกมันมีความเสี่ยงสูงต่อการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด เสือแพนเทอร์ฟลอริดาอยู่บนขอบเหวของการสูญพันธุ์ เคลลีกล่าว
นักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นคิดแผนช่วยเหลือที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน กล่าวคือ ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 พวกเขาว่าจ้างชายชาวเทกซัสชื่อ รอย แมกไบรด์ ซึ่งอาจเป็นนักแกะรอยสิงโตภูเขามือดีที่สุดในโลก ให้จับเสือชนิดนี้ ในเทกซัสมาแปดตัว โดยทั้งหมดเป็นเพศเมีย แล้วนำมาปล่อยสู่ธรรมชาติในเซาท์ฟลอริดา ห้าตัวในจำนวนนี้ออกลูกออกหลาน และการสอดแทรกความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยวิธีนี้ก็ช่วยให้สถานการณ์ดิ่งเหวของเสือแพนเทอร์พลิกกลับคืนมาได้
ประชากรเสือแพนเทอร์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีอยู่ราว 200 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดต่อกัน ขนาดใหญ่ช่วงทางตอนใต้ของแม่น้ำคาลูซาแฮตชีที่ไหลไปทางตะวันออกจากฟอร์ตไมเออร์ส “ถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ” คาร์ลตัน วอร์ด จูเนียร์ นักอนุรักษ์และช่างภาพ ซึ่งงานของเขาได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว
แต่ภัยคุกคามหลายรูปแบบก็ทำให้อนาคตของเสือแพนเทอร์ยังคลุมเครือ ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุจากการถูกรถชน และการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขตระหว่างเสือแพนเทอร์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นสองสาเหตุหลักของการตาย ในแต่ละปี มีเสือแพนเทอร์ถูกยวดยานชนตายราว 25 ตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาและการตัดถนนเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ ชนิดพันธุ์นี้อย่างไร ในยุคที่มีคนอพยพโยกย้ายเข้าสู่ฟลอริดาวันละ 900 คน
ซ้ำร้ายยังพบความผิดปกติของระบบประสาทที่ก่อให้เกิดความอ่อนแรงชนิดใหม่ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นกับเสือแพนเทอร์มากกว่า 12 ตัว จนสร้างความกังวลให้นักอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็มีเช่นกัน เสือแพนเทอร์กำลังกลับมาครองอาณาเขตเดิมบางส่วนของพวกมัน เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์พบเห็นเสือเพศเมียตัวหนึ่งทางตอนเหนือของแม่น้ำคาลูซาแฮตชีเป็นครั้งแรกนับจากปี 1973
“ถือเป็นก้าวสำคัญเลยล่ะค่ะ” เจนนิเฟอร์ คอร์น นักชีววิทยาสัตว์ป่า กล่าวถึงการพบเห็นดังกล่าวในเขตสงวนแบบค็อกแรนช์ เสือแพนเทอร์เพศเมียต่างจากเพศผู้ตรงที่พวกมันจะไม่เดินทางไปไกลจากถิ่นหากินของแม่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการขยายเขตกระจายพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้
เคลลีประเมินว่า ปัจจุบันมีเสือแพนเทอร์ราว 24 ตัวอาศัยอยู่ในบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำคาลูซาแฮตชี ในจำนวนนี้มีเสือเพศเมียอยู่ด้วยสองสามตัว
การขยายเขตกระจายพันธุ์ขึ้นไปทางเหนือจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในระยะยาวของเสือแพนเทอร์ แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการยกระดับฉนวนหรือแนวเชื่อมต่อสำหรับสัตว์ป่าฟลอริดา (Florida Wildlife Corridor) ซึ่งประกอบด้วยที่ดินทั้งของเอกชนและภาครัฐปะติดปะต่อเป็นแถบพาดยาวตลอดรัฐ ให้เป็นเขตสงวน วอร์ดอธิบาย และเพื่อให้เป็นไปได้ก็จำเป็นต้องมีเงินทุนด้านการอนุรักษ์มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเจ้าของที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทำ ไร่ปศุสัตว์ และป้องกันไม่ให้ที่ดินว่างเปล่ากลายเป็นบ้านหรือที่ดินจัดสรร ลานจอดรถ และถนน
เรื่อง ดักลาส เมน
ภาพถ่าย คาร์ลตัน วอร์ด จูเนียร์
สามารถติดตามสารคดี การกลับมาของเสือแพนเทอร์ฟลอริดา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2564
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2