โครงการ ” แมวสายลับ ” ของ CIA ที่จบลงด้วย “ความตาย”

โครงการ ” แมวสายลับ ” ของ CIA ที่จบลงด้วย “ความตาย”

สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ทุ่มเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ (ค่าเงินในขณะนั้น) เพื่อฝึก แมวสายลับ ที่พร้อมออกไปสอดแนมข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ทว่าสุดท้ายแล้ว สายลับสัตว์ที่ปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จและนำข้อมูลสำคัญจากกองทัพนาซีกลับมาได้กลับไม่ใช่แมว แต่เป็นนกพิราบ

แมวสายลับ – ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้านและความสิ้นหวังของสงครามเย็น สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (Central Intelligence Agency: CIA) ต้องเผชิญกับความท้าทายในการจารกรรมข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง กระนั้น อุปสรรคที่พบเจอระหว่างปฏิบัติการจารกรรมกลับทำให้ซีไอเอริเริ่มโครงการใหม่ เพื่อหาทางสืบความลับในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

หากต้องการจะล้วงความลับภายในที่พักส่วนตัวซึ่งมีการคุ้มกันอย่างแน่นหนาของผู้นำสูงสุดของประเทศอื่น คุณจะใช้วิธีใดในการส่งสายลับเข้าไป หากต้องการจะสืบข้อมูลจากผู้นำที่อนุญาตให้เพียงคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจและแมวจรจัดที่รักใคร่เอ็นดูเข้าพบ คุณจะทำอย่างไร คำตอบของซีไอเอคือ การส่งแมวสอดแนมที่ฝังเครื่องดักฟังไว้ในร่างกายเข้าไปเป็นสายลับ

ซีไอเอได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า “Acoustic Kitty” ขึ้น ทว่าหลังใช้เวลาถึง 5 ปีในการทุ่มงบประมาณหลายล้านเหรียญไปกับการวิจัยและพัฒนาแมวสอดแนม โครงการกลับถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1967 ด้วยเหตุผลที่ผู้เลี้ยงแมวอาจจะเดาได้ นั่นคือ แมวเป็นสัตว์ที่รักอิสระและคาดเดาไม่ได้ ดังนั้น การจะควบคุมให้สายลับสี่ขาชนิดนี้เดินไปตามเส้นทางที่กำหนดหรืออยู่ในรัศมีของเครื่องรับวิทยุจึงเป็นเรื่องยาก

ก่อนที่เทคโนโลยีดิจิทัลและไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับการพัฒนาขึ้น การจารกรรมข้อมูลถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับซีไอเอ วิธีการหรือแนวทางต่าง ๆ ที่ถูกเสนอจึงได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานทั้งหมด โรเบิร์ต วอลเลซ (Robert Wallace) ผู้กำกับสำนักงานบริการทางเทคนิคของซีไอเอ ซึ่งเป็นสาขาที่รับผิดชอบด้านอุปกรณ์สายลับในช่วงทศวรรษ 1990 ได้อธิบายไว้ว่า “ตลอดศตวรรษที่ 20 หน่วยข่าวกรองทั่วโลกต่างก็มองว่า สัตว์เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการลอบเข้าไปในสถานที่ที่คนเข้าถึงได้ยาก หรือการติดข้อความและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ตามตัว” วอลเลซยังกล่าวเสริมอีกว่า “เราต้องพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มี หากเห็นว่าทางไหนดูจะเป็นไปได้ เราจะนำไปทดลองและปฏิบัติจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าทางเลือกนั้นใช้ไม่ได้ หรือพบทางที่ดีกว่าครับ”

แม้ว่าในทุกวันนี้ การพยายามฝึกแมวให้เป็นกลายสายลับจะเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้าหากย้อนกลับไปในยุคนั้น ซีไอเอค่อนข้างจะจริงจังกับโครงการ Acoustic Kitty อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามในการเฟ้นหาสัตว์สายลับที่มีความสามารถทางประสาทสัมผัสที่เฉียบแหลมและความสามารถในการทำตัวให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ซึ่งโครงการฝึกสัตว์แต่ละชนิดนั้นประสบความสำเร็จในระดับที่ต่างกัน แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้สัตว์ชนิดนั้น ๆ เป็นสายลับที่เหมาะกับภารกิจการจารกรรม และในปัจจุบันนี้สัตว์สายลับยังถูกใช้ในการสอดแนมข้อมูลต่าง ๆ อยู่หรือไม่ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความต่อไปนี้

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนจะไม่รู้สึกสงสัยอะไรเมื่อพบเห็นแมว ดังนั้นสัตว์สี่ขาชนิดนี้จึงเป็นสัตว์ในอุดมคติสำหรับการนำไปฝึกเพื่อใช้ในการจารกรรม ในช่วงทศวรรษ 1960 ซีไอเอได้ผลาญเงินหลายล้านเหรียญไปกับโครงการ Acoustic Kitty เพื่อสร้างสายลับแมวจักรกลตัวแรกขึ้น ภาพถ่ายโดย VINCENT J. MUSI

จุดเริ่มต้นของโครงการและจุดจบของ แมวสายลับ 

โครงการ Acoustic Kitty เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาแมวธรรมดาให้กลายเป็น “แมวจักรกล” ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างสัตว์เลี้ยงในบ้านที่อ่อนโยนกับเทคโนโลยีขั้นสูงในยุคนั้น โดยสัตวแพทย์จะทำการผ่าตัดฝังไมโครโฟนชิ้นเล็ก ๆ เข้าไปในหูที่มีลักษณะตั้งของแมว อุปกรณ์ที่ฝังเข้าไปจะตรวจจับเสียงได้ดีเนื่องจากแมวมีประสาทการฟังที่ดีเยี่ยม จากนั้นสัตวแพทย์ทำการจะซ่อนสายไมโครโฟนที่ต่อเข้ากับแบตเตอรี่และเสาอากาศไว้ใต้ผิวหนังของแมว แล้วซ่อนเสาอากาศไว้ใต้ขนหนา ๆ ของมัน

วอลเลซกล่าวว่า “การผ่าตัดแมวจักรกลถือเป็นการปฏิวัติวงการ เพราะมันเกิดขึ้นก่อนจะมีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในสัตว์ ก่อนหน้านี้เราไม่ใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะสภาพภายในร่างกายที่ทั้งชื้น อุ่น และเปียกแฉะของมันไม่เอื้ออำนวยเป็นอย่างมากครับ” เขาจำได้ว่า หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น แมวตัวนั้นฟื้นตัวได้ดี มีเพียงผู้จัดการโครงการที่เป็นลมเพราะเห็นเลือดสัตว์ ไมโครโฟนที่ถูกฝังเข้าไปในหูแมวก็ประสบความสำเร็จ และสามารถรับ – ส่งเสียงของบทสนทนาได้จริง ทว่า ในเวลาต่อมากลับมีปัญหาเกิดขึ้นในโครงการ Acoustic Kitty แม้ว่าแมวจักรกลจะได้รับการฝึกฝนจากซีไอเอแล้ว แต่มันยังมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองอยู่ และยังไม่สามารถเข้าใกล้หรืออยู่ใกล้เป้าหมายได้นาน ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากการนำแมวจักรกลไปทดสอบภาคสนามในสวนสาธารณะที่มีสิ่งรบกวนสมาธิอย่าง นกพิราบและกระรอก ยังชี้อีกว่า โครงการนี้ไม่มีท่าทีว่าจะประสบความสำเร็จได้

เดวิด เวลเกอร์ (David Welker) นักประวัติศาสตร์ของซีไอเอกล่าวว่า “คุณคงจะสงสัยว่าคนในโครงการคิดกันอะไรอยู่ ไม่มีใครเคยเลี้ยงแมวเลยเหรอ ถึงไม่รู้ว่าเราบังคับให้แมวทำนู่นทำนี่ไม่ได้ ใช่ไหมครับ ในฐานะคนเลี้ยงแมว ผมน่าจะบอกพวกเขาตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าโครงการนี้ไม่มีแววจะประสบความสำเร็จเลย”

ความอยากรู้อยากเห็นโดยธรรมชาติของมนุษย์อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นประโยชน์ต่อการจารกรรมข้อมูลในช่วงสงคราม แต่ความช่างสงสัยที่มีมากเกินไปก็ทำให้แมวที่นำมาฝึกต้องพบกับจุดจบของชีวิตที่เลวร้ายเช่นกัน  จากเรื่องเล่าอันโด่งดังที่วิคเตอร์ มาร์เค็ตติ (Victor Marchetti) อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอและนักวิจารณ์ของหน่วยงานดังกล่าวนำมาเปิดเผย โครงการ Acoustic Kitty ได้ปิดฉากลงพร้อมกับชีวิตของแมว โดยเขาเล่าว่า ในภารกิจแรกที่เป็นการทดสอบภาคสนามในสวนสาธารณะ สายลับแมวที่กำลังข้ามถนนถูกรถแท็กซี่พุ่งเข้าชนทันทีที่เริ่มปฏิบัติภารกิจ

วอลเลซโต้กลับว่า “เรื่องราวที่มาร์เค็ตติเล่าสนุกกว่าเรื่องจริงอยู่มากครับ” เพราะในความเป็นจริง ตามข้อมูลทางการของซีไอเอ สายลับแมวได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังจากที่ถอดอุปกรณ์สอดแนมออกแล้ว

ความสำเร็จของนกพิราบสอดแนม

หลังโครงการ Acoustic Kitty ถูกยุติลง ซีไอเอก็เริ่มค้นหาสัตว์ที่มีแววว่าจะเป็นสายลับที่ดีอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ หน่วยข่าวกรองหันมาสนใจศัตรูตามธรรมชาติของแมวอย่าง นก โดยเฉพาะนกพิราบที่ดูไม่มีพิษภัย แต่เดิมกองทัพทหารที่ออกไปสู้รบจะอาศัยนกพิราบสายพันธุ์ Homing Pigeon เป็นสื่อกลางในการส่งสารมาตั้งแต่ยุคโบราณ ด้วยเหตุนี้เอง พวกมันจึงถูกเลือกให้เป็นสายลับในภารกิจสอดแนมของซีไอเออีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม หน่วยข่าวกรองลับของสหราชอาณาจักรได้รับความเสียหายจากการรุกคืบอย่างรวดเร็วของกองทัพนาซีเยอรมัน ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีภารกิจสอดแนมทางอากาศเหนือประเทศในแถบยุโรปที่ถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง อีกทั้งยังไม่มีผู้ใดสามารถถอดรหัสเอนิกมา (Enigma) ซึ่งเป็นรหัสลับระดับโลกของกองทัพนาซีเยอรมนีได้ ทว่า ในที่สุดก็มีแสงสว่างปรากฏขึ้นในชั่วโมงที่มืดมนที่สุดของอังกฤษ เมื่อเหล่าทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้เคยใช้นกพิราบในการสื่อสารไปมาระหว่างสนามเพลาะเสนอแผนการสุดโต่งแผนการหนึ่งขึ้นมา

กอร์ดอน คอเรรา (Gordon Corera) นักข่าวสายความมั่นคงชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโครงการนกพิราบสอดแนมของซีไอเอที่มีชื่อว่า Operation Columba: The Secret Pigeon Service อธิบายเพิ่มเติมว่า “ทหารผ่านศึกเหล่านั้นตัดสินใจว่าจะบินขึ้นไปพร้อมกับกองทัพอากาศหลวง แล้วทิ้งกล่องที่บรรจุนกพิราบไว้ลงมาจากเครื่องบินครับ ขณะที่เที่ยวบินลับของกองทัพอากาศบินผ่านดินแดนที่ถูกเยอรมนียึดครอง ทหารผ่านศึกที่ขึ้นมาก็ได้เริ่มปฏิบัติตามแผนการ โดยการดันกล่องบรรจุนกพิราบซึ่งติดร่มชูชีพเอาไว้ออกจากเครื่องบิน แล้วรอดูผลว่าจะได้อะไรกลับมาจากพวกมันหรือไม่”

ชาวบ้านในฝรั่งเศสและเบลเยียมซึ่งไม่สามารถต่อต้านการยึดครองของนาซีได้ เลือกที่จะเสี่ยงชีวิตของพวกเขาด้วยการเขียนข้อความลงในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แล้วนำไปติดไว้ที่ขาของนกพิราบในกล่องที่ตกลงมาตามสวนและไร่นาของพวกเขา

คอเรรากล่าวต่ออีกว่า “สิ่งสำคัญเกี่ยวกับนกพิราบเหล่านั้นคือ พวกมันมีพลังวิเศษที่จะทำให้สามารถหาทางบินกลับบ้านได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีหลักอธิบายที่แน่ชัดว่า นกเหล่านั้นเดินทางกลับได้อย่างไร แม้จะถูกนำไปทิ้งในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ซึ่งอยู่ห่างจากลอนดอนหลายร้อยกิโลเมตร ”

กล้องติดนกพิราบตัวแรกถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1907 โดยนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันที่ชื่อว่า ยูลีอุส น็อยบรอนเนอร์ (Julius Neubronner) กล้องขนาดเล็กชิ้นนี้ประกอบไปด้วย สายรัดอะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา และกล้องถ่ายภาพแบบหน่วงเวลา ภาพถ่ายโดย RORHOF/ STADTARCHIV KRONBERG

โครงการ “Columba” ประสบความสำเร็จในการจารกรรมข้อมูลเป็นอย่างมาก แม้ว่าในระหว่างทาง โครงการจะสูญเสียนกพิราบไปจำนวนไม่น้อย แต่นกที่รอดชีวิตนั้นสามารถบินกลับมายังลอนดอนพร้อมนำข้อความสำคัญนับพันที่เขียนถึงข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งเรดาร์ การเคลื่อนกำลังพลของกองทหารนาซี ไปจนถึงที่ตั้งของจรวด V1 มาให้ซีไอเอได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง นกพิราบเหล่านั้นจึงได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุด ซึ่งจะมอบให้กับสัตว์ที่ทุ่มเทและสามารถทำหน้าที่ได้ดีในสงคราม

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสายลับนกพิราบไม่ได้ยุติลงทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด เพราะในช่วงสงครามเย็น หน่วยข่าวกรองของสหราชอาณาจักรได้นำนกพิราบมาทดสอบความสามารถในการบินฝ่าฝุ่นควันกัมมันตรังสี เพื่อรับส่งข้อความต่าง ๆ ในสงครามนิวเคลียร์ ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ซีไอเอของสหรัฐอเมริกาก็ได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า “Tacana” ขึ้น เพื่อทดลองนำกล้องฟิล์มขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูงกว่าดาวเทียมสอดแนมในยุคนั้นไปติดบนตัวของมัน จากนั้น สายลับมีปีกเหล่านั้นก็ถูกปล่อยออกไปปฏิบัติหน้าที่ทางประตูลับของรถที่ดัดแปลงขึ้นสำหรับบรรจุพวกมัน แล้วบินผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของนาซีเพื่อถ่ายรูป ก่อนจะนำกลับไปยังจุดหมายปลายทาง

นอกจากนั้น ซีไอเอยังพยายามที่จะนำนกสายพันธุ์อื่น เช่น เหยี่ยว กา หรือแม้แต่นกกระตั้ว มาฝึกบินใส่กล้องเพื่อทำหน้าที่เป็นสายลับ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ซีไอเอก็เลือกนกพิราบที่ดูไร้พิษภัย เพราะพวกมันสามารถพรางตัวในที่โล่งได้ บินในระยะไกลโดยไม่หยุดพักได้ และหาทางกลับบ้านได้เสมอ

“นกพิราบเป็นสัตว์ที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะพวกมันมีจำนวนมากจนพบเจอได้ทุกที่ ดังนั้นการมีนกชนิดนี้บินผ่านไปมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ” เวลเกอร์ นักประวัติศาสตร์ของซีไอเอกล่าว

ทิศทางของสัตว์สายลับ

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีอย่าง โดรน มีแนวโน้มที่จะจับภาพในมุมสำคัญที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงให้ออกมาดีกว่าภาพจากแมวหรือนกพิราบได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โครงการที่สหรัฐฯ ลงทุนลงแรงในการพัฒนาไปมหาศาลอย่าง Acoustic Kitty และ Tacana จะถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ของซีไอเอต่อไป แม้ว่าโครงการจะถูกยุติไปนานแล้วก็ตาม วอลเลซชี้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของหน่วยข่าวกรองที่ต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการจารกรรมข้อมูล พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงยุค 80 และในบางครั้ง หลายสิ่งหลายอย่างก็ล้าสมัยลงเร็วมาก ๆ ครับ”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่มีการนำสัตว์มาฝึกเพื่อใช้ในการจารกรรมมากเท่าในอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าซีไอเอจะไม่นำสัตว์มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดในอนาคต “เวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนคือ หน้าที่ในการหาข่าวกรองที่ดีที่สุดเท่าที่ซีไอเอจะหาได้ครับ และสัตว์ก็จะเป็นผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพในภารกิจของเราเสมอ” เวลเกอร์กล่าว

สำหรับคอเรรา ซึ่งเป็นนักข่าวสายความมั่นคงที่จับตามองการกล่าวหากันไปมาระหว่างอินเดียและปากีสถานเกี่ยวกับเรื่องการใช้นกพิราบสอดแนม และยังได้ยินข่าวลืออีกว่า ทางอินเดียคาดว่านกพิราบที่ฝั่งตนจับเอาไว้คือสายลับที่จีนส่งมาเพื่อโจรกรรมข้อมูลลับของประเทศ เขาเข้าใจว่าเพราะเหตุใดซีไอเอถึงยังมองว่า สัตว์ยังเป็นผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจอยู่ “พอเราพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เราก็จะเข้าใจได้ว่า การพึ่งพาและเสพติดเทคโนโลยีมากจนเกินไปนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ครับ” คอเรรากล่าว “เมื่อการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยไม่ประสบผลสำเร็จ หน่วยงานสายลับต่าง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีทางเลือกสำรอง และนกพิราบก็อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกพวกนั้น ผมเลยคิดว่า ยุคสมัยของการใช้นกพิราบในการสอดแนมข้อมูลจะยังไม่จบลงง่าย ๆ ครับ”

แต่สำหรับแมวนั้นอาจจะตรงกันข้าม

เรื่อง คริสเตียน เอลเลียต

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม การฝึกวาฬและโลมาเพื่อการทหาร มีวิธีการอย่างไร และใคร “ใช้งาน” บ้าง

วาฬ

Recommend