คืนป่าให้ชีวิต ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาดของมนุษย์กับธรรมชาติ

คืนป่าให้ชีวิต ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาดของมนุษย์กับธรรมชาติ

เมื่อ 2559 ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใจกลางกรุงเทพมหานคร หลังฟัง ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียวนำเสนอชุดสไลด์เปิดงานประชุม “Rewilding Bangkok ฟื้นชีวิตป่าเมืองกรุง” เราเพิ่งเข้าใจถึงความเป็นมาของกรุงเทพมหานครย้อนกลับไปไม่ใช่แค่กว่า 200 ปีก่อน แต่เป็นเมื่อ 20,000 ปีที่แล้ว

จะว่าไปก็ไม่ไกลเกินไป แต่ทำไมเราถึงไม่เคยสนใจมาก่อน  แผ่นดิน ทะเล แม่น้ำ และระดับน้ำเค็มน้ำจืดเปลี่ยนแปลงไปมาตามกาลเวลา ภาคกลางตอนล่างของไทยเคยถูกน้ำทะเลท่วมหลังสมัยน้ำแข็งถึงสุพรรณบุรี (เลยไม่แปลกที่กฤชจะคิดว่ากรุงเทพฯ มีดินเค็มที่ต้นขลู่ขึ้นได้) แถมไม่เคยคิดจินตนาการเลยด้วยว่า การเชื่อมต่อกันของแผ่นดินจากอินโดจีนยันบอร์เนียว จากแม่น้ำสยามโบราณถึงแม่น้ำโขง จะทำให้ไทยในปัจจุบันเป็นถิ่นอาศัยของปลาน้ำจืดหลากหลายเป็นอันดับ 9 ของโลก เฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันก็มีพันธุ์ปลามากถึง 280 ชนิด

เรื่องที่ฟังแล้วตื่นเต้นที่สุดคือ ภายในเวลาไม่เกินสองศตวรรษจนมาถึง 50 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครหรือบางกอกเคยมีสัตว์ป่าชุกชุม  สังฆราชปาเลอกัวบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า ชาวบ้านญวนสามเสนแขวนเนื้อจระเข้ขายราคาถูกกว่าเนื้อหมู  ช้างป่าถูกคล้องแถวบางซื่อ กวางทุ่งย่านมหานาคออกมากินหญ้าและถูกชาวบ้านตีด้วยไม้และใช้ปืนยิง กระเรียนขนาดใหญ่ยังมีให้เห็น จระเข้น้ำเค็มแถวบางนาเคยคาบคนไป  และมีบันทึกว่า เมื่อสัก 120 ปีก่อน สมันหรือกวางทุ่งที่พบในไทยเพียงแห่งเดียวในโลกยังมีอยู่อย่างชุกชุม แต่ถูกล่าอย่างหนัก และพอถึง พ.ศ. 2481 สมันตัวสุดท้ายก็ถูกยิงตาย ส่วนอีแร้งเพิ่งหายไปไม่เกิน 50 ปีมานี้ เสือปลาบางขุนเทียนก็ไม่มีคนพบเห็นร่องรอยมาร่วมสิบปีแล้ว ไหนจะเหยี่ยวรุ้ง เนื้อทราย หมูป่า นกตะกราม กระเบนราหูน้ำจืด วาฬบรูด้า ลิงแสม นากใหญ่ขนเรียบ และปลากระโห้ที่กรมประมงจัดให้เป็นสัตว์น้ำประจำกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำ

ต้นไม้ในเมือง
แสงแดดยามเย็นทอดผ่านตึกสูงทำให้สวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยแลดูมีชีวิตชีวา ด้วยกระแสรักสุขภาพและธรรมชาติทำให้แต่ละวันมีผู้มาใช้บริการที่สวนสาธารณะแห่งนี้หลายพันคน

สัตว์ใกล้เมืองที่เหลืออยู่

ในยุโรปและสหราชอาณาจักรกำลังมีโครงการ “Rewilding” อย่างจริงจัง  ทั้ง Rewilding Europe และ Rewilding Britain ซึ่งเป็นการปล่อยสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่หนึ่งกลับสู่ถิ่นอาศัยเดิม โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่าและสัตว์ที่มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมนั้นๆ (keystone species) ซึ่งหากหายไปจะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล เช่น ผึ้ง บีเวอร์ และเสือ เป็นต้น การเชื่อมต่อระบบนิเวศเดิมที่เคยถูกตัดขาดจากกัน (เช่น ถนนตัดผ่าน) และการปกป้องถิ่นอาศัยด้วยความตั้งใจจะให้ระบบนิเวศดำเนินต่อไปได้อย่างเสถียรและยั่งยืน และมีความหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงกับก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาบุกรุกแทรกแซง

ในบ้านเรา การปล่อยสัตว์ที่เคยหมดไปคืนถิ่นอาศัยเดิม (reintroduction) ที่โด่งดัง และมีแฟนๆ ติดตามมากที่สุดคงไม่พ้นกระเรียนพันธุ์ไทยที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเมื่อ 50 ปีก่อน โดยมีคนเห็นตัวสุดท้ายที่ชายแดนติดกัมพูชา องค์การสวนสัตว์กับหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันเพาะเลี้ยงกระเรียนพันธุ์ไทยมานาน 20 ปี ก่อนจะเริ่มปล่อยสู่ธรรมชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เมื่อปีที่แล้วมีข่าวนกกระเรียนพันธุ์ไทยจับคู่ ทำรังวางไข่และฟักเป็นลูกนกตัวแรกในนาข้าวที่จังหวัดบุรีรัมย์ พอมาปีนี้ พ่อแม่นกสี่คู่วางไข่เองในทุ่ง แฟนๆได้เฮหนักอีกครั้ง ตลอดหกปีที่ผ่านมามีนกกระเรียนพันธุ์ไทยถูกปล่อยไปแล้ว 70 ตัว เหลืออยู่ราว 40 ตัว ถ้ากดไลก์เพจ Sarus Crane Reintroduction Project Thailand เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของกระเรียนพันธุ์ไทยที่ใช้ชีวิตอิสรเสรีเป็นตัวของตัวเอง ช่วยชาวนากินปูนา ศัตรูพืชในนาข้าวอินทรีย์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และชาวนาอินทรีย์ที่นั่นก็ต้อนรับขับสู้กระเรียนพันธุ์ไทยเป็นเป็นอย่างดีเพราะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ขยับมาพุทธมณฑลใกล้กรุงเทพฯอีกหน่อย เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวชาวบ้านเห็นตัวนากที่ไม่มีใครไปปล่อย แต่เริ่มกลับมาปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้ง หลังจากหายไปนานหลายปี ตั้งแต่พื้นที่แถบนั้นถูกปรับเพื่อสร้างเป็นพุทธมณฑล นักวิชาการเชื่อว่าเป็นนากใหญ่ขนเรียบ สัตว์อีกชนิดที่เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ก่อนหน้านี้เคยมีครอบครัวนากอาศัยอยู่ภายในโรงเรียนทวีธาภิเศก 2 ย่านบางขุนเทียน แต่เมื่อมีการปรับพื้นที่ของโรงเรียนตรงบริเวณที่นากอาศัยอยู่ ครอบครัวนากก็หายไปด้วย คุณครูที่เคยพบเจอและถ่ายวิดีโอนครอบครัวนากเอาไว้บอกว่า มีผู้พบเห็นพวกมันย้ายไปอาศัยอยู่ในป่าหลังโรงเรียน ซึ่งเสี่ยงอันตรายกว่าเพราะชาวบ้านแถบนั้นเลี้ยงปลาขายและนากก็กินปลา

ต้นไม้ในเมือง
ชายหนุ่มที่ร่างกายปกคลุมด้วยใบตองสดกำลังรอรับแสงแดดจากการ “อาบแสงตะวัน” โปรแกรมที่ แพทย์หญิง ลลิตา ธีระสิริ ประยุกต์จากตำราอายุรเวทโบราณที่ใช้แสงอาทิตย์อบอุ่นร่างกาย เพื่อให้เลือดไหลเวียนและกระตุ้นภูมิต้านทานให้ร่างกายเยียวยาตัวเองที่บัลวี ศูนย์ธรรมชาติบำบัด

เขยิบออกไปทางอ่าวไทย ปลายฝนต้นหนาว ใครๆต่างแห่มาดูวาฬบรูด้าปาร์ตี้ปลากระตักที่มีนางนวลมาร่วมวงห่างจากฝั่งไปแค่ 10 กิโลเมตร (5 ปีก่อนเราต้องบากบั่นไปถึงบางตะบูนถึงจะเห็นครีบหลังวาฬโผล่ขึ้นมานิดเดียว) นี่อาจอธิบายได้ว่า เพราะคนไทยไม่กินวาฬ ไม่ทำร้ายวาฬ และอ่าวไทยอุดมสมบูรณ์มาก มีปากแม่น้ำสำคัญที่พัดพาดินตะกอนมาเป็นอาหารให้แพลงก์ตอนจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นอาหารของปลาเล็ก เช่น ปลากระตัก ปลาทู และวาฬบรูด้าก็ตามเข้ากินปลาเหล่านี้อีกต่อหนึ่ง

ที่ใจกลางเมือง เหี้ยยังเริงร่าอยู่ในสวนลุมพินี และปริมณฑลอย่างบางกระเจ้าก็ยังมีหิ่งห้อย

ใจกลางย่านธุรกิจการค้าและการจราจรสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เหี้ยเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติ รักสงบ ไม่ทำร้ายคนก่อน กินกบ เขียด กุ้ง ปลา หนู คนที่มาใช้สวนลุมเป็นประจำไม่กลัวมัน แถมยังรู้ด้วยว่า ถ้าเข้าใกล้มาก  มันจะหนีไป ความที่เหี้ยสวนลุมอยู่กันสุขสบาย สวนลุมจึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยเพื่อดูเหี้ยใช้ชีวิตอิสระ เราไปดูเหี้ยหลังจากพวกมันส่วนใหญ่ถูกจับไปปล่อยที่อื่นด้วยข้อหาใดไม่แน่ชัด แต่ก็ยังพอได้เห็นพวกมันว่ายน้ำ เดินเล่น หรือนอนเกยก่ายกันเพลินใจนับได้ 19 ตัวในหนึ่งชั่วโมง เป็นหนึ่งชั่วโมงที่เราได้มองมันอย่างพินิจพิเคราะห์พ้นไปจากหน้าตาของมัน แม้แต่รอยตีนเล็กๆ ที่ต้องก้มมองบนพื้นโคลนชายตลิ่ง  ซึ่งพอเงยหน้าขึ้นมา ก็เห็นตึกสูงกรุกระจกรอบฝั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำหรับเหี้ย ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีอาหาร ไม่มีสัตว์ผู้ล่า หรือคนทำร้าย เท่านี้พวกมันก็อยู่ได้อย่างสบายแล้ว

ต้นไม้ในเมือง
นับวันที่พักอาศัยในเมืองคอนกรีตยิ่งหาพื้นดินไว้ปลูกพืชผักยากขึ้นทุกที รัชกรณ์ อดีตข้าราชการครู จึงอาศัยที่ว่างสาธารณะใต้ทางด่วนย่านพระรามสามเป็นแปลงปลูกพืชผัก การลงมือทำด้วยความตั้งใจและหาความรู้อย่างจริงจัง ทำให้เธอประสบความสำเร็จดังจะเห็นได้จากพืชผลที่งอกงาม

ต่างจากหิ่งห้อยที่เราต้องเคารพมันค่อนข้างมากเมื่อล่วงเข้าไปในถิ่น ตอนเดินตาม สุกิจ พลับจ่าง ผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบเข้าไปตามทางเดินปูนเล็กๆ มืดๆ เขาบอกว่าดีใจที่วันก่อนเกิดพายุจนไฟดับ เพราะแสงไฟรบกวนไฟกะพริบของหิ่งห้อยที่ใช้สื่อสารกัน เขาเตือนคนมาดูหิ่งห้อยเสมอว่า อย่าใช้ยาทากันยุงเพราะรบกวนหิ่งห้อยเหมือนกัน ฝนตกพรำๆ ดงหญ้าที่แต่ก่อนเคยมีหิ่งห้อยพราวแสงราวกับเมืองเนรมิต กลายเป็นทุ่งหญ้าสูงไม่มีหิ่งห้อยให้เห็นสักตัว เราต้องเดินเลยเข้าไปอีกถึงจะพอเห็นพวกมันวิบวับอยู่ในดงไม้ แม้จะยังไม่มากนักก็ตามแต่สุกิจก็บอกว่าปีนี้หิ่งห้อยมาเร็วกว่าเคย

แผนที่โลกของคนซ้อนทับไปบนโลกของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่สัตว์ใหญ่ที่มองเห็นได้เท่านั้น ยังมีพืชพรรณใหญ่น้อย เห็ดราและจุลินทรีย์ที่อยู่กันเป็นระบบทั่วทุกหนแห่ง เมืองที่เห็นกันแต่มนุษย์ทำให้เรามองไม่เห็นโลกของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พยายามอยู่ให้ได้ภายใต้ระบบนิเวศของตัวเอง  ด้วยความที่มีแต่แผนที่คน บางทีเราก็นึกอิจฉานักวิทยาศาสตร์ที่มีดวงตามองเห็นแผนที่ของมด แผนที่หิ่งห้อย แผนที่นาก และอื่นๆ เมื่อมองกวาดไปตามผืนดินหรือผืนน้ำแห่งเดียวกัน

สิ่งสำคัญมองไม่เห็นด้วยตา ใครๆ ก็รู้ แต่เราก็มองไม่เห็นมันอยู่ดี

เรื่อง  นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย  เอกรัตน์ ปัญญะธารา

 

อ่านเพิ่มเติม : เบอร์นี เคราส์ กับสรรพเสียงธรรมชาติที่เงียบงันลงทุกทีชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นผืนป่าอย่างน่าอัศจรรย์

Recommend