ภูเขายอดราบสูงตระหง่านเหนือป่าฝนแอมะซอน ประเทศกายอานา เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ และไขความลับของวิวัฒนาการ ความท้าทายข้อใหญ่ที่สุดอยู่ที่การไปถึงที่นั่นให้ได้
กายอานาแตกต่างจากประเทศอื่นในอเมริกาใต้ตรงที่เป็นชาติเดียวที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจาก การเป็นอาณานิคมอันยาวนานเพียงแห่งเดียวของอังกฤษในทวีปนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศปกคลุมด้วยป่าฝนไร้ถนน แต่ ณ ซอกมุมทางตะวันตกเฉียงเหนือสุด เทือกเขาปากาไรมาทอดขนานพรมแดนที่ติดกับบราซิลและเวเนซุเอลา ที่นี่มีภูเขายอดราบจำนวนมากพุ่งสูงเสียดฟ้าเหนือเรือนยอดไม้สีเขียวเข้มในลุ่มน้ำไปควา ชนพื้นเมืองเปมอนที่อาศัยอยู่ใต้ เงื้อมเงาขุนเขาเหล่านี้มาหลายร้อยปีเรียกยอดเขาแปลกตาเหล่านี้ว่า เตปูอี (Tepuis) ซึ่งแปลว่า “หินโผล่” หรือบางครั้งเรียกว่า “วิมานแห่งทวยเทพ”
ผิดกับเทือกเขาทั่วไปที่มักเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ เตปูอีกลับมีแนวโน้มตั้งอยู่โดดเดี่ยว โผล่ขึ้นมาจากป่าฝน เหมือนเกาะที่ผุดขึ้นกลางทะเลหมอก เตปูอีบางลูกอาจมีเส้นทางเดินป่าไปถึงยอด แต่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยหน้าผาชัน ซึ่งบางแห่งสูงถึง 900 เมตร และมักประดับด้วยน้ำตกงดงามตระการตา
นักธรณีวิทยาบอกว่า เตปูอีเหล่านี้เป็นเศษซากหลงเหลือของที่ราบสูงโบราณชื่อหินฐานทวีปกีอานา ซึ่งเคยเป็น ใจกลางมหาทวีปกอนด์วานา เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน พื้นที่ส่วนนี้ของทวีปอเมริกาใต้อยู่ติดกับทวีปแอฟริกา
มหาทวีปกอนด์วานาแยกจากกันนานมากแล้ว ทว่าพื้นที่ส่วนนี้ของอเมริกาใต้ยังคงมีเงื่อนงำมากมายของอดีตที่เคย มีร่วมกับแอฟริกา ทุกวันนี้ ชนิดพันธุ์ประจำถิ่นจำนวนหนึ่งบนเตปูอีมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับพืชและสัตว์ในแอฟริกาตะวันตก และชนิดของเพชรในเหมืองต่างๆ ของเซียร์ราลีโอนและกินีก็เหมือนกับเพชรที่กร่อนจากหน้าผาของเตปูอี แล้วไหลไปตามแม่น้ำไปควาและแม่น้ำอื่นๆ
ค่ำคืนมืดสนิทคืนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บรูซ มีนส์ ยืนอยู่ตามลำพัง ลึกเข้าไปในเทือกเขาปากาไรมาทางตะวันตกเฉียงเหนือของกายอานา เขากวาดตาผ่านป่าเมฆคลุมด้วยแสงไฟฉายคาดศีรษะ จ้องผ่านแว่นพร่ามัวไปยังท้องทะเลแห่ง หมู่ไม้โบราณที่คล้ายห่มคลุมด้วยผืนมอสส์สีเขียวสด อากาศชื้นอวลกลิ่นพืชพรรณและไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง เซ็งแซ่ด้วยเสียงดนตรีประสานบรรเลงของกบ ซึ่งล่อลวงเขาดุจเพลงเพรียกของเหล่านางไม้ให้เข้าสู่ป่ารกชัฏที่ลึกเสียจนกระทั่งตัวเขาเองยังไม่แน่ใจว่าจะกลับออกไปได้หรือไม่
ขณะที่มือข้างหนึ่งคว้าต้นไม้เล็กๆ เพื่อทรงตัว บรูซก็ก้าวสั่นๆไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ขาของเขาสั่นเทิ้มขณะที่มันจมลงในกองเศษใบไม้ในพรุ และเขาก็สบถบ่นร่างกายวัย 79 ปีของตนเอง ตอนเริ่มการสำรวจครั้งนี้ บรูซบอกผมว่า เขาวางแผนจะเริ่มช้าๆ แต่จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้นในแต่ละวันที่ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตในป่าได้
ถึงที่สุดแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานในฐานะนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ เขาก็เข้ามาสำรวจภูมิภาคนี้มาก่อนแล้ว 32 ครั้ง ผมเคยเห็นภาพถ่ายของเขาสมัยยังหนุ่มกว่านี้ บุรุษร่างสูง 193 เซนติเมตร ไหล่กว้าง ผู้ใช้ชีวิตเยี่ยงคนหลังเขา ผมยาว ผูกรวบเป็นหางม้าและมีงูตัวมหึมาพันรอบลำคอ
ผมพบบรูซครั้งแรกเมื่อปี 2001 ผ่านเพื่อนที่รู้จักเราทั้งคู่ที่สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เขาเล่าเรื่องการสำรวจ เตปูอีบางส่วนให้ผมฟัง โดยบรรยายว่ามันเป็นห้องปฏิบัติการส่วนตัวของวิวัฒนาการ เป็นหมู่เกาะบนฟากฟ้า ซึ่งถูกแยก ให้อยู่โดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิงมาเนิ่นนาน จนทำให้กบบางชนิดมีอยู่เฉพาะบนยอดเตปูอีลูกหนึ่ง และไม่พบในที่อื่นใดของโลกอีก
“เตปูอีก็เหมือนหมู่เกาะกาลาปาโกสละครับ” บรูซเคยบอกผม “แต่เก่าแก่กว่าและศึกษายากกว่าเอามากๆ”
เขาเล่าเรื่องสารพัดให้ผมฟังเกี่ยวกับการนั่งรถบัสบุโรทั่งในทศวรรษ 1980 ข้ามที่ราบกรันซาบานาในเวเนซุเอลา ก่อนลุยเข้าสู่เทือกเขาเพื่อตามล่าหาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ๆ ครั้งหนึ่งเขาใช้ชีวิตตามลำพังหลายวันบนยอดเขาห่างไกลแห่งหนึ่ง บางครั้งเนื้อตัวเปล่าเปลือย อยู่ใกล้ชิดโลกธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลักปรัชญานั้นนำเขามาถึงที่นี่ในตอนนี้ แน่นอนว่าผมหางม้ากลายเป็นสีเทาและบางลง และน้ำหนัก 129 กิโลกรัมของเขาก็เกินความพร้อมไปไม่น้อย แต่เขายืนยันว่ายังไม่หมดไฟ และจะคืนสู่ท่วงทำนองของตนเองได้ในไม่ช้า
แต่ป่าทึบ ซึ่งมีทั้งฝูงแมลง ฝนที่ตกไม่หยุด และพรุที่ตั้งท่าจะดูดคนลงไปทั้งตัว มีวิธีบั่นทอนกำลังของผู้คน และหลังจากลุยป่าลุ่มๆดอนๆ และข้ามแม่น้ำสายแล้วสายเล่าหนึ่งสัปดาห์ ทุกคนในทีมสำรวจก็เห็นชัดว่า บรูซอ่อนระโหยโรยแรงไปทุกวัน ป่าดงบนที่สูงกีอานาไม่เหมาะสำหรับคนวัยเจ็ดสิบที่หมดสภาพ
แต่ผมเคยเห็นบรูซฟื้นตัวได้มาก่อน เราเคยร่วมทางกันมาแล้วสามครั้งในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นจุดร้อนอันห่างไกลของความหลากหลายทางชีวภาพชื่อลุ่มน้ำไปควา ที่ทอดตัวไปตามชายขอบทางเหนือของป่าฝนแอมะซอน สิ่งที่เป็นความสนใจหลักของบรูซคือกบ และถ้าโลกมีแดนสวรรค์ของกบ ย่อมเป็นที่นี่แน่นอน
กบมีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศต่างๆทั่วโลก แต่ไม่มีที่แห่งไหนที่พวกมันอยู่มาเนิ่นนานยิ่งกว่าป่าฝนในเขต ศูนย์สูตรเช่นป่าผืนนี้อีกแล้ว ตลอดหลายล้านปี กบที่นี่เดินตามเส้นทางวิวัฒนาการอันหลากหลาย ส่งผลให้เกิดชนิดพันธุ์ที่มีความหลายหลาก ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีสัน รวมทั้งการปรับตัวอย่างน่าอัศจรรย์
ลำพังในลุ่มน้ำแอมะซอนเพียงแห่งเดียวก็มีการระบุชนิดพันธุ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกได้มากกว่าหนึ่งพันชนิดแล้ว กบนานาชนิดเหล่านี้นำไปสู่การค้นพบใหม่ๆที่ปฏิวัติวงการทางการแพทย์ รวมถึงยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดชนิดใหม่ๆ ตลอดจนยาที่มีศักยภาพในการรักษาอัลไซเมอร์และมะเร็ง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาระบุชนิดพันธุ์กบได้เพียงเศษเสี้ยวของที่มีในโลกเท่านั้น ขณะเดียวกัน ชนิดพันธุ์ ที่เรารู้จักก็หายไปในอัตราเร็วที่น่าตกใจ ตัวเลขคาดการณ์บางแหล่งชี้ว่า อาจมีกบมากถึง 200 ชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และบรูซกับนักชีววิทยาคนอื่นๆเกรงว่าจะมีอีกมากที่สูญพันธุ์ไปก่อนเราจะทันได้รู้จัก จะมีความลับเกี่ยวกับวิวัฒนาการ การแพทย์ และปริศนาอื่นใดอีกบ้างที่จะสูญหายไปพร้อมกับพวกมัน
บรูซพุ่งความสนใจไปยังขุมทรัพย์ทางชีววิทยาอันรุ่มรวยที่ป่าฝนเหล่านี้ยังคงเก็บรักษาไว้ “ศักยภาพแห่งการค้นพบในอนาคตของไปควานั้นไร้ขีดจำกัดจริงๆครับ” เขาบอกผมด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความกระตือรือร้นเฉพาะตัว แต่เขาก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยลงทุกที ไม่ใช่สำหรับพวกกบเท่านั้น แต่สำหรับตัวเขาเองด้วย
เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์
ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก
ติดตามสารคดี ไต่หน้าผาเยือนโลกสาบสูญ ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/543178