ภารกิจไต่หน้าผาเยือนโลกสาบสูญที่กายอานา ค้นหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ เหนือแอมะซอน

ภารกิจไต่หน้าผาเยือนโลกสาบสูญที่กายอานา ค้นหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ เหนือแอมะซอน

ภูเขายอดราบสูงตระหง่านเหนือป่าฝนแอมะซอน ประเทศกายอานา เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ และไขความลับของวิวัฒนาการ ความท้าทายข้อใหญ่ที่สุดอยู่ที่การไปถึงที่นั่นให้ได้

กายอานาแตกต่างจากประเทศอื่นในอเมริกาใต้ตรงที่เป็นชาติเดียวที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจาก การเป็นอาณานิคมอันยาวนานเพียงแห่งเดียวของอังกฤษในทวีปนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศปกคลุมด้วยป่าฝนไร้ถนน แต่ ณ ซอกมุมทางตะวันตกเฉียงเหนือสุด เทือกเขาปากาไรมาทอดขนานพรมแดนที่ติดกับบราซิลและเวเนซุเอลา ที่นี่มีภูเขายอดราบจำนวนมากพุ่งสูงเสียดฟ้าเหนือเรือนยอดไม้สีเขียวเข้มในลุ่มน้ำไปควา ชนพื้นเมืองเปมอนที่อาศัยอยู่ใต้ เงื้อมเงาขุนเขาเหล่านี้มาหลายร้อยปีเรียกยอดเขาแปลกตาเหล่านี้ว่า เตปูอี (Tepuis) ซึ่งแปลว่า “หินโผล่” หรือบางครั้งเรียกว่า “วิมานแห่งทวยเทพ”

ผิดกับเทือกเขาทั่วไปที่มักเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ เตปูอีกลับมีแนวโน้มตั้งอยู่โดดเดี่ยว โผล่ขึ้นมาจากป่าฝน เหมือนเกาะที่ผุดขึ้นกลางทะเลหมอก เตปูอีบางลูกอาจมีเส้นทางเดินป่าไปถึงยอด แต่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยหน้าผาชัน ซึ่งบางแห่งสูงถึง 900 เมตร และมักประดับด้วยน้ำตกงดงามตระการตา

สายพันธุ์ใหม่, สิ่งมีชีวิต, นักวิจัย
บรูซ มีนส์ คลำใต้ก้อนหินเพื่อหากบและสัตว์อื่นๆ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์ ในการสำรวจครั้งนี้ นักชีววิทยาวัย 79 ปีศึกษาถิ่นอาศัยในน้ำจำนวนมาก เขาบอกว่า กระทั่งสระน้ำก็อาจเป็นจักรวาลจิ๋วแห่งชีวิตได้ โดยอาจมีหลายชนิดพันธุ์ซึ่งไม่พบในที่อื่นใดอีก

นักธรณีวิทยาบอกว่า เตปูอีเหล่านี้เป็นเศษซากหลงเหลือของที่ราบสูงโบราณชื่อหินฐานทวีปกีอานา ซึ่งเคยเป็น ใจกลางมหาทวีปกอนด์วานา เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน พื้นที่ส่วนนี้ของทวีปอเมริกาใต้อยู่ติดกับทวีปแอฟริกา

มหาทวีปกอนด์วานาแยกจากกันนานมากแล้ว ทว่าพื้นที่ส่วนนี้ของอเมริกาใต้ยังคงมีเงื่อนงำมากมายของอดีตที่เคย มีร่วมกับแอฟริกา ทุกวันนี้ ชนิดพันธุ์ประจำถิ่นจำนวนหนึ่งบนเตปูอีมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับพืชและสัตว์ในแอฟริกาตะวันตก และชนิดของเพชรในเหมืองต่างๆ ของเซียร์ราลีโอนและกินีก็เหมือนกับเพชรที่กร่อนจากหน้าผาของเตปูอี แล้วไหลไปตามแม่น้ำไปควาและแม่น้ำอื่นๆ

ค่ำคืนมืดสนิทคืนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บรูซ มีนส์ ยืนอยู่ตามลำพัง ลึกเข้าไปในเทือกเขาปากาไรมาทางตะวันตกเฉียงเหนือของกายอานา เขากวาดตาผ่านป่าเมฆคลุมด้วยแสงไฟฉายคาดศีรษะ จ้องผ่านแว่นพร่ามัวไปยังท้องทะเลแห่ง หมู่ไม้โบราณที่คล้ายห่มคลุมด้วยผืนมอสส์สีเขียวสด อากาศชื้นอวลกลิ่นพืชพรรณและไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง เซ็งแซ่ด้วยเสียงดนตรีประสานบรรเลงของกบ ซึ่งล่อลวงเขาดุจเพลงเพรียกของเหล่านางไม้ให้เข้าสู่ป่ารกชัฏที่ลึกเสียจนกระทั่งตัวเขาเองยังไม่แน่ใจว่าจะกลับออกไปได้หรือไม่

อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ซึ่งโด่งดังจากการพิชิตเอลแคพิแทนในอุทยานแห่งชาติโยเซมิทีโดยไม่ใช้เชือก เข้าร่วมการสำรวจ เพื่อช่วยทีมปีนผาหินควอร์ตไซต์ของไวอัสซิปู “เป็นหนึ่งในภูเขาหินที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยปีนเลยครับ” เขาบอก ภูเขา ลูกนี้เป็นหินเก่าแก่ที่สุดซึ่งก่อตัวขึ้นบนพื้นทะเลดึกดำบรรพ์เมื่อราว 1,700 ล้านปีก่อน

ขณะที่มือข้างหนึ่งคว้าต้นไม้เล็กๆ เพื่อทรงตัว บรูซก็ก้าวสั่นๆไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ขาของเขาสั่นเทิ้มขณะที่มันจมลงในกองเศษใบไม้ในพรุ และเขาก็สบถบ่นร่างกายวัย 79 ปีของตนเอง ตอนเริ่มการสำรวจครั้งนี้ บรูซบอกผมว่า เขาวางแผนจะเริ่มช้าๆ แต่จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้นในแต่ละวันที่ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตในป่าได้

ถึงที่สุดแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานในฐานะนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ เขาก็เข้ามาสำรวจภูมิภาคนี้มาก่อนแล้ว 32 ครั้ง ผมเคยเห็นภาพถ่ายของเขาสมัยยังหนุ่มกว่านี้ บุรุษร่างสูง 193 เซนติเมตร ไหล่กว้าง ผู้ใช้ชีวิตเยี่ยงคนหลังเขา ผมยาว ผูกรวบเป็นหางม้าและมีงูตัวมหึมาพันรอบลำคอ

ผมพบบรูซครั้งแรกเมื่อปี 2001 ผ่านเพื่อนที่รู้จักเราทั้งคู่ที่สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เขาเล่าเรื่องการสำรวจ เตปูอีบางส่วนให้ผมฟัง โดยบรรยายว่ามันเป็นห้องปฏิบัติการส่วนตัวของวิวัฒนาการ เป็นหมู่เกาะบนฟากฟ้า ซึ่งถูกแยก ให้อยู่โดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิงมาเนิ่นนาน จนทำให้กบบางชนิดมีอยู่เฉพาะบนยอดเตปูอีลูกหนึ่ง และไม่พบในที่อื่นใดของโลกอีก

“เตปูอีก็เหมือนหมู่เกาะกาลาปาโกสละครับ” บรูซเคยบอกผม “แต่เก่าแก่กว่าและศึกษายากกว่าเอามากๆ”

หน้าผา, สายพันธุ์ใหม่
เมานต์รอไรมาตระหง่านเหนือป่าฝนซึ่งเป็นบริเวณที่พรมแดนของกายอานา บราซิล และเวเนซุเอลามาบรรจบกัน คนท้องถิ่นเรียกภูเขานี้และภูเขายอดราบแบบเดียวกันว่า เตปูอี หรือ “หินโผล่” นี่คือสิ่งที่หลงเหลือของที่ราบสูงดึกดำบรรพ์ ซึ่งสึกกร่อนไปตลอดระยะเวลาหลายล้านปี

เขาเล่าเรื่องสารพัดให้ผมฟังเกี่ยวกับการนั่งรถบัสบุโรทั่งในทศวรรษ 1980 ข้ามที่ราบกรันซาบานาในเวเนซุเอลา ก่อนลุยเข้าสู่เทือกเขาเพื่อตามล่าหาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ๆ ครั้งหนึ่งเขาใช้ชีวิตตามลำพังหลายวันบนยอดเขาห่างไกลแห่งหนึ่ง บางครั้งเนื้อตัวเปล่าเปลือย อยู่ใกล้ชิดโลกธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลักปรัชญานั้นนำเขามาถึงที่นี่ในตอนนี้ แน่นอนว่าผมหางม้ากลายเป็นสีเทาและบางลง และน้ำหนัก 129 กิโลกรัมของเขาก็เกินความพร้อมไปไม่น้อย แต่เขายืนยันว่ายังไม่หมดไฟ และจะคืนสู่ท่วงทำนองของตนเองได้ในไม่ช้า

แต่ป่าทึบ ซึ่งมีทั้งฝูงแมลง ฝนที่ตกไม่หยุด และพรุที่ตั้งท่าจะดูดคนลงไปทั้งตัว มีวิธีบั่นทอนกำลังของผู้คน และหลังจากลุยป่าลุ่มๆดอนๆ และข้ามแม่น้ำสายแล้วสายเล่าหนึ่งสัปดาห์ ทุกคนในทีมสำรวจก็เห็นชัดว่า บรูซอ่อนระโหยโรยแรงไปทุกวัน ป่าดงบนที่สูงกีอานาไม่เหมาะสำหรับคนวัยเจ็ดสิบที่หมดสภาพ

สายพันธุ์ใหม่, สิ่งมีชีวิต
บนยอดเขาไวอัสซิปู นักวิจัยออกค้นหากบท่ามกลางดงสับปะรดสีที่ขึ้นหนาแน่น เตปูอีแต่ละลูกคือโอกาสพิเศษเฉพาะ ที่จะศึกษาวิวัฒนาการ เพราะชนิดพันธุ์พืชและสัตว์จำนวนมากบนยอดเขานี้อยู่อย่างโดดเดี่ยวจากชนิดพันธุ์อื่นๆ มานานหลายพันปี

แต่ผมเคยเห็นบรูซฟื้นตัวได้มาก่อน เราเคยร่วมทางกันมาแล้วสามครั้งในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นจุดร้อนอันห่างไกลของความหลากหลายทางชีวภาพชื่อลุ่มน้ำไปควา ที่ทอดตัวไปตามชายขอบทางเหนือของป่าฝนแอมะซอน สิ่งที่เป็นความสนใจหลักของบรูซคือกบ และถ้าโลกมีแดนสวรรค์ของกบ ย่อมเป็นที่นี่แน่นอน

กบมีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศต่างๆทั่วโลก แต่ไม่มีที่แห่งไหนที่พวกมันอยู่มาเนิ่นนานยิ่งกว่าป่าฝนในเขต ศูนย์สูตรเช่นป่าผืนนี้อีกแล้ว ตลอดหลายล้านปี กบที่นี่เดินตามเส้นทางวิวัฒนาการอันหลากหลาย ส่งผลให้เกิดชนิดพันธุ์ที่มีความหลายหลาก ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีสัน รวมทั้งการปรับตัวอย่างน่าอัศจรรย์

ลำพังในลุ่มน้ำแอมะซอนเพียงแห่งเดียวก็มีการระบุชนิดพันธุ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกได้มากกว่าหนึ่งพันชนิดแล้ว กบนานาชนิดเหล่านี้นำไปสู่การค้นพบใหม่ๆที่ปฏิวัติวงการทางการแพทย์ รวมถึงยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดชนิดใหม่ๆ ตลอดจนยาที่มีศักยภาพในการรักษาอัลไซเมอร์และมะเร็ง

สายพันธุ์ใหม่
กบต้นไม้กาไนมา (Nesorohyla kanaima) มักมีตาสีเข้ม “มีกบอีกไม่กี่ชนิดที่มีม่านตาดำมากจนเราไม่เห็นรูม่านตาของมันครับ” บรูซ มีนส์ บอก ยังไม่ชัดเจนว่าการมีม่านตาสีดำมีข้อได้เปรียบกว่าสีอื่นๆอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาระบุชนิดพันธุ์กบได้เพียงเศษเสี้ยวของที่มีในโลกเท่านั้น ขณะเดียวกัน ชนิดพันธุ์ ที่เรารู้จักก็หายไปในอัตราเร็วที่น่าตกใจ ตัวเลขคาดการณ์บางแหล่งชี้ว่า อาจมีกบมากถึง 200 ชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และบรูซกับนักชีววิทยาคนอื่นๆเกรงว่าจะมีอีกมากที่สูญพันธุ์ไปก่อนเราจะทันได้รู้จัก จะมีความลับเกี่ยวกับวิวัฒนาการ การแพทย์ และปริศนาอื่นใดอีกบ้างที่จะสูญหายไปพร้อมกับพวกมัน

บรูซพุ่งความสนใจไปยังขุมทรัพย์ทางชีววิทยาอันรุ่มรวยที่ป่าฝนเหล่านี้ยังคงเก็บรักษาไว้ “ศักยภาพแห่งการค้นพบในอนาคตของไปควานั้นไร้ขีดจำกัดจริงๆครับ” เขาบอกผมด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความกระตือรือร้นเฉพาะตัว แต่เขาก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยลงทุกที ไม่ใช่สำหรับพวกกบเท่านั้น แต่สำหรับตัวเขาเองด้วย

เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์

ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก

ติดตามสารคดี ไต่หน้าผาเยือนโลกสาบสูญ ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/543178


อ่านเพิ่มเติม ตามหาแมลงกลางพงไพรแอมะซอน

ป่าแอมะซอน

Recommend