ในเวลาเพียง 20 ปี แมวป่าลิงซ์ไอบีเรียเปลี่ยนสถานะจากสัตว์ตระกูลแมวที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก ไปสู่ชัยชนะ อันยิ่งใหญ่ที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ตระกูลแมว
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2002 สัตว์ผู้ล่าตาสีทองหางสั้นชนิดนี้จำนวนไม่ถึง 100 ตัวย่องผ่านป่าไม้พุ่มแบบ เมดิเตอร์เรเนียนบนคาบสมุทรไอบีเรีย นับตั้งแต่นั้นมา ประชากรของพวกมันเพิ่มขึ้นสิบเท่า โดยกระจายอยู่ทั่วสเปนและโปรตุเกสอย่างน้อย 1,100 ตัว
การพลิกฟื้นกลับมาอย่างน่าทึ่งนี้เป็นผลจากความพยายามเต็มกำลังเพื่อขยายพันธุ์แมวป่าชนิดนี้ใน สถานเพาะเลี้ยง สถานะของแมวป่าลิงซ์ในฐานะสมบัติทางธรรมชาติ และความเป็นนักสู้ของมันเอง สร้างความประหลาดใจให้แม้กระทั่งนักอนุรักษ์
เมื่อโครงการไลฟ์ (Life Program) ของคณะกรรมาธิการยุโรปนำองค์กรพันธมิตรมากกว่า 20 องค์กร มาร่วมกันช่วยเหลือแมวป่าลิงซ์เป็นครั้งแรกในปี 2002 แมวป่าชนิดนี้หายไปเกือบหมดแล้ว การล่าอย่างแพร่หลาย และไวรัสคร่าชีวิตกระต่ายพันธุ์ยุโรปซึ่งเป็นเหยื่อหลักของแมวป่าลิงซ์จนหมดไปจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร
อย่างไรก็ตาม แมวป่าลิงซ์ขยายพันธุ์ได้ง่ายในสถานเพาะเลี้ยง และแมวป่าส่วนใหญ่ซึ่งในท้ายที่สุดได้รับ การปล่อยคืนสู่ถิ่นอาศัยที่ได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบทั่วสเปนและโปรตุเกส ล้วนขยายพันธุ์ได้ดี ใกล้จุดปล่อยหลักแห่งหนึ่งบริเวณอุทยานแห่งชาติเซียร์ราเดอันดูฆาร์ทางตอนใต้ของสเปน แมวป่าลิงซ์ไอบีเรียถึงกับเรียนรู้ที่จะอาศัย อยู่ในละแวกบ้านเรือนของคน ในสวนมะกอกเพื่อการค้า และพื้นที่รอบๆทางหลวง โดยส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการเจอคน
ความสามารถในการปรับตัวเช่นนี้ส่งเสริมให้แมวป่าลิงซ์เพิ่มจำนวนขึ้น และพอถึงปี 2015 องค์การ ระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ก็เปลี่ยนสถานะของแมวป่าลิงซ์จากใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งเป็น ใกล้สูญพันธุ์
“แมวป่าลิงซ์เป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติในไอบีเรีย และการอนุรักษ์พวกมันไว้เป็นความรับผิดชอบของเรา ทุกคน เพราะงานอนุรักษ์ที่ทำมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มันยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์ที่ ประสบความสำเร็จทั่วโลก” ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ซัลเซโด ออร์ติซ ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของแผนฟื้นฟูแมวป่าลิงซ์ไอบีเรียของอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นรัฐปกครองตนเองทางตอนใต้ของสเปน กล่าว
แต่จนถึงขณะนี้ แมวป่าลิงซ์ยังไม่พ้นจากอันตราย อาณาเขต 3,000 ตารางกิโลเมตรของมันแบ่งเป็นห้ากลุ่มแยกจากกัน ซึ่งอีกไม่นานจะเพิ่มเป็นเจ็ดกลุ่ม การจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แมวป่าลิงซ์ไอบีเรียต้องสามารถเดินทางจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มได้ เพื่อรับประกันสุขภาวะในระยะยาวของแมวป่าชนิดนี้โดยการทำให้ยีนพูล (gene pool) หรือแหล่งพันธุกรรมร่วมกัน มีความหลากหลาย
นี่เป็นเหตุผลที่ขั้นต่อไปของโครงการไลฟ์ คือไลฟ์ลิงซ์คอนเน็กต์ (Life LynxConnect) ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2020 จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างฉนวนทางเดินสำหรับสัตว์ป่าอย่างน้อย 10 แห่ง ฉนวนดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยที่เต็มไปด้วยกระต่ายขนาดพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตรโดยทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมกลุ่มประชากรแมวป่าลิงซ์ที่มีอยู่ นักวิทยาศาสตร์คัดเลือกถิ่นอาศัยเหล่านี้จากการคาดการณ์ว่า แมวป่าลิงซ์น่าจะใช้พื้นที่ใดเดินทางมากที่สุด
ซัลเซโดบอกว่า โดยหลักการแล้ว การเข้ามาแทรกแซงเช่นนี้จะเพิ่มจำนวนเพศเมียที่ผสมพันธุ์ได้เป็น 750 ตัวบนคาบสมุทรไอบีเรียเมื่อถึงปลายปี 2040 ซึ่งในเวลานั้นแมวป่าชนิดนี้จะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์น้อยลง
แมวป่าลิงซ์ไอบีเรียเป็นแมวขนาดเล็กหนึ่งใน 33 ชนิด ซึ่งหลายชนิดมีสถานะใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม สัตว์เหล่านี้ถูกญาติที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีชื่อเสียงมากกว่า เช่น สิงโตและเสือโคร่ง บดบังรัศมี แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนเริ่มยอมรับสัตว์เบี้ยล่างที่รู้จักกันน้อยของโลกชนิดนี้ จิม แซนเดอร์สัน ผู้จัดการโครงการเพื่อการอนุรักษ์แมว ขนาดเล็กขององค์กรรี:ไวลด์ (Re:wild) และสมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสัตว์ตระกูลแมวของไอยูซีเอ็น กล่าว
แซนเดอร์สันบอกว่า ปี 2020 เป็น “ปีที่ดีที่สุดสำหรับการอนุรักษ์แมวขนาดเล็กครับ ราวกับว่าเรามาถึง จุดพลิกผัน และจู่ๆก็มีพันธมิตรเข้ามาร่วมมากขึ้น”
เขาเสริมว่า แมวป่าลิงซ์ไอบีเรียควรเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคน
“ถ้าเราไม่ทำอะไรอย่างอื่นอีก” แซนเดอร์สันทิ้งท้าย การอนุรักษ์แมวป่าลิงซ์ “จะโดดเด่นอยู่กลางใจผมครับ”
เรื่อง คริสทีน เดลลามอร์
ภาพถ่าย เซร์ฆิโอ มาริฆวน
ติดตามสารคดี แมวป่าที่หวนคืน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/553207