ภาพถ่ายระยะใกล้มากเผยลักษณะเฉพาะที่ไม่ธรรมดาของ มด แมลงที่พบได้ทั่วไปมากที่สุดชนิดหนี่งในโลก
ความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็กๆ อาจติดต่อกันได้ ระหว่างเดินไปสวนสาธารณะในละแวกบ้านที่ลอนดอนเมื่อไม่กี่ปีก่อน เอดูอาร์ด ฟลอริน ไนกา กับลูกสาวตัวน้อย พบ มด ตัวหนึ่งบนทางเท้า สาวน้อยหยุดพินิจพิจารณามัน “ตาของมดอยู่ตรงไหนคะพ่อ” เธอถาม พ่อผู้เป็นครู และอดีตตำรวจผู้เก็บหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม สมัยอยู่บ้านเกิดในโรมาเนีย รู้ว่า ภาพถ่ายจะให้คำตอบได้
มดเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดและประสบความสำเร็จในขยายพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก หลักฐานฟอสซิล ชี้ว่ามดถือกำเนิดขึ้นในช่วง 168 ล้านถึง 140 ล้านปีก่อน ปัจจุบันอาจมีมดกว่า 15,000 ชนิด ในจำนวนนี้ได้รับการบรรยายทางอนุกรมวิธานแล้วประมาณ 12,000 ชนิด และหลายสิบชนิดมีภาพปรากฏใน Ants: Workers of the World (มด: กรรมกรของโลก) หนังสือเล่มแรกของไนกา
การถ่ายภาพมาโครของไนกานั้นต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิ่งใดให้มีขนาด 10 เท่า หรือหนึ่งพันเท่าของขนาดจริง เขาทำงานตามลำพังยามค่ำคืนในสตูดิโอหลังบ้าน เพราะแรงสั่นสะเทือนจากรถ ที่แล่นผ่านไปมาจะไม่รบกวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ แสงสว่างเพียงแหล่งเดียวในห้องคือแสงที่เขาฉายไปบนตัวแบบ
ผู้ร่วมงานส่งตัวอย่างมดและแมลงอื่นๆ มาให้ไนกา หรือไม่เขาก็สั่งมาจากอินเทอร์เน็ต บางตัวมาแบบเป็นๆ หลังถ่ายภาพแล้ว พวกมันถูกส่งคืนไปยังผู้ส่งหรือใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคอโลนีที่ไนกาเลี้ยงไว้ บางตัวอย่างดองมา โดยมักดองในแอลกอฮอล์ ในการเตรียมตัวอย่างที่ตายแล้วสำหรับการถ่ายภาพระยะใกล้ ไนกาคืนความชื้นให้มันอย่างระมัดระวัง ทำความสะอาด ง้างขากรรไกรออก แล้วปักมันให้อยู่ในท่วงท่าเหมือนมีชีวิต จากนั้น เขาถ่ายภาพขยายขนาดส่วนต่างๆ ของแมลงหลายร้อยภาพ ในการสร้างภาพสุดท้าย ไนการวมภาพ 150 ถึง 500 ภาพด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การซ้อนโฟกัส (focus stacking) ซึ่งผสานภาพแบบเดียวกันที่มีจุดโฟกัสต่างกันเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ ความชัดลึกมากขึ้น กว่าภาพถ่ายมดเหล่านี้ภาพหนึ่งจะเสร็จสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้น
เทคนิคการรวมภาพนี้ใช้กับตัวแบบที่มีชีวิตไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวทำให้มดดูราวกับว่ามีหลายหัว ดังนั้น การถ่ายภาพแมลงมีชีวิตเพื่อให้ได้ภาพที่น่าพอใจ ไนกาอาจต้องใช้เวลาสองถึงสามวัน เขาบอกว่า ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ เขาไม่ใช่คนที่มีความอดทน “แต่กับงานนี้ ผมไม่รู้ว่าความอดทนมาจากไหนครับ อาจเป็นเพราะผมรักมันจริงๆ ก็ได้” ไนกาหวังว่า ภาพถ่ายของเขาจะมีส่วนช่วยให้คนเห็นคุณค่าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วของโลก มากขึ้น ทั้งดวงตาและทุกส่วน
เรื่อง ฮิกส์ โวแกน
ภาพถ่าย เอดูอาร์ด ฟลอริน ไนกา
แปล ปณต ไกรโรจนานันท์
ติดตามสารคดี มดน้อยน่าเกรงขาม ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน เมษายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/574217