จาก ‘แร้ง’ ในสโนว์ไวท์ ถึงแร้งวัดสระเกศ ความลับ ตำนาน และคุณูปการของแร้ง

จาก ‘แร้ง’ ในสโนว์ไวท์ ถึงแร้งวัดสระเกศ ความลับ ตำนาน และคุณูปการของแร้ง

นกแร้ง ไม่ใช่แค่นกกินซาก แต่ยังอาจมีส่วนให้บรรพบุรุษของเรารอด

พฤติกรรมของแร้งยังทำให้เกิดความเชื่อในหลายวัฒนธรรมอีกด้วย

 

“แค่หนึ่งคำเท่านั้น แล้วทุกอย่างที่เธอฝันจะเป็นจริง” ราชินีผู้ชั่วร้ายในร่างหญิงชราชุดคลุมสีดำพูดชักจูงให้ สโนว์ไวท์ วัย 14 ปี กินแอปเปิ้ลอาบยาพิษเพื่อหวังจะปลิดชีพสโนว์ไวท์ หลังจากที่สโนว์ไวท์ได้ลิ้มรสแอปเปิ้ลอาบยาพิษ เธอก็สิ้นใจลง ราชินีผู้ชั่วร้ายหัวเราะอย่างมีความสุขก่อนที่จะต้องหนีเหล่าคนแคระทั้งเจ็ดที่ไล่ตามจับเธอ สุดท้ายราชินีผู้ชั่วร้ายก็ตกจากเนินเขาถูกหินก้อนใหญ่ทับร่างจนเสียชีวิต และมีนกแร้งสองตัวบินไปกินซากของเธอ

เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าชายรูปงามได้ตามหาสโนว์ไวท์ที่นอนหลับใหลอยู่ในโลงแก้วจนพบและจุมพิตเธอ สโนว์ไวท์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาท่ามกลางความยินดีของเหล่าคนแคระ ได้ใช้ชีวิตกับเจ้าชายอย่างมีความสุข 

snowwhite
ภาพจาก Snow White and the Seven Dwarfs (1937)

แต่สมมติว่าเจ้าชายตามหาสโนว์ไวท์ไม่เจอล่ะครับ?

ในฐานะนักชีววิทยา ผมคิดว่าสิ่งที่จะหาสโนว์ไวท์เจอก่อนเจ้าชาย น่าจะเป็นนกแร้ง 2 ตัวที่บินมารอกินศพของราชินีผู้ชั่วร้ายนั้นเอง บทความนี้เราจะมาเรียนรู้ความลับของนกแร้ง ที่ทุกท่านอาจจะคิดว่าเป็นเพียงนกที่กินซากศพ แต่แท้จริงแล้ว นกแร้งนี้อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บรรพบุรุษของเราอยู่รอดและมีวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันได้ครับ

นกแร้ง (Vultures) หรือ ที่เรารู้จักกันดีในนามของ นกผู้กินซาก (scavenger) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถพบได้ทั่วโลกยกเว้นที่ทวีปแอนตาร์กติกา และทวีปออสเตเรีย นกแร้งเป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ เมื่อกางปีกออกสามารถมีขนาดใหญ่ได้ถึงประมาณ 3 เมตร พฤติกรรมเด่นของเจ้านกแร้งนี้คือ มันชอบบินวนบนท้องฟ้าเพื่อหาซากสัตว์ นกแร้งหลายชนิดมีการวิวัฒนาการให้สมองส่วนรับกลิ่นมีขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้กลิ่นของซากสัตว์ที่ตายแล้วจากระยะทางที่ไกลหลายกิโลเมตร กลไกการหาอาหารโดยสังเขปคือ เมื่อสัตว์หรือมนุษย์ตายลง ร่างกายจะเริ่มหยุดทำงาน แบคทีเรียตามร่างกายจะเริ่มย่อยสลายสารต่างๆ ในร่างกายและปลดปล่อยแก๊สหลายชนิดออกมา แก๊สเหล่านี้จะล่องลอยไปในอากาศจนไปถึงเซลล์รับกลิ่นในจมูกของนกแร้งนั่นเอง พฤติกรรมการหาอาหารนี้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่าน่าจะเป็นส่วนช่วยให้บรรพบุรุษของมนุษย์อยู่รอดและวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันได้ครับ 

แร้ง vultures wings
ภาพนกแร้งขนาดใหญ่กำลังกินซากควาย (ภาพโดย Prasanna Kalita)
vultures-feed
ภาพนกแร้งกำลังกินซากของสัตว์ที่ตายแล้ว (ภาพโดย Sylvain Cordier)

การหาอาหารของนกแร้ง อาจมีส่วนช่วยให้บรรพบุรุษของเรารอดชีวิต

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของมนุษย์ในอดีตนอกจากจะกินอาหารจากการล่าเหยื่อแล้ว พวกเขายังกินซากสัตว์บางชนิดด้วย นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์ในอดีต อาจจะใช้นกแร้งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแหล่งอาหารได้ เนื่องจากนกแร้งสามารถได้กลิ่นของซากสัตว์ได้ไวกว่ามนุษย์ อีกทั้งยังบินอยู่บนท้องฟ้าทำให้มองเห็นได้ไกลกว่า ดังนั้น การเดินทางตามทิศทางการบินของนกแร้ง มีโอกาสทำให้บรรพบุรุษของมนุษย์สามารถหาอาหารได้ไว้ขึ้น

ภาพนกแร้งที่บินวนบนอากาศเพื่อหาอาหาร โดยเมื่อสิ่งมีชีวิตตายลงแก๊สแห่งความตายจะถูกพัดโชยไปตามกระแสลมจนไปถึงเซลล์รับกลิ่นในรูจมูกของนกแร้ง (ภาพจาก Avianreport.com)

แต่…หากบรรพบุรุษของมนุษย์กินซากของสัตว์ที่ตายแล้ว พวกเขาจะไม่ติดเชื้อและป่วยตายหรือ? แท้จริงแล้วนักปักษีวิทยา (Ornithologist) พบว่าส่วนมากนกแร้งจะกินซากศพที่ตายแล้วภายใน 1 – 4 วันเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่บรรพบุรุษของมนุษย์จะกินซากและติดเชื้อนั้นอาจมีโอกาสไม่มากนัก

ภาพจำลองพฤติกรรมบรรพบุรุษของมนุษย์ในอดีตที่ใช้นกแร้งในการคาดการณ์แหล่งอาหาร (ภาพโดย Morelli et al., 2015)

หนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจคือมีนักวิชาการสังเกตเห็นว่าบางครั้งนกแร้งจะใช้ประโยชน์จากไฟที่เกษตรกรใช้เผาผลิตผลทางการเกษตร เนื่องจากสัตว์บางกลุ่มอาจจะถูกไฟคลอกตาย และ นกแร้งก็จะกินศพเหล่านั้น พฤติกรรมนี้สามารถพบได้ในธรรมชาติเวลาเกิดไฟป่า นกแร้งก็จะคอยหาซากที่ถูกไฟเผาและกินเป็นอาหารในบางครั้ง ดังนั้น นักวิชาการจึงตั้งสมมติฐานว่าบรรพบุรุษของมนุษย์อาจจะสังเกตเห็นนกแร้งที่กินซากสัตว์ที่ผ่านความร้อนแล้วจึงลองกินตาม โดยนักวิชาการมีความเชื่อว่าการที่มนุษย์เริ่มกินอาหารที่ผ่านความร้อนจะทำให้มนุษย์ได้พลังงานมากกว่าอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน และพลังงานดังกล่าวอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยในการวิวัฒนาการของสมองที่ใหญ่ขึ้นของมนุษย์ก็เป็นได้

ภาพนกแร้งในประเทศบราซิล กำลังหาอาหารใกล้กับบริเวณไฟที่มนุษย์ก่อขึ้น (ภาพโดย Alexander Lees)

นอกจากนี้เนื่องจากนกแร้งมีขนาดใหญ่ ทำให้พวกมันมีอาณาเขตในการหาเหยื่อที่ไกลหลายร้อยกิโลเมตร นักมานุษยวิทยาจึงตั้งสมมติฐานว่า เนื่องจากมนุษย์ในอดีตใช้นกแร้งเป็นตัวช่วยในการหาแหล่งอาหาร จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อนกแร้งมีการอพยพ หรือ เคลื่อนย้ายประชากร อาจจะส่งผลให้บรรพบุรุษของมนุษย์มีการอพยพไปพร้อมกับนกแร้ง ทำให้พวกเขาได้พบกับแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ และเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์มากมายในอดีต

ภาพ GPS ที่ติดอยู่บนนกแร้ง (ภาพจาก Life Egyptian Vulture)
ภาพแสดงระยะทางการอพยพของนกแร้งจากทวีปแอฟริกาไปยังอิตาลีด้วยข้อมูลจาก GPD
(ภาพจาก Vulture Conservation Foundation)

ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่มนุษย์มีต่อนกแร้ง

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่ามนุษย์กับนกแร้งมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ในสมัยอียิปต์ ฟาโรห์จะนำนกแร้งมาทำเป็นผ้าโพกหัวด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ตนโชคดีและปลอดภัย และเนื่องจากนกแร้งมีความสามารถในการหาศพของสัตว์ที่ตายแล้วได้อย่างว่องไว มนุษย์ในอดีตจึงมีความเชื่อว่านกแร้งมีความสามารถในการพยากรณ์อนาคตและความตาย เช่น นกแร้งจะสามารถทำนายได้ว่าเมื่อมีสงครามระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายใดจะมีโอกาสพ่ายแพ้ได้มากกว่ากัน ความเชื่อนี้ยังหลงเหลื่ออยู่ในยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ประชาชนบางกลุ่มในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เชื่อว่าหากนำสมองของนกแร้งมาอบแห้งและบดรวมกับโคลน จากนั้นเอามาสูบเหมือนบุหรี่จะทำให้สามารถคาดการณ์เลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้เองอัตราการล่านกแร้งจึงเพิ่มขึ้น ประชากรนกแร้งเริ่มมีจำนวนลดลง กอปรกับกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลเสียกับนกแร้ง เช่น การวางยาสัตว์ที่มารบกวนมนุษย์ซึ่งนกแร้งที่กินซากสัตว์เหล่านั้นก็จะได้รับยาพิษเข้าไปและตายในที่สุด ส่งผลให้ประชากรนกแร้งหลายที่ในโลกสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพชาวแอฟริกาใต้กำลังขายหัวของนกแร้งเพื่อนำไปใช้ทำเป็นยาแผนโบราณ โดยชาวแอฟริกาใต้เชื่อว่าการกินสมองของนกแร้งจะทำให้คาดการณ์อนาคตได้ (ภาพจาก Charlie Hamilton James)

ในประเทศไทยก็มีบันทึกเกี่ยวกับนกแร้งไว้ในประวัติศาสตร์สมัยรัชการที่ 4 กล่าวคือในสมัยนั้นอหิวาตกโรคระบาดหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ศพจำนวนมากถูกขนย้ายไปที่วัดสระเกศ ในระหว่างที่รอการเผา นกแร้งจำนวนมากลงมาจิกกินซากศพจนเห็นถึงกระดูก เป็นภาพที่ไม่หน้าดูของคนในสมัยนั้น  อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนไทยจะมีทัศนคติที่ไม่ดีกับนกแร้ง ถึงขั้นบันทึกไว้ในตำรา “สกุณฤกษ์” ซึ่งคือตำราที่กล่าวถึงฤกษ์ที่ดีในการทำสิ่งต่างๆ ไว้ว่า

“ถ้าเห็นพญาแร้งบินมา ดุจพระยามาร ถ้าเห็นนกกระเรียนมา ดุจมนตรีหรือเสนาบดีมา ถ้าแลเห็นนกกาบินมา ดุจอำมาตย์ผู้ใหญ่มา ถ้าแลเห็นนกทั้งหลายบินมา ดุจสมณะและพราหมณ์มา”

ภาพนกแร้งมารอกินศพของชาวบ้าน ณ วัดสระเกศ (ภาพซ้ายจาก หอจดหมายเหตุ; ภาพขวาจากหนังสือ La Vie Illustree ฉบับ 26 May 1905)

แต่นกแร้งมีประโยชน์กับมนุษย์มากกว่าที่เราคิด นกแร้งช่วยกินซากศพทำลดปริมาณของเน่าเสียในธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิดได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าโรคพิษสุนัขบ้ามีการระบาดมากขึ้นเนื่องจากการสูญพันธุ์ของนกแร้งส่งผลให้สุนัขจรจัดมีคู่แข่งในการกินอาหารน้อยลง ประชากรสุนัขจรจัดจึงเพิ่มขึ้นมาก ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศอินเดีย โดยมีรายงานว่าประเทศอินเดียต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทยทั้งหมดในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการสูญพันธุ์ของนกแร้ง สร้างความเสียหายได้มากกว่าที่เราคิด 

ในเซเรงเกติ สุนัขจิ้งจอกออกอาการเกรี้ยวกราดใส่แร้งหลังขาวที่ยังโตไม่เต็มวัย เมื่อฝ่ายหลังเข้าไปกินซาก วิลเดอบีสต์โดยไม่ได้รับเชิญ สัตว์นักล่าบนพื้นดิน เช่น สุนัขจิ้งจอกและไฮยีนา มีอาณาเขตหากินจำกัด ขณะที่แร้งซึ่งบินสูงอยู่เบื้องบนมีระยะการมองเห็นไกลกว่ามาก พวกมันมองเห็นซากที่อยู่ห่างออกไป 35 กิโลเมตรได้ไม่ยาก (ภาพจาก Charlie Hamilton James)

จากการที่นักชีววิทยามีการศึกษา วิจัย และ ผลิตข้อมูลทางชีววิทยาของนกแร้งมากขึ้นทำให้เราสามารถอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรของนกแร้งได้ อีกทั้งยังเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากความเข้าใจพฤติกรรมของนกแร้งเช่น ตำรวจของประเทศเยอรมนีเริ่มมีการฝึกนกแร้งเพื่อช่วยในการหาศพของมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ในป่า เนื่องจากนกแร้งสามารถดมกลิ่นศพได้ไวและเคลื่อนที่ได้เร็วและไกลกว่าสุนัขลาตระเวร โดยวิธีการคือ ตำรวจจะฝึกให้นกแร้งดมกลิ่นจากเสื้อผ้าของคนที่หายตัวไป จากนั้นทำการติด GPS ไว้ที่ตัวนกแร้งและปล่อยให้นกแร้งบินไปหาศพของผู้สูญหาย อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวยังต้องอาศัยการฝึกที่มากขึ้นเนื่องจากบางครั้งนกแร้งจะลงไปกินศพของสัตว์ชนิดอื่น ก่อนที่จะไปตามหาศพของผู้สูญหาย

และนี้คือเรื่องราวที่น่ารู้บางส่วนเกี่ยวกับนกแร้ง สัตว์ที่มีประโยชน์กับมนุษย์แต่มักจะถูกหลงลืมไป 

กลับมายังเรื่องราวของการ์ตูนดิสนีย์ ผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับของการ์ตูนดิสนีย์จะพบว่านกแร้งนั้นไม่ได้เพียงปรากฏออกมาในเรื่องสโนว์ไวท์เรื่องเดียว แต่ยังปรากฏออกมาในการ์ตูนดิสนีย์อีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ท่านผู้อ่านลองไปดูการ์ตูนเรื่องอื่นๆของดีสนีย์และมาแชร์กันได้ครับ ว่าเจอนกแร้งอยู่ในเรื่องใดบ้าง และ นกแร้งนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบ้าง?

ท้ายที่สุดก็ขอดีใจกับสโนว์ไวท์ด้วยนะครับ ที่เจ้าชายรูปงามได้เดินทางมาเจอเธอก่อนที่นกแร้งจะบินมาเจอ มิฉะนั้น เรื่องราวของสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดคงจะจบแบบสยองขวัญแทนที่จะเป็นแบบ Happy Ending 

 

บทความโดย

ดร. วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ซีรี่ส์บทความ “ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์

“จากสโนว์ไวท์ที่หลับอยู่ในโลงแก้วถึงปลาการ์ตูนนีโม่ในแนวปะการังที่ออสเตรเลีย ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าในการ์ตูนทุกเรื่องของดิสนีย์จะมีสัตว์อย่างน้อย 1 ชนิดปรากฏมาเป็นตัวละครให้เราได้รู้จักกัน 

รู้หรือไหมว่าสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์มีที่มาจากสัตว์ที่มีอยู่จริงและพฤติกรรมต่างๆที่สัตว์เหล่านั้นแสดงก็มีอยู่จริงเช่นกัน ซีรีส์บทความนี้จะเล่าถึงเรื่องราวชีววิทยาและพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์ที่ทุกท่านอาจจะยังไม่ทราบ พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสัตว์เหล่านั้น

หลังจากอ่านซีรีส์บทความนี้จบแล้วหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะรับชมการ์ตูนดีสนีย์ในมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปครับ”


เอกสารอ้างอิง

Morelli, F., Kubicka, A. M., Tryjanowski, P., & Nelson, E. (2015). The vulture in the sky and the hominin on the land: three million years of human–vulture interaction. Anthrozoös, 28(3), 449–468.

https://www.thecrimson.com/article/2011/11/9/research-cooking-energy/

https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/vultures-endangered-scavengers

https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/africaandindianocean/southafrica/6895577/South-Africans-smoke-vulture-brains-to-bring-lottery-luck.html

https://www.theguardian.com/world/2009/dec/30/vulture-extinct-gambling

https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/thailand-vulture-2/

http://www.sookjai.com/index.php?topic=177274.0;wap2

https://plan.vru.ac.th/?dt_portfolio=ร่าง-งบประมาณรายจ่ายจำ

https://www.thenationalnews.com/world/europe/police-train-vultures-to-find-human-remains-1.492053

https://www.thespruce.com/fun-facts-about-vultures-385520

https://4vultures.org/blog/vultures-are-spectacular-here-are-9-fascinating-vulture-facts-that-prove-it/

https://avianreport.com/turkey-vulture-sense-of-smell/


อ่านเพิ่มเติม

แร้ง : วายร้ายแสนดี

Recommend