สุนัขกินได้แทบทุกอย่าง (ยกเว้นช็อคโกแลต) แต่ แมว กลับเรื่องมากเรื่องกิน เพราะอะไร?

สุนัขกินได้แทบทุกอย่าง (ยกเว้นช็อคโกแลต) แต่ แมว กลับเรื่องมากเรื่องกิน เพราะอะไร?

คำถามที่พ่อแม่สัตว์เลี้ยงอย่าง แมว หมา หลายคนมักคิดถึงขณะที่พยายามป้อน “อาหารราคาแพง” ให้เจ้าเหมียว แต่ก็ต้องพยายามงัดเศษหน้าออกจากปากที่น้ำลายไหลของน้องหมา

มีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับรสนิยมด้านรสชาติของสัตว์ แต่ด้วยงานวิจัยที่กำลังเริ่มต้นและก้าวหน้า นักวิทยาศาสตร์ได้พบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการกินและความเรื่องมาก โดยเฉพาะเจ้าตัวร้ายขนปุยที่กำลังนอนเกาพุงอยู่บนโซฟาของเรา
.
แมวสามารถลิ้มรสอะไรได้บ้าง? ถ้าเราทำขนมหล่นลงบนพื้น น้องหมาของคุณอาจจะงับมันไปกินทันทีในคำเดียว กลับกัน เจ้าเหมียวอาจมองขนมแล้วเงยหน้าขึ้นกลับมามองเรา นักวิจัยยังไม่รู้อะไรชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาบอกได้คือ “แมวไม่กินหวาน”

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบยีนบางตัวบนดีเอ็นเอของแมวบ้าน เสือ หรือชีตาห์ที่ต่างก็มียีนที่ชื่อว่า ‘Tas1r2’ ในเวอร์ชั่นที่ ‘เสียหาย’ โดยปกติแล้วยีนตัวนี้จะทำงานร่วมกับยีนอื่นเช่น Tas1r3 เพื่อให้สิ่งมีชีวิตนั้นตรวจจับรสหวานได้ แม้ยีน Tas1r3 จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบในแมว แต่สำหรับ Tas1r2 นั้นกลับตรงข้าม

มันไม่มีรหัสบนยีน 247 ตัวซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตโปรตีนสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างตัวรับความหวานบนต่อมรับรสของแมว โดยสรุปแล้ว เพราะยีน Tas1r2 ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้สัตว์ตระกูลแมวไม่สามารถรับรสหวานได้
เช่นนั้นแล้วแมวจะลิ้มรสชาติใดได้บ้าง?

เมื่อพิจารณาจากอาหารที่แมวเน้นเนื้อสัตว์เป็นหลัก ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเจ้าเหมียวเหล่านี้สามารถรับรส ‘อูมามิ’ ได้ซึ่งเป็นรสชาติที่เข้มข้น เผ็ดร้อน และมีสิ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า ‘แก่นแท้ของความอร่อย’

หลักฐานที่ยืนยันถึงสิ่งนี้มาจากการที่พบว่าแมวมียีนที่จำเป็นในการสร้างตัวรับรสชาติอูมามินั่นคือ Tas1r1 และ Tas1r3

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหลักฐานจากการทดลองด้วยเช่นกัน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ให้แมว 25 ตัวเลือกกินน้ำจากชามที่มีน้ำเปล่าและชามที่มีโมเลกุลรสชาติอูมามิ แมวต่างก็เทใจให้กับอูมามิ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำที่มีสารประกอบอูมามิในปลาทูน่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแมวถึงชอบปลาทะเลชนิดนี้ทั้งที่พวกมันไม่ได้เติบโตที่ทะเล

คุณกินอย่างที่คุณเป็น (ทางพันธุกรรม) แม้แมวจะไม่กินหวานเหมือนสุนัข แต่ทั้งคู่ต่างก็มียีนรับรสขม การรับรู้ชาติต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้สัตว์ประเมินแหล่งอาหารที่เป็นไปได้เช่น ความหวานบ่งบอกว่าอาหารอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นพลังงานที่ดี อูมามิส่งสัญญาณว่ามีโปรตีน ขณะที่ความเค็มหมายถึงโซเดียมที่เป็นสารอาหารจำเป็น

ความเปรี้ยวนั้นซับซ้อนกว่าเล็กน้อย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจสื่อถึงความเป็นกรดที่ทั้งเป็นประโยชน์ในการรับประทานวิตามินซี และบอกว่าผลไม้นั้นเน่าเสียไม่ปลอดภัยที่จะกิน ส่วนรสขมนั้นยังมีการถกเถียงกันอยู่แม้จะมีความเชื่อยาวนานว่าอาจบ่งบอกถึงความเป็นพิษ

สิ่งเหล่านี้ถูกวิวัฒนาการขึ้นมาตามความจำเป็นของสัตว์แต่ละชนิด บางครั้ง ยีนรับรสอาจกลายพันธุ์แบบสุ่มแล้วหากสัตว์ตัวนั้นรอดชีวิตได้ดี พวกมันจะถ่ายทอดลักษณะนั้นไปยังลูกหลานจนกลายเป็นบรรทัดฐานของสายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์คิดว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้แมวซึ่งกินเนื้อไม่สามารถลิ้มรสหวานได้

ทำให้แพนด้ากินไม้ไผ่ไม่รับรสอูมามิ และทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลบางชนิดที่กลืนอาหารทั้งหมดเช่น โลมาและวาฬ ไม่มียีนรับรสที่ทำงานเลย ทั้งหมดเริ่มต้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มาจากความต้องการอาหารของพวกมัน

เช่นเดียวกันกับหมาและแมว แมวกินเนื้อ ซึ่งหมายความว่าพวกมันจะได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ต้องการจากเนื้อสัตว์ ในทางกลับกัน สุนัขเป็นนักกินที่ฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหารที่มีอยู่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ พืช หรือธัญพืช

การทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่า ไม่เพียงแต่สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์แพทย์ บริษัทยา และผู้ผลิตอาหารด้วย อย่างเช่น หากแมวของคุณไม่อยากกินอาหารอาจเนื่องจากอาการป่วย การเพิ่มรสอูมามิจะช่วยให้รับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น

“เพื่อให้แมวไม่ต้องได้กินอาหารเพียงอย่างเดียว ผมโรยเกล็ดโบนิโตแห้งเล็กน้อยซึ่งเป็นส่วนผสมอูมามิที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น และมีนิวคลีโอไทด์ อิโนซีน โมโนฟอสเฟตจำนวนมากบนอาหารของพวกมัน ซึ่งมันก็ได้ผลดีมาก” ยาสุกะ โทดะ นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารชาวญี่ปุ่น กล่าวขณะทำงานที่โรงพยาบาลสัตว์แพทย์ในวิทยาลัย

ยังมีอะไรให้ได้เรียนรู้อีกมาก “ทุกสายพันธุ์อาศัยอยู่ในโลกแห่งประสาทสัมผัสของตัวเอง” เป่ยหัว เจียง (Peihua Jiang) นักวิจัยจากศูนย์ประสาทสัมผัสทางเคมีโมแนลกล่าว (Monell Chemical Senses Center) “แต่การวิจัยของเราเป็นเพียงส่วนเล็กเท่านั้น มีอีกหลายสิ่งที่เราไม่ยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจน”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/cats-dogs-taste-genetics-umami-sweet

อ่านเพิ่มเติม ทำไม แมว ถึงรัก “กล่อง” มาก? ทั้งที่ทาสซื้อบ้านแมวให้อยู่สบายๆ ก็ไม่เอา

Recommend