เมื่อขนบธรรมเนียมปล่อยสัตว์กลายเป็นเรื่องไม่ชวนพิสมัย

เมื่อขนบธรรมเนียมปล่อยสัตว์กลายเป็นเรื่องไม่ชวนพิสมัย

เมื่อขนบธรรมเนียม ปล่อยสัตว์ กลายเป็นเรื่องไม่ชวนพิสมัย

ณ วัดแห่งหนึ่งบนภูเขาเทียนไถ ทางตะวันออกของจีน เคลาว์เดีย เหอหยุน เป็นประจักษ์พยานต่ออุบัติการณ์ที่รบกวนจิตใจเธออย่างยิ่ง มันคือธรรมเนียมการ ปล่อยสัตว์ ภาพฝูงชนกำลังหย่อนเต่าขนาดเท่าคอมพิวเตอร์พกพาลงในคูน้ำรอบ ๆ วัด ในขณะที่พระสงฆ์ยืนอยู่ตรงนั้นและสวดพึมพำอะไรบางอย่าง เธอคิดว่าอาจเป็นการสวดอวยพรให้กับเต่าเหล่านั้น

“มันอาจจะเป็นเต่าทะเลค่ะ และมันอาจจะตาย” เหอหยุนบอก เธอเป็นหัวหน้าโครงการในสหพันธ์ศาสนาและการอนุรักษ์ มีพันธกิจหลักด้านศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม “ฉันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตลอดเวลา เรามาอยู่ตรงนี้แค่ชั่วโมงกว่า ๆ เอง”

ฝูงชนที่อยู่ตรงหน้าเรากำลังปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า “ทำบุญ” จารีตโบราณของชาวพุทธที่เชื่อเรื่องการปล่อยสัตว์ที่ถูกกักขัง เพื่อแสดงความเมตตา และเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งกรรมดี ในประเทศจีนมีพุทธศาสนิกชนราว 245 ล้านคน พิธีกรรมนี้เริ่มขึ้นมาพันกว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากผู้นำทางศาสนาเห็นชาวประมงในภูมิภาคเทียนไถกำลังกระทำกรรมชั่วด้วยการพรากชีวิตของปลาที่พวกเขาจับมาได้ จึงแนะนำให้พวกเขาปล่อยปลาลงในบ่อน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น

เหอหยุนและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กล่าวว่า การกระทำที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจที่จะทำร้ายสัตว์ของพุทธศาสนิกชนเหล่านั้น ได้กลายมาเป็นกิจกรรมเชิงพานิชย์ มีการจำหน่ายสัตว์ให้คนที่นำไปทำบุญโดยเฉพาะ ซึ่งมันหมายถึงความบาดเจ็บที่เกิดแก่สัตว์หรือบางครั้งนี่คือการจบชีวิตสัตว์เคราะห์ร้ายเหล่านั้น

กิจกรรมทำบุญลักษณะนี้ “สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจค้าสัตว์เป็นอย่างมาก โดยใช้ความมีเมตตาของชาวพุทธเป็นจุดขาย” รีฟา ฉี ประธานสมาพันธ์ชาวพุทธเชื้อสายอเมริกันในนิวยอร์ก กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Humane Society International

พุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกมุมโลกหรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธก็ตาม โดยเฉพาะในประเทศจีน ต่างก็เคยทำการปล่อยสัตว์ หรือในภาษาจีนเรียกว่า ฟ่างเชิง นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีสัตว์อีกกว่าร้อยล้านตัวที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตนี้ โดยพบชนิดพันธุ์ตั้งแต่เต่าไปจนถึงลิง ซึ่งตามวัฒนธรรมจีนเชื่อว่า การช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้จะส่งผลให้พวกเขามีอายุยืนยาว

“ถ้าคุณโกหกภรรยาของคุณหรือยักยอกเงินของบริษัท คุณอาจจะคิดว่า คุณไปปล่อยสัตว์ประมาณหนึ่งพันตัวเพื่อเป็นการสร้างกรรมดีของคุณให้เพิ่มขึ้น” มาร์ติน พาลเมอร์ หนึ่งในสมาชิกสหพันธ์ศาสนาและการอนุรัษ์ กล่าว “ยิ่งคุณทำกรรมใหญ่ คุณก็ยิ่งจำเป็นต้องปล่อยสัตว์มากขึ้น เพื่อที่จะเป็นการสร้างกรรมดี”

(เผยวงการร่างทรงในมุมมองที่คุณอาจยังไม่เคยรู้)

 

เสรีภาพหรือจุดจบ

ปัญหาของการทำบุญปล่อยสัตว์คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านค้าที่นำสัตว์มาขาย เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่ต้องการจะนำสัตว์ไปปล่อยจำนวนมาก สถาบันศาสนาเริ่มมีการออกมาต่อต้านการกระทำที่ไร้ความผิดชอบเช่นนี้ และปัจจุบันในกรุงปักกิ่งรวมถึงไต้หวันได้ออกกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่นำสัตว์ไปปล่อยตามวัดหรือตามชายหาด แต่ทว่า ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา นักผจญเพลิงได้เข้าช่วยชีวิตงูเหลือม เต่า และสัตว์ที่ถูกขัง พวกมันถูกปล่อยทิ้งที่ริมชายหาดแห่งหนึ่งในจังหวัดไห่หนาน ประเทศจีน เนื่องจากผู้ลักลอบค้าสัตว์กลัวความผิด

“มีคนจำนวนมากที่ทั้งรู้และไม่รู้ว่า การทำบุญปล่อยสัตว์จริง ๆ แล้วเป็นการทำร้ายสัตว์ทางหนึ่ง” เหอหยุน บอก

หนึ่งในเรื่องที่น่ากังวลคือ สัตว์ที่นำมาขายถูกดักจับมาและเขาสู่กระบวนการค้าอย่างผิดกฎหมาย เช่นกรณีของตลาดบาดาจูในนครปักกิ่ง แหล่งค้านกผิดกฎหมายที่ดำเนินการค้าให้แก่บรรดาผู้ที่ต้องการทำ ฟ่างเชิง

อีกเรื่องหนึ่งคือ “สัตว์เหล่านั้นมักถูกจับมาและอาศัยอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม ถูกนำไปปล่อย และถูกจับอีกครั้ง” พาลเมอร์กล่าว ความตอนหนึ่งจากบทความในวารสาร Contemporary Buddhism อธิบายถึงองค์การทางศาสนาได้สั่งซื้อนกจำนวนมากจากผู้ค้าและนำพวกมันไปปล่อย หลังจากนั้นเหล่าผู้ค้าทั้งหลายรอคอยที่จะจับพวกมันกลับมาอีกครั้ง วนเป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พาลเมอร์บอกว่า มันเป็นรูปแบบของธุรกิจ พระสงฆ์บางรูปได้ส่วนแบ่งจากการค้าสัตว์ที่ถูกนำไปปล่อย

นอกจากนี้ มีสัตว์จำนวนไม่น้อยที่จบชีวิตลงระหว่างการขนย้ายก่อนถึงมือผู้ซื้อ เนื่องจากพวกมันได้รับบาดเจ็บหรืออยู่ในที่อาศัยที่ไม่เหมาะสม หรือแม้แต่การปล่อยสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่พื้นที่ ความไม่ตั้งใจของผู้ใจบุญอาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศท้องถิ่นได้ “การทำบุญปล่อยสัตว์กำลังเป็นปัญหาครับ” คริส ฮาร์เลย์ นักนิเวศวิทยาประจำมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา กล่าวในนิตยสาร อูดูบอง เมื่อปี 2014

เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2015 สวนคาดูรีและสวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นศูนย์คุ้มครองสัตว์ในฮ่องกงกล่าวว่า พวกเขาได้รับเต่าต่างถิ่นสองตัวที่ถูกปล่อยลงในอ่างเก็บน้ำ “สัตว์ต่างถิ่นเป็นสาเหตุหลักที่คุกคามระบบนิเวศของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น” ทางศูนย์อธิบาย และในเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ได้พยายามขัดขวางคนจำนวนหนึ่ง ที่กำลังจะปล่อยเต่าบราซิลจำนวนห้าร้อยตัวในมหาวิทยาลัยเพ็กกิง นครปักกิ่ง

 

ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

องค์กรของเหอหยุนได้ทำงานร่วมกับผู้นำทางศาสนาในประเทศจีน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบุญปล่อยสัตว์ และเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้คนที่ต้องการประพฤติจารีตนี้ หนึ่งในทางเลือกคือ การให้ชาวพุทธถือศีลกินเจและร่วมกันต่อต้านการค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย “เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม” พาลเมอร์บอก ถ้าเป็นเช่นนั้น ชาวพุทธจะได้รับกรรมดีจากการช่วยชีวิตสัตว์จริง ๆ

พุทธศาสนิกชนจากวัดแห่งหนึ่งในย่านไชน่าทาวน์ เขตแมนฮัตตัน ได้ร่วมทำกิจกรรมโดยการรับบริจาคเงินและนำไปช่วยเหลือการปล่อยสัตว์คืนสู่ป่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเป็นตัวแทนของรัฐนิวยอร์กในการปล่อยนกบริเวณสวนสาธารณะเซนทรัลปาร์ก และพวกเขาตั้งชื่อกิจกรรมนี้ว่า “การปล่อยสัตว์ด้วยความเห็นอกเห็นใจ”

เรื่อง เจนี แอกท์แมน

 

อ่านเพิ่มเติม

นัต: พลังศรัทธาของมวลชน

Recommend