ลุย-ตามชีวิต “สุดยอดนักล่า” ไฮยีนาลายจุด โลกที่ “เพศเมีย” ครองอำนาจ

ลุย-ตามชีวิต “สุดยอดนักล่า” ไฮยีนาลายจุด โลกที่ “เพศเมีย” ครองอำนาจ

ในโลกของ ไฮยีนาลายจุด เพศเมียครองอำนาจ นั่นอาจเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของพวกมัน

เมฆฝนม้วนตัวเหนือทุ่งหญ้าสะวันนามาไซมาราของเคนยา ขณะที่ลูกๆ ไฮยีนาลายจุด เล่นกัน พวกมันเกลือกกลิ้ง บนหญ้าเปียกๆ โดยมีแม่นอนทอดหุ่ยอยู่ใกล้ๆ และบางคราวก็ลุกขึ้นปรามตัวที่อายุครบขวบซึ่งโตกว่าไม่ให้เข้าไปผสมโรงกับกลุ่มที่เด็กกว่า เมื่อเจ้าตัวโตแหยมเข้ามาอีกครั้ง ลูกไฮยีนาตัวที่ใจกล้ากว่าใครก็จับท่าทีจากแม่ผู้อยู่ในลำดับสูงของฝูง ด้วยการยืนจังก้า พยายามให้ดูดุดันเท่าที่จะทำได้ แม้การวางมาดนั้นจะดูน่าขำ แต่สัตว์ทั้งสองรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนดี เจ้าตัวโตกว่าซึ่งเป็นไฮยีนาลำดับชั้นต่ำกว่าชะงักกึก จากนั้นก็ก้มหัวลงและฉากหลบไปเงียบๆ

เจน กายตัน ช่างภาพ บันทึกภาพเหตุการณ์นี้ด้วยกล้องอินฟราเรด ซึ่งเอื้อให้เธอสังเกตพฤติกรรมยามค่ำคืนของไฮยีนาอย่างใกล้ชิด ในการทำเช่นนั้น เธอได้เปิดหน้าต่างบานเล็กๆ ให้เราเห็นโครงสร้างอันน่าทึ่งของสังคมไฮยีนาซึ่งสมาชิกทุกตัว ในฝูงสืบทอดลำดับชั้นจากแม่ของตน ไฮยีนาเพศเมียคือผู้นำ และลำดับชั้นก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ระบบสืบทอดทางแม่นี้ขับเคลื่อนให้ไฮยีนาลายจุดผงาดขึ้นเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุดในแอฟริกา

ไฮยีนาลายจุด, ไฮยีนา
“มูแลงรูฌ” ไฮยีนาเพศเมียที่นักวิจัยตั้งชื่อให้ ยืนผงาดเหนือปาลาซโซ ไฮยีนาเพศเมียอีกตัวที่มีลำดับชั้นต่ำกว่า เพศเมีย ที่เป็นใหญ่ใช้ความก้าวร้าวรักษาลำดับชั้นและได้สิทธิ์การกินเหยื่อก่อน

เราไม่มีทางเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้และเรื่องอื่นๆ ของไฮยีนาได้ ถ้าไม่มีงานวิจัยภาคสนามนาน 35 ปีของเคย์ โฮลแคมป์ ผู้ก่อตั้งโครงการไฮยีนามารา (Mara Hyena Project) “ฉันเคยคิดว่าตัวเองคงอยู่ที่นั่นสักสองปีค่ะ” เธอบอก “แต่ฉันกลับติดใจ” คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อสัตว์ชนิดนี้ก็ร้องยี้แล้ว ทั่วแอฟริกาไฮยีนาถูกมองเป็นตัวร้าย ตะกละตะกลาม เชื่อมโยงกับไสยเวท และการเบี่ยงเบนทางเพศ

ขณะที่ไฮยีนาสี่ชนิด ได้แก่ ไฮยีนาสีน้ำตาล ไฮยีนาลายแถบ ไฮยีนาลายจุด และอาร์ดวูล์ฟ ท่องไปทั่วภูมิภาคซับสะฮาราและแอฟริกาเหนือ ไฮยีนาลายจุดกลับถูกมองว่าร้ายกาจที่สุด เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกมันเข้าใกล้เราเกินไปจนชวน อึดอัด คริสติน วิลคินสัน นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกและนักนิเวศวิทยาสัตว์กินเนื้อจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ผู้ศึกษาไฮยีนาที่อุทยานแห่งชาติทะเลสาบนาคูรูในเคนยา บอกว่า “ชนิดพันธุ์ที่เราคิดว่าเลวร้ายที่สุด มักเป็นชนิดที่อยู่ใกล้ชิดกับคน เช่นเดียวกับพวกที่ปรับตัวอยู่ได้ในถิ่นอาศัยหลากหลายและกินอาหารได้สารพัด”

เคนยา, ไฮยีนาลายจุด, ไฮยีนา
ไม่นานหลังฟ้าสางในระบบนิเวศมาไซมาราของเคนยา ไฮยีนาลายจุดมาถึงขอบบ่อน้ำเพื่อดับกระหาย ช่างภาพ เจน กายตัน ถ่ายภาพระยะใกล้นี้โดยใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล

ขณะที่วิลคินสัน, โฮลแคมป์ และนักวิจัยคนอื่นๆ เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับชีววิทยาและพฤติกรรมของไฮยีนา ลายจุด พวกเขาก็ยังคงพลิกความเข้าใจของเราต่อไปว่า ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าป่า และพวกมันทำได้อย่างไร

ความสามารถในการล่า

เมื่อนักชีววิทยา ฮันส์ ครุก เริ่มศึกษาไฮยีนาในแทนซาเนียในทศวรรษ 1960 เขาพบว่าชื่อเสียงของมันในฐานะสัตว์กินซาก จอมขี้ขลาดคือมายาคติ เมื่อไฮยีนาลายจุดกับสิงโตกินซากร่วมกัน เขาพบว่าผู้ลงมือสังหารเกินครึ่งคือไฮยีนา เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยในเคนยาเรียนรู้ว่า ไฮยีนาในมาไซมาราได้อาหารเฉลี่ยสองในสามจากการล่า โดยมักร่วมมือกันล้มวิลเดอร์บีสต์ ม้าลาย ควายป่า และเหยื่อขนาดใหญ่อื่นๆ

วิธีวางแผนล่าเหยื่อของไฮยีนายังคงเป็นปริศนา ดังนั้น โฮลแคมป์กับอะเรียอานา ชแทรนด์บวร์ก-เปชคินเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยคอนสตันซ์ในเยอรมนี จึงใส่ปลอกคอติดจีพีเอสให้ไฮยีนาทั้งฝูง โดยมีทั้งไมโครโฟนและมาตรความเร่ง เพื่อวิเคราะห์การเปล่งเสียงและการเคลื่อนไหวของพวกมัน รวมถึงเสียงร้องที่เหมือนเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของไฮยีนา ซึ่งน่าจะแสดงถึงความตื่นเต้นอย่างมาก

แม่ไฮยีนา
แม่ไฮยีนา เช่น “จักรพรรดินีซิคาดา” เป็นแม่ที่ประคบประหงมให้ลูกกินนมที่อุดมด้วยโปรตีน ไขมัน และแคลเซียม ซึ่งปกติจะกินเวลานานกว่าหนึ่งปี

“ปลอกคอทำให้เรารู้ค่ะว่า พวกมันอยู่ที่ไหนกันบ้าง ใครพูดอะไรกับใคร สมาชิกฝูงกลุ่มใดตอบสนอง กลุ่มใด ไม่ตอบสนอง และสิ่งที่ไฮยีนาทั้งหมดกำลังทำอยู่” โฮลแคมป์บอก
เรื่องหนึ่งที่รู้แน่ชัดมานานแล้วคือ เหล่าราชินีไฮยีนาคือ “กระดูกสันหลังของสังคมไฮยีนา” ตามที่โฮลแคมป์บอก ส่วนหนึ่งของความเป็นใหญ่ที่สืบทอดทางฝ่ายแม่เป็นเรื่องของสรีรวิทยา

ตัวอ่อนทั้งเพศเมียและเพศผู้ของแม่ไฮยีนาที่มีลำดับชั้นสูง จะซึมซับฮอร์โมนเพศที่หลั่งออกมามากเป็นพิเศษภายในมดลูก เช่น เทสทอสเทอโรน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มความก้าวร้าว อีกส่วนหนึ่งคือกายวิภาค ไฮยีนาลายจุดเพศเมียเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่ไม่มีช่องคลอดแบบเปิดภายนอก แต่มีคลิตอริสยื่นยาวห้อยอยู่หว่างขาซึ่งเหมือนอวัยวะเพศผู้อย่างยิ่ง ในช่วงผสมพันธุ์ ไฮยีนาเพศเมียจะหด “จู๋ปลอม” นี้เข้าไปในท้อง ทำให้เพศผู้ทำอะไรไม่ได้ถ้ามันไม่ร่วมมือ และเท่ากับว่าเพศเมียเป็นผู้ตัดสินใจเลือกพ่อของลูก

แม่ไฮยีนาเลี้ยงลูกอยู่หลายปี นานกว่าสัตว์นักล่าอื่นๆในแอฟริกา ในช่วงเวลานี้ กะโหลกของลูกไฮยีนาอยู่ระหว่างพัฒนา จึงไม่สามารถล่าและสังหารเหยื่อขนาดใหญ่ได้ โฮลแคมป์เสนอทฤษฎีว่า การพึ่งพาแม่ยาวนานนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไฮยีนาเพศเมียมีนิสัยก้าวร้าวกว่าเพศผู้ ซึ่งไม่มีบทบาทใดในการเลี้ยงลูก

“ซุป” จ่าฝูงเพศเมีย นำซากยีราฟวัยรุ่นไปแบ่งลูกๆสองตัว ลูกไฮยีนาต้องใช้เวลาสามปีกว่าที่กะโหลกและขากรรไกร จะพัฒนาจนแข็งแกร่งถึงขั้นบดเคี้ยวกระดูกได้ซึ่งจำเป็นต่อการล่า

ความฉลาดตามธรรมชาติ

หลายปีก่อน ลิลี จอห์นสัน-อูลริช เพื่อนร่วมงานของโฮลแคมป์ซึ่งเป็นนักนิเวศวิทยาการรู้คิดจากมหาวิทยาลัยซูริก ขับรถเข้าเมืองเมเคเลทางเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งไฮยีนาอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานหลายร้อยปี ที่นั่น เธอกำหนดจุดศึกษา ที่เหมาะสมและขน “กล่องปริศนา” หรือกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว 37 เซนติเมตรที่มีประตูขนาดย่อมสี่บาน ลงจากรถ ภายในกล่องมีเนื้อดิบชิ้นหนึ่งหรือไม่ก็นมผง โดยประตูแต่ละบานต้องอาศัยทักษะการเคลื่อนไหวต่างกัน เพื่อเปิดออก นั่นคือผลัก ดึง เลื่อน หรือชักออกมา

ทีมงานของเธอทำการทดลองในสามพื้นที่ ได้แก่ เมืองที่ไฮยีนาอาศัยอยู่มานาน เขตคุ้มครองสัตว์ป่าในชนบท และเมืองใหม่ติดเขตอนุรักษ์ที่ไฮยีนาอยู่มาเพียงประมาณ 20 ปีเท่านั้น
พวกเขาตกตะลึงเมื่อได้ดูผล จากการทดลองหลายครั้ง ไฮยีนาในชนบทมีทักษะการเปิดประตูกล่องซึ่งเป็นตัวชี้วัดวัดความสร้างสรรค์ คล่องแคล่วกว่าไฮยีนาในหมู่บ้านหรือในเมือง การค้นพบซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2021 นี้ ขัดแย้งกับทฤษฎีที่ว่า สัตว์ที่อยู่ในเมืองมีทักษะการแก้ปัญหาดีกว่า

ไฮยีนาลายจุด, ไฮยีนา
“ซิลเวอร์นักเก็ต” จ่าฝูง และสตาร์ดัสต์ พี่น้องเพศเมียของมัน (ด้านหน้า กลางและขวา) ไปเยือนโพรงรวมที่ไฮยีนาใช้ร่วมกันหลังฟ้ามืด กายตันใช้แสงอินฟราเรดที่มนุษย์และไฮยีนามองไม่เห็นบันทึกพฤติกรรมยามค่ำคืนของไฮยีนา

ถึงแม้ไฮยีนาจะเป็นสัตว์ที่ชาญฉลาด ไม่ว่าอยู่ที่ใด จอห์นสัน-อูลริชคาดว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ขณะที่ไฮยีนาในเมืองมีแนวโน้มจะกินซากปศุสัตว์ ไฮยีนาในชนบทออกล่าและฆ่าสิ่งที่พวกมันกินมากกว่า จึงต้องใช้การคิดสร้างสรรค์และทักษะการเคลื่อนไหวที่แคล่วคล่องมากกว่า

อรชุน ธีร นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ศึกษาไฮยีนาในแอ่งอึงกอร็องกอโร ของแทนซาเนีย ยังประทับใจในทักษะการรู้คิดของไฮยีนาด้วย
ขนาดของฝูงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อเป็นหลัก ตั้งแต่ไม่ถึง 10 ตัวในเขตทะเลทรายบางแห่งไปถึงประมาณ 130 ตัวในแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างมาไซมาราและแอ่งอึงกอร็องกอโร แต่ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าไร สังคมไฮยีนา ก็มีลักษณะแยกตัว-รวมตัว (fission-fusion) โดยพวกมันอาจแยกหรือรวมฝูงกันได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น

ความลื่นไหลเช่นนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไฮยีนาลายจุด “เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีความซับซ้อนทางสังคมสูงที่สุดในโลก” ธีรบอก ไฮยีนาต่างจากหมาป่าแอฟริกาและสัตว์นักล่าอื่นๆอีกมาก ตรงที่พวกมันผสมพันธุ์ได้ทุกที่ทุกเวลาและเลี้ยงลูก ในถิ่นอาศัยที่เสื่อมโทรมเนื่องจากคนและปศุสัตว์ได้ด้วย

ลูกเพศผู้ตัวหนึ่งของปาลาซโซจ้องไฮยีนาเพศเมียที่ตัวโตกว่า แต่ลำดับชั้นต่ำกว่า ในโพรงรวม ลูกไฮยีนาทั้งสองเพศสืบทอดลำดับชั้นจากแม่

การปรับตัวกับเมืองใหญ่

ในวันที่แห้งและร้อนระอุวันหนึ่ง วิลคินสันขับรถขับเคลื่อนสี่ล้อเก่าใกล้พังผ่านเขตอนุรักษ์ซอยแซมบู พื้นที่ชนบทชานเมืองนาคูรูของเคนยา

ในการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ วิลคินสันใส่ปลอกคอติดจีพีเอสให้ไฮยีนาเจ็ดตัว และตอนนี้ เธอเปิดแล็ปท็อปดูว่า พวกมันไปไหนบ้างตลอดทั้งคืน จากการตรวจดูข้อมูลจีพีเอสและภาพจากกล้องดักถ่ายหลายพันภาพ เธอพบว่า ตอนกลางคืนไฮยีนาลอบออกจากอุทยานแห่งชาติทะเลสาบนาคูรู ซึ่งเป็นหนึ่งในอุทยานที่มีรั้วรอบขอบชิดเพียงสองแห่ง ในเคนยา และบ่ายหน้าไปยังชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ระหว่างอุทยานกับเขตอนุรักษ์เพื่อไปกินเศษเนื้อที่ร้านขายเนื้อและซากสัตว์เหลือทิ้งเป็นประจำ นานๆครั้ง พวกมันก็ฆ่าและกินปศุสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในรั้วป้องกันสัตว์นักล่าด้วย ก่อนกลับมาสู่ความปลอดภัยของอุทยานในตอนเช้า

ในภาพที่ถ่ายด้วยหุ่นยนต์ ฝูงไฮยีนารุมกินวิลเดอร์บีสต์ที่เพิ่งตายใหม่ๆ ไฮยีนาเป็นทั้งสัตว์นักล่าและสัตว์กินซากและ ในบทบาทหลัง พวกมันช่วยกำจัดเชื้อโรค เช่น แอนแทรกซ์ และวัณโรควัว จากระบบนิเวศ

งานภาคสนามของเธอแสดงให้เห็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซ่อมรั้ว ไฮยีนาจะรีบรื้อส่วนที่ซ่อมใหม่เพื่อเปิดช่องเดิม ซ้ำอีกครั้ง ทำให้การควบคุมสัตว์แสนรู้นี้เป็นเรื่องท้าทาย งานวิจัยของวิลคินสันชี้ว่า ไฮยีนาลายจุดพร้อมปรับตัวอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างยิ่ง และพวกมันจัดการสิ่งกีดขวางถนนได้อย่างคล่องแคล่วชนิดที่สัตว์อื่นๆ แก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่า

ด้วยการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารและขนาดประชากรของไฮยีนาในเมเคเล และเชื่อมต่อข้อมูลเข้าสู่แบบจำลองถ่ายทอดโรคติดต่อ ชินมัย โสนวเณ กับเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค้นพบเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งว่า ไฮยีนากำจัดซากสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคออกไปจากเมเคเลปีละกว่า 200 ตัน นั่นหมายความว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์และวัณโรควัวน้อยลง และ “บริการควบคุมโรค” ของไฮยีนาช่วยประหยัดงบประมาณท้องถิ่นปีละกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐจากการ ลดความสูญเสียด้านปศุสัตว์และต้นทุนการดูแลสุขภาพของมนุษย์

เมฆฝนตั้งเค้าเหนือมาไซมารา ขณะที่ไฮยีนาลายจุดตระเวนหาเหยื่อในทุ่งหญ้าสะวันนา พวกมันล่าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน และกินได้เกือบทุกอย่าง เหตุผลสองข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไฮยีนาเป็นนักล่าที่ประสบความสำเร็จที่สุดในแอฟริกา

เรื่อง คริสติน เดลลามอร์

ภาพถ่าย เจน กายตัน 

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี หัวเราะทีหลังดังกว่า ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/603626


อ่านเพิ่มเติม พบกับชายผู้ใช้ชีวิตกับไฮยีน่า

ไฮยีน่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่น่ากลัวที่สุด แต่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเอธิโอเปีย อับบาส เจ้าของฉายาไฮยีน่าแมนฝึกพวกมันจนสามารถป้อนอาหารภายในบ้านได้

Recommend