ภาวะโลกเดือดเป็นเหตุ เพนกวินโดดผาสูง 15 เมตร! เพราะอะไรกัน?

ภาวะโลกเดือดเป็นเหตุ เพนกวินโดดผาสูง 15 เมตร! เพราะอะไรกัน?

วิดีโอเพนกวินจักรพรรดิที่บันทึกไว้เมื่อเดือนมกราคม ปี 2024 ได้จับภาพเหตุการณ์ขณะลูกเพนกวินกระโดดผาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากเอาไว้ได้ หากในอนาคต น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดน้อยลงจนบีบให้เพนกวินต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ

ลูกนกเพนกวินจักรพรรดิหลายร้อยตัวยืนรวมกันอยู่บนยอดหิ้งน้ำแข็งแอนตาร์กติกา ซึ่งสูงประมาณ 15 เมตรเหนือท้องทะเล เหมือนกับกลุ่มวัยรุ่นที่ยืนรวมกันอยู่บนยอดผา เพื่อรอดูว่าใครคือผู้กล้าคนแรกที่จะกระโดดลงไปในผืนทะเลด้านล่างเป็นคนแรก

ลูกนกที่หิวโหยเหล่านี้ต่างมองไปที่ขอบภูเขาน้ำแข็งราวกับกำลังพิจารณาอยู่ว่า พวกมันจะเอาชีวิตรอดจากการกระโดดลงไปในน้ำเย็นจัดด้านล่างจากความสูงในระดับนี้ได้หรือไม่

และแล้วเพนกวินผู้กล้าตัวหนึ่งก็กระโดดลงไป

ลูกนกเพนกวินจักรพรรดิกระโดดลงจากยอดหิ้งน้ำแข็งแอนตาร์กติกาซึ่งสูงประมาณ 15 เมตรเหนือท้องทะเล เพื่อลงไปแหวกว่ายในอ่าวแอ็ตคาเป็นครั้งแรก เบอร์ตี เกรกอรี ผู้เป็นช่างภาพใช้เลนส์ซูมอันทรงพลังของโดรนในการบันทึกภาพพฤติกรรมอันน่าทึ่งจากระยะไกลโดยไม่เข้าไปรบกวนลูกนกเหล่านั้น

ลูกนกที่ยืนออกันอยู่ที่เดิมชะเง้อคอรอดูเพื่อนร่วมสายพันธุ์ร่วงหล่นลงไปในผืนน้ำด้านล่าง ไม่กี่วินาทีต่อมา เพนกวินผู้กล้าหาญตัวนั้นก็โผล่ขึ้นจากผิวน้ำแล้วว่ายออกล่าหาปลา เคย และหมึกกินจนอิ่มท้อง เมื่อเห็นเช่นนั้น ลูกนกตัวอื่น ๆ จึงเริ่มทยอยกระโดดตามลงไปและว่ายไปมาด้วยปีกที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้บินใต้ผืนน้ำโดยเฉพาะ

ผู้สร้างซีรีส์สารคดีเรื่อง “Secrets of the Penguins” ซึ่งมีแผนจะออกอากาศในวันคุ้มครองโลก ทางช่อง National Geographic และแอปพลิเคชัน Disney+ ในปี 2025 คือผู้ที่บันทึกภาพเหตุการณ์หาชมได้ยากเช่นนี้ไว้ได้ โดยใช้โดรนบินถ่ายบริเวณอ่าวแอ็ตคา (Atka Bay) ริมทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอนตาร์กติกไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วิดีโอนี้เป็นวีดีโอแรกที่สามารถบันทึกภาพลูกนกเพนกวินจักรพรรดิขณะกระโดดลงจากหน้าผาสูงเอาไว้ได้

ยิ่งน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกละลายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเท่าไร ลูกนกเพนกวินจักรพรรดิก็จะยิ่งเกิดบนหิ้งน้ำแข็งมากขึ้นเท่านั้น เมื่อนกเหล่านั้นโตขึ้น พวกมันจึงต้องกระโดดลงจากหน้าผาสูงเพื่อลงไปยังผืนทะเลที่อยู่เบื้องล่าง

“ฉันไม่อยากเชื่อเลยค่ะว่าจะมีใครถ่ายคลิปนี้ไว้ได้” มิเชลล์ ลารู (Michelle LaRue) นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์กล่าว ลารูซึ่งไม่เคยเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน เคยเดินทางไปที่อ่าวแอ็ตคาเพื่อให้คำปรึกษาแก่ทีมงานถ่ายทำสารคดีในช่วงปีที่ 3 ของการบันทึกภาพพฤติกรรมเพนกวินจักรพรรดิ นับตั้งแต่การวางไข่ไปจนลูกเพนกวินเจริญเติบโต

โดยปกติแล้ว นกเพนกวินจักรพรรดินั้นไม่ได้ทำรังบนหิ้งน้ำแข็งที่ยึดเกาะอยู่บนพื้นมหาสมุทรอย่างแน่นหนา แต่พวกมันทำรังบนแผ่นน้ำแข็งในทะเลซึ่งละลายและถูกกระแสน้ำพัดออกไปทุกปี ทว่า เมื่อไม่นานมานี้เพนกวินจักรพรรดิบางฝูงกลับเลือกทำรังบนหิ้งน้ำแข็ง นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานขึ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของเพนกวินจักรพรรดิอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่แผ่นน้ำแข็งในทะเลละลายเร็วขึ้นจากภาวะโลกร้อน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้สำรวจประชากรเพนกวินจักรพรรดิขึ้น และจัดให้เพนกวินสายพันธุ์นี้ที่คาดว่ามีราว ๆ 500,000 ตัวอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้ถูกคุกคาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแผ่นน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน

เมื่อมีอายุได้ประมาณ 5 เดือน ลูกนกเพนกวินจักรพรรดิจะเริ่มผลัดขนออกและรอให้ขนเต็มวัยที่สามารถกันน้ำได้ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงไปหาอาหารในท้องทะเล

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่น้ำแข็งในทะเลจะแตกตัวในปลายฤดูร้อนของซีกโลกใต้ ผู้สร้างซีรีส์สารคดีสังเกตเห็นว่า กลุ่มลูกเพนกวินซึ่งลารูคาดว่าพวกมันเกิดและโตบนหิ้งน้ำแข็งกำลังเดินเตาะแตะมุ่งหน้าไปทางเหนือสู่บริเวณหน้าผา ทีมผู้สร้างที่สงสัยว่าลูกนกเหล่านั้นจะเดินทางไปไหนจึงส่งโดรนขึ้นไปจับภาพจากมุมสูงเพื่อหาคำตอบ ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนของลูกนกที่เดินรวมกันยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งโดรนจับภาพของลูกเพนกวินจักรพรรดิประมาณ 200 ตัวที่หยุดยืนอยู่บนยอดผาได้

‘ก็คงจะต้องไป’

เจอรัลด์ คอยมาน (Gerald Kooyman) นักวิจัยด้านสรีรวิทยา ผู้ใช้เวลากว่า 5 ทศวรรษในการศึกษาเกี่ยวกับเพนกวินจักรพรรดิในทวีปแอนตาร์กติกากล่าวว่า เขาเคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

“หิมะที่ถูกลมพัดพามาสะสมจนเกิดเป็นทางลาดที่ไม่ชัน ทอดตัวจากแผ่นน้ำแข็งในทะเลไปสู่ภูเขาน้ำแข็งที่ติดกับพื้นมหาสมุทร ฝูงลูกเพนกวินจักรพรรดิสามารถเดินจากทางลาดดังกล่าวขึ้นไปยังภูเขาน้ำแข็งได้” คอยมานบันทึกลงในหนังสือ Journeys with Emperors ของเขา ซึ่งถูกตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2023

“พวกมันหยุดยืนอยู่บนหน้าผาที่สูงประมาณ 20 เมตรเหนือน้ำทะเล ซึ่งบางครั้งด้านล่างเป็นผืนทะเลโล่ง และในบางครั้งก็เป็นผืนน้ำที่เต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็ง” ในช่วงเวลาไม่กี่วัน มีลูกนกเพนกวินเกือบ 2,000 ตัวเดินไปรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณดังกล่าว

“ท้ายที่สุด พวกมันก็เริ่มเดินลงผาไป” คอยมาน ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลและชีวเวชศาสตร์ ณ สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ (Scripps Institution of Oceanography) ในแคลิฟอร์เนียเขียนอธิบายเอาไว้

“โดยที่ไม่ได้กระโดดพุ่งลงไป หากแต่ก้าวขาออกไปแล้วทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่าง ลูกนกบางตัวพลิกหมุนไปมา 2 รอบก่อนจะกระแทกลงบนน้ำจนเกิดเสียงดังก้องไปทั่ว”

ลูกนกเพนกวินส่วนใหญ่สามารถเอาชีวิตรอดจากการกระโดดลงไปในน้ำเย็นจัดด้านล่างได้ ส่วนลูกนกที่อยู่ทางซ้ายของภาพที่ตกลงไปในรอยแตกของหิ้งน้ำแข็งนั้นใช้จะงอยปากช่วยในการปีนออกมา แล้วกระโดดจากรอยแตกลงไปยังผืนน้ำทะเลตามเพื่อน ๆ ตัวอื่น

นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามลูกนกเหล่านี้ผ่านภาพถ่ายจากดาวเทียมกล่าวว่า “มันเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากมาก” ในบางครั้ง ปีเตอร์ เฟรตเวลล์ (Peter Fretwell) นักวิทยาศาสตร์จากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์ติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey) ผู้ศึกษาข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมบริเวณแหล่งที่อยู่ของเพนกวินจักรพรรดิในอ่าวแอ็ตคามาเป็นเวลาหลายปี จะสังเกตเห็นร่องรอยการเดินทางไปยังหน้าผาทางเหนือของเพนกวิน เขาจึงตั้งสมมติฐานขึ้นว่า การที่ลูกเพนกวินเดินไปบริเวณหน้าผาในช่วงเดือนมกราคมอาจเป็นเพราะว่าพวกมันเดินตามเพนกวินโตเต็มวัยเร่ร่อนประมาณ 1 ถึง 2 ตัวที่เดินนำไปผิดทาง

“ลูกนกเพนกวินจักรพรรดิมักจะออกจากรังบนแผ่นน้ำแข็งในทะเลแล้วเดินเตาะแตะไปไม่กี่เมตรเพื่อลงไปในมหาสมุทรแอนตาร์กติก แต่ลูกนกที่ดูจะหิวโซเหล่านี้กลับเดินหลงไปในจุดที่หาทางลงน้ำได้ยาก” นักวิทยาศาสตร์กล่าวอธิบาย พ่อแม่ของพวกมันออกทะเลไปออกล่าหาอาหารแล้ว นั่นเป็นสัญญาณที่บอกให้ลูกนกเพนกวินรู้ว่าพวกมันต้องเริ่มออกไปหาปลากินเอง ลูกนกเหล่านั้นต้องอดทนรอจนกว่าขนที่นุ่มฟูของพวกมันจะผลัดเปลี่ยนเป็นขนเต็มวัยที่มันขลับและสามารถกันน้ำได้

“พอฝูงลูกนกเดินไปถึงปลายหน้าผา พวกมันคงจะคิดว่า ‘เอาล่ะ ฉันเห็นทะเลแล้ว ฉันต้องลงไปที่นั่นถึงนี่จะดูไม่สนุกเลย แต่ยังไงฉันก็คงจะต้องกระโดดลงไป’ ค่ะ” ลารูกล่าว

จักรพรรดินักปรับตัว

ในขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ไม่คิดว่าเหตุการณ์ที่ลูกนกเพนกวินกระโดดหน้าผามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลให้ทวีปแอนตาร์กติกาอุ่นขึ้น เฟรตเวลล์กลับกล่าวว่า การลดลงอย่างต่อเนื่องของน้ำแข็งในทะเลของทวีปนี้อาจบีบบังคับให้เพนกวินจักรพรรดิต้องทำรังและเลี้ยงดูลูกน้อยบนหิ้งน้ำแข็งมากขึ้น พฤติกรรมการกระโดดหน้าผาของลูกเพนกวินจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกที่ลดลงอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2016 และผลกระทบที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อการอยู่รอดในระยะยาวของเพนกวินจักรพรรดิ

“พวกเราคาดการณ์ว่า เราอาจสูญเสียประชากรเพนกวินจักรพรรดิทั้งหมดภายในปลายศตวรรษ” เฟรตเวลล์กล่าว “เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ต้องบอกว่า เพนกวินจักรพรรดิอาจสูญพันธุ์ไปทั้งหมด หากสภาพภูมิอากาศยังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดิมอยู่ครับ”

อย่างไรก็ดี ลารูยังคงหวังว่า เพนกวินจักรพรรดิจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ เธอถือว่า เหตุการณ์ลูกเพนกวินกระโดดผาน้ำแข็งที่บันทึกภาพไว้ได้เมื่อไม่นานมานี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของพวกมัน

“พวกมันปรับตัวกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อค่ะ” เธอกล่าว “นกเพนกวินพวกนี้ถือกำเนิดมานานหลายล้านปีแล้ว พวกมันผ่านการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมาหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรจะตั้งคำถามคือ พวกมันจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่ และพวกมันมีขีดจำกัดต่อการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดค่ะ”

ภาพถ่ายและวีดีโอ เบอร์ตี เกรกอรี
เรื่อง เรเน เอเบอร์โซล
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ลูกเพนกวิน นับ 10,000 ตัว อาจตายหมดแล้ว ผลจากน้ำแข็งละลายได้กวาดล้าง “บ้าน” จนจมน้ำตาย

ลูกเพนกวิน
ลูกเพนกวิน

Recommend