คู่หู น้องแรด-ม้าลาย ต่างสายพันธุ์ ทำไมเป็นเพื่อนรักกันได้

คู่หู น้องแรด-ม้าลาย ต่างสายพันธุ์ ทำไมเป็นเพื่อนรักกันได้

จากลูกแรดและลูกม้าลายกำพร้า สู่คู่หู “เดซี่และโมดจาดจี” เพื่อนรักประจำศูนย์อนุรักษ์ คู่หูลูกสัตว์กำพร้านี้มีอะไรเหมือนกันมากกว่าที่คิด

ไม่ว่าจะเป็นตอนเล่นลูกบอล ตอนวิ่งไล่กันไปมา หรือตอนนอนหลับซุกกันยามค่ำคืน “เดซี่” ลูกแรดขาว และ “โมดจาดจี” ลูกม้าลายทุ่งหญ้า ซึ่งถูกนำไปดูแลพักฟื้นที่ศูนย์อนุรักษ์และดูแลแรด Care for Wild ในแอฟริกาใต้ ก็มักจะตัวติดกันอยู่บ่อย ๆ “เด็กสองตัวนี้น่ารักอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ” เพโทรเนล นีวโวดต์ (Petronel Nieuwoudt) ผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์และดูแลแรดกล่าวถึงลูกสัตว์ทั้งสองตัวที่เธอช่วยเลี้ยงดูมา

โมดจาดจี (Modjadji) ถูกตั้งชื่อตามเทพีแห่งสายฝนของชนพื้นเมืองแอฟริกา เนื่องจากมันถูกพบในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอจากโรคโลหิตจางจากเห็บเพียงลำพังในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger National Park) หลังพายุฝนที่โหมกระหน่ำสงบลง จากนั้นไม่กี่วันต่อมา เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์ก็พบกับเดซี่ (Daisy) ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียงประมาณ 12 ชั่วโมงและยังมีสายสะดือติดอยู่ มันถูกพบในสภาพเจ็บป่วยจากอาการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จึงคาดการณ์ว่าแม่ของมันอาจถูกตามไล่ล่าเพื่อตัดเอานอ

หากถูกทิ้งไว้ตามลำพัง ลูกสัตว์ทั้งสองตัวนี้คงจะไม่มีชีวิตรอด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากนักอนุรักษ์ พวกมันก็ได้ถูกนำไปดูแลรักษาคู่กัน จนกว่าสัตว์สายพันธุ์ที่ไม่น่าจะเป็นเพื่อนกันได้ทั้งสองตัวมีโอกาสได้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

เดซี่ (ตัวซ้าย) และโมดจาดจีซึ่งพักฟื้นอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์และดูแลแรด Care for Wild ในแอฟริกาใต้มักจะถูกพบว่าอยู่ด้วยกันอยู่บ่อย ๆ เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์หวังว่า สักวันหนึ่งคู่หูคู่นี้จะมีโอกาสได้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง หากโอกาสนั้นมาถึง บางทีพวกเขาอาจจะได้เห็นเพื่อนรักต่างสายพันธุ์ทั้งสองตัวยืนกินหญ้าอยู่ข้างกัน

คู่หูวัยเด็ก

ทั้งแรดขาวและม้าลายสามารถลุกขึ้นยืนได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิด ถึงกระนั้นพวกมันก็ยังต้องได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ ลูกแรดใช้เวลาอยู่กับแม่ประมาณสองถึงสามปี ในขณะที่ลูกม้าลายจะเริ่มแยกออกจากแม่หลังอยู่ร่วมกันได้ประมาณหนึ่งปี ในระหว่างช่วงเวลานั้น ลูกสัตว์ต้องพึ่งพิงและพึ่งพาแม่เพื่อกินอาหาร รับการปกป้อง และเรียนรู้ที่จะเข้าร่วมกับฝูง

ถึงแม้ว่าแรดขาวและม้าลายจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุ่งหญ้าภายนอกศูนย์อนุรักษ์ แต่นีวโวดต์กลับตัดสินใจที่จะดูแลเดซี่และโมดจาดจีด้วยกัน เพื่อให้ลูกสัตว์ทั้งสองได้รับความอบอุ่นและการดูแลเอาใจใส่ที่พวกมันไม่ได้รับจากแม่ เธอกล่าวว่า “ในเวลานอน ลูกสัตว์คู่นี้จะชอบสัมผัสตัวอีกฝ่ายมาก ๆ มันเป็นความรู้สึกว่า ‘โอ้ มีเพื่อนตัวเล็ก ๆ อีกตัวนอนอยู่ข้างฉัน ฉันรับรู้ได้ถึงหัวใจที่กำลังเต้นอยู่ของเพื่อนอีกตัว’ อะไรประมาณนี้ค่ะ” นีวโวดต์อธิบายเสริม

นอกจากนี้แล้ว ลูกสัตว์วัยซนทั้งสองตัวยังผลัดกันสอนวิธีการเล่นด้วยกันให้อีกฝ่าย “พฤติกรรมการเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการสร้างทักษะในการเข้าสังคม การเรียนรู้ขอบเขตและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของฝูงสัตว์ รวมไปถึงการพัฒนาความสามารถทางกายภาพของพวกมันค่ะ” เทอร์รี รอธ (Terri Roth) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านแรดประจำสวนสัตว์ซินซินแนติ (Cincinnati Zoo) ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าว “การเข้าสังคมกับสัตว์ชนิดอื่นตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้สัตว์สามารถปรับตัวและปรับพฤติกรรมได้ดีขึ้นเมื่อพวกมันเติบโตเต็มวัยค่ะ” เธอว่าต่อ

เดซี่และโมดจาดจีขณะนอนซุกกันในศูนย์อนุรักษ์และดูแลแรด Care for Wild

การปกป้องดูแลแรดและม้าลายในท้องทุ่ง

ในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ อาณาเขตของแรดและม้าลายนั้นซ้อนทับกันอยู่ เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดเป็นสัตว์กินพืชที่มักจะกินหญ้าเป็นหลัก “สัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในทุ่งหญ้าสะวันนาที่คล้ายคลึงกันค่ะ” รอธอธิบาย “นอกจากนี้ทั้งแรดและม้าลายยังเป็นสัตว์กีบคี่เหมือนกัน ดังนั้นพวกมันจึงมีความใกล้ชิดกันมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะอยู่ในอันดับทางชีววิทยาเดียวกัน หรือเป็นเครือญาติกันนั่นเองค่ะ” เธอกล่าวเสริมพร้อมอธิบายต่อว่า ข้อมูลนี้อาจใช้อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดแรดจึงกลายมาเป็นคู่หูของม้าลายได้

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้จัดให้ม้าลายทุ่งหญ้าหรือม้าลายธรรมดา (plains zebra) อยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้ถูกคุกคาม เนื่องจากจำนวนประชากรของพวกมันกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดภัยแล้งเป็นวงกว้างในแอฟริกาใต้ จนทำให้แหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่ม้าลายใช้ดื่มกินลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นฝูงม้าลายยังถูกมนุษย์ไล่ออกจากถิ่นที่อยู่เพื่อนำพื้นที่บริเวณนั้นไปใช้ทำการเกษตร

เจ้าหน้าที่ซินดี ดวันเดว (Cindy Ndwandwe) ทำหน้าที่ป้อนนมให้คู่หูเดซี่และโมดจาดจี

ส่วนแรดขาว ครั้งหนึ่งเคยถูกเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ในปัจจุบัน ความพยายามในการอนุรักษ์พันธุ์แรดทำให้พวกมันถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้ถูกคุกคามแทน อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามหลักที่คร่าชีวิตแรดขาวไปจำนวนไม่น้อยคือการลักลอบล่าแรดเพื่อตัดเอานอ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในบางวัฒนธรรม นอแรดยังถูกนำไปใช้เป็นยาบำรุงร่างกายและถูกนำไปแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า โดยห้ามไม่ให้มีการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้าและการบริโภค แต่การบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพ ภัยคุกคามที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรแรดจึงยังไม่หมดไป

การเติบโตและการลาจาก

มีทักษะบางอย่างที่เดซี่และโมดจาดจีเรียนรู้ได้จากสัตว์สายพันธุ์เดียวกับเท่านั้น รอธอธิบายไว้ว่า “ก่อนที่แรดจะสามารถลงไปเกลือกหรือแช่ตัวในโคลนตามสัญชาตญาณเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการถูกแมลงกัดต่อยได้นั้น พวกมันจะต้องเรียนรู้ทักษะในการหาบ่อโคลนและแหล่งน้ำจากแม่ ซึ่งเดซี่ต้องไปเรียนรู้ทักษะนี้จากแรดตัวอื่น ๆ ค่ะ”

เดซี่มักจะคลุมผ้าห่มเอาไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้สูงเกินไป

“สำหรับโมดจาดจีนั้น มันจะต้องเรียนรู้เกี่ยวเรื่องลำดับชนชั้นในฝูงกับม้าลายตัวอื่น” ชาลีน อังกวันยี (Shaleen Angwenyi) สัตวแพทย์สัตว์ป่าและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว ม้าลายจะมีลักษณะสังคมแบบฝูงถาวร ซึ่งประกอบไปด้วยม้าลายเพศผู้เป็นหัวหน้าเพียงตัวเดียว และมีสมาชิกในฝูงเป็นม้าลายเพศเมียประมาณหกตัว และบรรดาลูกน้อย พวกมันมักจะเดินทางเป็นแถวโดยมีม้าลายเพศเมียที่มีอำนาจสูงสุดเดินนำ และสมาชิกในฝูงตัวอื่นเดินเรียงต่อกันตามลำดับชนชั้น

ยิ่งคู่หูเพื่อนในวัยเด็กโตขึ้น พวกมันก็ยิ่งใช้เวลาด้วยกันน้อยลง โมดจาดจีเล่นกับเดซี่น้อยลงและหันไปใช้เวลากับเพื่อนม้าลายในพื้นที่คุ้มครองมากขึ้น นีวโวดต์มักจะเห็นโมดจาดจีออกไปเดินเล่นใกล้ ๆ กับบริเวณที่แรดโตเต็มวัยอาศัยอยู่ และในบางครั้งม้าลายตัวนี้ก็ยังเดินกลับมาที่ยังศูนย์อนุรักษ์เพื่องีบหลับกับเดซี่

ในขณะเดียวกัน เดซี่ยังต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อนุรักษ์ต่อไปเพื่อพัฒนาร่างกายให้เจริญเติบโตตามวัย ตอนนี้มันหนักมากกว่า 453 กิโลกรัมแล้ว และได้เรียนรู้วิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับแรดกำพร้าตัวอื่นที่อยู่ภายในศูนย์ ไม่ว่าอย่างไร นีวโวดต์ก็ยังคงหวังว่าสักวันหนึ่งทั้งเดซี่และโมดจาดจีจะมีโอกาสได้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง หากโอกาสนั้นมาถึง บางทีเธออาจจะได้เห็นคู่หูเพื่อนวัยเด็กคู่นี้ยืนกินหญ้าอยู่ข้างกันในทุ่งกว้าง

เรื่อง เชอรีล แมไกวร์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม แรดขาวเหนือ : บทเรียนจากความตายของสัตว์ตัวสุดท้าย

แรดขาวเหนือ

Recommend