FOMO ในโลกแมว วิจัยเฉลยสาเหตุ ทำไมน้องเหมียวไม่ชอบให้มนุษย์ปิดประตู?

FOMO ในโลกแมว วิจัยเฉลยสาเหตุ ทำไมน้องเหมียวไม่ชอบให้มนุษย์ปิดประตู?

ทำไมแมว(บางตัว)ถึงไม่ชอบให้ มนุษย์ปิดประตู? ตั้งแต่การร้องเหมียว ๆ อยู่หน้าห้อง ไปจนถึงการนำอุ้งเท้าเล็ก ๆ มาแง้มประตูไว้ไม่ก็หาทางชะเง้อมองให้ได้ พฤติกรรมสุดป่วนนี้มีคำอธิบายทุกอย่างหรือไม่?

ทาสแมวทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ความเป็นส่วนตัวเอาซะเลย เนื่องจากไม่ว่าจะไปที่ไหนเจ้าเหมียวของเราก็จะตามไปยังทุกที่แม้แต่การไปห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัวหรือไม่ก็อาบน้ำ แมวมักจะแสดงอาการไม่พอใจ พวกมันจะส่งเสียงร้องโหยหวน พร้อมกับยื่นเท้าออกมาสอดเข้าไปในช่องว่างที่ทำได้

แต่ทำไมแมวส่วนใหญ่ถึงเกลียดสถานการณ์เช่นนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่สุนัขกลับไม่มีปัญหาและคุณจะปิดประตูทำอะไรก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าทั้งวิวัฒนาการและเจ้าของสัตว์เลี้ยงต่างก็มีส่วนสำคัญในพฤติกรรมนี้

“มันเป็น FOMO เล็กน้อย” ดร. คาเรน ซูเอดา (Karen Sueda) นักพฤติกรรมวิทยาสัตวแพทย์ กล่าว “FOMO ก็คือ ‘ฉันไม่รู้ว่าอีกด้านมีอะไรอยู่ และฉันอยากไปดูและหาคำตอบ”

FOMO นั้นย่อมาจาก Fear Of Missing Out หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ง่าย ๆ ว่า ‘กลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างไป’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่านี่เป็นเพราะวิวัฒนาการของมัน เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ และพวกมันชอบที่คอยจับตาดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของมัน รวมถึงบ้านของเจ้าของด้วย

แมวจึงทั้งขึ้นไปอยู่บนคอมพิวเตอร์ และก็เดินตามเจ้าของแม้ว่ามนุษย์จะไปอาบน้ำซึ่งแมวตัวดังกล่าวจะไม่ชอบอาบน้ำก็ตาม พวกมันก็ยังคงต้องการที่จะจ้องดูเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อมันทราบแล้วว่าเจ้าของทำอะไร พวกมันก็เลิกความสนใจไปหาอย่างอื่นแทน

กล่าวอีกนัยว่า เมื่อมีสิ่งกีดขวางในรูปแบบประตูที่ปิดอยู่ แมวจะเกิดความต้องการที่จะรู้ว่าอีกด้านหนึ่งมีอะไร อาจจะเป็นนักล่าที่ซุ่มโจมตีหรือไม่ก็เหยื่อที่หลบซ่อนอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมว่าแมวนั้นเป็นสัตว์นักล่า ที่เพิ่งมาใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ได้ไม่กี่หมื่นปีที่ผ่านมา ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวช่วยให้มันอยู่รอดได้อย่างยอดเยี่ยมในธรรมชาติ

“แมวชอบควบคุมการเข้าถึงพื้นที่และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน รวมถึงอาณาเขตของพวกมัน” อิงกริด จอห์นสัน ( Ingrid Johnson) นักพฤติกรรมแมว กล่าวและว่า “มัน(การเข้าถึงพื้นที่)ไม่ได้ทำให้พวกมันใจร้าย หรือทำให้พวกมันเป็นอะไรอื่นนอกจากสปีชีส์ที่เป็นทั้งนักล่าและเหยื่อ ซึ่งต้องล่าเพื่ออยู่รอด แต่ก็ต้องรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในสภาพแวดล้อมของพวกมัน”

การปิดประตูตามห้องเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่นักพฤติกรรมแมวเรียกว่า ‘3C แย่ ๆ’ ที่แมวไม่ชอบได้แก่ แมวเกลียดการไม่มีทางเลือก (Choice) แมวเกลียดการไม่สามารถควบคุมอะไรได้ (Control) และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง (Change) แม้ว่าแมวอาจไม่ต้องการมีส่วนร่วมทุกอย่างที่เจ้าของทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังประตู แต่แมวก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

อย่างไรก็ตามบางคนอาจแย้งได้ว่าพฤติกรรมของเจ้าเหมียวเหล่านั้นอาจเป็นแค่เพียงการเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของก็เป็นไปได้ ในงานวิจัยที่เผยแพร่บนวารสาร Behavioural Processes แสดงให้เห็นว่าแมวส่วนใหญ่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าสิ่งเร้าอื่น ๆ หรือแม้แต่กับอาหารและของเล่น

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการปิดประตูอาจทำให้แมวรู้สึกว่าพวกมันกำลังถูกตัดขาดจากความรักที่เคยได้ ซึ่งในมุมมองของแมวแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเจ้าเหมียวก็ไม่เข้าใจว่าการปิดประตูนั้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

“แมวจะรู้ว่าจุดที่เคยเข้าถึงได้ก่อนหน้านี้ -ที่ที่พวกมันรู้สึกปลอดภัย หรือที่ที่พวกมันชอบนอน งีบหลับ ไม่ก็กินอาหารและอะไรก็ตามแต่- ตอนนี้ถูกพรากไปอย่างกระทันหันแล้ว” จอห์นสัน กล่าว “เมื่อเราควบคุมสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับแมวของเรา เราก็มอบความเครียด(ให้กับแมว)”

แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจมีพื้นฐานมาจาก ‘ความเบื่อหน่าย’ แม้ความอยากรู้อยากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังประตูจะเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่แก้ไขได้ยาก แต่งานวิจัยปี 2017 ก็ชี้ให้เห็นว่าแล้วว่าพวกมันชอบที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า เวลาที่เรามีให้แมว ‘อาจจะยังไม่เพียงพอ’

หลายคนคิดว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดูแลง่ายและไม่ยุ่งยาก “แต่ความจริงก็คือแมวหลายตัวเบื่อมาก ถึงขนาดที่พวกมันมักจะนอนมากเกินไปเพราะไม่มีอะไรทำ” คาเรน เบ็คเกอร์ (Karen Becker) สัตว์แพทย์จากอิลลินอยส์ กล่าว “การเห็นแมวส่วนใหญ่ต้องรู้สึกเบื่อห่ายนั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับผู้เชี่ยวชาญ”

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างกายของแมวถูกสร้างมากให้เคลื่อนไหวเป็นประจำ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแมวชอบไล่ของเล่นหรือแมลงวันที่บินผ่าน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เจ้าของสละเวลาประมาณ 5-10 นาทีต่อวัน วันละครั้งถึงสองครั้งเพื่อใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ

ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อพฤติกรรม FOMO ได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ‘อย่าพยายามมองแมวผ่านมุมมองของมนุษย์’ แต่ให้แมวเป็นที่ตั้งเสมอ’

“เรามองทุกอย่างผ่านเลนส์ของมนุษย์” เจน เออร์ลิช (Jane Ehrlich) นักพฤติกรรมศาสตร์แมว กล่าว “แต่เราต้องเริ่มคิดจากมุมมองของแมว” งานวิจัยเมื่อต้นปี 2024 เผยให้เห็นว่า ยิ่งเราเปรียบเทียบแมวกับมนุษย์มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมันได้น้อยลงเท่านั้น

“หน้าที่ของเราไม่ใช่การพยายามทำให้พวกมันมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น” เบ็คเกอร์ให้ความเห็นเพิ่มเติม “หน้าที่ของเราคือการสนับสนุนพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมัน และตอบสนองความต้องการให้ได้มากขึ้น”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : National Geographic

ที่มา

https://www.sciencedirect.com

https://www.livescience.com

https://www.scientificamerican.com

https://www.sciencedirect.com


อ่านเพิ่มเติม : เหมียวก็มีหัวใจ งานวิจัยเผยแมวโศกเศร้า เมื่อสูญเสียเพื่อนสัตว์เลี้ยง

Recommend