หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ดินแดนที่สรรพสัตว์ครอบครอง
ขณะยืนอยู่บนชายฝั่งที่เต็มไปด้วยโขดหินของสตีเพิลเจสัน (Steeple Jason) เกาะที่ตั้งอยู่ห่างไกลในกลุ่มเกาะฟอล์กแลนด์ ผมตื่นตะลึงกับภาพความงามตรงหน้า นกอัลบาทรอสคิ้วดำกว่า 440,000 ตัวซึ่งถือเป็นคอโลนีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทำรังอยู่บนหน้าผาสูงชัน ถัดลงมาตามแนวชายหาดเบื้องล่าง เพนกวินร็อกฮอปเปอร์แดนใต้ส่งเสียงร้องอื้ออึง ขณะที่เหยี่ยวคาราคาราคอยสอดส่ายสายตามองหาลูกนกเพนกวินหรือซากสัตว์เป็นอาหาร
น่านน้ำเย็นยะเยือกแถบนี้เป็นถิ่นอาศัยของแมวน้ำขนปุยอเมริกาใต้ วาฬเพชฌฆาต โลมาคอมเมอร์สัน โลมาพีล และวาฬเซย์ ลึกลงไปใต้น้ำ ผมแหวกว่ายผ่านดงสาหร่ายเคลป์ที่โอนเอนไปมาในกระแสน้ำ เพนกวินเจนทูพุ่งฉิวอยู่ด้านบน โดยมีสิงโตทะเลแดนใต้ไล่ตามมาติดๆ กุ้งมังกรยืนเรียงรายบนก้นสมุทรพลางชูก้ามขึ้นราวกับพร้อมรบ
ภาพกุ้งชูก้ามเตรียมออกศึกดูช่างเหมาะเจาะ เพราะผมอยู่ที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ดินแดนที่สงครามเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจ ห่างจากชายฝั่งอาร์เจนตินา 400 กิโลเมตร ดินแดนของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่รวมกันกว่า 700 เกาะ และมีผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างบางเบาเพียง 3,200 คน กลุ่มเกาะเหล่านี้เป็นที่รู้จักมากที่สุดเพราะประวัติศาสตร์การต่อสู้แย่งชิงกรรมสิทธิ์อันยาวนานระหว่างฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา และสหราชอาณาจักร ฟอล์กแลนด์จึงเต็มไปด้วยบาดแผลจากสงครามที่เห็นได้ชัด ความขัดแย้งครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่ออาร์เจนตินารุกรานหมู่เกาะที่พวกเขาเรียกว่า มัลบีนัส (Malvinas) ในปี 1982 ทว่าปิดฉากลงในระยะเวลาอันสั้น หลังการประลองกำลังอย่างดุเดือดกับสหราชอาณาจักร
แต่ถึงจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และแม้จะมีการทำฟาร์มแกะอย่างกว้างขวาง หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ก็ยังคงดูเหมือนแดนสวรรค์ในอุดมคติอย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่น่านน้ำอันอุดมไปด้วยสารอาหารไปจนถึงขุนเขาที่สายฝนโปรยปรายตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่เป็นช่างภาพ ผมแทบไม่เคยพบเห็นสถานที่แห่งไหนที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์เช่นนี้
สตีเพิลเจสันและแกรนด์เจสันที่อยู่ใกล้กันเป็นเกาะสองเกาะที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากสงคราม และอาจเป็นเรื่องราวความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ แกะและปศุสัตว์เคยและเล็มหญ้าอย่างอิ่มหมีพีมันบนเกาะที่รกร้างผู้คนมาเกือบร้อยปี ก่อนที่นักดูนกชาวอังกฤษคนหนึ่งจะเข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์ในปี 1970 เขาเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเขตอนุรักษ์ของเอกชน และพืชพรรณก็เริ่มฟื้นตัว ต่อมาในทศวรรษ 1990 ไมเคิล สไตน์ฮาร์ดท์ ชายผู้ริเริ่มกองทุนบริหารความเสี่ยงหรือเฮดจ์ฟันด์จากนิวยอร์กก็ซื้อสองเกาะนี้ และพอถึงปี 2001 เขากับจูดี ผู้เป็นภรรยาก็บริจาคให้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าหรือดับเบิลยูซีเอส (Wildlife Conservation Society: WCS) ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการเกาะ นักวิจัยและนักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้มาเยือนภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
ตัดเวลาเดินหน้ามาสู่ปัจจุบัน ความยืดหยุ่นของธรรมชาติเห็นได้ทุกหนแห่งรอบตัวผม ความหลากหลายที่ปรากฏแก่สายตา ทำให้รู้สึกราวกับว่า แปซิฟิกนอร์ทเวสต์ หมู่เกาะเวสต์อินดีส และทวีปแอนตาร์กติกา มาปะทะกันในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้แห่งนี้ บนเกาะสตีเพิลจอห์นสันที่ยาวแปดกิโลเมตร มีรายงานการพบนกถึง 48 ชนิด แต่ความรุ่มรวยอันแสนพิเศษของส่ำสัตว์บนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ยังคงเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งมลภาวะ ถิ่นอาศัยที่เสื่อมสภาพ คราบน้ำมัน ประมงเบ็ดราว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรรอบหมู่เกาะอาจยังเย็นก็จริง แต่กลับอุ่นขึ้นในพื้นที่ไกลออกไป ทำให้สายใยอาหาร (food web) ที่หล่อเลี้ยงนกทะเลและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ ปั่นป่วน กิจกรรมการสำรวจแหล่งน้ำมันใกล้เกาะเหล่านี้ที่เพิ่มมากขึ้นสร้างความวิตกเรื่องภัยจากน้ำมันรั่ว ทว่าชาวเกาะฟอล์กแลนด์เริ่มมีแรงจูงใจในการอนุรักษ์มากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่เกาะกว่า 60,000 คนในแต่ละปี ทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลายเป็นแหล่งรายได้มากเป็นอันดับสอง รองจากการทำประมง แต่แซงหน้าการทำฟาร์มแกะที่ตามมาเป็นอันดับสาม
ในฐานะนักชีววิทยา ผมอดไม่ได้ที่จะหลงใหลไปกับความแตกต่างระหว่างเกาะน้อยใหญ่ที่ไร้ผู้คนแผ้วพานกับเกาะที่เราเข้าไปยุ่มย่ามอย่างหนัก เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเกาะสตีเพิลเจสันอันอุดมสมบูรณ์ เรายังพอมีความหวังและมีหนทางเยียวยา ถ้าเพียงแค่ปล่อยให้ธรรมชาติดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง การสำรวจทุ่งหญ้าบนพื้นที่สูงชันและเทือกเขาสูงตระหง่านของเกาะทำให้รู้สึกราวกับย้อนเวลากลับไปนับพันปี ระบบนิเวศยังคงพิสุทธิ์ สัตว์ป่าช่างน่าตื่นตาและไม่หวาดกลัวมนุษย์
เหยี่ยวจอห์นนีรุกส์แสนซุกซนพยายามขโมยของจากกระเป๋ากล้องผม นกอัลบาทรอสหลายตัวบินวนอยู่เบื้องบนโดยอาศัยกระแสอากาศที่ยกตัวสูงขึ้นเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก เท้าของเจ้านกตัวหนึ่งเกี่ยวหัวผมเบาๆ ผมอยากจะคิดว่ามันจงใจ เพราะนกพวกนี้เป็นนกที่มีความแม่นยำสูง จะมีที่ไหนบนโลกอีกที่สัตว์รู้สึกเป็นอิสระจนกล้าเข้ามาเล่นกับมนุษย์อย่างเรา ที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะช่วยให้พวกมันไม่หวาดกลัวคนต่อไปเช่นนี้ได้อย่างไร ถ้าเราปฏิบัติต่อโลกอันแสนเปราะบางนี้ในฐานะแหล่งทรัพยากรที่ตักตวงได้ ผมมองเกาะสตีเพิลเจสันในฐานะสักขีพยานถึงความสามารถในการฟื้นตัวของโลก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเสียงเรียกร้องให้ลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เราต้องมีสตีเพิลเจสันมากกว่านี้ มีสถานที่ที่เราจะเลิกทำสงครามกับสิ่งแวดล้อม และให้เวลากับธรรมชาติเพื่อฟื้นตัวและงอกงามอย่างที่มันต้องการ
เรื่องและภาพถ่าย พอล นิกเคลน
อ่านเพิ่มเติม